เกมเป็น "เพชฌฆาต" หรือ "โอกาสสร้างความสำเร็จ"

เกมเป็น "เพชฌฆาต" หรือ "โอกาสสร้างความสำเร็จ"

เกมเป็น "เพชฌฆาต" หรือ "โอกาสสร้างความสำเร็จ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่น้อยเคยขัดแย้งกับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และสิ่งที่มักจะเป็นประเด็นให้คนสองวัยงัดข้อกันอยู่ตลอดก็คือเรื่องการใช้เวลาว่าง โดยฝ่ายผู้ใหญ่ก็หวังจะให้ลูกหลานขยันอ่านหนังสือ ขณะเดียวกัน เด็กๆ ที่เติบโตมาในยุคดิจิทัลก็มีวิธีการเรียนรู้มากมายที่ไม่ใช่หนังสือ แต่สิ่งที่ไม่ว่าอธิบายอย่างไร ผู้ใหญ่ก็ไม่เข้าใจ ก็คือ “เกม” เพราะผู้ใหญ่มักจะมองว่าเป็นของเล่นไร้สาระ ที่อาจเป็นอันตรายหากเผลอติดเข้า ในขณะที่เด็กก็ใช้เกมในการคลายเครียด และสามารถพัฒนากลายเป็นแหล่งรายได้ แถมยังสร้างชื่อเสียงได้ด้วย

มุมมองที่แตกต่างระหว่างคนสองวัยนี้ ในที่สุดก็นำไปสู่ปัญหาความไม่เข้าใจ แต่ในเมื่อเราไม่อาจหลีกเลี่ยงความเปลี่ยนแปลงของโลก Sanook! Campus ก็ขอถือโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ชวนเด็กและผู้ใหญ่มาหาคำตอบกันว่า เมื่อเกมกลายเป็น “โอกาสในการสร้างความสำเร็จ” เด็กและผู้ใหญ่ยุคนี้จะเดินไปด้วยกันอย่างไรดี

iStockphoto 

เกมไม่ใช่เรื่องไร้สาระ
เมื่อถามว่าทำไมเด็กไทยชอบเล่นเกม คำตอบส่วนใหญ่ก็คือความสนุก เนื่องจากเกมเป็นความบันเทิงที่เข้าถึงง่ายด้วยโทรศัพท์มือถือและสัญญาณอินเตอร์เน็ต รวมทั้งเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเพื่อนเกมเมอร์เข้าด้วยกัน แต่เชื่อหรือไม่ว่า ทุกวันนี้ เกมมีความพิเศษมากกว่าการเล่น “ขำๆ” แล้ว เพราะเด็กหลายคนรู้จักหารายได้จากการเล่นเกม ตั้งแต่การขายของในเกม นักแคสต์เกม (Game Caster) ที่อัพโหลดคลิปการเล่นเกมขึ้นบน YouTube หรือสตรีมเมอร์ (Streamer) ที่โชว์การเล่นเกมแบบสดๆ ในโลกออนไลน์ ซึ่งนักแคสต์เกมชื่อดังก็หนีไม่พ้น PewDiePie ผู้ใช้ YouTube ที่มีผู้ติดตามสูงสุด พร้อมรายได้ปีละกว่า 4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 130 ล้านบาท (ตัวเลขปี 2013) และเป็น 1 ใน 30 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลในโลกอินเตอร์เน็ต จัดอันดับโดยนิตยสาร Time หรือสุดยอดเกมเมอร์ในสายกีฬา E-sports ก็ต้องยกให้ ลีแจดอง เซียนเกม StarCraft: Brood War ที่ทำรายได้สูงสุดราว 17 ล้านบาท เมื่อปี 2014

PewDiePiePewDiePiePewDiePie

สำหรับเกมเมอร์ในประเทศไทย ผู้ที่จะมาเล่าเรื่องนี้ได้ก็คือ คุณแป้ง นัยรัตน์ ธนไวทย์โกเศส หรือที่รู้จักกันดีในหมู่เกมเมอร์ในชื่อ Zbing z. ไอดอลสายเกมที่มีความใฝ่ฝันคือได้ทำงานเกี่ยวกับเกม โดยเธอได้เล่าจุดเริ่มต้นของการเป็นนักแคสต์เกมใน YouTube ว่า

“หลังจากที่เรียนจบมหาวิทยาลัยมา 1 ปี เราก็มาเจอกระทู้เกี่ยวกับ PewDiePie ที่ทำรายได้จาก YouTube หลายร้อยล้านเหรียญ และเป็นอันดับหนึ่งของ YouTuber สายเกม เราก็เลยสนใจ ในไทยตอนนั้นก็ยังไม่ค่อยมีคนทำเท่าไร น่าจะไม่ถึง 50 ช่อง เราก็ศึกษามาเรื่อยๆ จนกระทั่งได้ลองอัพโหลดวิดีโอที่เป็นคลิปเล่นเกมของเราครั้งแรก ช่วงประมาณปี 2014 แล้วก็เริ่มทำงานนี้เลย”

นัยรัตน์ ธนไวทย์โกเศส (แป้ง Zbing z.)Zbingนัยรัตน์ ธนไวทย์โกเศส (แป้ง Zbing z.)

คุณแป้งเล่าว่ารายได้จาก YouTube จะแบ่งออกเป็น 2 อย่างด้วยกัน คือมาจากสปอนเซอร์ที่มาจ้างโปรโมตสินค้า หรือรีวิวสินค้า และจากโฆษณาใน YouTube นอกจากนี้เธอยังมีรายได้จากการขายสินค้าที่ระลึก เช่น เสื้อ สมุด สายรัดข้อมือ หมอน ให้แฟนคลับได้เก็บสะสมอีกด้วย

“เราต้องมาหาข้อมูลว่าช่วงนี้มีเกมอะไรน่าสนใจบ้าง เกมนี้มันเป็นแนวนี้ เวลาเล่นควรจะเล่นแนวทางไหน เพราะแป้งจะพากย์เสียงด้วย ก็เลยต้องทำการบ้านหน่อย ดังนั้น พอมันเป็นงานก็จะไม่เหมือนการเล่นเกมปกติ สำหรับแป้ง การเล่นเกมมันช่วยฝึกเราหลายๆ อย่าง อย่างแป้งชอบเล่นเกมแล้วพูดคุย อธิบายไปด้วย มันก็ช่วยฝึกบุคลิกภาพและทักษะการพูดของเรา เกมเมอร์ไทยหลายคนสามารถฝึกภาษาอังกฤษจากเกมได้ด้วยค่ะ” แป้งกล่าว

AFP

E-sports ทางเลือกใหม่ของสายเกม
นอกเหนือจากการเป็นนักแคสต์เกมแล้ว อีกอาชีพที่น่าจะมาแรงไม่แพ้กันก็คือนักกีฬา E-sports ซึ่งต่างจากเกมเมอร์ทั่วไปตรงที่กีฬา E-sports เป็นการแข่งขันที่วัดผลแพ้ชนะอย่างเป็นทางการในมหกรรมกีฬาระดับชาติ อย่างซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ เช่นเดียวกับกีฬาชนิดอื่นๆ รวมถึง The International การแข่งขัน DotA 2 ที่มีเงินรางวัลรวมสูงสุดถึง 20 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 700 ล้านบาท ซึ่งเมื่อการเล่นเกมขยับเข้าสู่เวทีกีฬาสากล เกมจึงไม่ใช่แค่ของเล่นแก้เครียดอีกต่อไป เพราะนักกีฬา E-sports จำเป็นต้องฝึกฝนร่างกายอย่างหนักไม่แพ้นักกีฬาทั่วไปเลย

“นักกีฬา E-sports ก็ต้องออกกำลังกายให้ฟิตแอนด์เฟิร์ม ซึ่งระหว่างที่ฝึกซ้อมอยู่ในแคมป์ของสมาคม ก็จะมีโค้ชและเทรนเนอร์มาช่วยดูแล และก็ต้องปรึกษากับบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา เกี่ยวกับสรีระในการนั่งและวิธีออกกำลังกายที่เหมาะกับกิจกรรมของเรา” คุณสันติ โหลทอง นายกสมาคมไทยอีสปอร์ต กล่าวถึงชีวิตของนักกีฬา E-sports ที่ไม่ใช่แค่เด็กติดเกมอย่างที่ใครๆ เข้าใจ แต่ต้องจัดตารางฝึกซ้อม อบรมบุคลิกภาพ ออกกำลังกาย ไปจนถึงการตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะดวงตา

iStockphoto

สำหรับรายได้และความสำเร็จของนักกีฬา E-sports คุณสันติระบุว่า ผู้ที่จะได้รับเงินรางวัลจากการแข่งขันต้องเป็นนักกีฬาที่เก่งที่สุดเท่านั้น ซึ่งแต่ละสนามจะมีเพียง 3 คน คือผู้ชนะเลิศ และรองชนะเลิศอีก 2 อันดับ แต่ความเชี่ยวชาญด้านเกมสามารถต่อยอดไปในสาขาอาชีพอื่นๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านอุปกรณ์ไอที ผู้สร้างคอนเทนต์หรือ YouTuber แม้กระทั่งเกมเมอร์ที่มีความสามารถด้านการออกแบบกราฟิก ก็สามารถใช้ความชำนาญทั้งสองอย่างในการออกแบบฉากต่างๆ ในเกมได้

“เราไม่ได้ทำให้ E-sports ใหญ่ขึ้น แต่ทำให้มันมีประโยชน์ในตัวมันเองมากขึ้น โดยที่สุดท้ายนักกีฬาที่เก่งจะสามารถพัฒนาตัวเองไปในด้านอื่นๆ เหมือนเวลาเราเห็นเด็กคนหนึ่งชักปืนออกมายิงโชว์ กับอีกคนไปสมัครแข่งนักยิงปืนทีมชาติ เด็กถือปืนด้วยกันทั้งคู่ แต่ได้รับการยอมรับต่างกัน คนที่ไปสมัครทีมชาติ พอเขาใช้อุปกรณ์เสร็จเขาจะบอกผู้ชมเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ปืน แต่สำหรับเด็กวัยรุ่นที่เอาปืนมาโชว์เพื่อน เขาจะไม่สนใจอะไรเลย นอกจากความเท่” คุณสันติกล่าว

Thai E-sports

โอกาส หรือ เพชฌฆาตอันตราย?
แม้ว่าเกมจะเปิดเส้นทางการทำงานให้คนรุ่นใหม่ แต่สำหรับผู้ใหญ่บางคน เกมก็ยังคงเป็นตัวการที่ทำให้เด็กที่ “ติดเกม” เสียการเรียน ขาดวินัย ไปจนกระทั่งกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ซึ่งจุดนี้ อาจารย์ นพ. อัศวิน นาคพงศ์พันธุ์ หรือหมอตั้ม จากเพจ “เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ” กล่าวว่า ลักษณะของการติดเกมบ่งบอกได้จากอาการกระสับกระส่าย หงุดหงิด เมื่อไม่ได้เล่นเกม รวมทั้งการเล่นเกมจนทำให้เสียการงาน สนใจคนรอบข้างน้อยลง ไม่ดูแลตัวเองจนกระทั่งเสียสุขภาพ ก็เรียกว่าติดเกมได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ข้อหาเรื่องเกมเป็นตัวสร้างความรุนแรงนั้น หมอตั้มยืนยันว่า เกมเพียงอย่างเดียวไม่ใช่สาเหตุของความรุนแรงทั้งหมด

“ถ้าเด็กเล่นเกมที่ไม่เหมาะกับวัย เช่น เกมที่มีเนื้อหารุนแรง หรือเกมผีที่น่ากลัวมากๆ ก็อาจจะมีผลต่อพฤติกรรม เช่น อาจจะทำให้เกิดความหวาดกลัว หรือเด็กบางคนเล่นเกมที่มีความรุนแรงมากๆ ประกอบกับมีปัญหาความเครียดส่วนตัวด้านอื่นๆ ก็อาจจะทำให้ก้าวร้าวขึ้น ก็เป็นไปได้ แต่ว่าตัวเกมอย่างเดียวไม่ได้เป็นสาเหตุทั้งหมด มันต้องมีหลายอย่างร่วมกัน” หมอตั้มกล่าว

iStockphoto

อย่างไรก็ตาม คุณสันติกลับมองว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าความรุนแรงก็คือ การปล่อยให้เกมมาทำให้เด็ก “เสียเวลา เสียคน และเสียทรัพย์”

“ถ้าคุณเหงา ไม่มีเพื่อน คุณต้องหาอะไรสักอย่างทำ และเกมมันเข้าถึงง่ายที่สุด เพราะตอนนี้เกมอยู่ทุกที่ทุกเวลาเพราะมีมือถือ คนอื่นถึงได้กลัวไง แต่ถ้ากลัวแล้วจะแก้ไขปัญหาที่ปลายทางมันไม่ถูกต้อง ต้องแก้ที่ต้นทาง คือวินัย อาชญากรรมหรือความรุนแรงเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล แต่เรื่องการเสียเวลา เสียสุขภาพ หน้าที่การงาน จะมีโอกาสเกิดขึ้นกับคนเล่นเกมมากกว่า แถวบ้านเรียกว่าไม่มีความรับผิดชอบ” คุณสันติกล่าว

iStockphoto

แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างสมดุลระหว่างการเล่นเกมและชีวิตประจำวันให้กับเด็กๆ ได้ ก็คือ “ครอบครัว” ซึ่งหมอตั้มกล่าวว่าครอบครัวควรมีการปลูกฝังวินัยตั้งแต่ยังเด็ก ให้เล่นเป็นเวลา และรู้จักเลิกและเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอย่างอื่น เลือกเกมที่เหมาะกับวัย และคอยสังเกตเกมที่เด็กเล่นว่าเหมาะสมกับอายุหรือไม่ รวมทั้งต้องใช้เวลาร่วมกับเด็กในการทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

“เกมอาจจะเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่สำคัญที่สุดคือถ้าครอบครัวเข้มแข็ง มีความรักความเข้าใจ เด็กจะเล่นเกมรุนแรงก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะไปฆ่าใคร ผมว่าครอบครัวสำคัญที่สุด” หมอตั้มกล่าว

iStockphoto 

สำหรับเด็กรุ่นใหม่เอง นอกจากจะต้องจัดระเบียบชีวิต ไม่ให้การเล่นเกมทำให้กิจวัตรเสียแล้ว คุณสันติยังแนะนำว่าอย่าเล่นเกมเพียงเพื่อความสนุก ต้องเล่นให้เกิดประโยชน์ด้วย

“ผมอยากให้เด็กๆ ใช้เวลาศึกษาหาข้อดีของเกมให้เจอ ถ้าคุณบอกว่าทำแค่สนุก คุณก็ได้แค่สนุก แต่ถ้าคุณบอกว่านี่งานฉัน ฉันต้องสร้างโอกาสหลายสิ่งจากสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ ผมว่ายังไงก็ต้องได้ เพราะคุณเอาจริง มันขึ้นอยู่กับความคิดของเราว่าเราทำเรื่องนี้เพื่ออะไร” คุณสันติกล่าวทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook