รู้จักชื่อ "สาขาวิชาแปลกๆ" ที่ไม่คิดว่าจะมีสอนในมหาวิทยาลัยสหรัฐฯ

รู้จักชื่อ "สาขาวิชาแปลกๆ" ที่ไม่คิดว่าจะมีสอนในมหาวิทยาลัยสหรัฐฯ

รู้จักชื่อ "สาขาวิชาแปลกๆ" ที่ไม่คิดว่าจะมีสอนในมหาวิทยาลัยสหรัฐฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

classroom

ในสหรัฐฯ มหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เน้นการศึกษาแนวศิลปศาสตร์ หรือ Liberal Arts เปิดกว้างในการเสนอเนื้อหาการเรียนรู้เพื่อกระตุ้นการผูกโยงความคิดข้ามแขนงวิชา

สถาบันบางแห่งเปิดเสรีให้กับอาจารย์เลือกสรรสิ่งที่นำมาสอน และตั้งชื่อวิชาแปลกๆ ที่เรียกความสนใจจากนักศึกษาได้

มหาวิทยาลัยดังอันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ อย่าง University of Pennsylvania ในเมื่อฟิลาเดลเฟีย มีวิชาที่ชื่อว่า “Wasting Time on the Internet” หรือ “การเสียเวลาบนอินเทอร์เน็ต”

ที่รัฐโอไฮโอ วิทยาลัย Oberlin College เสนอวิชาที่ชื่อ “How to Win a Beauty Pageant” หรือ "ทำอย่างไรเพื่อให้ได้เป็นนางงาม"

และที่กรุงวอชิงตัน George Washington University สอนวิชาการเป็นมือดาบแบบญี่ปุ่นในวิชา “Japanese Swordmanship”

สำหรับในรัฐเคนตัคกี้ ที่เมืองแดนวิลล์ วิทยาลัย Centre College สอนวิชา “ศิลปะแห่งการเดิน” หรือ “Art of Walking” ด้วย

อาจารย์ผู้สอน เคนเนธ เคฟเฟอร์ (Kenneth Keffer) บอกว่า เขาสอนวิชาศิลปะแห่งการเดินนี้มาตั้งแต่ 16 ปีก่อน วิชานี้มีอะไรมากกว่าที่หลายคนคิด

เขาบอกว่า นักศึกษาที่วิทยาลัยแห่งนี้เป็นคนที่มุ่งมั่นต่อจุดหมาย และต้องการเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่ที่มาลงวิชาที่ฟังชื่อแล้วอาจจะเข้าใจว่าสอนในสิ่งที่ทุกคนรู้ดีว่าการเดินคืออะไร ก็น่าจะเป็นเพราะนักศึกษาต้องการทราบถึงมิติอื่นของการเดินทั้งในมุมมองของศาสตร์และศิลป์

อาจารย์เคฟเฟอร์กล่าวด้วยว่า อย่าลืมว่าการเดินนั้นเป็นสิ่งพิเศษของเผ่าพันธุ์มนุษย์หากเทียบกับกลุ่มสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

เขาบอกว่าวิชา “Art of Walking” แท้จริงแล้วเป็นวิชาเชิงปรัชญา และนักศึกษาต้องทำความเข้าใจมุมมองของนักปราชญ์คนสำคัญของโลก เช่น Emmanuel Kant และ Martin Heidegger ด้วย

แน่นอนว่าวิชานี้ต้องมีการเดินมาเกี่ยวข้อง อาจารย์เคฟเฟอร์บอกว่า นักเรียนต้องเดินวันละ 4 ชั่วโมงระหว่างเทอมที่ลงเรียน กิจกรรมนี้เป็นสิ่งที่อาจารย์ต้องการย้ำความสำคัญของการเดิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำง่ายๆ แต่บางคนอาจจะมองข้ามในสังคมปัจจุบัน

มีผู้วิจารณ์ว่า วิชาที่มีชื่อแปลกๆ และสอนเนื้อหาซึ่งยากที่จะจับต้องได้ เป็นสาเหตุให้คนรุ่นใหม่มองว่า การเรียนต่อมหาวิทยาลัยไม่มีประโยชน์ และสิ้นเปลืองเงินและเวลาโดยใช่เหตุ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีความชัดเจนว่าต้องการพัฒนาทักษะเฉพาะเพื่อให้ได้ทำงานตามจุดหมายที่ชัดเจน

นักวิชาการอย่าง อาจารย์ สเตฟานี ฮิวส์ (Stephanie Hughes) แห่งมหาวิทยาลัย Santa Clara University พยายามอธิบายว่า อันที่จริงไม่ควรมองข้ามการให้โอกาสนักศึกษาเรียนรู้ศาสตร์หลายแขนงแบบผสมผสาน

เธอกล่าวกับวีโอเอว่า นักศึกษาควรมีความเข้าใจในหลายสาขาวิชา เพราะคนจำนวนมากได้ทำงานในตำแหน่งที่ต้องการความรู้ซึ่งเดิมทีเจ้าตัวไม่คิดว่าจะใช้ความรู้บางอย่างมาเป็นประโยชน์ได้

นักศึกษาวัย 22 ปี กัวนานี โกเมส แวน คอร์ทไรท์ จากวิทยาลัย Reed College ในรัฐโอเรกอน กล่าวว่า เธอเองสงสัยเหมือนกันว่าในที่สุดจะลงเอยด้วยการเป็นนักวิทยาศาสตร์ในห้องวิจัย หรือทำงานเป็นนักเขียนบทความทางวิทยาศาสตร์กันแน่

เธอบอกว่า Reed College เปิดให้นักศึกษาลงเรียนในหลายสาขาวิชาได้ และยังมีความพิเศษอีกประการหนึ่งคือ แต่ละปีจะมีช่วงเวลาที่บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ตั้งแต่ นักเรียน ศิษย์เก่า อาจารย์ หรือคนจากหน่วยงานภายใน สามารถสอนวิชาอะไรก็ได้ เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ สำหรับการลงเรียนที่ไม่มีหน่วยกิต

นักศึกษาเชื้อสายลาตินอเมริกาผู้นี้บอกว่า บรรยากาศการเรียนแบบนี้เปิดประตูให้เธอได้รู้จักกับคนมากมาย และความคิดที่หลากหลาย ซึ่งวันหนึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ต่อเธออย่างน่าประหลาดใจก็ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook