โรงเรียนประถมศึกษาญี่ปุ่นกับการสร้างคนให้มีคุณสมบัติตามความต้องการของประเทศ

โรงเรียนประถมศึกษาญี่ปุ่นกับการสร้างคนให้มีคุณสมบัติตามความต้องการของประเทศ

โรงเรียนประถมศึกษาญี่ปุ่นกับการสร้างคนให้มีคุณสมบัติตามความต้องการของประเทศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรงเรียนมีบทบาทสำคัญในสร้างคนให้เป็นคนดีและมีระเบียบนอกเหนือไปจากการให้ความรู้เพื่อพัฒนาคนให้มีคุณสมบัติตามความต้องการของประเทศ มีหลายอย่างที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นระบบที่ดีของโรงเรียนประถมญี่ปุ่นที่อยากเอามาฝากให้ผู้อ่านรู้กันดังนี้

1. การเรียนแบบไม่มีความเครียดในห้องเรียนและเน้นให้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง

ระบบโรงเรียนญี่ปุ่นเน้นส่งเสริมการเรียนรู้ที่สนุกจากการสัมผัสประสบการณ์ตรงนอกห้องเรียนและใช้ธรรมชาติเป็นแบบเรียน เช่น การปลูกต้นไม้และบันทึกการเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงอายุของต้นไม้ การศึกษาวงจรชีวิตแมลงโดยการเลี้ยงดูพัฒนาการของหนอนจากไข่จนเป็นแมลง การนำเด็กๆ ไปทัศนศึกษานอกโรงเรียนในทุกฤดูกาลเพื่อให้เด็กได้สัมผัสกับสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ การให้เด็กพบปะเจ้าของกิจการต่างๆเพื่อเรียนรู้ด้านอาชีพต่างๆ ซึ่งสร้างความสนุกไปพร้อมกับการเรียนรู้ นอกจากนี้ในวิชาวิทยาศาสตร์โรงเรียนมักมีอุปกรณ์เสริมการเรียนแจกให้เด็กทุกคนได้ใช้เสริมความเข้าใจในการเรียนวิทยศาสตร์อย่างถ่องแท้ ทั้งนี้ในระดับประถมต้นคือระดับประถม 1-3 จะไม่มีการสอบปลายภาคเพื่อจัดระดับคะแนนของนักเรียน แต่จะมีการประเมินพฤติกรรมการเรียนให้ผู้ปกครองได้ทราบ

การออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน

อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่แจกให้เด็กทุกคนเพื่อเสริมความเข้าใจในบทเรียนวิทยาศาสตร์

2. การส่งเสริมความกล้าแสดงออก

โรงเรียนจะส่งเสริมให้เด็กทุกคนมีความกล้าที่จะแสดงออกต่อหน้าผู้อื่นเพื่อสร้างความมั่นใจและวุฒิภาวะในตัวเด็ก เด็กทุกคนจะถูกผลักดันให้ร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เช่น งานแสดงที่โรงเรียนที่ให้เด็กทุกคนร่วมแสดงแม้ว่าแต่ละคนจะมีบทพูดเพียงไม่กี่คำ การแสดงดนตรีและร้องเพลงของเด็กแต่ละชั้นปีต่อหน้าผู้ปกครองและนักเรียนทั้งโรงเรียน นอกจากนี้ก็ยังมีการเปิดโอกาสให้เด็กได้พูดแสดงออกหน้าชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอ

การแสดงดนตรีและร้องเพลงของเด็กแต่ละชั้นปี

3. เสริมสร้างการออกกำลังกาย

นอกจากการออกกฎให้เด็กทุกคนเดินไปโรงเรียนเองโดยไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองขับรถไปส่งลูกแล้ว โรงเรียนจะเน้นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง โดยในหนึ่งสัปดาห์เด็กประถมจะมีคาบเรียนพละสามครั้งต่อสัปดาห์ที่ให้เด็กเล่นกีฬาที่เหมาะสมกับวัย เช่น กรีฑา เกมส์บอลและกระโดดเชือก เป็นต้น การมีกิจกรรมการออกกำลังกายร่วมกันทั้งโรงเรียนในตอนเช้าสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง การสอนว่ายน้ำในช่วงหน้าร้อนและช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนและการให้เด็กทุกคนร่วมซ้อมและแข่งขันกีฬาของโรงเรียน เป็นต้น

4. อาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และการสร้างระเบียบวินัยตลอดจนความอดทนจากมื้ออาหารกลางวัน

ในโรงเรียนเมนูอาหารกลางวันจะถูกกำหนดโดยนักโภชนาการซึ่งจะมีรายละเอียดของส่วนประกอบที่ใช้ปรุงอาหาร ปริมาณโปรตีนและพลังงานที่ได้รับในแต่ละวัน โดยตารางเมนูอาหารจะถูกกำหนดให้ไม่ซ้ำกันในแต่ละวันเป็นรายเดือนเพื่อแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ ตอนพักเที่ยงเด็กทุกคนต่างถือถาดเข้าคิวรอรับอาหารจากการบริการของเพื่อนที่เป็นเวรบริการอาหารกลางวัน เมื่อได้รับอาหารแล้วก็จะกลับมานั่งรอที่โต๊ะอย่างเรียบร้อยเพื่อรอรับประทานอาหารพร้อมกัน โดยมีเวลารับประทานอาหารเพียง 20 นาที เสร็จแล้วจึงนำถาดอาหารไปเก็บเข้าที่อย่างเรียบร้อย

5. การเสริมสร้างระเบียบวินัย

โรงเรียนเป็นสถานที่สำคัญที่ช่วยสร้างระเบียบวินัยให้แก่เด็กๆ ที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ การให้เด็กเข้าแถวและเดินเรียงแถวอย่างเป็นระเบียบไปในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเปลี่ยนห้องเรียนหรือไป ทัศนะศึกษาในสถานที่ต่างๆ ในระหว่างการเรียนหนังสือก็จะฝึกให้เด็กพูดเมื่อคุณครูเปิดโอกาสให้พูดแสดงความคิดเห็นถามคำถามและตอบคำถาม และฝึกให้เด็กตั้งใจฟังไม่พูดแทรกในขณะที่คุณครูกำลังพูด อุปกรณ์การเรียนทุกอย่างจะมีชื่อและนามสกุลติดไว้ รวมถึงชั้นวางของและชั้นวางรองเท้าที่มีชื่อของนักเรียนติดอยู่อย่างชัดเจน เป็นต้น

6. การสร้างหน้าที่ความรับผิดชอบให้กับเด็ก

นอกจากหน้าที่เรียนหนังสือแล้วโรงเรียนจะแบ่งหน้าที่ให้เด็กๆ ได้ทำ เช่น ในแต่ละอาทิตย์จะมีเด็กประมาณ 4–5 คนเป็นเวรดูแลตักอาหารกลางวันและเสิร์ฟนมให้กับเพื่อนในห้องเรียน การกำหนดหน้าที่ต่างๆ ในห้องเรียนให้เด็กได้ทำอย่างต่อเนื่องในแต่ละเทอม การให้เด็กช่วยกันทำความสะอาดบริเวณรอบๆ โรงเรียนทุกสัปดาห์ การกำหนดให้เด็กมีหน้าที่ดูแลสิ่งต่างๆ ในโรงเรียน เช่น ดูแลเติมสบู่ในอ่างล้างมือ ดูแลสัตว์เลี้ยงในโรงเรียน เป็นต้น

7. การดูแลสุขภาพของเด็กอย่างดีเพื่อให้โตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพที่แข็งแรง

ทุกปีที่ขึ้นชั้นเรียนใหม่ก็จะมีการตรวจสุขภาพของเด็กอย่างละเอียดรวมถึงการวัดสายตา การตรวจสุขภาพหูและสุขภาพของช่องปาก ทุกเทอมจะมีการชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูงและบันทึกไว้ในสมุดบันทึกสุขภาพของเด็กซึ่งถูกเก็บไว้ที่โรงเรียนและจะให้เด็กนำกลับบ้านมาให้พ่อแม่ดูเฉพาะหลังจากการตรวจสุขภาพในแต่ละครั้ง นอกจากนี้ทุกเทอมจะมีการตรวจสุขภาพฟันของเด็กๆ และหากมีความผิดปกติของฟันก็จะมีกระดาษเพื่อแจ้งให้ผู้ปกครองทราบเพื่อพาเด็กไปพบทันตแพทย์

8. การสร้างความใส่ใจต่อสังคมและคนรอบข้าง

ในแต่ละชั้นปีจะมีกิจกรรมที่เสริมสร้างความใส่ใจต่อสังคมให้แก่เด็ก เช่น การจัดกิจกรรมที่ให้รุ่นพี่ทำหน้าที่ดูแลและให้ความบันเทิงแก่รุ่นน้องรวมถึงเด็กเล็กวัยก่อนอนุบาลจากสถานดูแลเด็กเล็กใกล้โรงเรียน การให้เด็กได้รับประทานอาหารร่วมกันกับปู่ย่าที่ถูกเชิญมารับประทานอาหารร่วมกับเด็กที่โรงเรียน และการให้เด็กไปสถานดูแลคนชราเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นต้น

ดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประสบการณ์ในโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาที่ไม่ให้เด็กคร่ำเคร่งเรียนรู้วิชาการจากตำราเพียงอย่างเดียว แต่ยังเสริมการสร้างทักษะชีวิตซึ่งเกิดจากการการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติใกล้ตัวไปพร้อมเสริมสร้างความมีระเบียบวินัย ความรับผิดชอบและความใส่ใจต่อสังคม แม้ว่าในยุคปัจจุบันเด็กในเมืองใหญ่ๆ เช่นโตเกียวมีการแข่งขันทางการเรียนที่สูง แต่ในโรงเรียนก็ยังคงเน้นให้เด็กได้เรียนรู้ทางวิชาการไปพร้อมๆกับการเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างคนให้มีคุณภาพตามความต้องการของประเทศ

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook