“Oxygen.o2” โปรเจ็กต์เพิ่มพื้นที่สูบบุหรี่ในมหาวิทยาลัย จากใจนักศึกษา มธ.

“Oxygen.o2” โปรเจ็กต์เพิ่มพื้นที่สูบบุหรี่ในมหาวิทยาลัย จากใจนักศึกษา มธ.

“Oxygen.o2” โปรเจ็กต์เพิ่มพื้นที่สูบบุหรี่ในมหาวิทยาลัย จากใจนักศึกษา มธ.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากจะพูดถึงมหาวิทยาลัยที่สร้างประเด็นให้ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางอยู่บ่อยๆ คงต้องยกให้ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เจ้าของสโลแกน “เสรีภาพทุกตารางนิ้ว” ที่มักจะจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก และล่าสุด ลูกแม่โดมก็ได้เปิดตัวโครงการใหม่ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพเช่นเคย นั่นคือโครงการ “Oxygen.o2” ที่เรียกร้องให้ผู้บริหารเพิ่มพื้นที่สูบบุหรี่ภายในมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะให้เสรีภาพแก่ผู้ที่สูบบุหรี่แล้ว ยังรักษาสิทธิของคนรอบข้างที่ไม่ได้สูบบุหรี่ด้วย

จุดเริ่มต้นของ Oxygen.o2

แม้ว่าประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดประเภทหรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะ ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่และยานพาหนะเป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ. 2561 ข้อ 5 จะระบุให้สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา เป็นสถานที่สาธารณะที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ และสามารถจัดให้มีเขตสูบบุหรี่เป็นการเฉพาะได้ในพื้นที่นอกอาคาร แต่สำหรับ ญาณิศา โชคสมัย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในเจ้าของโครงการ Oxygen.o2 เขตสูบบุหรี่ดังกล่าวนั้นยังไม่เพียงพอ เธอจึงพยายามสื่อสารปัญหานี้ผ่านสื่อออนไลน์อย่าง Facebook ในวิชา Communication as Innovation ที่มุ่งใช้สื่อในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม

ญาณิศาและเพื่อนๆ ได้แก่ ธิตินาถ พยัคฆ์เกษม และ ณัทสุภา โตมานิตย์ เลือกหยิบประเด็นใกล้ตัวอย่างพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของนักศึกษามาวิเคราะห์ และพบว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 1,757 ไร่ แต่กลับมีพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่เพียง 4 จุดเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่ทั้งหมด นอกจากนี้ พื้นที่สูบบุหรี่แต่ละจุดยังตั้งอยู่ห่างไกล บางจุดมีสภาพทรุดโทรม ไม่เหมาะสำหรับนั่งพักผ่อนสูบบุหรี่ ซึ่งสภาพที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ส่งผลให้นักศึกษาที่สูบบุหรี่ย้ายไปสูบนอกเขตที่จัดไว้ให้ ทำให้เพื่อนนักศึกษาด้วยกันได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่ โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ

พื้นที่สูบบุหรี่บริเวณอาคารเรียนรวม(SC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์Oxygen.o2พื้นที่สูบบุหรี่บริเวณอาคารเรียนรวม(SC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“พื้นที่สูบบุหรี่ส่วนมากจะเป็นที่ที่คณะสร้างเอง ไม่ใช่มหาวิทยาลัยสร้างให้ จากที่ดูก็มี 2 ที่ที่คณะสร้างให้ แต่ก็ดูโทรมมาก อย่างที่อาคารเรียนรวมก็เก่า เล็กมาก คือสภาพแวดล้อมมันไม่น่าสูบ นักศึกษาก็เลยเลือกออกมาสูบข้างนอก สมมติอาคารเรียนรวม มีประมาณ 4 – 5 ชั้น แต่ที่สูบบุหรี่อยู่ชั้นล่างสุด นักศึกษาขี้เกียจเดินลงมา ก็เลยสูบตรงระเบียง ชั้นต่อชั้น หรือข้างห้องน้ำ ซึ่งสถานที่ไม่เอื้ออำนวยและรบกวนคนอื่น แล้วก็มีตรงยิมเนเซียม 7 อันนั้นดีมาก แต่ไม่มีใครไปสูบอยู่ดี เพราะว่ามันไกลจากอาคารเรียน ที่อื่นๆ สภาพแวดล้อมก็ไม่ได้จรรโลงใจ แล้วมันเป็นพื้นที่ปิดเกินไปจนคนสูบต้องรมควันตัวเองอยู่ตรงนั้น อากาศก็ร้อน เราเป็นคนที่สูบบุหรี่ เราก็ไม่อยากจะไปสูบตรงนั้น เพราะว่ามันอึดอัด” ญาณิศาเล่าถึงผลการสำรวจพื้นที่มหาวิทยาลัย 

ช่องทางสื่อสารในโลกออนไลน์

หลังจากลงพื้นที่สำรวจปัญหาแล้ว กลุ่มของญาณิศาจึงเปิด Facebook Fanpage ที่มีชื่อว่า “Oxygen.o2” เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารความต้องการของนักศึกษาไปสู่ผู้บริหารของมหาวิทยาลัย โดยสร้างเนื้อหาเชิญชวนให้นักศึกษาและบุคคลทั่วไปเข้ามาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเพิ่มพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่ ในรูปแบบต่างๆ เช่น เกม อินโฟกราฟิก คลิปวิดีโอ เพื่อสื่อสารไปถึงผู้ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ และเชื่อว่าหากผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงความรู้สึกของนักศึกษาจริงๆ ก็อาจจะทำให้โครงการนี้บรรลุผลได้ง่ายขึ้น

“เราทำคอนเทนต์เชิญชวนว่า ถ้าคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่อยากจะสนับสนุนให้สร้างพื้นที่สูบบุหรี่ให้มากขึ้น ก็ให้มาคอมเมนต์ความรู้สึกต่างๆ ทำคลิปวิดีโอความรู้สึกของนักศึกษาที่สูบบุหรี่ แล้วเราก็ทำอินโฟกราฟิก เรียกว่า 3 Lines Story ขึ้นมาเพื่อที่จะโชว์ความรู้สึกของทั้งผู้ที่สูบบุหรี่และผู้ที่เป็นบุหรี่มือสอง ส่วนมากเป็นการสื่อความรู้สึกของนักศึกษา ทั้งคนที่สูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่” ญาณิศากล่าว

หนึ่งในความรู้สึกของนักศึกษาที่มีต่อปัญหาพื้นที่สูบบุหรี่ไม่เพียงพอOxygen.o2หนึ่งในความรู้สึกของนักศึกษาที่มีต่อปัญหาพื้นที่สูบบุหรี่ไม่เพียงพอ

แม้การเพิ่มพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่จะดูเหมือนเป็นการ “ตามใจ” เหล่าสิงห์อมควัน แต่ญาณิศายืนยันว่า เป้าหมายของโครงการนี้คือการรักษาสิทธิของผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ในขณะที่ผู้ที่สูบบุหรี่ก็ยังสามารถสูบต่อไปได้ในพื้นที่ที่จัดไว้ให้อย่างเป็นสัดเป็นส่วน และมีจำนวนเพียงพอ

ควรจะมีพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่ตามตึกต่างๆ ถ้าเป็นไปได้ก็น่าจะมีทุกตึกที่นักศึกษาไปเรียนรวม หรือตึกที่เป็นอาคารใหญ่ๆ ที่นักศึกษาเรียนเยอะๆ นักศึกษาจะได้ไม่ต้องไปแอบสูบบุหรี่ หรือสูบในสถานที่อื่นๆ ถ้าเป็นอาคารสูง ก็น่าจะดีถ้ามีห้องสูบบุหรี่ให้ เหมือนในสนามบิน นักศึกษาก็จะได้ไม่ต้องไปสูบตามระเบียงข้างห้องน้ำ หรือข้างห้องเรียน อาจจะทำพื้นที่มุมหนึ่งของตึกให้สูบ หรือตึกใหญ่ๆ ชั้นสองชั้น ก็ทำชั้นล่างให้ดูดีไปเลย” ญาณิศาอธิบาย

หลังจากที่เปิดตัวโครงการ แม้จะไม่นานนัก แต่ก็ได้รับเสียงตอบรับที่น่าพอใจจากอาจารย์และบุคคลทั่วไป ซึ่งญาณิศาเล่าว่า

“อาจารย์ชอบโครงการนี้นะคะ เพราะเขารู้สึกว่าเราแคร์ทั้งสองฝ่าย ไม่ได้เอนไปทางใดทางหนึ่ง แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ช่วยทั้งหมดเลย ที่จริงผู้ใหญ่ที่เราไปปรึกษา อาจจะไม่ได้มีบทบาทในมหาวิทยาลัยมาก แต่เขาเห็นด้วย เพราะบางคนก็เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ หรือมีเพื่อน ลูกศิษย์ คนรอบข้างที่สูบบุหรี่ แล้วพื้นที่สูบบุหรี่มันน้อยมากๆ บางคนอยากสูบบุหรี่แต่ใกล้เวลาเข้างานแล้ว คงไม่เดินไปแล้วเดินกลับมา ผู้ใหญ่ที่เล่นโซเชียลก็เห็นด้วยกับคอนเทนต์ของเรา”

ความเห็นของนักศึกษาที่มีต่อมาตรการจำกัดพื้นที่สูบบุหรี่ในมหาวิทยาลัยOxygen.o2ความเห็นของนักศึกษาที่มีต่อมาตรการจำกัดพื้นที่สูบบุหรี่ในมหาวิทยาลัย

เสียงตอบรับจากมหาวิทยาลัย

ในขณะที่คนทั่วไปอ้าแขนต้อนรับ Oxygen.o2 เป็นอย่างดี แต่คนที่ทีมงานอยากให้รับฟังมากที่สุดอย่างผู้บริหารของมหาวิทยาลัย กลับยังไม่มีเสียงตอบรับกลับมาแต่อย่างใด ซึ่งญาณิศามองว่าอาจเป็นเพราะทางมหาวิทยาลัยต้องการรักษาภาพลักษณ์ของสถานศึกษา ที่ต้องเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ และการสร้างพื้นที่สูบบุหรี่เพิ่มเติมก็ดูเหมือนเป็นการสนับสนุนให้นักศึกษาสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งของผู้ที่สูบ และคนรอบข้าง

“เรามองว่าเขาก็คิดถูก มันไม่ใช่สถานที่ที่ควรสูบบุหรี่ แต่เราไม่สามารถห้ามนักศึกษาสูบบุหรี่ได้ เพราะมันก็เป็นสิทธิของเขา อายุเขาก็ถึงแล้วที่จะสูบบุหรี่ได้ บางคนเครียดเรื่องเรียนและสูบบุหรี่เพื่อคลายเครียด เราคิดว่ามันเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลด้วย ดังนั้น การแก้ปัญหาโดยการห้ามนักศึกษาสูบบุหรี่ มันก็ยาก ถ้าผู้ใหญ่ไม่สนับสนุน นักศึกษาก็จะสูบบุหรี่อยู่ดี ก็มาทำร้ายกันเองอยู่ดี คุณไม่ต้องสร้างทุกตึกก็ได้ แต่ช่วยสร้างให้หน่อย”

และไม่เพียงแต่การสร้างพื้นที่สูบบุหรี่เพิ่มเติมเท่านั้น อีกสิ่งหนึ่งที่ญาณิศาและเพื่อนๆ ต้องการจากมหาวิทยาลัยก็คือการสนับสนุนในระยะยาว เพื่อให้เธอและเพื่อนสามารถขยายผลโครงการออกไปยังนอกมหาวิทยาลัยได้

“ก่อนที่จะขยายผลออกไปนอกมหาวิทยาลัย อยากได้รับการสนับสนุนจากในมหาวิทยาลัยก่อน ถ้าเราได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ มันก็ง่ายที่จะออกไปข้างนอก ที่จริงพวกเราอยากออกไปข้างนอกอยู่แล้ว เพราะว่าเรื่องนี้มันอาจจะเป็นเรื่องระดับประเทศ ระดับโลกเลยก็ได้ คือมันมีสถานที่สูบบุหรี่ไม่เพียงพอ ไม่เพียงพอไม่พอ ยังมีให้แต่ก็โทรมอีก คนก็ไม่อยากไปสูบ เราคิดว่าถ้ามหาวิทยาลัยสนับสนุน อะไรๆ ก็น่าจะไปได้เร็วมากกว่าที่เราทำกันเอง” ญาณิศากล่าวทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook