การเรียนป.โทในญี่ปุ่นให้รอด ฉบับผู้เริ่มต้น ถ้าอยากไปข้อมูลต้องพร้อม

การเรียนป.โทในญี่ปุ่นให้รอด ฉบับผู้เริ่มต้น ถ้าอยากไปข้อมูลต้องพร้อม

การเรียนป.โทในญี่ปุ่นให้รอด ฉบับผู้เริ่มต้น ถ้าอยากไปข้อมูลต้องพร้อม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ใครกำลังอยากเรียนต่อญี่ปุ่น แต่กลัวไม่รู้ภาษา ลงทะเบียนเรียนไม่เป็น คุยกับอาจารย์ไม่รู้เรื่อง เกรดไม่ดี เพื่อนไม่คบ ไม่ต้องกังวลไปค่ะ วันนี้เราจะมาแนะนำการเอาตัวรอดในมหาลัยญี่ปุ่นแบบง่ายๆ เล่าจากประสบการณ์ตรงค่ะ

เหตุผลที่เลือกเรียน ป.โท ในญี่ปุ่น

ก่อนมาเรียน ป้าก็ลังเลเหมือนกันว่าจะไปเรียนที่อเมริกาหรืออังกฤษแบบเพื่อนๆดีไหม แต่ด้วยความที่พอมีพื้นภาษาญี่ปุ่นเป็นทุนเดิมและเคยมาแลกเปลี่ยนมหาลัยที่ญี่ปุ่นสมัยเป็นนักศึกษา ป.ตรี มาก่อนเลยคิดว่าการมาเรียนที่ญี่ปุ่นอาจจะต่อยอดได้มาก ใครที่มีความสนใจเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นหรืออยากได้ภาษาที่สามเพิ่ม การมาเรียนต่อที่ญี่ปุ่นก็นับว่าเป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อย

ใครที่ยังลังเลอยู่ ต้องหาคำตอบให้ได้ก่อนนะว่าตัวเองอยากได้อะไรกันแน่ ภาษาที่สาม ดีกรีป.โท หรือประสบการณ์ชีวิตอื่นๆ เป็นต้น

วิธีการสอบเข้า ป.โท ที่ญี่ปุ่น

5b62e3a0c8adc_5b62e2af47026_1

การสอบเข้าที่นี่มีวิธีหลากหลายตามแต่มหาวิทยาลัย ป้าเมโกะขอพูดคร่าวๆ ที่ป้าเจอมาดีกว่า

สอบเข้ารอบของป้านั้นเป็นเพียงการสอบสัมภาษณ์เท่านั้น (เพราะป้าผ่านการสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์กับทางสถานทูต เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นมาก่อนแล้ว) ดังนั้นรอบนี้จึงเป็นการสัมภาษณ์ พูดคุยเกี่ยวกับ Thesis หรือวิทยานิพนธ์ที่อยากทำ ดูหน้าดูตาและบุคลิกภาพเป็นสำคัญ จะว่าไปก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษแต่จะไม่เตรียมตัวก็ไม่ได้ ไปดูดีกว่าว่าป้าเจอคำถามอะไรบ้าง

คำถามที่เจอก็เป็นไปตามสไตล์ญี่ปุ่น นั่นคือ เน้นวิธีและขั้นตอนการทำวิจัย อย่างป้าเรียนเศรษฐศาสตร์ ก็จะถามว่า Research Plan ที่เราเขียนตอนสมัครนั้นจะใช้วิธีอย่างไร ใช้โมเดลอะไร เก็บข้อมูลอย่างไรและอ้างอิงมาจากอะไร จะนำผลที่ได้จากการวิจัยไปทำอะไรต่อ เรียนจบแล้วอยากทำอะไร ซึ่งจริงๆแล้วก็คล้ายกับสิ่งที่เราเขียนในเอกสารที่สมัคร แต่ขอให้เราเข้าใจสิ่งที่เราเขียนและอธิบายให้คนที่สัมภาษณ์เราเข้าใจได้ เท่านี้ก็สบายใจได้ แต่ขอแนะนำเล็กน้อย ถ้าอยากให้คนสัมภาษณ์ประทับใจ ก็ลองหารายชื่อเซนเซหรืออาจารย์ที่สอนวิชาหรือทำวิจัยตรงกับหัวข้อวิจัยของเรา ซึ่งตามหน้าเว็บไซต์ของมหาลัยที่เราสมัครนั้นต้องมีแน่นอน หรือหาจากเว็บไซต์อย่างเช่น Researchmap เพราะเวลาสัมภาษณ์จะได้ดูเตรียมตัวมา ดูมีความสนใจในหลักสูตรจริงๆ คนสัมภาษณ์ก็ประทับใจในความพยายามและดูว่าเรา 'รู้จริง' อย่าลืมลองดูนะทุกคน~

ทั้งนี้หลักสูตรอื่นก็อาจจะแตกต่างกันไป ตอนนี้ระบบการศึกษาญี่ปุ่นก็มีการอิงระบบจากอเมริกา อังกฤษมากขึ้น เช่นส่งแค่คะแนนสอบ GMAT/GRE และผลสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ (หลักสูตรอินเตอร์) หรือผลสอบ EJU (หลักสูตรญี่ปุ่น)

รายละเอียดเกี่ยวกับการสอบ EJU และข้อมูลการเรียนต่อก็ตามลิงก์นี้ได้เลย

วิธีการเลือกลงวิชาเรียน

การลงวิชาเรียนก็จะแบ่งเป็น การเรียนวิชาบังคับ วิชาเลือก และวิชาที่เกี่ยวกับการทำวิจัย เนื่องจากเป็น ป.โท จึงไม่มีการบังคับว่าเทอมนี้ต้องลงวิชาอะไรบ้าง ขอเพียงเก็บหน่วยกิตให้ครบตามเวลาที่กำหนดไว้ก็พอ

โชคดีมหาลัยของป้าวิชาส่วนมากเปิดสอนทั้งภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษสลับกันไป เช่น เทอมฤดูใบไม้ผลิสอนวิชา A เป็นภาษาญี่ปุ่น ส่วนเทอมฤดูใบไม้ร่วงจะสอน A เป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นป้าจึงใช้วิธี เก็บวิชายากๆหรือวิชาบังคับเป็นภาษาอังกฤษ (ป้าขอวิธีปลอดภัยต่อเกรด 55) แล้วลงวิชาเลือกเป็นภาษาญี่ปุ่นจะได้ไม่ลืมภาษาญี่ปุ่น อิอิ

การลงทะเบียน การส่งการบ้าน ติดต่อกับอาจารย์ เช็กเที่ยวรถ ฯลฯ ทุกอย่างทำในระบบคอมพิวเตอร์ (มี App ของมหาลัยให้โหลดอีกนะ) เรียกได้ว่าแทบทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับมหาลัยได้ในมือถือเครื่องเดียว ล้ำมาก

การเรียนในมหาลัยญี่ปุ่น

5b62e3a193ed2_5b62e2ed36974_3

เอาจริงๆป้าว่าเรียนที่ญี่ปุ่นไม่ได้เน้นวิชาการเหมือนที่ไทย ป้าจำได้ว่าตอน ป.ตรี สอบปลายภาคทีเนื้อหาเยอะมากๆ กระทิงแดงหมดไปหลายขวดก็อ่านไม่จบสักที แต่ที่ญี่ปุ่นเวลาออกข้อสอบจะเน้นความเข้าใจองค์รวม ไม่เน้นรายละเอียดยิบย่อย แต่เน้นว่าเรียนแล้วจะเอาไปใช้ประยุกต์กับอะไรต่อ นอกจากนี้การเรียน ป.โท ก็จะเน้นการทำวิจัย ซึ่งด้วยความเป็น ป.โท ก็จะไม่มีใครมาบังคับว่าต้องทำอะไรบ้าง มีอิสระ แต่ทุกสัปดาห์ก็จะมีคาบสัมมนา หรือ ญี่ปุ่นเรียนว่า เซมิ (ゼミ) ซึ่งนักศึกษาในคลาสจะผลัดกันออกมาพรีเซนต์ความคืบหน้าของงานวิจัยของเราและผลัดกันแสดงความคิดเห็นต่องานวิจัยของเพื่อนในชั้น

ในส่วนของบรรยากาศการเรียน ใครที่ชอบแสดงความคิดเห็นระหว่างคลาส ได้แลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนนักเรียนกับอาจารย์อาจจะต้องระวังเล็กน้อย เพราะที่ป้าเจอจะเป็นแนวเลคเชอร์เป็นส่วนใหญ่ นอกจากคลาสเซมิที่พูดถึงข้างต้น ก็จะเป็นแนวฟัง เรียนทฤษฎีเสียมากกว่า ซึ่งต่างกับตะวันตกอย่างอเมริกาหรืออังกฤษค่อนข้างมาก

คิดเกรดแบบญี่ปุ่น

เกรดของญี่ปุ่นต่างกับประเทศไทยเล็กน้อยเพราะเกรดแบ่งเป็น A+/A/B/C และ F ซึ่ง เกรด A+ มีน้ำหนัก 4 และ A/B/C มีน้ำหนัก 3, 2 และ 1 ตามลำดับ ที่ญี่ปุ่นไม่มีเกรด 3.5 หรือ 2.5 ซอยย่อยแบบที่ไทย ดังนั้นป้ารู้สึกว่าเกรดรวมของญี่ปุ่นก็จะต่ำกว่าที่ไทย (ปาดน้ำตา) แต่สิ่งที่ดีกว่าก็คือถ้านักศึกษาเกิดได้ F หรือไม่ผ่านในวิชาใดขึ้นมา เกรดนั้นก็จะไม่ปรากฏบนใบผลการเรียน (Transcript)

นอกจากนี้ระบบการเรียนญี่ปุ่นไม่มีการโชว์ผลการเรียนรวม หรือ GPA ทั้งใน ป.ตรี และ ป.โท (แต่หากจำเป็นต้องใช้ ก็ขอเอกสารเพิ่มเป็นกรณีพิเศษได้) ดังนั้นป้าเลยแอบคิดว่าเด็กญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยซีเรียสกับการเรียนมหาวิทยาลัยเพราะเวลาสมัครงาน บริษัทก็ไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องเกรดและที่ญี่ปุ่นก็ไม่มีระบบเกียรตินิยม จึงไม่ต้องขะมักเขม้นเวลาสอบไฟนอลเหมือนเด็กไทยเรา

สังคมและบรรยากาศการเรียน

แน่นอนว่าสังคม ป.โท ก็ย่อมต่างกับสมัยเป็นนักศึกษา ป.ตรี แน่นอน เพราะเพื่อนก็มีความหลากหลาย มีความเป็นผู้ใหญ่กันมากขึ้น จะว่าไปบรรยากาศก็เหมือนเวลาไปเรียนพิเศษตามติวเตอร์ดังๆสมัยอยู่ ม.ปลาย ต่างคนต่างอยู่ สนิทกันเฉพาะกลุ่ม

แต่ที่ป้าตกใจตอนเรียนที่นี่คือเพื่อนในชั้นของป้ากลับเป็นคนญี่ปุ่นน้อยมาก ไม่ว่าจะหลักสูตรภาษาญี่ปุ่นหรืออินเตอร์ นักเรียนส่วนใหญ่กลับเป็นคนจีน (แต่เป็นพวกอยู่ญี่ปุ่นมานาน หรือพูดญี่ปุ่นได้คล่องเหมือนภาษาแม่กันเป็นส่วนใหญ่) คนไทยในคณะป้าก็เป็นคนกลุ่มน้อย ปกติก็จะมีคนเดียว แต่ปัจจุบันบางทีก็ 2-3 คนต่อปี ป้าคิดว่าคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการทำงานทันทีหลังเรียนจบมากกว่า ส่วนเรื่องเรียนต่อก็อาจจะภายหลัง หรือบางคนก็คิดว่าไม่ใช่สิ่งจำเป็น ส่วนคนญี่ปุ่นที่เรียนต่อ ป.โท ทันทีมักเป็นกลุ่มคนที่อยากเรียนต่อ ป.เอก หรือรอสอบใบประกอบวิชาชีพต่างๆ เช่น เพื่อนคณะนิติของป้า เป็นต้น

การมีวุฒิ ป.โท ก็ช่วยให้เงินเดือนเริ่มต้นของนักศึกษาจบใหม่เพิ่มมากขึ้น ที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่แล้วถ้าเป็น นักศึกษา ป.ตรี จบมาใหม่ๆจะมี เงินเดือนเริ่มต้นประมาณ 210,000-230,000 เยน ส่วน ป.โท ก็จะประมาณ 230,000-250,000 เยน ก็ถือเป็นอีกหนึ่งข้อดีของการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น แต่ก็แน่นอนว่าจะเสียเวลาไป 2 ปี คนที่กำลังตัดสินใจก็ลองศึกษาดูจ้า

กิจกรรมนอกห้องเรียน การเข้าชมรม

5b62e3a267bb8_5b62e396cb3d8_1

มหาลัยที่ญี่ปุ่นมีชมรมหรือที่คนญี่ปุ่นมักเรียกว่า ซาคุรุ (ทับศัพท์มาจากคำว่า Circle) เยอะและหลากหลายมาก ไม่ว่าจะปีนเขา ปั่นจักรยาน วาดการ์ตูน ตามแต่ที่สนใจ ในช่วงเปิดเทอมใหม่ๆ ชมรมต่างๆก็จะมาแจกใบปลิว โปรโมตชมรมตัวเองเพื่อหาสมาชิกเพิ่ม สมัยป้ามาแลกเปลี่ยน อยากลองเข้าชมรมยิงธนูญี่ปุ่นดู ลองถามรายละเอียดดูก็ปรากฏว่ามีค่าใช้จ่ายไม่น้อย เพราะจำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์เอง ถ้าจำไม่ผิดธนูโบราณแบบญี่ปุ่นนั้นราคาตกแสนกว่าเยนเลยทีเดียว พอรู้ราคาป้าก็ค่อยๆหายไปจากบทสนทนา...

การเข้าชมรม สำหรับนักศึกษา ป. ตรี ค่อนข้างสำคัญเลยทีเดียว เวลาเจอเพื่อนที่เพิ่งรู้จักกันใหม่ๆ คำถามที่มักโดนถามคือ'อยู่ชมรมอะไรหรอ?' อยู่เรื่อยๆ สมัย ป.ตรีป้าก็เห็นทุกคนมีชมรมเข้า จนป้าแอบคิดว่าถ้าใครไม่ได้เข้าชมรมอะไรก็รู้สึกแปลกไม่น้อย (ไม่แน่ใจสมัยนี้เป็นอย่างไร) นอกจากนี้เวลาสัมภาษณ์สมัครงานในญี่ปุ่น เรื่องประสบการณ์การชมรมก็เป็นหัวข้อยอดฮิตเช่นกัน

ในช่วงเรียน ป.โท บรรยากาศก็แตกต่างกัน เพราะคนที่มาเรียนมีความหลากหลาย มีทั้งเด็กที่เพิ่งจบ ป.ตรีมาใหม่ๆหรือคนที่ทำงานมาแล้วสักระยะ ดังนั้นการเข้าชมรมจึงไม่ได้สำคัญเท่ากับสมัยเป็น ป.ตรี แต่ทั้งนี้ก็แล้วแต่นิสัยและความชอบของแต่ละคนอีกด้วย นักศึกษา ป.โท ส่วนใหญ่แล้วจะเน้นหาที่ฝึกงานหรือมุ่งทำวิจัยกันเสียมากกว่าเพราะมีเวลาเรียนกันแค่ 2 ปีเท่านั้น เดี๋ยวจะทำวิจัยไม่ทัน 55

สรุป

เป็นอย่างไรกันบ้างคะสำหรับเรื่องราวการเรียนป.โทในญี่ปุ่นให้รอด ฉบับผู้เริ่มต้น

หวังว่าจะทำให้น้องๆหรือผู้ที่สนใจ สามารถตัดสินใจได้ว่าจะมาเรียนที่นี่ดีไหม ได้รู้ว่ามาแล้วต้องเจออะไรบ้าง หลักๆเลยป้ารู้สึกว่าบรรยากาศการเรียนก็ไม่ได้ต่างกับที่ไทยมากนักจนขนาดปรับตัวไม่ไหว แต่ที่นี่เน้นความรับผิดชอบและตรงเวลาเป็นสำคัญ ซึ่งป้าเชื่อว่าไม่ได้เป็นสิ่งที่ยากเกินไปสำหรับเด็กไทยเราแน่นอน

ทั้งนี้ทั้งหมดเป็นประสบการณ์ที่ป้าเจอมา พอแต่ละคนมาเรียนจริงๆอาจจะไม่เหมือนก็เป็นได้ ใครมีประสบการณ์เด็ดๆ แปลกๆเกี่ยวกับการเรียนหรือการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นก็มาแชร์ให้ป้าเมโกะฟังบ้างก็ดีนะ หรือใครอยากฟังเรื่องอะไรก็เสนอมาได้จ้า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook