จุฬาฯ รวมใจสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จัดกิจกรรมในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

จุฬาฯ รวมใจสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จัดกิจกรรมในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

จุฬาฯ รวมใจสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จัดกิจกรรมในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมายาวนาน เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสอันเป็นมงคลนี้ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากชาวจุฬาฯ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญครั้งนี้

ผศ.พงศกร ยิ้มสวัสดิ์ และ ผศ.นภัส ขวัญเมือง สาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ออกแบบซุ้มเฉลิมพระเกียรติบริเวณสระน้ำจุฬาฯ เปิดเผยว่า ซุ้มเฉลิมพระเกียรติเป็นการเฉลิมฉลองโอกาสพิเศษที่เห็นเป็นรูปธรรม ในการออกแบบได้นำสัญลักษณ์ของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและเอกลักษณ์ของจุฬาฯ คือหอประชุมจุฬาฯ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์และอาคารมหาวชิราวุธซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นที่สื่อถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเป็นแนวคิดหลัก

865458

ผศ.พงศกร อธิบายว่า “ซุ้มเฉลิมพระเกียรติเปรียบได้กับแบบจำลองของหอประชุมจุฬาฯ ลักษณะของซุ้มจะดูคล้ายกับเคลื่อนเอามุขด้านหน้าของหอประชุมจุฬาฯ ยื่นออกมา มีหลังคาของหอประชุมและหมู่อาคารเทวาลัยซ้อนอยู่เป็นพื้นหลัง แม้จะตั้งอยู่ในตำแหน่งที่บดบังหอประชุม แต่ได้หยิบยืมรูปแบบและบรรยากาศจากหอประชุมด้านหลังมาใช้ในการออกแบบซุ้ม ใช้ประเด็นขนาดสัดส่วนนำไปจนถึงบรรยากาศการประดับตกแต่ง เชื่อมโยงของที่อยู่คนละระนาบเข้าด้วยกัน กรอบพระบรมฉายาลักษณ์ แลดูคล้ายกับมีหอประชุมเป็นฉากหลัง เปรียบได้กับพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาลที่มีอาคารหอประชุมเป็นฉากหลัง พื้นที่ตรงกลางของซุ้มเฉลิมพระเกียรติเป็นการนำเส้นโค้งที่เป็นกรอบของมุขด้านหน้าของหอประชุมจุฬาฯ ที่มีสัญลักษณ์พระเกี้ยว มาใช้เป็นกรอบประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ ลวดลายต่างๆ ได้แนวคิดมาจากกรอบลวดลายท่อนพวงมาลัยของเวทีหอประชุมจุฬาฯ ด้านล่างเป็นตัวอักษร“ทรงพระเจริญ” ส่วนปีกทั้งสองข้างของซุ้มเฉลิมพระเกียรติ เปรียบได้กับปีกด้านข้างของหอประชุมจุฬาฯ ที่ต่อเป็นเฉลียงออกมา ด้านบนเป็นพนัก ประดับด้วยเสาโคมดวงประทีปลดหลั่นลงมา ด้านล่างสุดเป็นพนักลูกกรงซึ่งเป็นองค์ประกอบที่พบได้ทั้งที่หอประชุมจุฬาฯ และหมู่อาคารเทวาลัย”

โครงสร้างของซุ้มเฉลิมพระเกียรติเป็นเหล็กที่มั่นคงแข็งแรง รูปลักษณ์ภายนอกใช้วัสดุสังเคราะห์แทนไม้อัด มีการเขียนลวดลายต่างๆ ในคอมพิวเตอร์ และใช้เครื่องเลเซอร์ยิงเป็นลวดลาย สีที่ใช้เป็นสีซึ่งสอดคล้องกับหอประชุมจุฬาฯ เน้นกรอบพระบรมฉายาลักษณ์เป็นสีทอง แสดงถึงความเรียบง่ายสง่างาม

“การออกแบบซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ มีเรื่องราวทรงคุณค่าที่แทรกอยู่ในประวัติศาสตร์และความภาคภูมิใจของจุฬาฯ ซุ้มเฉลิมพระเกียรตินี้สามารถนำมาปรับใช้ในโอกาสต่าง ๆ ได้” ผศ.พงศกร กล่าว

ด้านการออกแบบตัวอักษรในซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ผศ.นภัส เผยว่า ตัวอักษร “ทรงพระเจริญ” มีการออกแบบให้มีลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของจุฬาฯ โดยพัฒนาจากสัดส่วน ความกว้างและความสูงของช่องระหว่างเสามุขหน้าอาคารหอประชุม ส่วนความกว้างของตัวอักษรได้มาจากความกว้างของเสามุขนั้นเช่นกัน นอกจากนี้ส่วนโค้งต่าง ๆ ของตัวอักษรก็พัฒนามาจากส่วนโค้งของรวยระกา การขมวดหัวของตัวอักษรก็ประดิษฐ์จากจากวิธีการขมวดของลวดลายของอาคารหอประชุมจุฬาฯ
“ย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วเมื่อผมเป็นนิสิตสาขาสถาปัตยกรรมไทยรุ่นแรก รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี และ อ.เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี อาจารย์ผู้สอนทางด้านสถาปัตยกรรมไทย (ปัจจุบันทั้งสองท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ) ได้ให้โจทย์แก่นิสิตในการออกแบบซุ้มเฉลิมพระเกียรติในโอกาสงานเฉลิมพระชนมพรรษา เพื่อติดตั้งบริเวณหน้าสระน้ำจุฬาฯ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผมไม่นึกว่าจะมีโอกาสได้ทำหน้าที่ออกแบบซุ้มเฉลิมพระเกียรติอีกครั้ง เป็นความรู้สึกภาคภูมิใจมากที่ได้ใช้วิชาความรู้ในการทำงานตอบแทนสถาบันที่ได้ร่ำเรียนมา” ผศ.นภัส กล่าว

นอกจากนั้นยังได้มีการชวนนิสิตลงไปดูการติดตั้งโครงสร้างและการประกอบชิ้นส่วน ซึ่งผลพลอยได้จากการออกแบบซุ้มเฉลิมพระเกียรติในครั้งนี้คือ เป็นอุปกรณ์ในการเรียนการสอน อาจารย์ก็ได้นำประสบการณ์จากการทำงานจริงให้กับมหาวิทยาลัยมาให้คำแนะนำในการวิจารณ์งานของนิสิตสาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทยด้วย เพื่อนำประสบการณ์นี้ไปใช้ในการประกอบวิชาชีพจริง

880037

นอกจากซุ้มเฉลิมพระเกียรติแล้ว จุฬาฯ จะจัดพิมพ์หนังสือเฉลิมพระเกียรติเพื่อเผยแพร่ภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ศ.เลอสม สถาปิตานนท์ ที่ปรึกษาอธิการบดี กล่าวว่า หนังสือดังกล่าวมีเนื้อหารวบรวมข้อมูลและภาพจากนิทรรศการ “จุฬาฯ ประณตทศมราช” ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวของพระองค์ท่านตั้งแต่พระราชสมภพ ตลอดจนการเสด็จฯ มาทรงร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จุฬาฯ ภาพพระบรมฉายาลักษณ์นำมาจากหอประวัติจุฬาฯ ซึ่งเป็นภาพเก่า บางภาพเป็นภาพขาวดำที่หาดูได้ยาก นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาจากการบรรยายพิเศษชุด ความรู้เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และกิจกรรมทั้งหมดที่จุฬาฯ จัดขึ้นในโอกาสสำคัญนี้

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีซึ่งได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่มหาวิทยาลัยตลอดมา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อจุฬาฯ ตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดยเสด็จฯ มาจุฬาฯ ครั้งแรกในงาน วันทรงดนตรี เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2508 ณ หอประชุมจุฬาฯ ในครั้งนั้นได้ทรงเครื่องดนตรีแซกโซโฟนพระราชทานแก่นิสิตจุฬาฯด้วย

เมื่อครั้งพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ทรงสำเร็จการศึกษาจากจุฬาฯ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาทอดพระเนตรพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ทรงเข้ารับพระราชทานปริญญาศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ณ ห้อง 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์

กิจกรรมเนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ปี 2562

03

การแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม – 23 มิถุนายน 2562 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 18.00 – 20.00 น. ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ

วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2562 - วงดนตรีสากลสโมสรนิสิตจุฬาฯ CU Band

หลังการแสดงจะมีพิธีจุดเทียนถวายชัยมงคล (แต่งกายด้วยเสื้อผ้าโทนสีเหลือง)

  • วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน 2562- ชมรมดนตรีไทยและชมรมนาฏศิลป์ สโมสรนิสิตจุฬาฯ
  • วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน 2562- วงดุริยางค์ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร
  • วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน 2562 - วงจุฬาฯ เชมเบอร์
  • วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน 2562 - วงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯ

การแสดงคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2562 เวลา 18.30 น. ณ หอประชุมจุฬาฯ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ โทร. 0-2218-3634-5

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook