เรื่องเล่า... “วันสุนทรภู่” กับ “ครูทอม คำไทย” สุดยอดแฟนพันธุ์แท้

เรื่องเล่า... “วันสุนทรภู่” กับ “ครูทอม คำไทย” สุดยอดแฟนพันธุ์แท้

เรื่องเล่า... “วันสุนทรภู่” กับ “ครูทอม คำไทย” สุดยอดแฟนพันธุ์แท้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันที่มีความสำคัญกับชาวไทย เนื่องด้วยวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเกิดของ “สุนทรภู่” กวีชาวไทยที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก โดยผลงานที่รู้จักกันดีคือเรื่อง “พระอภัยมณี” นั่นเอง และเนื่องจากวันนี้เป็นวันสุนทรภู่ทาง Sanook! Campus จึงนำบทสัมภาษณ์สั้นๆของ “ครูทอม คำไทย หรือ คุณจักรกฤต โยมพะยอม” สุดยอดแฟนพันธ์แท้ของสุนทรภู่ มาฝากทุกคนค่ะ โดยครูทอมได้กล่าวถึงเรื่องวรรณคดีไทยไว้ว่า


ครูทอม : ถ้าพูดถึงเรื่องภาษาไทยและวรรณคดีไทย มันมีมากกว่าแค่การออกเสียงให้ถูกต้อง อย่างวรรณคดีไทยมันไม่ใช่ตำราสอนภาษาไทย แต่เวลาเราอ่านเราจะได้ซึมซับเรื่องการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องความสละสลวยสวยงาม และข้อดีของวรรณคดีไทยคือทำให้เราเห็นวิถีชีวิตของคนในยุคนั้นๆ ซึ่งจะแตกต่างจากการอ่านตำราประวัติศาสตร์ ที่จะบอกตรงๆว่าสมัยนั้นใครทำอะไรยังไง แต่ถ้าอ่านวรรณคดีจะต้องตีความและทุกอย่างจะแทรกอยู่ในเนื้อเรื่อง

นอกเหนือจากเรื่องพระอภัยมณีแล้วมีเรื่องไหนอีกบ้างที่แต่งโดย สุนทรภู่
ครูทอม : มีเยอะเลยครับ สุนทรภูแต่งวรรณคดีหลายๆประเภท นิราศก็มี นิทานก็มี ถ้าอย่างนิทานก็จะเป็นเรื่อง “สิงหไกรภพ” และอีกเรื่องหนึ่งที่ทุกคนน่าจะรู้จักคือ “ลักษณวงศ์” ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมชื่นชอบ นอกจากนิทานยังมี “นิราศ” โดยจะแต่งเกี่ยวกับการเดินทาง เวลาไปไหนก็จะเขียนเล่าเรื่องคล้ายๆบันทึกการเดินทางเหมือน “การเช็คอินในเฟสบุ๊ค แต่สุนทรภู่เช็คอินในนิราศ” ว่าระหว่างทางเจออะไรบ้าง บางที่จะมีการพร่ำเพ้อถึงคนรัก พอเราอ่านแล้วจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าสุนทรภู่มีความสัมพันธ์กับใครบ้าง
และที่บอกไปว่าเราจะได้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน ยกตัวอย่าง “นิราศเมืองแกลง” ซึ่งผมอ่านแล้ว ว้าว! มากเพราะว่า ระหว่างที่สุนทรภู่เดินทางไประยองก็เจอ “แรด” อยู่ข้างทาง ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่าป่าไม้ในสมัยก่อนของบ้านเรานั้น มีความอุดมสมบูรณ์มากๆ

และอย่างที่หลายๆคนคงจะรู้ว่า “สุนทรภู่” ท่านจะมีความเชี่ยวชาญในเรื่อง “สัมผัส” ทั้งนอกและใน ทางเราจึงให้ครูทอมช่วยยกตัวอย่างของบทกลอน โดยครูทอมได้ยกตัวอย่างจากฉากที่พระอภัยมณีได้กับนางผีเสื้อสมุทร ซึ่งสุนทรภู่เปรียบเทียบฉากนี้เหมือนกับการแข่งว่าว เนื่องจากสมัยก่อนจะมีกาแข่งว่าวกันคือ ว่าวจุฬา และ ว่าวปักเป้า สุนทรภู่จึงแต่งเปรียบเทียบกับการแข่งว่าวอย่างบทกลอนต่อไปนี้
เกิดกุลาคว้าว่าวปักเป้าติด
กระแซะชิดขากบกระทบเหนียง
กุลาส่ายย้ายหนีตีแก้เอียง
ปักเป้าเหวี่ยงยักแผละกระแซะชิด
กุลาโคลงไม่สู้คล่องกระพร่องกระแพร่ง
ปักเป้าแทงตะละทีไม่มีผิด
จะแก้ไขก็ไม่หลุดสุดความคิด
ประกบติดตกผางลงกลางดิน

เราจะเห็นภาพเลยว่าการที่ว่าวสองตัวสู้กันมีความรุนแรงอย่างไร และแต่ละคำก็จะมีเสน่ห์และให้เราวิเคราะห์ตาม เราต้องอ่านให้ละเอียด สุดท้ายนี้ครูทอมยังฝากบทกลอนที่สั่งสอนให้คนเป็นคนดีจากบทประพันธ์ของสุนทรภู่ชื่อว่า
เพลงยาวถวายโอวาท
“อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก
สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก จึงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย”

ซึ่งมีความหมายว่า “เรามีความรู้ความคิดต่างๆเปรียบเสมือนเป็นอาวุธ เราต้องเก็บเอาไว้ให้ดี อย่าเที่ยวเอาออกมาทำร้ายคนอื่น ต่อเมื่อถึงเหตุการณ์ที่มีคนจะทำร้ายเรา เราถึงเอาความรู้ของเราออกมาป้องกันตัว อย่าใช้ความรู้ที่เรามีเพื่อเอาไปทำร้ายคนอื่น”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook