สุดยอด! ม.นเรศวร คิดค้นแช่แข็งปลา กำจัด 'พยาธิใบไม้ตับ' ในปลาร้า ปลาส้ม

สุดยอด! ม.นเรศวร คิดค้นแช่แข็งปลา กำจัด 'พยาธิใบไม้ตับ' ในปลาร้า ปลาส้ม

สุดยอด! ม.นเรศวร คิดค้นแช่แข็งปลา กำจัด 'พยาธิใบไม้ตับ' ในปลาร้า ปลาส้ม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก คิดค้นกรรมวิธีกำจัดระยะติดต่อของพยาธิใบไม้ในตับ ในปลาที่ใช้ทำอาหารพื้นบ้าน เช่น ปลาส้ม ปลาร้า ปลาจ่อม ที่ปราศจากพยาธิใบไม้ตับ เพียงนำปลาที่จะใช้ทำอาหารพื้นบ้าน เช่น ปลาตะเพียน ปลาขาวสร้อย ปลาแก้มช้ำ ปลาจีน ไปแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ในช่องแช่แข็งของตู้เย็นทั่วไป 1 วัน ลดปัญหามะเร็งตับจากพยาธิดังกล่าว ซึ่งสูง 10-20 % ของประชาชนที่บริโภค

อาหารพื้นบ้านที่ประชาชนนิยมบริโภค เช่น ปลาส้ม ปลาร้า ปลาจ่อม ก้อยปลา เป็นอาหารที่ทำจากปลาวงศ์ปลาตะเพียน ที่อาจมีระยะติดต่อของพยาธิใบไม้ตับ การบริโภคอาหารพื้นบ้านดังกล่าว มักเป็นการบริโภคแบบไม่ผ่านกรรมวิธีปรุงให้สุก หรือบริโภคแบบสุกๆ ดิบๆ ผู้บริโภคจึงมีโอกาสได้รับพยาธิระยะติดต่อที่อยู่ในปลาเข้าไป ซึ่งจากการสุ่มตัวอย่างตรวจสอบประชาชนในชุมชนที่นิยมบริโภคอาหารประเภทนี้ในพื้นที่ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ พบผู้ป่วยมะเร็ง จากสาเหตุพยาธิใบไม้ในตับสูง 20% ในขณะที่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบผู้ป่วยลักษณะเดียวกัน 15 - 20% ส่วนพื้นที่ จ.พิษณุโลก พบเพียง 5-10% เท่านั้น

ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ผลักดันให้นักวิจัยทำงานร่วมกับภาคเอกชน หรือผู้ประกอบการ ในโครงการ Talent Mobility หรือศูนย์อำนวยความสะดวก Talent Mobility (อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือตอนล่าง มหาวิทยาลัยนเรศวร) โดยผลงานวิจัยที่ได้จะตรงกับความต้องการของชุมชน หรือภาคอุตสาหกรรม และสามารถนำไปใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์

ล่าสุด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิลาวัณย์ ภูมิดอนมิ่ง คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ภาควิชาจุลชีววิทยาและปรสิตวิทยา มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ค้นพบ "กรรมวิธีการผลิตอาหารพื้นบ้านที่ทำจากปลาวงศ์ปลาตะเพียนให้ปลอดพยาธิใบไม้ตับ โดยการใช้อุณหภูมิแช่แข็งกำจัดระยะติดต่อของพยาธิใบไม้ตับที่อยู่ในปลาได้สำเร็จ พร้อมกับเปิดเผยว่า วิธีการกำจัดพยาธิใบไม้ตับที่อยู่ในปลานั้น เพียงนำปลาที่จะใช้ทำอาหารพื้นบ้าน เช่น ปลาตะเพียน ปลาขาวสร้อย ปลาแก้มช้ำ ปลาจีน ไปแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ในช่องแช่แข็งของตู้เย็นทั่วไป หรือแช่แข็งในตู้แช่แข็งพิเศษ เป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง จะทำให้ระยะติดต่อของพยาธิใบตับที่อยู่ในปลาตาย เนื่องด้วยอุณหภูมิดังกล่าวจะทำให้โมเลกุลของน้ำที่อยู่ในตัวและซีสต์ของพยาธิเปลี่ยนสถานะเป็นน้ำแข็ง ทำให้เซลล์พยาธิฝ่อ พบการเหี่ยวของตัวอ่อน และพยาธิตายได้ แต่ปลาที่ผ่านการแช่แข็งที่อุณหภูมิดังกล่าวจะยังมีความสดสามารถนำไปผสมกับส่วนประกอบต่างๆ ในสูตรการทำปลาส้ม ปลาร้า ปลาจ่อม หรือก้อยปลา ได้ตามปกติ ดังนั้นอาหารพื้นบ้านที่ผลิตด้วยขั้นตอนวิธีการดังกล่าวจะปลอดภัยไม่มีพยาธิใบไม้ตับที่จะติดต่อมาสู่คน

ตัวอย่างการทำอาหารพื้นบ้านปลอดพยาธิ เช่น "การทำปลาส้มปลอดพยาธิ" ปลาส้มเป็นอาหารที่ได้จากกระบวนการหมักปลา ปลาที่นิยมนำมาทำปลาส้มคือ ปลาวงศ์ปลาตะเพียน กรรมวิธีการผลิตปลาส้มแต่ดั้งเดิมทำโดยการนำปลามาล้างทำความสะอาด ตัดหัว ควักไส้ และบั้งที่ตัวปลา จากนั้นนำปลาไปผสมกับข้าวสุก เกลือ กระเทียมผสมให้เข้ากัน แล้วบรรจุใส่ภาชนะปิดสนิท ปิดฝาให้มิดชิด 3 - 4 วัน แล้วจึงนำมาบริโภค การทำปลาส้มโดยการหมักปลาที่มีความเข้มข้นของเกลือต่ำ ในระยะเวลา 3-4 วัน ไม่สามารถกำจัดระยะติดต่อของพยาธิใบไม้ตับที่อาจปนเปื้อนในปลาได้ การทำปลาส้มปลอดพยาธิทำได้โดยการนำปลาที่จะใช้ทำปลาส้มไปแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส เช่น การแช่ในช่องแช่แข็งของตู้เย็นทั่วไป หรือแช่แข็งในตู้แช่แข็งพิเศษเป็นเวลา 24 ชั่วโมงแล้ว จากนั้นนำปลาที่แช่แข็งแล้วมาผสมกับเกลือทิ้งไว้ 30 นาที แล้วล้างกำจัดกลิ่นคาว และความเค็มออกด้วยน้ำแป้งข้าวเจ้า และนำปลาที่เตรียมได้มาผสมกับเกลือไอโอดีน กระเทียมบด และข้าวสุก ผสมให้เข้ากัน แล้วนำปลาที่เตรียมได้บรรจุใส่ภาชนะปิดสนิท ปิดฝาให้มิดชิดเป็นระยะเวลา 3-4 วัน ดังนั้นปลาส้มที่ผลิตด้วยขั้นตอนวิธีการดังกล่าวข้างต้นจะปลอดภัยไม่มีพยาธิใบไม้ตับระยะติดต่อปนเปื้อนอยู่ และรสชาติอร่อยเช่นเดิม

กรรมวิธีแช่แข็งปลาเพื่อกำจัดระยะติดต่อของพยาธิใบไม้ตับสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตปลาร้า ปลาจ่อม หรือก้อยปลา ให้ปลอดพยาธิ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าและเพิ่มความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ได้ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิตปลาส้ม ปลาร้า ออกสู่ตลาดผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก สร้างรายได้สู่ชุมชนได้อย่างดี อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงกระบวนการกรรมวิธีการผลิตอาหารประเภทนี้ให้ปลอดภัยแก่ผู้บริโภคเป็นสำคัญด้วย

ที่มาจาก workpointtv.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook