ชาวญี่ปุ่นเลิกใช้คำว่า “ซาโยนาระ” ไปแล้วกว่า 70%

ชาวญี่ปุ่นเลิกใช้คำว่า “ซาโยนาระ” ไปแล้วกว่า 70%

ชาวญี่ปุ่นเลิกใช้คำว่า “ซาโยนาระ” ไปแล้วกว่า 70%
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชาวญี่ปุ่นเลิกใช้คำว่า “ซาโยนาระ” ไปแล้ว? กว่า 70 % ให้เหตุผลว่า “ให้ความรู้สึกลาจากกันไปตลอดกาล”

ถึงแม้ในปัจจุบันชาวญี่ปุ่นจะยังใช้คำทักทายที่สืบทอดมาแต่สมัยก่อน เช่น “โอะฮาโย” (おはよう = อรุณสวัสดิ์), “คนนิจิวะ” (こんにちは= สวัสดีตอนกลางวัน) และ “คมบังวะ” (こんばんは=สวัสดีตอนเย็น) แต่ในทางกลับกัน ก็มีหลายคนเลิกใช้คำกล่าวลาอย่าง “ซาโยนาระ” หรือที่แปลว่า “ลาก่อน” และเปลี่ยนมาใช้คำกล่าวลาคำอื่นแทน เช่น “จ้า” (じゃあ = แล้วเจอกัน), “มาตะเนะ” (またね= แล้วเจอกัน), “โอสึคาเระซามะ”(おつかれさま= ขอบคุณสำหรับความเหนื่อยยาก) หรือ “Bye Bye” (バイバイ) เพราะเหตุใดที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นเลิกใช้ “ซาโยนาระ” วันนี้เราจะไปชมผลสำรวจกันค่ะ

ชาวญี่ปุ่นใช้คำกล่าวลาที่หลากหลายมากขึ้น

2

จากการสอบถามชาย-หญิงชาวโอซาก้า 30 คน ในช่วงอายุ 20 – 70 ปี ในเขตมินามิ บริเวณหน้าสถานีรถไฟนันไคนัมบะ กับคำถามที่ว่า “คุณใช้คำว่า ซาโยนาระ หรือในภาษาคันไซที่พูดว่า ไซนาระ หรือไม่?” พบว่า ชาย-หญิงชาวโอซาก้า 21 คน หรือคิดเป็น 70% ตอบว่า “ไม่ใช้” และ “คิดว่าไม่ได้ใช้”

เมื่อจำกัดวงผู้ตอบคำถามให้อยู่ในช่วงอายุ 20-30 ปี จำนวน 14 คน พบว่า 11 คน หรือคิดเป็น 80% ตอบว่า ไม่ใช้” และ “คิดว่าไม่ได้ใช้” ซึ่งมีเพียง 3 คนเท่านั้นที่ตอบว่า “ใช้” และผู้ตอบคำถามที่มีช่วงอายุ 40-70 ปี จำนวน 16 คน ตอบว่า “ไม่ใช้” ถึง 10 คน หรือคิดเป็น 60% และมีผู้ตอบว่า “ใช้” เพียง 6 คน จึงสันนิษฐานได้ว่า ช่วงอายุที่แตกต่างกันจะได้คำตอบที่แตกต่างกันออกไป

พนักงานบริษัทชาย วัย 23 ปี ตอบว่า ตนไม่ใช้ทั้งคำว่า “ซาโยนาระ” และ “ไซนาระ” ตนเองมักจะใช้คำว่า “โฮนะ มาตะ” ( ほなまた เป็นภาษาคันไซ แปลว่า ไว้เจอกันใหม่) กับเพื่อนสนิทมากกว่า ส่วนในที่ทำงาน หากจะกล่าวลาเจ้านายมักจะใช้คำว่า “โอะซากิ นิ ชิซึเรชิมัส” (お先に失礼します= ขอตัวกลับก่อน) และหากกล่าวลาเพื่อนร่วมงานจะใช้คำว่า “โอสึคาเระซามะ เดชิตะ” (おつかれさまでした= ขอบคุณสำหรับความเหนื่อยยาก) แทน โดยชายพนักงานบริษัทคนดังกล่าวยังให้เหตุผลอีกว่า “ตนเลิกใช้คำว่า ซาโยนาระ ไปแล้ว เพราะมันให้ความรู้สึกเย็นชามากเกินไป” ซึ่งผู้ตอบคำถามหลายคนก็ได้ให้เหตุผลในลักษณะเดียวกันว่า คำว่า “ซาโยนาระ” ให้ความรู้สึกต้องลาจากกันไปตลอดกาล

ในขณะที่ พนักงานโรงแรมหญิง วัย 41 ปี ให้เหตุผลว่า “ฉันไม่ชอบคำว่า ซาโยนาระ เพราะเหมือนกับว่าการพบกันครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย ฉันมักจะใช้คำว่า มาตะ อะชิตะ (แปลว่า ไว้เจอกันพรุ่งนี้) ทั้งในที่ทำงานและกับคนรู้จักทั่วไป” นอกจากนี้ เธอยังได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้คำกล่าวลาในที่ทำงานอีกว่า จะใช้คำที่สุภาพขึ้นมาหน่อย คือ “มาตะ อะชิตะ โมะ โยโรชิคุ โอะเนไกชิมัส” (また、あしたもよろしくお願いします= ไว้พบกันพรุ่งนี้และขอฝากตัวด้วยนะคะ) หรือใช้ “มาตะ ไรชู โมะ โยโรชิคุ โอะเนไกชิมัส” (また来週もよろしくお願いします= ไว้พบกันสัปดาห์หน้าและขอฝากตัวด้วยนะคะ) โดยเธอให้เหตุผลที่ต้องแบ่งแยกการใช้คำลาในแต่ละสถานการณ์ว่า “ฉันอยากให้คำกล่าวลานั้นมีการเชื่อมต่อไปยังวันพรุ่งนี้”

อีกด้าน พนักงานบริษัทหญิง วัย 40 ปี ให้เหตุผลว่า คำว่า “ซาโยนาระ” ดูโกหกไม่จริงใจ “ฉันไม่ได้ใช้คำว่า ซาโยนาระ มาตั้งแต่ช่วงโฮมรูมสมัยประถมฯ ที่ต้องกล่าวลากับครูประจำชั้น” และดูเหมือนว่า ผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่จะไม่ได้ใช้คำว่า “ซาโยนาระ” มาตั้งแต่สมัยประถมฯ เช่นกัน

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเพลงดัง?



จากหลายคำตอบที่กล่าวว่า “ซาโยนาระ ให้ความรู้สึกต้องลาจากกันไปตลอดกาล” อาจมีอิทธิพลเพลงฮิตในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นเพลงลูกทุ่งหรือเพลงสไตล์ J-pop ที่มักใช้คำดังกล่าวเพื่อสื่ออารมณ์เพลงถึงความเศร้าและการลาจากกันของชายหญิง บวกกับเมโลดี้เพลงเศร้า ๆ จึงกลายเป็นเรื่องปกติที่เราจะสามารถจินตนาการได้ว่า “ซาโยนาระ” หมายถึง “การลาจากกัน”

“ซาโยนาระ” ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายหลังช่วงสงครามเพียงไม่นาน



พจนานุกรมภาษาญี่ปุ่น Koujien จากสำนักพิมพ์ Iwanami Shoten ได้เขียนอธิบายไว้ว่า “ซาโยนาระ” เป็นคำที่ใช้กล่าวลา เขียนเป็นคันจิว่า “左様なら” (อ่านว่า ซาโยนาระ) เป็นคำสันธานที่มาดังเดิมมาจากคำว่า “โซะเรนาระบะ” (それならば) กล่าวคือ “โซเรนาระบะ” เป็นที่มาของคำกล่าวลาที่ชาวญี่ปุ่นในยุคปัจจุบันใช้กัน เช่น “จ้า” (じゃあ = แล้วเจอกัน) หรือ “โฮนะ มาตะ” ( ほなまた เป็นภาษาคันไซ แปลว่า ไว้เจอกันใหม่) นั่นเอง

นอกจากนี้ พจนานุกรมภาษาญี่ปุ่น Nihon Kokugo Daijiten จากสำนักพิมพ์ Shogakukan ได้เขียนอธิบายไว้ว่า “ซาโยนาระ” เป็นคำที่มีการเปลี่ยนแปลงมาจากคำว่า “ซาโยนาระบะ” (さようならば) ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากการรวมกันของคำที่ใช้เพื่อกล่าวอำลาคำอื่น ๆ เช่น “โกะคิเก็งโย” (ごきげんよう) หรือ “โนจิโฮโดะ” (のちほど) โดยปลายยุคเอโดะ พบว่ามีการใช้คำดังกล่าวเพื่อกล่าวลากันอย่างแพร่หลายมากขึ้น และ “ซาโยนาระ” เป็นการกลายลาอย่างสุภาพเมื่อเทียบกับคำกล่าวลาอื่น ๆ เช่น “ซนนาระ” (そんなら) แต่ไม่มีการจดบันทึกว่า เป็นคำกล่าวลาจากกันตลอดกาลแต่อย่างใด นอกจากนี้ “ซาโยนาระ” ยังมีการถูกนำไปใช้โดยย่อคำให้สั้นลงเล็กน้อย คือคำว่า “ซาโยะนาระ” (さよなら) มักพบเห็นการใช้คำดังกล่าวอย่างแพร่หลายในหมู่วัยรุ่นช่วงอายุ 10 – 20 ปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook