ทลายกำแพงภาษา ต้อนรับโตเกียวโอลิมปิกด้วย “ล่าม AI”

ทลายกำแพงภาษา ต้อนรับโตเกียวโอลิมปิกด้วย “ล่าม AI”

ทลายกำแพงภาษา ต้อนรับโตเกียวโอลิมปิกด้วย “ล่าม AI”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

listen

กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่นออกโรงสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปัญญาประดิษฐ์ระบบล่ามพูดพร้อม (การแปลชนิดที่ล่ามแปลไปพร้อมกับที่ผู้พูดกำลังพูดอยู่) ของธุรกิจต่างๆ โดยสถาบัน NICT (National Institute of Information and Communications Technology) หรือสถาบันวิจัยเทคโนโลยีข้อมูลและการสื่อสารของประเทศญี่ปุ่นจะทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการรวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการ และต้องการให้ระบบล่ามพูดพร้อมนี้ใช้ได้จริงทันต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วโลกในโตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิกปี 2020 หรือก็คือต้องการจะ “ทำลายกำแพงภาษา” ระหว่างผู้คนจากประเทศต่างๆนั่นเองค่ะ

เทคโนโลยีการแปลของ NICT นั้น เคยมีจุดเด่นเน้นไปที่การท่องเที่ยว และตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2017 ก็ได้มีการปรับปรุงด้วยเทคนิค Deep Learning (ความสามารถในการประมวลผลได้ครั้งละจำนวนมาก ช่วยให้การเรียนรู้ของเครื่องสามารถให้ผลลัพธ์ในการตัดสินใจและคาดการณ์ได้ดีมากยิ่งขึ้น) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการป้องกันภัยจากธรรมชาติ ไปจนถึงการจับจ่ายใช้สอย เป็นต้น ความแม่นยำสูงถึง 90% ภาษาที่ใช้ก็เป็นธรรมชาติมากกว่าการใช้ซอฟต์แวร์แปลภาษาที่เป็นที่แพร่หลายในปัจจุบันอย่างกูเกิ้ล

แอปพลิเคชั่น VoiceTra ที่มีให้ดาวน์โหลดมาใช้ได้แล้วนั้น ก็รองรับการแปลภาษาทั้งหมด 16 ภาษา รวมทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน จากการพิมพ์ใส่ลงไปและการป้อนข้อมูลด้วยเสียง นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาการวิเคราะห์ประโยคขณะที่ป้อนข้อมูลเสียงด้วยความเร็วต่อเนื่อง หรือก็คือการใช้เทคโนโลยีการตัดแบ่งประโยคอัตโนมัติเพื่อเริ่มแปลความหมายได้ทันที ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับระบบ“ล่ามพูดพร้อม” รวมไปถึงการวิจัยพัฒนาระบบการรับรู้จดจำภาพ และวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจว่าภาพนั้นคืออะไร ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ Image recognition”

กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารยืนยันจะกระตุ้นให้บรรดาผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีในรูปแบบนี้ โดยการวิจัยผลิตภัณฑ์ในส่วนของการแปลภาษาด้วยเสียงนั้นสามารถใช้เซิร์ฟเวอร์ปัญญาประดิษฐ์ที่ทางรัฐบาลเป็นฝ่ายจัดเตรียม เซิร์ฟเวอร์ดังกล่าว ทาง NICT จะเปิดให้เข้าใช้ได้อย่างอิสระ และขั้นตอนต่างๆของการวิจัยทดลองก็ไม่จำเป็นต้องยืนยันใบอนุญาตแต่อย่างใด

การที่บรรดาผู้ประกอบการจะทำการก่อตั้งเซิร์ฟเวอร์ของตัวเองหรือดำเนินการขอใบอนุญาตนั้น บางกรณีต้องใช้เงินลงทุนสูงหลายล้านเยน ทางกระทรวงมองว่านี่เป็นอุปสรรคหนึ่งของการพัฒนาและต้องการจะลดความยุ่งยากแบบนี้ออกไป ล่าสุด ช่วยให้บริษัท Fujitsu สามารถเร่งความเร็วในการพัฒนาวิจัยเทคโนโลยี และวางแผนที่จะนำคลิปแปลภาษามาใช้จริงในสถานพยาบาลกลางปีนี้แล้ว

ปัจจุบัน ร้านอาหารในญี่ปุ่นก็จะมีแท็บเล็ตวางเตรียมไว้บนโต๊ะเพื่อให้ลูกค้าสั่งอาหารจนกระทั่งคิดเงินได้เอง การพัฒนาอุปกรณ์ไฮเทคเหล่านี้ถือเป็นกุญแจสำคัญในการทำธุรกิจในยุคปัจจุบันเลยทีเดียว แน่นอนว่าความแม่นยำในการแปลภาษาก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน Deep Learning จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ นั่นหมายถึงต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการอัปเดตข้อมูลคำศัพท์เฉพาะทางของธุรกิจนั้นๆอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของ Deep Learning นั้น บริษัทจากสหรัฐอเมริกาอย่างกูเกิ้ลและไมโครซอฟท์เองก็ให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน จากนโยบายการผลักดันเทคโนโลยีของ NICT นั้น Fujitsu, Hitachi และทั้งบริษัทรวมไปถึงสถาบันต่างๆในญี่ปุ่นราวๆ 180 แห่ง ได้จับมือกัน เปิด “ธนาคารแปลภาษา” เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เริ่มทำการทดลองใช้ระบบแปลภาษาอัตโนมัติอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่ผ่านมา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook