พระราชดำรัส และ พระราโชวาท "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์" ที่สอนชาวไทยมาตลอดถึงปัจจุบัน

พระราชดำรัส และ พระราโชวาท "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์" ที่สอนชาวไทยมาตลอดถึงปัจจุบัน

พระราชดำรัส และ พระราโชวาท "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์" ที่สอนชาวไทยมาตลอดถึงปัจจุบัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เปรียบเสมือนแม่ของแผ่นดิน ที่พสกนิกรชาวไทยต่างยกย่องให้พระองค์เป็น มหาราชินี และนำ พระบรมราโชวาท และ พระราชดำรัส ของพระองค์มาใช้ในชีวิตประจำวัน

โดยในครั้งนี้ Sanook! Campus เราก็เลยอยากจะนำ พระราชดำรัส และ พระราโชวาท สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มานำเสนอให้ได้อ่านกัน

พระราชดำรัส และ พระราโชวาท "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์" ที่สอนชาวไทยมาตลอดถึงปัจจุบัน

“...ปัจจุบันนี้มีปัญหาสังคมเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก ปัญหาเหล่านี้หากบำบัดแก้ไขไม่ทันท่วงที ก็จะกระทบกระเทือนและเป็นภัยถึงความเป็นอยู่ส่วนรวมด้วยอย่างแน่นอน งานสังคมสงเคราะห์ จึงเป็นงานที่มีความสำคัญมาก และจำเป็นที่ทุกๆฝ่ายจะต้องร่วมมือกันทำอย่างจริงจัง...”

พระราชดำรัส ในพิธีเปิดการประชุมการสังคมสงเคราะห์ ณ ศาลาสันติธรรม วันที่ 2 เมษายน 2508

“... ในโลกปัจจุบัน เราจะมีความสุขแต่ลำพังโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของคนอีกหลายคนที่แวดล้อม เราอยู่นั้นไม่ได้ ผู้มีความเมตตาจิตหวังประโยชน์ส่วนรวม ย่อมรู้จักแบ่งปันความสุขเพื่อผู้อื่นและพร้อมที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ของผู้อื่น ตามกำลังและโอกาสเสมอ...”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการอาสาสมัคร สภาสังคมสงเคราะห์ฯ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน วันที่ 2 มีนาคม 2510

“...ความเจริญทางวัตถุจำต้องควบคู่ไปกับความเจริญทางจิตใจ จึงทำให้ชีวิตมนุษย์สมบูรณ์และมีค่า บุคคลแม้จะเป็นผู้ที่ขาดความมั่นคงทางวัตถุ แต่ร่ำรวยยิ่งในด้านคุณธรรม มีความรักและห่วงใยในเพื่อนมนุษย์ จึงนับว่าเป็นผู้ที่พระพุทธศาสนายกย่องแล้วว่าเจริญแท้...”

พระราชดำรัส พระราชทางแก่นักศึกษาวิชา พยาบาล ณ หอประชุมราชแพทยาลัย วันที่ 31 กรกฎาคม 2510

“...การบำเพ็ญประโยชน์ที่แท้จริง คือการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของหน้าที่ ทำเพื่อมุ่งผลของงาน ทำด้วยจิตใจหวังดีต่อมนุษย์โลก ทำโดยไม่คิดว่าผลประโยชน์นั้นจะมาสู่ตัวเรา ทำเพื่อประโยชน์ของหน้าที่และเพื่อผู้อื่น...”

พระราชดำรัส ในพิธีเปิดงานบำเพ็ญประโยชน์ ณ ศาลาไคเช็กชนม์ วันที่ 1 มีนาคม 2511

“...มนุษย์เป็นแต่เพียงสัตว์ที่สอนได้ ต่อเมื่อได้รับการศึกษาอบรม ประกอบกับขวนขวายหาความรู้รอบตัวอย่างเนืองนิจ และใช้ความฉลาดของตนนำความรู้นั้นมาพินิจพิจารณาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทำอะไร จึงจะเข้าใจหลักเกณฑ์ว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีสติ มีปัญญา...”

พระราโชวาท ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรผดุงครรภ์ ณ หอประชุมราชแพทยาลัย วันที่ 15 ตุลาคม 2513

“...เกียรติกับเงินไม่ใช่อันหนึ่งอันเดียวกัน จะเอามารวมกันไม่ได้เลยเป็นอันขาด ผู้ที่เราควรจะยกย่องว่ามีเกียรติสูงคือ ผู้ที่ไม่เสียชาติเกิด ผู้ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ใช้เวลาในชีวิตของเขาทุกวินาที สะสมคุณงามความดี...”

พระราชดำรัส ในพิธีพระราชทานเข็มที่ระลึก แก่ผู้บริจาคโลหิต ณ สถานเสาวภา 17 พฤศจิกายน 2514

“ ...ปัจจุบันนี้ในต่างประเทศทั่วโลก เด็กหนุ่มสาวเห็นว่าศาสนาซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณกาลนั้นเป็นของล้าสมัย จึงพากันละทิ้งเสีย เมื่อต้องประสบกับความผิดหวังก็หันเข้าหายาเสพติดเป็นที่พึ่ง เพื่อให้ลืมความทุกข์ชั่วขณะ แต่หารู้ไม่ว่ายาเสพติดนั้นหากใช้อยู่เสมอจะลดความเป็นมนุษย์ลงทุกที...”

พระราชดำรัส ในพิธีเปิดการประชุมใหญ่ของสถาบันแม่ชีไทย ณ ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย วันที่ 6 เมษายน 2515

“...ศาสนาพุทธสอนเราไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น แต่ให้มีความเมตตากรุณา ฉะนั้น เราควรเห็นอกเห็นใจ อดทนต่อความนึกคิดของผู้อื่น แม้ว่าจะขัดต่อความนึกคิดของเราก็ตาม ไม่ยึดแต่ความคิดของตนเองเป็นที่ตั้ง กระทำตนให้เป็นผู้ที่มีความคิดแตกฉาน ดังที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่า ให้อยู่อย่างฉลาด ด้วยปัญญา...”

พระราชดำรัส ในพิธีเปิดการประชุมใหญ่ของสถาบันแม่ชีไทย ณ ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย วันที่ 6 เมษายน 2515

“...หนุ่มสาวที่ยังไม่เจนต่อวิถีชีวิตอันยุ่งยากในโลกพากันละทิ้งศาสนา โดยอ้างว่าที่ไม่นับถือศาสนา ก็เพราะศาสนาเป็นของล้าสมัย ไม่ก้าวหน้าไปกับโลกวิทยาศาสตร์ที่กำลังเจริญอยู่ เขาหารู้ไม่ว่า เยาวชนควรยึดถือความเจริญทั้งทางโลกวัตถุ และหลักปฏิบัติทางศาสนาควบคู่กันไป...”

พระราชดำรัส ในพิธีเปิดโครงการวันแม่ ณ หอประชุมโรงเรียนเซนต์คาเบรียล วันที่ 4 ตุลาคม 2515

“...ศาสนาทุกศาสนามุ่งสอนให้คนประพฤติดี ให้ตั้งอยู่ในสุจริตธรรม ศาสนาเป็นที่พึ่งตลอดไปของมนุษย์ ทั้งในยามสุขและในยามทุกข์ ช่วยเตือนสติเราไม่ให้ประมาทหลงระเริงในยามยินดีมีความสุข ช่วยเราไม่ให้หมดสติ รู้สึกเคว้งคว้างในยามมีทุกข์...”

พระราชดำรัส ในพิธีเปิดงานโครงการวันแม่ ณ หอประชุมโรงเรียนเซนต์คาเบรียล วันที่ 4 ตุลาคม 2515

“...คนเราเมื่อขาดที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจแล้ว จะเกิดความว้าวุ่น พอมีความทุกข์จะหันหน้าเข้าคว้าเอาสิ่งที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของตน เพื่อให้ลืมเรื่องเฉพาะหน้าชั่วคราว เช่น ยาเสพติด เพราะยาเสพติดทำให้คนมึนเมา ขาดสติสัมปชัญญะ มักประพฤติแต่ความชั่ว เปรียบเสมือนปลาติดเบ็ด ยากนักที่จะหลุดพ้นออกไปได้...”

พระราชดำรัส ในพิธีเปิดงานโครงการวันแม่ ณ หอประชุมโรงเรียนเซนต์คาเบรียล วันที่ 4 ตุลาคม 2515

“...มนุษย์เรานี้ควรจะมีการให้ต่อกันบ้าง อย่างน้อยก็ให้เวลาสดับตรับฟังความทุกข์ของผู้อื่น ไม่ใช่จะงกๆ เงิ่นๆ ละโมบหาแต่ความสุข กอบโกยหาโชคลาภสู่ตนเองโดยไม่นึกถึงผู้อื่น เมื่อเราไม่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือซึ่งกันและกันแล้ว เราจะมีความสุขยั่งยืนได้อย่างไร...”

พระราชดำรัส ในพิธีพระราชทานเข็มที่ระลึกแก่ผู้บริจาคโลหิตให้สภากาชาดไทย ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ 20 กันยายน 2516

“...การแผ่เมตตา อันเป็นพุทธโอวาทส่วนหนึ่ง เป็นสิ่งสำคัญที่สุดและเหมาะเป็นหลักปฏิบัติสำหรับโลกปัจจุบันนี้ ซึ่งขณะนี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจากการแก่งแย่งการทำมาหากิน เพราะจำนวนประชากรของโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การอยู่รอดในโลกนี้จึงยากเต็มที ยิ่งวิทยาศาสตร์ก้าวหน้า การคมนาคมรวดเร็วขึ้น การรุกรานเบียดเบียนซึ่งกันและกันก็เป็นสิ่งที่ทำง่ายยิ่งขึ้น...”

พระราชดำรัส ในพิธีเปิดการประชุมใหญ่ของสบันแม่ชีไทย ณ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย วันที่ 1 เมษายน 2516

“... การสะสมและสร้างคุณงามความดีนี่แหละที่เรียกว่า การสร้างบารมี เป็นความดีอย่างหนึ่งในเมืองเรา ที่มีคนใจคอเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ทำประโยชน์ให้ผู้อื่น รู้จักเหลียวแลดูรอบๆ ตัวเรา ถ้าหากมีแต่ความทุกข์ เราผู้เดียวจะมีความสุขได้อย่างไร จึงควรช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำให้ส่วนรวมคือชาติบ้านเมืองสงบและร่มเย็นเป็นสุข...”

พระราชดำรัส ในพิธีพระราชทานเข็มที่ระลึกแก่ผู้บริจาคโลหิตให้สภากาชาดไทย ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ 26 กรกฎาคม 2517

“...ผู้สำคัญตนว่ามีความฉลาดสามารถเป็นเลิศอยู่เสมอนั้น มักพาตัวไม่รอด เพราะความสำคัญตนเช่นนั้นจะปิดบังโอกาสที่จะขวนขวาย หรือได้มาซึ่งปัญญาที่สูงขึ้นไป ตัวอย่างก็มีปรากฏในประวัติการณ์ของโลกมาแล้วมากมาย ที่ผู้มีปัญญาความสามารถและอำนาจ ต้องพ่ายแพ้ล่มจมไป...”

พระราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร วันที่ 24 มีนาคม 2518

“...เมืองไทยเรารอดมาได้โดดเดี่ยวอย่างน่าหวาดเสียว ในท่ามกลางเพื่อนบ้าน ประเทศเพื่อนบ้านต้องบ้านแตก หนีภัยกันอย่างอุตลุด เอาชีวิตไปทิ้งในท้องทะเลก็มาก เราไม่เป็นอย่างนั้นเพราะว่าเรามีความสามัคคี มีจิตใจที่กว้าง หมายความว่าสมองความคิดกว้าง...”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิลาลัย 11 สิงหาคม 2525

“...พระบาทสมเด็จพระบาทพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งกับข้าพเจ้าเสมอว่า ไม่มีที่ไหนเหมือนแล้วเมืองไทย ที่คนไม่ว่าจะยากจนเพียงไร ยังเบิกบานชุ่มชื่นในการให้ ข้าพเจ้าเชื่อว่านี่คือมรดกอันประเสริฐที่คนไทยเราได้รับตกทอดกันมาหลายร้อยปี เราเป็นแผ่นดินแห่งพระบวรพุทธศาสนา อบรมสั่งสอนกันมานานให้รู้จักทำบุญด้วยการให้...”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่ เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย 10 สิงหาคม 2527

“....ปัจจุบันเรามีสิ่งล่อใจมากทางด้านวัตถุ มีสิ่งที่บำรุงบำเรอความสุขที่จะสรรหามาได้ทุกเมื่อ จนกระทั่งขาดความสำนึกที่ว่า คนเรายิ่งได้ดีมั่งมีสุขสมบูรณ์ ก็ยิ่งสมควรจะต้องสะสมความดียิ่งขึ้นไม่ใช่สะสมแต่ทรัพย์สมบัติ จนคิดแต่จะแก่งแย่งกัน กลายเป็นยุคที่ร้อนระอุเป็นอันตรายต่อเสรีภาพของบ้านเมือง..”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 10 สิงหาคม 2527

“...ในการรวมตัวกันเพื่อทำงานต่างๆนั้น ย่อมจะมีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง แต่ปัญหาใดๆก็ย่อมขจัดเสียได้โดยอาศัยความสามัคคีเป็นคุณธรรม ที่จะร้อยรัดให้ทุกคนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ขอเพียงแต่ละคนไม่ยึดถือ อัตตา คือตัวตนของผู้หนึ่งผู้ใดเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น...”

พระราชดำรัส ในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ของสภาสตรีแห่งชาติฯ ณ หอประชุมมนังคศิลา วันที่ 22 พฤษภาคม 2530

“...ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องสุขภาพอนามัยนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล ดังคำกล่าวที่ว่า จิตใจที่แจ่มใสย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง หากประชาชนมีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะมีสติปัญญาเล่าเรียน ประกอบสัมมาอาชีพ สร้างสรรค์ความเจริญต่างๆให้บ้านเมือง...”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 11 สิงหาคม 2531

“...ข้าพเจ้านั้นภูมิใจเสมอว่า คนไทยมีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา หรืออาชีพใดอยู่สารทิศใด คนไทยมีความละเอียดอ่อนและฉับไวต่อการรับศิลปะทุกชนิด ขอเพียงแต่ให้เขามีโอกาสได้เรียนรู้และฝึกฝนเขาก็จะแสดงความสามารถออกมาให้เห็นได้...”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคล ต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 11 สิงหาคม 2532

“...ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลนั้น ความจริงเป็นฝีมือมนุษย์นั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าเราจะให้สภาพธรรมชาติกลับคืนมาเหมือนเดิม มีแม่น้ำลำธารมีน้ำจืด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อชีวิตมนุษย์และการพัฒนาประเทศชาติ พวกเราต้องเข้าใจและช่วยกันรักษาป่า เพื่อเราจะได้มีอนาคตและความหวังร่วมกัน...”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 11 สิงหาคม 2535

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook