“คิดเป็น” หลักสำคัญของการเรียนรู้ในโรงเรียนญี่ปุ่น

“คิดเป็น” หลักสำคัญของการเรียนรู้ในโรงเรียนญี่ปุ่น

“คิดเป็น” หลักสำคัญของการเรียนรู้ในโรงเรียนญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในขณะที่หลายประเทศเน้นการเรียนวิชาการที่หนักตั้งแต่วัยอนุบาล แต่โรงเรียนญี่ปุ่นไม่ได้มุ่งเน้นการอ่านออกเขียนได้ หรือการแข่งขันทางการเรียนที่เข้มข้นตั้งแต่เล็ก แต่กลับมุ่งการส่งเสริมการเรียนรู้ที่เน้นให้เด็กรู้จักคิดเป็น มาดูระบบการเรียนรู้แบบญี่ปุ่นตั้งแต่วัยอนุบาลกันนะคะ

1

การเรียนรู้ในระดับอนุบาล

ในระดับอนุบาลนั้น เป็นขั้นการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่ระดับประถมศึกษา เด็กทุกคนจะถูกฝึกให้สามารถทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองและฝึกระเบียบวินัยเพื่อให้อยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมให้มีความสุข โดยมีกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ เช่น การปล่อยให้เด็กเล่นได้อย่างอิสระ การไปทัศนะศึกษานอกโรงเรียนอย่างน้อยเดือนละครั้งเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้และสัมผัสธรรมชาติตลอดจนรู้จักกฎเกณฑ์การปฏิบัติตนเมื่ออยู่ในสถานที่สาธารณะ ในระดับอนุบาลจะไม่มีการสอนการเขียนการอ่านให้แก่เด็ก แต่ส่งเสริมให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ ได้เรียนรู้กฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกัน มีหน้าที่รับผิดชอบง่ายๆ ตลอดจนการเสริมสร้างทักษะทางการคิดต่างๆ ซึ่งอยู่ในรูปแบบการวาดรูประบายสี งานประดิษฐ์ต่างๆ และการปั้นดินน้ำมัน เป็นต้น

การเรียนรู้ในระดับประถมศึกษา

ระดับประถมศึกษาเป็นขั้นการพัฒนาการที่สำคัญที่จะเสริมสร้างระเบียบวินัยและการคิดเองเป็น โรงเรียนประถมญี่ปุ่นมีวิธีการพัฒนาเด็กดังนี้คือ

- การให้เด็กรู้จักกฎเกณฑ์ของสังคม เช่น เรียนรู้การใช้ถนนที่ปลอดภัย เรียนรู้การกล่าวทักทายและคำขอโทษเมื่อตนเองเกิดทำผิดพลาด เป็นต้น

- สร้างหน้าที่รับผิดชอบต่อตนเองและต่อสังคม หากเป็นความรับผิดชอบต่อตนเองคือ การส่งการบ้านและงานที่ได้รับมอบหมายตามเวลาที่กำหนดและไม่ลืมของ เป็นต้น ส่วนการรับผิดชอบต่อสังคมคือ การทำความสะอาดห้องเรียนและโรงเรียน เป็นเวรประจำเทอมในหน้าที่ต่างๆ และเป็นเวรตักอาหารเที่ยงให้เพื่อนร่วมชั้นเรียน เป็นต้น

- ฝึกทักษะชีวิตจากการออกไปทัศนะศึกษานอกโรงเรียน เด็กตั้งแต่ประถม 1-3 จะได้ออกไปทัศนศึกษานอกโรงเรียนค่อนข้างบ่อย ทั้งสถานที่ใกล้หรือไกล การออกไปนอกสถานที่นอกจากการฝึกให้เด็กได้สนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่แล้วยังส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคม เช่น หากเดินทางโดยรถไฟเด็กจะต้องเข้าแถวขึ้นรถไฟ และไม่ส่งสียงดังในรถไฟ นอกจากนี้เมื่อไปถึงสถานที่ต่างๆ เด็กก็จะได้เรียนรู้การปฏิบัติตนตามกฎของสถานที่ต่างๆและการนำขยะทุกชิ้นกลับมาทิ้งที่บ้าน

- การเรียนรู้จากการสังเกตลองผิดลองถูก เด็กๆทุกคนจะได้รับอิสระในการเรียนรู้ตามธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่ต้องปลูกทุกปี การเลี้ยงและบันทึกการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตต่างๆ การมีโครงงานต่างๆ ที่เด็กสามารถคิดได้อย่างอิสระในการบ้านปิดภาคการศึกษาฤดูร้อนของทุกปี การเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ลองผิดลองถูกจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ก่อให้การเรียนรู้ที่เป็นระบบในระดับที่สูงขึ้น

- การเรียนการสอนที่ผ่านการโต้ตอบและแสดงความคิดเห็น โรงเรียนส่งเสริมให้เด็กยกมือตอบคำถามและแสดงความคิดเห็นในเนื้อหาของบทเรียนและให้เพื่อนร่วมกันอภิปราย การโต้ตอบและแสดงความคิดเห็นจะถูกกระตุ้นโดยคุณครูที่หมั่นเปิดโอกาสให้เด็กคิดอย่างเป็นระบบและให้เด็กทุกคนมีส่วนร่วมในการยกมือตอบคำถามและตั้งโจทย์คำถามโดยมีคีย์เวิร์ดหลายคำเขียนไว้บนกระดานดำ

- การเน้นการเขียน ในระดับประถม 1-3 โรงเรียนญี่ปุ่นยังไม่นำเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตมา ใช้สอนหนังสือเด็ก เด็กมีความสนุกกับการได้เรียนรู้และบันทึกสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ส่งเสริมการเขียนเรียงความและจดบันทึกต่างๆอย่างสม่ำเสมอ การฝึกทักษะการเขียนให้กับเด็กอย่างสม่ำเสมอมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมให้เด็กมีการคิดและการสื่อสารที่ดีขึ้น ช่วยฝึกการจัดลำดับความคิดและส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์

- ไม่มีการสอบวัดระดับคะแนนปลายภาค ในระดับประถม โรงเรียนจะไม่มีการสอบปลายภาคเพื่อวัดระดับคะแนน การเรียนรู้ส่วนใหญ่เป็นการเสริมสร้างความรับผิดชอบ สร้างมารยาททางสังคมที่ดี และส่งเสริมให้เด็กพบความชอบและความถนัดของตัวเอง ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานสู่การเรียนรู้ที่ขึ้นกับความถนัดของตนเอง

การเรียนรู้ที่สนุกจะส่งเสริมให้เด็กคิดเป็น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ บางครั้งผู้ใหญ่อาจจะหลงทางเน้นการเรียนวิชาการที่เข้มข้นและการคำนวณที่รวดเร็วจนละเลยการสร้างเด็กที่คิดเป็น เพราะชีวิตนั้นมีหลากหลาย การคิดเป็นจะทำให้เด็กปรับใช้ความรู้ที่เรียนมาเพื่อสร้างอาชีพที่เกิดจากความถนัดต่างๆได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook