5 เรื่องที่มักจะพลาด ในวันสัมภาษณ์งาน

5 เรื่องที่มักจะพลาด ในวันสัมภาษณ์งาน

5 เรื่องที่มักจะพลาด ในวันสัมภาษณ์งาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ขอให้การสัมภาษณ์วันนี้ออกมาดีด้วยเถอะ”
เชษฐาคิดพร้อมก้าวขาลงจากที่นอน ขณะที่นาฬิกาบนหัวเตียงกำลังบอกเวลา 7 นาฬิกา
วันนี้เขามีนัดสัมภาษณ์งานตอนบ่ายโมงตรง บางคนอาจคิดว่าเวลานี้เป็นเวลาที่เช้าเกินไปสำหรับนัดบ่ายโมง แต่ไม่ใช่กับเชษฐา เพราะนี่เป็นการสัมภาษณ์งานครั้งแรกของเขา เขาจึงตื่นเต้นเอามาก ๆ และเขาเองก็ยังไม่มั่นใจด้วยว่าการเตรียมตัวที่ผ่านมาของเขานั้นเพียงพอแล้วหรือยัง
ซึ่งคำตอบก็คือ “ยังไม่พอ” เพราะไม่ใช่แค่เอกสารครบ ศึกษาข้อมูลบริษัทอย่างดี หรือเตรียมคำตอบสำหรับคำถามสัมภาษณ์งานเท่านั้น แต่ในวันสัมภาษณ์จริงยังมีอีกหลายเรื่องที่เขาจะต้องทำออกมาให้ดีเช่นกัน ซึ่ง JobThai.com/REACH ก็ไม่พลาดที่จะเอาเคล็ดลับเหล่านั้นมาฝาก

ไปถึงตรงเวลาพอดิบพอดี
ในวันสัมภาษณ์งาน การไปถึงบริษัทตรงเวลาเป็นเรื่องที่ดี แต่จะดีกว่ามากหากเชษฐาไปถึงก่อนเวลาสักครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง เพราะนอกจากจะทำให้เขาดูเป็นคนมีความรับผิดชอบ และตรงต่อเวลาแล้ว การที่เขาไปถึงก่อนเวลานัด ก็จะทำให้มีเวลาได้สำรวจตัวเองให้เรียบร้อยอีกรอบด้วย แต่หากมีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้นทำให้เราไม่สามารถไปถึงที่นัดได้ตรงเวลา ก็ควรจะโทรศัพท์ไปแจ้งทางบริษัทเพื่อขอเลื่อนเวลา อย่าหายเงียบไปเฉย ๆ เด็ดขาด

พาคนอื่นไปเป็นเพื่อน
การที่เชษฐาเข้าสู่วัยทำงาน หมายความว่าเขาเป็นผู้ใหญ่มากพอที่จะดูแลและรับผิดชอบชีวิตของตัวเองได้แล้ว ดังนั้นการพาผู้ปกครอง เพื่อน หรือคนอื่น ๆ ไปด้วยในวันสัมภาษณ์จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ดูไม่เป็นผู้ใหญ่ พี่งพาตัวเองไม่ได้ หรือหากมีความจำเป็นต้องพาคนอื่น ๆ ไปด้วย ก็ควรจะให้พวกเขารออยู่นอกบริษัท เช่น ร้านกาแฟ หรือ ห้างสรรพสินค้าบริเวณนั้นแทน

มองข้ามมารยาทเล็ก ๆ น้อย ๆ
เรื่องมารยาทเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เชษฐาจึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องมารยาทตั้งแต่ก้าวแรกที่มาถึงบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการไหว้การกล่าวสวัสดี และการกล่าวขอบคุณคนที่ช่วยเหลือ แม้ในเรื่องเล็กน้อย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่คนที่สัมภาษณ์เท่านั้น แต่รวมไปถึงคนที่เจอตั้งแต่เข้ามาในบริษัท ไม่ว่าจะเป็นพนักงานต้อนรับ หรือฝ่ายบุคคล และเรื่องสำคัญที่หลายคนมักจะทำพลาดก็คือเรื่องโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะในระหว่างการสัมภาษณ์งาน ถ้าเป็นไปได้เราควรที่จะปิดเครื่องโทรศัพท์มือถือให้เรียบร้อย เพราะบางครั้งการเปิดระบบสั่นอาจยังไม่เพียงพอ การมีเสียงรบกวนที่เกิดจากโทรศัพท์ดังขึ้นนอกจากจะทำให้ทั้งตัวเราเองและผู้สัมภาษณ์เสียสมาธิแล้ว ยังเป็นการไม่ให้เกียรติผู้สัมภาษณ์ด้วย

คิดว่าโกหกไป HR ก็คงจับไม่ได้
สิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ทุกคนให้ความสำคัญก็คือความซื่อสัตย์ของคนที่มาสัมภาษณ์งาน ดังนั้นเชษฐาจึงไม่ควรที่จะพูดโกหกอย่างเด็ดขาด การศึกษาคำถามที่มักพบบ่อยในการสัมภาษณ์งาน และลองคิดคำตอบเอาไว้ล่วงหน้าเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสร้างคำตอบที่ดูดีให้กับตัวเองโดยไม่ตรงกับความจริงได้ เพราะคนที่มาสัมภาษณ์นั้นล้วนเป็นคนที่มีประสบการณ์ผ่านการสัมภาษณ์มาเป็นจำนวนมากแล้วทั้งสิ้น พวกเขาจึงมักจะดูออกทันทีว่าคนไหนพูดความจริง หรือคนไหนกำลังโกหก

รวมไปถึงเรื่องการแสดงนิสัยส่วนตัวก็เช่นกัน เชษฐาควรจะแสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมาในระหว่างการสัมภาษณ์งานด้วย เพราะบางครั้งคนสัมภาษณ์ก็ไม่ได้ต้องการจะรู้แค่ว่าเขามีความสามารถ หรือเคยทำงานอะไรสำเร็จมาบ้าง แต่พวกเขาจำเป็นต้องรู้ด้วยว่าเขามีลักษณะนิสัยอย่างไร เพื่อที่จะได้พิจารณาว่าจะสามารถเข้ากับองค์กรของเขาได้หรือไม่

ไม่ใส่ใจบุคลิกภาพของตัวเอง
บุคลิกภาพระหว่างการสัมภาษณ์งานเป็นอีกสิ่งที่หลายคนมักจะลืมให้ความสำคัญ ขณะสัมภาษณ์งานคนถูกสัมภาษณ์อาจเกิดอาการตื่นเต้นหรือประหม่า จนเผลอทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา เช่น เคาะโต๊ะ เขย่าขา หรือขยับตัวไปมา เป็นต้น การกระทำเหล่านี้อาจสร้างความรำคาญ และทำลายสมาธิผู้สัมภาษณ์ได้
รวมทั้งอย่าลืมมองตาผู้สัมภาษณ์ขณะพูดด้วย เพราะหากเราหลบตาขณะกำลังตอบคำถามสัมภาษณ์งาน นอกจากจะเป็นการเสียมารยาทแล้ว ยังอาจทำให้ผู้สัมภาษณ์คิดว่าเรากำลังโกหกอยู่ก็ได้ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดในการสัมภาษณ์งานก็คือการพูดคุย และตอบคำถาม เราจึงควรที่จะพูดด้วยน้ำเสียงที่ไม่ดังหรือเบาเกินไป ตอบคำถามทุกอย่างด้วยความมั่นใจ ชัดเจน และมีหางเสียงทุกครั้ง รวมทั้งต้องระวังคำพูดประเภท “เอ่อ...” หรือ “อืม...” ขณะกำลังคิดด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook