ทปอ.ประกาศยืนยันสิทธิ TCAS รอบ 3 เชื่อการกั๊กที่นั่งจะหมดไป

ทปอ.ประกาศยืนยันสิทธิ TCAS รอบ 3 เชื่อการกั๊กที่นั่งจะหมดไป

ทปอ.ประกาศยืนยันสิทธิ TCAS รอบ 3 เชื่อการกั๊กที่นั่งจะหมดไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

tcastn

ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยประกาศผ่านเฟซบุ๊กยืนยันจะเพิ่ม Clearing House (CH) ในรอบ 3 เป็น 2 ครั้ง และให้มีการสอบสัมภาษณ์พร้อมกันระหว่างวันที่ 10 - 11 มิ.ย.นี้

เฟซบุ๊กสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่ประกาศเรื่องการจัดการรอบยืนยันสิทธิ์ในระบบ TCAS รอบ 3 ครั้งที่ 3/2561 โดยระบุว่า จากการประกาศผลการสอบคัดเลือกระบบ TCAS รอบ 3 และเกิดข้อโต้แย้งกรณีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 4 แห่งและเมื่อนักเรียนยืนยันสิทธิไปแล้ว ส่งผลให้ที่นั่งในสาขาอื่นว่างลงและมหาวิทยาลัยจะได้จำนวนรับเข้าไม่ครบตามเป้าหมาย ส่งผลกระทบในทางปฏิบัติทั้งมหาวิทยาลัยและนักเรียนที่สมัคร 

สมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเห็นว่าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและรักษาประโยชน์ของนักเรียนจึงกำหนดแนวปฏิบัติการยืนยันสิทธิในรอบที่ 3 ดังนี้

1. สมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยจะเพิ่มการ Clearing House (CH) ในรอบ 3 เป็น 2 ครั้งคือ CH3/1 และ CH3/2 โดยให้มีการสอบสัมภาษณ์พร้อมกัน ระหว่างวันที่ 10 - 11 มิ.ย. โดยในวันที่ 14 มิ.ย. ทอป. จะประกาศผลการสอบสัมภาษณ์

2. การดำเนินการสำหรับนักเรียนที่ได้รับการประกาศชื่อดำเนินการต่อได้ดังนี้

2.1 ยืนยันสิทธิ์

2.2 ไม่ยืนยันสิทธิใน 3 กรณีจะถือว่านักเรียนขอสละสิทธิ ได้แก่

  • สละสิทธิ
  • ไม่เลือกสาขาวิชาที่ได้รับสิทธิตาม CH3/1
  • ไม่เข้าทำการใดๆ ในระบบ

อย่างไรก็ตาม การสละสิทธิสาขาวิชาที่ได้รับสิทธิในรอบ CH3/1 นักเรียนจะไม่มีสิทธิในการเลือกสาขาวิชานั้นๆ อีกในรอบ CH3/2 แต่จะมีสิทธิเลือกสาขาวิชาที่มีการคัดเลือกเพิ่มเติมใน CH3/2 ตามจำนวนที่ตนเองไม่ได้รับการคัดเลือกมาก่อนแล้วเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนได้รับการประกาศชื่อคัดเลือกจำนวน 2 สาขาวิชาในรอบ CH3/1 แต่ไม่ยืนยันสิทธินั้น นักเรียนจะมีสิทธิได้รับการคัดเลือกเพิ่มเติมในรอบ CH3/2 ไม่เกิน 2 สาขาวิชาที่เหลือเท่านั้น

ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ชี้แจงต่อสื่อมวลชนในการแถลงข่าวว่า สำหรับการคัดเลือกในรอบ CH3/1 นั้นเป็นการประมวลผลที่นั่งที่ว่างที่เด็กไม่เลือกแล้ว หลังจากนั้นก็จะส่งที่นั่งที่ว่างกลับไปให้กับมหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าของที่นั่งว่างนั้น เพื่อให้มหาวิทยาลัยทำการคัดเลือกอีกที และก็จะเอารายชื่อเด็กเหล่านั้นเข้าสู่กลไกของการเลือก Clearing House อีกรอบหนึ่งในรอบที่ 3/2 ซึ่งการส่งข้อมูลที่นั่งว่างไปให้ก็จะคิดจากที่นั่งที่เขาได้แจ้งไว้เป็นทางการว่าว่างกี่ที่นั่ง

การที่มหาวิทยาลัยจะส่งคืนมากี่ที่นั่งก็แล้วแต่ก็เป็นสิทธิของมหาวิทยาลัยซึ่งก็มีหลายเหตุผล มหาวิทยาลัยอาจส่งมาเพิ่มเติมแล้วเกินที่นั่งหรือส่งมาแล้วไม่ครบตามที่นั่งเพราะการคัดเลือกนั้นเกณฑ์เป็นของมหาวิทยาลัยและแต่ละมหาวิทยาลัยไม่ได้ใช้เกณฑ์เดียวกันซึ่งไม่ได้ใช้คะแนนอย่างเดียว แต่ใช้หลายๆ อย่างประกอบเพราะฉะนั้นจึงให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ตัดสินว่าในบรรดาที่นั่งที่เหลือจะคัดมาอีกกี่คนมาเพิ่มเติม โดยใช้ตัวเลือกเดิมที่เลือกไว้แล้วใน 4 ตัวเลือกโดยไม่ต้องมาสมัครใหม่ ซึ่งจะใช้ 4 ตัวเลือกเป็นเกณฑ์ในการทำงานในรอบ CH3/1 และ CH3/2

ยกตัวอย่างเช่น หากกรณีที่ไม่ได้ตัวเลือกเลย ไม่มีตัวเลือกใดที่ติดเลยในรอบ CH3/1 หมายความเข้ามารอบ CH3/1 ก็ไม่มีตัวเลือกแน่นอนและหากเข้าไปรอบ CH3/2 เมื่อมีที่นั่งว่างและ 4 ตัวเลือกที่ได้เลือกไปแล้วมีที่นั่งว่างหมดเลยและอยู่ในลำดับการพิจารณาตามเกณฑ์ตามที่สาขานั้นของคณะนั้นที่ติดกันหมดเลยก็จะเห็น 4 ตัวเลือกปรากฏขึ้นในรอบ CH3/2

ถ้าได้รอบ CH3/1 สมมติว่า 1 ตัวเลือกใน 4 ตัวเลือกที่เลือกไปต้องตัดสินใจ ถ้าตัดสินใจว่าจะเลือก ก็ถือว่าสิทธิได้ถูกใช้ไปแล้วตามเกณฑ์ 1 คน 1 สิทธิซึ่งไม่ต้องไปคิดต่อว่าในรอบ CH3/2 ใครจะได้อะไรเพราะได้ใช้สิทธิไปแล้ว

แต่ถ้าในรอบ CH 3/1 หากคิดว่า 3 ตัวเลือกที่เลือกไว้มีโอกาสได้ สิ่งที่ตัดสินใจได้คือการสละสิทธิซึ่งสามารถทำได้ ซึ่งจะทำให้สาขาวิชาที่เป็น 1 ตัวเลือกที่ได้ที่นั่งมาแล้วและสละสิทธิ์ หมายความว่าจะคืนที่นั่งนี้ให้มหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าของเพื่อหาชื่อคนใหม่มาให้

พอสละสิทธิและไปรอบ CH3/2 สิ่งที่จะได้คือ อีก 3 ตัวเลือกที่ยังไม่ได้รับในรอบ CH3/1 ถ้า 3 ตัวเลือกนั้นมีที่นั่งว่างและอยู่ในลำดับตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยนั้นๆ และได้มาหมดก็มีโอกาสได้ 3 ตัวเลือกที่ปรากฎในรอบ CH3/2

"สรุปง่าย ๆ ก็คือหมายความว่าตัวเลือกใดก็แล้วแต่ที่ได้มาแล้วในรอบ CH3/1 แต่สละสิทธิเอง ตัวเลือกเหล่านั้นจะไม่มีทางได้ในรอบ CH3/2 อีกเพราะถือว่าเป็นการตัดสินใจว่าจะเอาแบบที่ CH3/1 ได้หรือไม่เอา จะไปรอรอบ CH3/2 ก็ได้ แต่จะไม่มีการเอาตัวเลือกทั้งหมด 4 ตัวเลือกมาในรอบ CH3/2" ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

 

ในส่วนคำถามว่าต้องชำระเงินเพิ่มเติมไหม ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า ไม่ต้องเพราะคือการเดินระบบต่อเนื่องจากรอบ 3 ทั้งหมด เพราะถือว่าทุกอย่างได้กระบวนการสมัครไปแล้วไม่ต้องมาสมัครใหม่เพราะถือเป็นการดำเนินการ 2 ครั้งในรอบที่ 3

"ถ้าพิจารณาตามนี้เราเชื่อว่าการกั๊กที่นั่งของเด็กที่สอบได้ กลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) จะหมดไปเพราะว่า เด็กที่ได้ กสพท. ก็ต้องเลือก พอหลังจากเลือกเสร็จแล้วที่นั่งในคณะที่มีการกั๊กกันไว้ก็จะว่าง มหาวิทยาลัยก็จะทำการเลือกคนแล้วส่งรายชื่อมาเพิ่มเติมในที่นั่งว่างเหล่านั้น" ประธาน ทปอ.ระบุ

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ระบุเพิ่มเติมว่า ถ้าดูข้อมูลทั่วประเทศที่มีอยู่ จำนวนที่นั่งที่มีอยู่มากกว่าจำนวนนักศึกษา นักเรียนที่สมัคร เพราะฉะนั้นถ้าถามตามหลักการคงไม่มีมหาวิทยาลัยไหนไม่พยายามเติมที่นั่งเขาให้เต็ม เพราะเป็นเรื่องที่อยากมีห้องเรียนที่เต็มมากกว่ามีห้องเรียนที่ขาด ๆ

ทั้งนี้เว็บไซต์สำนักข่าวไทยพีบีเอสได้ระบุว่า ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ในปี 2561 “TCAS” หรือ Thai University Center Admission System เป็นระบบที่ออกแบบ โดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพิ่มโอกาสความเท่าเทียมในการเข้ามหาวิทยาลัย ลดปัญหาการกันสิทธิ์ (กั๊กที่)

โดยมี เกณฑ์การคัดเลือกในระบบ TCAS แต่ละรอบดังนี้

รอบที่ 1 : รับด้วยแฟ้มสะสมผลงาน ในรอบนี้ไม่มีการสอบข้อเขียนและไม่ได้เป็นการรับทั่วไป

รอบที่ 2 : สมัครโควตาแบบมีสอบข้อเขียน สำหรับนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ หรือรอบเขตการศึกษาที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด โดยมหาวิทยาลัยสามารถจัดสอบได้เองเลย หรือจะใช้ข้อสอบส่วนกลาง อย่าง 9 วิชาสามัญ หรือ GAT/PAT เพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา

รอบที่ 3 : การรับตรงร่วมกัน ซึ่งกำลังเป็นรอบที่มีปัญหามากที่สุดในขณะนี้ ในรอบนี้จะเป็นการรับตรงของแต่ละมหาวิทยาลัย ผ่าน ทปอ. ซึ่งจะเป็นส่วนกลางในการรับสมัคร และมหาวิทยาลัยจะพิจารณาผลการคัดเลือก ก โดยผู้สมัครสามารถเลือกได้ 4 สาขาวิชา โดยไม่มีการเลือกอันดับ

รอบที่ 4 : การรับ Admission เป็นการใช้เกณฑ์การคัดเลือกแบบ Admission ผู้สมัครต้องยื่นผลสอบคะแนน GAT/PAT ร้อยละ 50 พร้อมคะแนน GPAT หรือ เกรด 6 เทอม ร้อยละ 20 และใช้คะแนน O-net ร้อยละ 30 สามารถสมัครสอบและเลือกได้ 4 สาขาวิชา  

ในรอบนี้แต่ละคณะจะมีคะแนนเต็ม 30,000 คะแนน นักเรียนที่ได้เกรดสูงจากโรงเรียนต่างๆ จะได้เปรียบ เพราะใช้คะแนนรอบนี้ถึง 6,000 คะแนน

ขณะที่การสอบรอบสุดท้ายคือ รอบที่ 5 : รับตรงอิสระ แต่ละมหาวิทยาลัยจะเปิดรับสมัครและพิจารณาจากคะแนน GAT/PAT

ระบบ TCAS มีการเพิ่ม Clearing House ที่ใช้ในการยืนยันสิทธิ์ เพื่อไม่ให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกหลายที่พร้อมกัน โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในแต่ละรอบจะต้องกดยืนยันสิทธิ์ ในการที่จะเข้าเรียนได้แค่คนละ 1 ที่ เท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการกันสิทธิ์คนอื่นจากผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจากหลายที่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook