5 เทคนิคเผือกอย่างมีชั้นเชิง

5 เทคนิคเผือกอย่างมีชั้นเชิง

5 เทคนิคเผือกอย่างมีชั้นเชิง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เผือกในที่นี้หมายถึง อาการใคร่อยากรู้อยากเห็นเรื่องของคนอื่น และยิ่งปัจจุบันที่มีโชเซียลอย่าง ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ก็ยิ่งทำให้การเผือกนั้นง่ายกว่าเดิมขึ้นไปอีก แต่ถึงอย่างไรการเผือกก็จะต้องมีเทคนิค และรู้จักขอบเขตด้วย วันนี้ Tonkit360 จึงมี 5 เทคนิคเผือกอย่างมีชั้นเชิงมาฝาก ไปดูกันว่าเผือกยังไงให้ตามทัน (กรณีมีดราม่าบนโลกโซเชียล)

1. รู้ต้นเรื่องมาบ้าง รู้แฮชแท็ก และมีความสามารถในเรื่องตัวย่อ

แน่นอนว่าก่อนที่จะเผือก เราต้องรู้ต้นเรื่องมาบ้าง เพื่อให้ง่ายขึ้นต่อการตามข่าว และอย่างที่เห็นว่าทุกวันนี้ เวลามีดราม่าอะไร สิ่งที่จะทำให้เราได้ตามข่าวเฉพาะนั้นแบบง่ายๆ ก็คือแฮชแท็กบนโซเชียล ไม่ว่าจะในทวิตเตอร์ หรือเฟซบุ๊กก็ดี ซึ่งจะทำให้เราได้เผือกอย่างเต็มที่ และเวลามีอะไรอัปเดตใหม่ๆ ชาวเน็ตหรือเพจดังต่างๆ ก็จะเอาข่าวมาลงในแฮชแท็กที่กำลังเป็นกระแสอยู่ ไม่เพียงเท่านี้การเผือกอย่างมีชั้นเชิง เราจะต้องมีความสามารถในการรู้อักษรย่อด้วย เพราะถ้าเป็นดราม่าที่ไม่ดีนัก หรือเรื่องวงในเม้าท์มา ส่วนใหญ่มักจะใช้อักษรย่อในการเล่าข่าวนั่นเอง

2. อ่านให้ละเอียด อย่าอ่านแค่กวาดสายตา เพราะอาจทำให้เข้าใจผิด

เมื่อมีข่าวดราม่าต่อมเผือกเริ่มทำงาน ก็ขอว่าให้อ่านอย่างละเอียดสักหน่อย ว่าเรื่องราวมันเป็นมาอย่างไร ไม่ควรอ่านแค่ผ่านๆ หรืออ่านกวาดสายตา เพราะอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ทั้งนี้ไม่ใช่แต่กรณีตามเผือกเท่านั้น ยังรวมไปถึงเวลาที่เราตามข่าวอื่นๆ ก็ด้วย จะได้ทำความเข้าใจ และไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงหรือข่าวปลอม

3. อย่าใจร้อนแสดงความคิดเห็น เดี๋ยวหน้าแหก และอย่ามือลั่น

การเผือกที่ดีจะต้องอย่าพึ่งตัดสินหรือด่วนสรุป เพราะถ้าหากเราไปแสดงความคิดเห็น หรือออกตัวว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว เรื่องราวเกิดพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จะทำให้หน้าแตกหมอไม่รับเย็บเอาได้ ฉะนั้นจะต้องไม่ใจร้อน ไม่วู่วาม มีสติ และใช้วิจารณญาณในการตามข่าวร่วมด้วย ที่สำคัญอย่าไปมือลั่นกดไลก์คอมเมนต์ของคนอื่น ที่แสดงความคิดเห็นรุนแรงล่ะ มิเช่นนั้นอาจจะทำให้เราซวยไปด้วยก็ได้ (กดไลก์ดรีทวีตในใจก็พอ…ฮา)

4. กดแชร์ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเขียนอะไรในโพสต์

ในกรณีที่คุณใช้บัญชีเฟซบุ๊ก แล้วอยากจะแชร์ข่าวดราม่าที่กำลังเป็นกระแสอยู่ ก็สามารถทำได้ แต่อย่างหนึ่งที่อยากให้ระวังไว้หน่อยก็ดี นั่นคือการเขียนโพสต์ที่แชร์ออกไป ด้วยถ้อยคำหยาบคายหรือทำให้ผู้อื่นเสียหาย อันนั้นเราแนะนำว่าไม่จำเป็นต้องเขียนอะไรในโพสต์เลยจะดีกว่า เพื่อเป็นการเซฟตัวเองที่ดีที่สุด

5. เข้าข้างได้ แต่อย่าใช้ถ้อยคำที่รุนแรงเกินเหตุ

เป็นปกติที่เมื่อมีข่าวดราม่าเกิดขึ้นบนโลกโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นข่าวการเมืองหรือข่าวบันเทิง ฯลฯ แน่นอนว่าเราย่อมมีสักฝ่ายที่เราชื่นชอบ หรือรู้สึกว่าเข้าข้างอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่างที่กล่าวไปว่า เราไม่ควรใจร้อนแสดงความคิดเห็น ที่ทำให้เกิดความเกลียดชังเพิ่ม ที่สำคัญไม่ควรใช้ถ้อยคำที่รุนแรงหรือหยาบคายด้วย ควรมีสติให้มาก เสพข่าวเสพดราม่า ตามเผือกแล้วต้องรู้จักพักด้วยนะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook