“เสี่ยวฟาง แซ่หยั่ง” ท้อดอกงามจากยอดดอย สู่ดอกนีออนกลางป่าคอนกรีต

“เสี่ยวฟาง แซ่หยั่ง” ท้อดอกงามจากยอดดอย สู่ดอกนีออนกลางป่าคอนกรีต

“เสี่ยวฟาง แซ่หยั่ง” ท้อดอกงามจากยอดดอย สู่ดอกนีออนกลางป่าคอนกรีต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากคุณเคยลองนำพันธุ์ไม้ต่างถิ่น  ต่างสภาพอากาศมาปลูกชำที่บ้าน ดอกสีสดหวานที่เคยเห็นก่อนนำมาอาศัยอยู่ในดิน หรืออากาศใหม่มักไม่ให้ผลเช่นเดิม มีบ้างที่ดอกออกช้า สีไม่สด หรือถึงขั้นไม่มีดอกให้เราเห็น

“เสี่ยวฟาง แซ่หยั่ง” หรือฝน สาวดอยเชื้อสายจีนฮ้อ (จีนยูนนาน)  เธอคือ “ท้อดอกงาม” เกิดที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะพัดพาตัวเองเข้ามาเติบโตในกรุงเทพฯ เพียงเพราะหวังให้การศึกษาพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองและครอบครัวที่ยากลำบากมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก แต่กว่าจะมีวันนี้ วันที่เสี่ยวฟางกลายเป็นเสาหลักของคุณพ่อ คุณแม่และน้องๆ รวม 6 คน เธอต้องทุ่มเท และใช้ความพยายามอย่างแรงกล้า

ชื่อของเสี่ยวฟางเป็นภาษาจีนมีความหมายว่า “แสงสว่างอันราบรื่น” แต่ถ้าย้อนกลับไปก่อนที่เสี่ยวฟางจะมีวันนี้ครอบครัวของเธอยากลำบาก ขาดโอกาสทางการศึกษา จนทำให้เธอคิดว่าตัวเองไม่อยากมีชีวิตและทำงานหนักแบบคุณพ่อ คุณแม่ ที่ต้องรับจ้างทำไร่ข้าวโพด มีรายได้แค่วันละ 80 บาท

“บ้านยากจน เราเป็นลูกสาวคนโตของบ้าน ตอนเด็กๆ ต้องช่วยพ่อแม่ทำไร่บนดอย เพราะเป็นอาชีพเดียวที่สร้างรายได้ให้ที่บ้าน เวลาฝนตก อากาศหนาว พ่อแม่ก็ไม่เคยหยุด ค่าแรงของแม่วันละ 80 บาท ยังต้องแบ่งเป็นค่าเทอม ค่าขนมให้ลูก ฝนเลยไม่อยากให้ชีวิตตัวเองลำบากแบบนั้น และคิดว่าถ้าทำได้ก็ไม่อยากให้พ่อแม่ต้องทำงานหนักอีก”

หลังเสี่ยวฟางเรียนจบระดับมัธยมปลายจากโรงเรียนในพื้นที่จึงคิดเรียนต่อระดับปริญญาตรี แต่เพราะขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือแม้แต่สถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่เองก็ไม่มีพื้นที่สำหรับเธอ เสี่ยวฟางจึงต้องสร้างโอกาสให้ตัวเองด้วยการตัดสินใจเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ แบบมีทุนการศึกษาสนับสนุนโดยได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ และเธอเป็นเด็กจากหมู่บ้านเพียงคนเดียวที่คิดและตัดสินใจเช่นนี้

“ฝนพยายามทุกวิถีทางไม่ว่าเหนื่อยแค่ไหนต้องเรียนจบมัธยมให้ได้ก่อนจะไปเรียนต่อ เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันพอเรียนจบก็ไปทำงานเป็นลูกจ้างในโรงแรมบ้าง เป็นเซลล์ที่กรุงเทพฯ บ้างเพราะเขามีพี่น้องอยู่ที่นั่น แต่ฝนเลือกเรียนต่อเพราะเชื่อว่าถ้าเราเรียนสูง ชีวิตเราจะดีขึ้น”

เสี่ยวฟางจึงเข้ามาเรียนที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์เพราะทางสถาบันให้เรียนฟรีสนับสนุนทุกอย่าง ระหว่างเรียนเธอยังทำงานควบคู่ไปด้วย แม้ช่วงแรกต้องมีการปรับตัวอย่างหนัก แต่เพื่อเป้าหมายที่ตั้งไว้ เสี่ยวฟางจึงไม่เคยย่อท้อ แม้จะไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนคนอื่นๆ ก็ตาม

“ตอนแรกปรับตัวเยอะมาก ต้องเช่าห้องพักในกรุงเทพฯ เวลาไปเรียนหรือไปทำงานนั่งรถเมล์ไปก็ต้องพกมะม่วงเปรี้ยวลูกเล็กๆ ติดตัวไปด้วยเพราะเมารถ ส่วนเรื่องเรียนก็ต้องปรับเพราะที่นี่เราเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่เหมือนตอนเด็กๆ ที่อาจารย์มีกรอบให้ สั่งให้เราทำ ทำแล้วก็ได้คะแนน แต่ที่นี่สอนให้เราฝึกและรับผิดชอบด้วยตัวเอง”

ชีวิตในเมืองของเสี่ยวฟางจึงไม่ได้สวยสดงดงามสักเท่าไร เพราะรายได้ที่ได้จากการทำงานเดือนละ 5-6 พันบาท เธอต้องแบ่งเป็นค่าเช่าห้องเดือนละ 2-2.5 พันบาท  และยังมีค่ากิน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ  ถ้าเดือนไหนเงินไม่พอก็ต้องหยิบยืมจากพี่ชายบ้าง

“หลังเลิกเรียนต้องทำงานทุกวัน ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์รับเป็นครูสอนพิเศษ เลยไม่มีเวลาไปเที่ยวไหนกับเพื่อนๆ เลย แต่ก็ไม่เป็นไร และไม่ได้รู้สึกว่าชีวิตตัวเองขาดสีสันเพราะชีวิตของเราเป็นแบบนี้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว”

ตลอดช่วงการเรียนเสี่ยวฟางจึงใช้ชีวิตจำเจอยู่แบบนั้น กระทั่งจบการศึกษาจึงเข้าทำงานเป็นพนักงานขายที่ King Power โชคดีที่เสี่ยวฟางมีพื้นฐานภาษาจีนแข็งแรง จึงค่อนข้างได้เปรียบ หลังมีงานทำคุณภาพชีวิตของครอบครัวเปลี่ยนไป เพราะเสี่ยวฟางจะส่งเงินให้ทางบ้านเดือนละ 1 หมื่นบาท

“จากที่บ้านไม่เคยมีข้าวของเครื่องใช้อะไรเลย ก็เริ่มมีทีวี เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ เพิ่มขึ้น พ่อกับแม่ก็ไม่ต้องทำงานหนักเหมือนเดิม”

“เด็กที่มีฐานะยากจน จะมีความรับผิดชอบมากกว่า” เสี่ยวฟางยกภาษิตจีนให้ฟัง เพราะเธอรู้สึกว่ามันตรงกับชีวิตของตัวเอง

แผนชีวิตนับจากนี้เธอตั้งใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และจะทำงานเก็บเงินสักพักก่อนกลับไปอยู่บ้านที่อำเภอเชียงดาว

“แม้ท้อดอกงามจะต้องเติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมใหม่ที่ไม่คุ้นเคย แต่เพราะสายพันธุ์แข็งแกร่ง และหวังว่าวันหนึ่งจะเป็นท้อที่กลับไปเบ่งบาน ณ บ้านเกิด พันธุ์ไม้ต่างถิ่นหากแต่ปรับตัวให้อยู่รอดได้ พันธุ์ไม้นั้นก็จะแกร่งและยืนต้นได้อย่างมั่นคง”

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook