เสริมสร้างความมั่นใจในการปรับตัวสู่วัยรุ่น

เสริมสร้างความมั่นใจในการปรับตัวสู่วัยรุ่น

เสริมสร้างความมั่นใจในการปรับตัวสู่วัยรุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พญ. ถิรพร ตั้งจิตติพร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก)

การสร้างเสริมความมั่นใจของเด็กในแง่ของสังคมออนไลน์ เด็กจะเกิดความมั่นใจ พอใจ เมื่อมีคนมากดไลค์กดแชร์ หรือคอมเม้นต์นั่นคือรูปแบบที่เด็กคิดว่าคือการยอมรับจากสังคม ซึ่งสามารถสร้างได้จากการเลี้ยงดูในครอบครัว

ความมั่นใจในตัวเอง คือการที่วัยรุ่นสามารถตัดสินใจจะทำสิ่งใดได้ด้วยตัวเองเพื่อผลที่ได้รับคือความภูมิใจและพอใจกับสิ่งที่ตนเองได้ทำ ความมั่นใจนั้นจะแตกต่างจากความกล้าโดยที่ไม่ฟังใครหรือกล้าโดยที่ไม่คำนึงถึงผลที่ตามมาเด็กวัยรุ่นจะมีความมั่นใจในตัวเองได้นั้น Self Esteem หรือการรับรู้ถึงคุณค่า ความสามารถของตนเองเป็นสิ่งที่เด็กควรได้รับการส่งเสริมไปในทางที่ดี
 
Self Esteem จะช่วยให้เด็กเกิดความมั่นใจและกล้าที่จะเผชิญกับอุปสรรคปัญหาที่อยู่ตรงหน้า และใช้ความพยายามแก้ปัญหานั้นอย่างไม่ท้อถอย นอกจากนี้ เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นความมั่นใจจะแสดงออกได้จากการมี Self-image หรือการสร้างภาพลักษณ์ของตัวเองการหาเอกลักษณ์ของตนเองที่จะทำให้แตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ ทั้งจากการแต่งกาย บุคลิกท่าทาง การพูด ความสามารถ เป็นต้น และการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง

สังคมออนไลน์กับความมั่นใจของวัยรุ่น

ปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์คมีผลต่อวัยรุ่นเป็นอย่างมาก วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการการยอมรับจากเพื่อนและผู้คนในสังคม สำหรับเด็กที่มีพื้นฐานของความมั่นใจในตนเอง หรือ Self Esteem  ที่ดี เด็กจะรู้ว่าตนเองมีดีอย่างไร และสามารถทำให้คนในสังคมยอมรับในตัวของเขาได้ Self Esteem จึงเสมือนเป็นภูมิคุ้มกันที่ทำให้เด็กอยู่ในโลกโซเชียลได้โดยไม่สั่นคลอน แต่สำหรับเด็กที่มีปัญหาด้าน Self Esteemต้องการให้คนยอมรับเห็นคุณค่าในตัวเองหรือมีปัญหาการปรับตัวทางสังคม  ในแง่ของสังคมออนไลน์ เด็กจะเกิดความมั่นใจ พอใจ เมื่อมีคนมากดไลค์ กดแชร์ หรือ คอมเมนท์นั่นคือรูปแบบที่เด็กคิดว่าคือการยอมรับจากสังคม หรือมีตัวตนในสังคม หรือบางครั้งเวลาที่เด็กมีปัญหา การได้แชร์ลงในสื่อออนไลน์แล้วมีคนให้ความช่วยเหลือ ให้กำลังใจ เด็กก็รู้สึกดีได้ แต่ในแง่ลบนั้น เมื่อมีการคอมเมนต์ด้วยข้อความรุนแรง มีการต่อว่า ตำหนิ ติเตียนกันเป็นลูกโซ่ จะยิ่งทำให้เด็กเกิดความเครียด ความวิตกกังวล และยิ่งไม่มั่นใจในตัวเองมากขึ้นอีกด้วย  

c3

พ่อแม่จะช่วยส่งเสริมความมั่นใจที่ดีให้แก่ลูกได้

การสร้างเสริมความมั่นใจของเด็ก ซึ่งสามารถสร้างได้จากการเลี้ยงดูในครอบครัว และเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงชั้นอนุบาลตรงนี้หัวใจสำคัญของการเสริมความมั่นคือ “ครอบครัว”

แบบอย่างที่พ่อแม่จะช่วยส่งเสริมความมั่นใจให้กับลูกได้

1. การแสดงออกให้เห็นถึงความรักและความอบอุ่นที่มีต่อลูก คำว่ารักอย่างเดียวอาจไม่พอ พ่อแม่สามารถแสดงออกทั้งคำพูดและการกระทำ พยายามหาโอกาสที่จะใช้เวลาร่วมกันกับลูก มองหาและชื่นชมความสามารถของลูก เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เด็กเกิดความมั่นคงในตนเอง และได้รับการยอมรับจากครอบครัว

2. การชมเชยหรือชื่นชมเมื่อเด็กทำได้ดีจะเป็นกระจกที่สะท้อนให้มองเห็นถึงคุณค่าในตนเองได้เป็นอย่างมาก

3. การสั่งสอน เรียนรู้จากความผิดพลาด การเลี้ยงลูกที่จะทำให้เด็กรู้สึกมั่นใจในตนเองคือ พ่อแม่ควรสอนให้เด็กเรียนรู้จากความผิดพลาด สอนให้รู้จักแก้ปัญหาได้จากความผิดพลาดนั้น ซึ่งจะเป็นผลดีมากกว่าการตำหนิอย่างรุนแรงเมื่อลูกทำผิด

4. การสอนให้เด็กได้มีประสบการณ์ชีวิตที่ดี ส่งเสริมให้ลูกได้เข้าสังคมหรือทำกิจกรรมร่วมกัน กิจกรรมที่หลากหลายเพื่อเพิ่มความสามารถในตัวลูก โดยพ่อแม่อาจมีส่วนร่วมหรือคอยสังเกตอยู่ห่างๆ

นอกจากนี้ ยังสามารถส่งเสริมได้จากประสบการณ์ในบ้าน เช่น ในครอบครัวที่มีลูก 2 คน ส่วนใหญ่เมื่อลูกทะเลาะกันพ่อแม่มักเข้าไปแก้ปัญหาโดยตัดสินว่าคนไหนถูกหรือผิด ซึ่งเป็นสิ่งไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งเพราะจะทำให้เด็กไม่เกิดการเรียนรู้จากการแก้ปัญหา ในทางกลับกัน หากพ่อแม่ตั้งกฎไว้กว้างๆ ปล่อยให้ลูกรู้จักแก้ปัญหาด้วยตนเอง และจะเข้าไปช่วยต่อเมื่อลูกทะเลาะขั้นรุนแรงขึ้นกันตีกันเพราะถือเป็นสิ่งที่ยอมรับไปได้ จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้การแก้ปัญหามากขึ้น

5. สร้างปมเด่นให้กับลูกเพราะการสร้างปมเด่นง่ายกว่า ประสบผลสำเร็จกว่าการพัฒนาปมด้อย ส่วนใหญ่แล้วพ่อแม่จะไม่ค่อยมองเห็นปมเด่นของลูกเนื่องจากสังเกตลูกไม่พอ หรือกิจกรรมที่จะช่วยเสริมปมเด่นของลูกยังทำได้ยาก ข้อดีของลูกส่วนใหญ่พ่อแม่มักจะมุ่งไปที่เรื่องเรียนอย่างเดียว จากที่พบในเด็กสมาธิสั้น เด็กแอลดี ความสามารถของเด็กจะไม่ได้มีแค่เรื่องเรียนเรื่องเดียว แต่จะมีความสามารถหลากหลายทั้งเรื่องดนตรี ศิลปะ กีฬา หรือการช่วยเหลือผู้อื่น เพียงแต่ว่าพ่อแม่จะไปสนใจที่การเรียน ทำให้ด้านอื่นๆ ที่เป็นปมเด่นไม่ได้รับการพัฒนา

อย่าปล่อยให้พ่อแม่รังแกฉัน

1. พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน ลักษณะของพ่อแม่ที่ทุกอย่างให้ลูกตั้งแต่เล็กจนโตมีการช่วยเหลือในชีวิตประจำวันมากจนเกินไป เช่น การอาบน้ำ แต่งตัว ป้อนข้าว จนเป็นกระจกสะท้อนให้เด็กรู้สึกว่าฉันยังทำอะไรไม่เป็น

2. พ่อแม่ที่ตำหนิลูกมากเกินไป การตำหนิติเตียนเมื่อเด็กไม่สามารถทำได้อย่างที่พ่อแม่คาดหวัง จะเหมือนกับการสร้างภาพสะท้อนด้านลบให้กับลูก ความรู้สึกเวลาที่เค้ามองตัวเองในกระจกจะเห็นว่าตัวเองเล็กๆ ไม่มีคุณค่า

3. พ่อแม่ที่ชอบเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่นจะทำให้ความภาคภูมิใจในตัวเองของเด็กลดลง อาจรู้สึกว่าต่อให้ทำได้ดีเท่าไหร่ก็ไม่สามารถเทียบกับคนอื่นๆ ได้

4. พ่อแม่ที่แก้ปัญหาไม่เป็นบางครั้งพ่อแม่ก็เป็นแบบอย่างให้กับลูกในการแก้ปัญหา ดังนั้น การใช้วิธีหลีกหนีปัญหาหรืออุปสรรค จะเป็นแบบอย่างให้เด็กเลือกใช้วิธีที่ไม่เหมาะสมเป็นเยี่ยงอย่าง

5.พ่อแม่ที่ชื่นชมลูกไม่เป็น ไม่รู้จักการชมเชยหรือชื่นชมเมื่อลูกทำสิ่งที่ถูกต้อง จะทำให้เด็กไม่รู้สึกภาคภูมิใจและไม่สามารถแยกได้ว่าสิ่งไหนที่ควรปฏิบัติให้ถูกใจพ่อแม่ได้

 

ที่มา : mothersdigest

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook