เสียงสะท้อนคนรุ่นใหม่ ต่อการเมืองไทย

เสียงสะท้อนคนรุ่นใหม่ ต่อการเมืองไทย

เสียงสะท้อนคนรุ่นใหม่ ต่อการเมืองไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่องการเมืองอาจดูเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายสำหรับกลุ่มคนที่ไม่ใช่คอการเมือง แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ด้วยการเมืองนั้นเกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งครั้งแรก วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 และก่อนจะถึงวันนั้น ลองไปฟังเสียงสะท้อนของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อการเมืองไทยกัน ว่าเป็นอย่างไร ?

เปรียบดั่งละครน้ำเน่าที่ถูกนำมารีเมคใหม่

หากคุณคิดว่า ละครน้ำเน่าที่ฉายตลอด 7 วัน ทางโทรทัศน์น่าเบื่อแล้ว “การเมืองไทย” น่าเบื่อกว่าเยอะ แถมละครที่ชื่อว่า “การเมืองไทย” เป็นละครที่ถูกนำมารีเมคบ่อยมาก ที่สำคัญตัวละครสำคัญ ๆ ก็ยังเป็นคนเดิม เพียงมีการสลับสับเปลี่ยนบทบาทกันบางช่วงเท่านั้น จากเดิมตัวละครคนนี้ เคยอยู่ฝั่งพระเอก แต่ครั้งนี้อาจเป็นผู้ร้าย จึงไม่แปลกที่เวลาต้องดูละครเรื่องนี้ซ้ำ ๆ จะพาให้รู้สึกว่า เบื่อหน่าย จนอยากปิดโทรทัศน์ทันที

ดีแต่สร้างความแตกแยก

ไม่ว่า นโยบายของพรรคหรือสโลแกนประจำพรรคจะถูกเปลี่ยนให้ทันสมัย เพื่อให้โดนใจกลุ่มเป้าหมายที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงขนาดไหน แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง คือ บทบาทของนักการเมืองในสภา (ฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้าน) ที่พร้อมสาดโคลนใส่กัน เพื่อดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม โดยไม่สนใจเรื่องสร้างความสามัคคีหรือสมานฉันท์ที่เคยป่าวประกาศช่วงเลือกตั้ง แถมบางครั้ง เรื่องราวยังลุกลามไปถึงขั้น ปลุกกระแสมวลชนให้ออกมาเดินขบวนต่อต้านกันก็มี

ทะเลาะกันในจอ ดีกันนอกจอ

หากบอกว่า ชีวิตเปรียบดั่งละครบทหนึ่ง “รัฐสภาไทย” ก็ไม่ต่างจากเวทีการแสดงขนาดใหญ่ ที่พร้อมให้นักแสดงบนเวทีแห่งนี้ ได้ห้ำหั่นหรือฟาดฟันกันอย่างดุเดือด จนบางครั้งคนดูอย่างเรา ยังเชื่อว่า ส.ส. หรือ ส.ว. นักแสดงบนเวทีแห่งนี้ ไม่อาจอยู่ร่วมโลกกันได้แน่ ๆ แต่ถ้าสังเกตให้ดีโดยเฉพาะก่อนการเลือกตั้ง พบว่า เหล่านักแสดงที่เคยประกาศก้าวว่าไม่อาจอยู่ร่วมโลกกันได้ บางคนก็พลิกลิ้น ยอมจับมือกับคนที่เคยห้ำหั่นกัน เมื่อผลประโยชน์ลงตัว

เลือกใครเข้ามา สุดท้ายก็วนกลับไปลูปเดิม

“ประชาธิปไตย” อย่างไทย ๆ คือ ระบอบการปกครองที่พร้อมเปิดโอกาสให้สืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นแบบพรรคสายตระกูล หรือสายทหาร ประกอบกับมีหลายครั้งที่สถานการณ์การเมืองวนลูปเดิมอยู่บ่อย ๆ คือ เกิดรัฐประหาร (ช่วงระยะเวลาหนึ่ง) ก่อนจัดให้มีเลือกตั้ง ขณะที่พรรคการเมืองที่ลงชิงตำแหน่ง ก็ล้วนเป็นพรรคเดิม ๆ เมื่อเลือกเข้ามาอีก ผลลัพธ์ก็แทบ

จะไม่แปลกต่างไปจากเดิม

แต่ไม่ว่าการเมืองไทย จะเป็นอย่างไร ก็อย่าเพิ่งเบื่อนักการเมืองไทยเลย เพราะเรายังมีนักการเมืองน้ำดี (ทั้งหน้าใหม่ หน้าเก่า) อยู่ ที่สำคัญ หากตัดสินใจนอนหลับทับสิทธิ์ คุณอาจได้คนไม่ดีมาบริหารประเทศไปอย่างน้อย 4 ปีก็ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook