การค้นหาตัวเองภายใต้ความกดดันในการหางานของคนญี่ปุ่น

การค้นหาตัวเองภายใต้ความกดดันในการหางานของคนญี่ปุ่น

การค้นหาตัวเองภายใต้ความกดดันในการหางานของคนญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

就活 ( shuukatsu ) : การค้นหาตัวเองภายใต้ความกดดันในการหางานของคนญี่ปุ่น

หลังจากที่ภาพยนต์ญี่ปุ่นเรื่อง “Nanimono (Somebody)” เปิดตัวเข้าฉายในเดือนตุลาคม 2016 ที่ผ่านมา ก็สามารถกวาดรายได้ในญี่ปุ่นไปมหาศาล ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากนิยายในชื่อเดียวกันซึ่งได้รางวัลชนะเลิศจาก Naoki Prize ครั้งที่ 148 ในปี 2012 เป็นผลงานของอาจารย์ เรียว อะซาอิ (Ryo Asai) นำแสดงโดย Takeru Satoh, Masaki Suda, Kasumi Arimura, Fumi Nikaido, Masaki Okada และ Takayuki Yamada ซึ่ง “Nanimono” เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงชีวิตของเหล่านักศึกษาหนุ่มชาวญี่ปุ่นที่ต้องหางานและต้อง “ค้นหาตัวเอง” ไปในเวลาเดียวกัน

วันนี้แองเกิ้ลจึงนำบทความสั้นๆ เกี่ยวกับการหางานของชาวญี่ปุ่นมาฝากเพื่อนๆ กัน มาดูว่าแต่ละคนจะคิดอย่างไรเกี่ยวกับการหางานกันบ้าง

就活 ( shuukatsu )

ชาวญี่ปุ่นจะเรียกการหางานว่า “就職活動 (shuushoku-katsudou)” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “就活 (shuukatsu)” ค่ะ การหางานในญี่ปุ่นถือเป็นความยากลำบากอย่างหนึ่งของช่วงชีวิต หนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นในวัยที่ต้องเริ่มหางานจะส่งใบสมัครไปให้หลายบริษัทเท่าที่จะส่งได้ และความจริงที่น่าเศร้าใจก็คือ ส่วนมากมักจะโดนปฏิเสธ สำนวนที่ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ในการหางานของคนญี่ปุ่น เพราะบางครั้งถึงแม้ว่าจะพยายามสักแค่ไหนก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีบริษัทรับเข้าไปทำงานเพราะความพยายามนั้น พูดง่ายๆ คือ “มีแค่ความพยายามมันไม่พอ” เส้นทางชีวิตนี้มันไม่สวยหรูอย่างที่ใจอยากให้เป็นจริงๆ นะคะ

ดูภายนอกแล้ว อีเวนท์การหางานของชาวญี่ปุ่นออกจะคล้ายพิธีกรรมอะไรบางอย่าง เพราะทุกคนใส่สูทเหมือนกัน สีเดียวกัน และตัดผมทรงเดียวกัน มองเผินๆ เหมือนกองทัพ stormtoopers ในหนังเรื่อง Star Wars ยังไงยังงั้น

“พอมองไปรอบข้าง เห็นรุ่นพี่ เห็นเพื่อนๆ หางานกันอย่างจริงจัง แล้วก็รู้สึกว่าเราต้องทำอะไรสักอย่าง” (M อายุ 21 ปี)

เอ็มซัง (นามสมมติ) เป็นสาวญี่ปุ่นที่จะต้องเข้าสู่ตลาดหางานในปี 2017 แต่เธอก็เริ่มเตรียมตัวแล้วตั้งแต่เดือนกันยายนในปี 2016 นี้

“ฉันรู้สึกได้ถึงความตึงเครียดและความกดดันตอนฝึกงาน มันไม่ง่ายอย่างที่คิดเลย เพราะขนาดแค่จะไปฝึกงาน 5 วันก็ยังต้องกรอกใบสมัครและสอบสัมภาษณ์มากมายหลายขั้นตอน”

“พวกรุ่นพี่บอกว่า ถ้าไปฝึกงานจะทำให้รู้จักเด็กฝึกงานคนอื่นๆ ไว้เป็นคอนเนคชั่น และยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองด้วย ถึงได้ยินแบบนั้นยังรู้สึกว่าไม่อยากไปฝึกงานเลย แต่พอเห็นเพื่อนๆ ไปกันหมดก็เลยคิดว่า ต้องทำอะไรสักอย่างเหมือนกันค่ะ”

“ฉันยื่นใบสมัครไปทั้งหมด 15 บริษัทค่ะ” (A อายุ 21 ปี)

เอซัง (นามสมมติ) เป็นนักศึกษาปี 4 ที่เพิ่งยื่นใบสมัครหางานเสร็จ แต่รู้สึกสิ้นหวังในอนาคตมาก

“หางานยากมากค่ะ เพื่อนบางคนแนะนำว่า ต้องวิเคราะห์ตัวเอง มองตัวเองให้ออก และหาจุดแข็งของตัวเองให้เจอ แต่ฟังแล้วรู้สึกไม่ชอบเลย เหมือนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีจุดแข็งอะไรให้พูดถึงเลย ไม่มีอาชีพในฝันแบบจริงจังด้วย ก็เลยดูแค่เงินเดือนกับสถานที่ทำงาน สุดท้ายก็ยื่นใบสมัครไปแค่ 6 บริษัท ในขณะที่คนอื่นยื่นใบสมัครกัน 20 ถึง 30 บริษัท พอจะบอกเพื่อนว่ายืนใบสมัครไปแค่ 6 บริษัทก็รู้สึกอาย เลยโม้ไปว่าสมัครไป 15 บริษัทค่ะ (หัวเราะ) สรุปคือมีแค่ 3 บริษัทที่ตอบกลับมา พอดีเพื่อนคนนึงที่หางานเสร็จแล้วมาช่วยดูใบสมัครให้ด้วย เลยคิดว่าเขียนได้ดีขึ้น เวลาเขียนใบสมัครงานหรือเวลาสัมภาษณ์เนี่ย ถ้าไม่ทำให้ตัวเองดูน่าสนใจหรือไม่ทำให้ตัวเองตรงกับที่บริษัทต้องการแล้วจะมีโอกาสได้งานยากมากค่ะ ซึ่งพอได้งานแล้วก็ไม่รู้ว่าจะทำงานนั้นได้จริงๆ หรือเปล่า หรือไม่ก็จะรู้สึกว่าเริ่มไม่อยากทำงานนี้จริงๆ แล้ว”

“ถ้าให้หางานอีกครั้งจะทำมั้ย ?”

“คิดว่าไม่ค่ะ สมัครอีกรอบอาจจะไม่ได้แล้ว ตอนนี้ทำได้อย่างเดียวคือต้องพยายามทำงานในบริษัทที่ตัดสินใจตอนแรกแล้วเท่านั้นค่ะ”

“ผมมีเป้าหมายที่อยากทำครับ ก็เลยพยายามไปให้ถึงเป้าหมายนั้น” (U อายุ 22 ปี)

ยูคุงชั้นปี 4 ที่กำลังเริ่มหางานในช่วงเดือนกันยายนได้รับการตอบรับจาก 4 บริษัทใหญ่ที่ใครๆ ต่างอิจฉา แต่ก็ยังเดินหน้าสมัครงานต่อไป

“ความฝันผมคือการเป็นนักบิน ผมอยากจะพยายามจนกว่าจะได้เป็นนักบิน”

ยูคุงบอกว่าเคยไปฝึกงานในฤดูร้อนที่บริษัทสายการบินตอนเรียนอยู่ปี 3 เลยเริ่มหางานจากบริษัทนั้น

“บางบริษัทจะรับเด็กที่เคยฝึกงานด้วย ผมเลยกระตือรือร้นเข้าฝึกงาน พอเห็นบางคนที่ไม่ผ่านแล้วรู้สึกว่าโลกนี้มันช่างโหดร้าย แต่เห็นแบบนั้นแล้วก็ทำให้ผมมีแรงฮึดขึ้นมาได้นะ ผมได้คนในบริษัทโฆษนาที่ผมเจอในคลาสของมหาวิทยาลัยช่วยดูและแนะนำใบสมัครที่ผมทำ ก็เลยไม่รู้สึกเครียดกับการเขียนใบสมัครเท่าไหร่ หลังจากนั้นมีโอกาสได้เก็งข้อสอบกับเพื่อนที่เคยเจอตอนฝึกงานเลยช่วยได้เยอะมาก ผมว่าคอนเนคชั่นก็สำคัญมากนะ”

“ถ้าให้หางานอีกรอบนึงจะทำมั้ย ?”

“ได้นะครับ จริงๆ แล้วก็อยากหาอีกรอบเหมือนกัน เหมือนเราได้เรียนรู้มาหมดแล้ว ถ้าเริ่มนับหนึ่งใหม่ก็ดีเหมือนกันครับ”

A ritual of self-discovery/ A ritual of change/ A ritual of acceptance
การหาตัวตน การเปลี่ยนแปลงตนเอง การยอมรับตนเอง

ความแตกต่างระหว่างประสบการณ์การหางานของเอซังและยูคุงนั้นน่าสนใจมาก เอซังบอกว่า “รู้สึกแย่ที่ต้องพยายามทำให้ตัวเองเป็นแบบที่บริษัทต้องการ” ในขณะที่ยูคุงมองว่า “พร้อมจะเปลี่ยนแปลงถ้าสามารถทำให้ตัวเองไปถึงฝันและได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ”

ชาวญี่ปุ่นมองว่า การหางานจะช่วยให้เราเรียนรู้ตัวตนของเราว่า เราคิดอย่างไรกับตัวเองและคนอื่นคิดอย่างไรกับเรา อะไรที่ยังขาด อะไรที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาตนเองได้ รวมถึงได้เรียนรู้ที่จะยอมรับตนเองทั้งในสิ่งที่ยังคงอยู่และในสิ่งที่เปลี่ยนไป

Yourself, yourself, yourself
หาตัวตนให้เจอ

“就活 (shuukatsu)” หรือการหางานของชาวญี่ปุ่นนั้น ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่ามันคือช่วงเวลาที่จะต้องค้นหาตัวเองให้เจอก่อนที่จะเข้าไปเผชิญกับสังคมใหม่ในวัยทำงาน เป็นช่วงชีวิตหนึ่งที่ทุกคนต้องเจอเพื่อออกเดินทางค้นหาตัวเองว่า ต้องการอะไร อยากทำอะไร หรือสามารถทำอะไรได้ดี หากค้นพบเป้าหมายของตัวเองเจอเมื่อไหร่ การหางานคงไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไป เพียงแต่ต้องรู้ตัวเองว่าตัวตันที่เป็นอยู่นั้น ดีพอแล้วหรือไม่? มันใช่จริงๆ แล้วหรือยัง? อาจจะมีสิ่งอื่น ตัวตนอื่นที่ดีกว่าและใช่กว่าอยู่ก็ได้นะ? บางทีเราอาจจะไม่รู้ตัวตนจริงๆ ของเราเลยก็ได้ ดังนั้น การฟังจากคนรอบข้างจึงสำคัญเช่นกัน เพราะคนรอบข้างอาจจะเป็นคนช่วยเราค้นพบตัวเองโดยสังเกตจากมุมมองของเขาและบอกเราได้ว่า เราทำสิ่งไหนได้ดี

ชาวญี่ปุ่นหลายคนอาจจะไม่เคยเจอความท้าทายอะไรในชีวิต แต่การหางานของชาวญี่ปุ่นนั้นเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้นแทนที่จะคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ยากลำบาก หลายคนจึงลองปรับมุมมองใหม่ มองว่าเป็นโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตที่จะได้ท้าทายตัวเองว่าสามารถทำได้ดีแค่ไหนและทำให้สุดความพยายามที่มีก็พอ

เพราะแบบนี้เราจึงเห็นคนญี่ปุ่นจริงจังในการหางานกันมากและหลังจากได้งานแล้วชาวญี่ปุ่นก็จะทำงานกันอย่างขะมักเขม้น เพราะกว่าจะมีงานทำต้องผ่านอะไรมาเยอะแยะมากมาย รวมถึงโอกาสในการเข้าทำงานนั้นไม่ได้หากันง่ายๆ นั่นเองค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook