การรับน้องระบบ Sotus(โซตัส) คืออะไร?

การรับน้องระบบ Sotus(โซตัส) คืออะไร?

การรับน้องระบบ Sotus(โซตัส) คืออะไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากเกิดเหตุการณ์กิจกรรมทางมหาวิทยาลัยทำให้นิสิตชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จมน้ำได้รับบาดเจ็บสาหัส (ดราม่า! รุ่นพี่ให้น้องใหม่ลงล้างตัวบ่อบำบัด ก่อนจมน้ำสาหัส) เป็นเรื่องราวให้กระแสสังคมจับตามองว่านี่ใช่การรับน้องในระบบ Sotus(โซตัส) หรือเปล่า แล้วระบบ Sotus(โซตัส) มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร ตาม Sanook! campus มาได้เลย

Sotus (โซตัส) คือระบบการรับน้องในรูปแบบของการฝึกนักเรียนนักศึกษาใหม่ในประเทศไทย ที่รุ่นน้องต้องเชื่อรักและเชื่อฟังรุ่นพี่ ที่ผ่านมาโซตัสเป็นที่ถกเถียงในสังคมไทยทั่วไปว่าระบบนี้มีความถูกต้องชอบธรรมในการใช้ฝึกอบรมหรือสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันหรือไม่ แม้ว่าผู้บริหารหรือองค์การนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งมีนโยบายอย่างชัดเจนว่าไม่สนับสนุนระบบโซตัส แต่ระบบนี้ก็ยังพบอย่างแพร่หลายอยู่ทั่วไปในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาต่างๆ รวมถึงโรงเรียนมัธยมบางแห่งด้วย

ระบบโซตัสมักจะมีการใช้หลักจิตวิทยาและสร้างเหตุการณ์ขึ้นโดยการยกข้ออ้างเรื่องความสามัคคีในหมู่คณะและการเคารพผู้อาวุโสที่ได้เข้าศึกษาก่อน เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาที่เข้าศึกษาใหม่เกิดความเกรงกลัวและปฏิบัติตามกฎที่รุ่นพี่ได้วางเอาไว้ ซึ่งบ่อยครั้งที่การใช้ระบบโซตัสเป็นการแบ่งชนชั้นให้รุ่นพี่ให้มีอำนาจมากกว่ารุ่นน้องที่เข้ามาใหม่ หากรุ่นน้องไม่ปฏิบัติตามอาจได้รับการลงโทษทำให้เกิดความเกรงกลัวหรือถูกตัดขาดจากกลุ่มคณะสาขาที่เรียนด้วยกันแม้ว่าการปฏิบัตินั้นจะเป็นเรื่องผิดในสังคมก็ตาม ระบบโซตัสจึงถูกมองว่าเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของรุ่นน้องและเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดระบบอุปถัมป์ในประเทศไทย

ชื่อและความหมาย SOTUS

คำว่าโซตัสมาจากตัวอักษรนำของคำในภาษาอังกฤษ 5 คำ โดยปัจจุบันยึดความหมายตามโคลงโซตัสซึ่งเป็นโคลงสี่สุภาพที่พบในหนังสือเฟรชชี่รุ่นโบราณจากห้องสมุดภาควิชาวิศวกรรมโยธาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นต้นกำเนิดของระบบโซตัสขึ้นมาครั้งแรก โดยแต่ละคำและความหมายของโคลงสี่สุภาพนี้ประกอบด้วย

  • Seniority คือ การเคารพผู้อาวุโส หรือการสำนึกในความเป็นน้องซึ่งเยาว์กว่าทั้งความรู้และประสบการณ์ เมื่อรุ่นน้องเจียมในความเยาว์กว่าทั้งความรู้และประสบการณ์ และประพฤติอ่อนน้อม เพื่อน้อมรับการสั่งสอนจากผู้ที่มีอาวุโสกว่า
  • Order คือ การปฏิบัติตามระเบียบวินัย เนื่องจากสังคมประกอบไปด้วยคนจำนวนมาก เมื่อจะทำงานใหญ่จึงจำเป็นต้องแบ่งหน้าที่กันทำ ต้องมีผู้นำและผู้ตามเป็นลำดับ การพาคนหมู่มากไปสู่ความสำเร็จได้ จำต้องมีระเบียบและรักษาวินัย
  • Tradition คือ การปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณี มีภาคภูมิใจในธรรมเนียมประเพณีที่ได้ยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมา คุณงามความดีของธรรมเนียมประเพณีเหล่านี้ได้หล่อหลอมต่อเนื่องมาจากรุ่นก่อน ๆ สู่รุ่นน้อง และทำให้ทราบว่าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน
  • Unity คือ การเป็นหนึ่งเดียว หรือความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกัน มีใจมุ่งสู่เป้าหมายอันเดียวกัน
  • Spirit คือ การฝึกจิตใจ การเสียสละกายและใจ มีน้ำใจเพื่อสังคม ให้กล้าทำในสิ่งที่ถูก ที่เป็นธรรมยืนอยู่ได้ในกระแสเชี่ยวของสังคมด้วยความนับถือในธรรมของตนเอง

แม้ว่าความหมายของแต่ละคำของโซตัสนั้นจะชัดเจน แต่ว่าขอบเขตเงื่อนไขนั้นค่อนข้างจะคลุมเครือ ทำให้มีการพยายามนิยามและกำหนดความหมายของคำเหล่านี้มีความเข้มข้นไม่เท่ากันแต่ก็มีนิยามคล้ายๆกันในเรื่องของการเคารพผู้อาวุโส การปฏิบัติตามระเบียบวินัย การปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณี และการมีน้ำใจ ในปัจจุบันความหมายของระบบโซตัสสามารถพบได้ทั่วไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆที่มีการใช้ระบบนี้นอกเหนือจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข้อดีของระบบ Sotus(โซตัส) คือ ทำให้รุ่นพี่รุ่นน้อง สนิทกัน มีความสามัคคีในกิจกรรมร่วมกันและมีความผูกพันธ์มากขึ้น สามารถคุยกันได้ทั้งเรื่องเรียนเรื่องงาน ช่วยกันก้าวผ่านชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยไปด้วยกัน ถึงจะเรียนจบแล้วก็ยังติดต่อไปมาหาสู่ หรือก่อนหน้านี้รุ่นพี่บางคนไม่เคยรู้จักกัน แต่พอรู้ว่าจบจากมหาวิทยาลัยเดียวกันจะได้รับการช่วยเหลือ ทำให้หลายคนรู้สึกซาบซึ้งและภาคภูมิใจกับระบบโซตัสมาจนถึงทุกวันนี้

ข้อเสียของระบบ Sotus(โซตัส) คือ ถ้าทำเกินเลย อาจเกิดปัญหาตามมา อย่างในกรณีที่ผ่านๆ มา ยังมีรุ่นพี่ในแต่ละมหาวิทยาลัย นำระบบโซตัสไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาที่ตามมาทีเกิดขึ้นรวมทั้ง ความรุนแรงจนถึงชีวิต 

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก วิกิพีเดีย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook