สื่อกระแสหลัก กับความเสื่อมถอยเพราะตัวเองเป็นต้นเหตุ

สื่อกระแสหลัก กับความเสื่อมถอยเพราะตัวเองเป็นต้นเหตุ

สื่อกระแสหลัก กับความเสื่อมถอยเพราะตัวเองเป็นต้นเหตุ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นเหตุบ้านการเมือง ข่าวสังคม การใช้ชีวิต หรือแม้แต่ดราม่าดาราพอกรุบกริบให้เราได้ติดตามกันตลอด

ถ้าเป็นแต่ก่อน เรื่องพวกนี้เราก็ต้องพึ่งพาสื่อหลัก ๆ อย่างรายการข่าวในโทรทัศน์ รายการวิทยุ และหนังสือพิมพ์เท่านั้น

แล้วเรารู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่นำเสนอออกมาในตอนนั้นเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า ?

หากเอาตัวเองนึกย้อนกลับไปในตอนนั้น คำว่า Fake News แทบไม่อยู่ในหัวเราเลยด้วยซ้ำ เพียงเพราะคิดว่าสำนักข่าวย่อมต้องนำเสนอเรื่องที่ถูกต้อง เรื่องจริง ตามจรรยาบรรณที่พวกเขาเหล่านั้นต้องทำ

เมื่อเวลาผ่านไป กลายเป็นตอนนี้เรามีสมาร์ตโฟนพร้อมโซเชียลมีเดียและคลังข้อมูลเป็นแสนเป็นล้านสิ่งอยู่ในมือ ความจริงในอดีตหลาย ๆ อย่างที่กลับมารีรันอีกครั้งในหน้าสังคมออนไลน์เป็นเหมือนการตีแสกหน้าเราในอดีตเช่นกัน

บางสิ่งมาพร้อมหลักฐานที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ข่าวออกชนิดที่ว่า หน้ามือ เป็นหลัง… (อะไรไม่รู้ เติมเอาเองตามวิจารณญาณ)

ยิ่งทำให้เราอยากมองย้อนกลับไปในหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมา เราเชื่อสิ่งที่ถูกหรือสิ่งที่ผิดกันแน่ หรือเราถูกปลูกฝังอะไรที่ไม่ใช่ความจริงมาหรือเปล่า ?

มันทำให้เราเห็นว่าการบิดเบือนข่าวแท้จริงไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย ถ้าเป็นเมื่อก่อนสื่อหลักอย่างหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุและข่าวจากโทรทัศน์เป็นที่พึ่งเดียวที่เราจะตามข่าวบ้านเมือง แต่เราจะรู้ได้ยังไงล่ะว่าข่าวที่ออกมาเหล่านั้นเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า หรือมีความจริงมากน้อยแค่ไหน หรือเอนเอียงไปทางฝั่งไหน น่าเสียดายที่อดีตหลาย ๆ เรื่องผ่านไปอย่างถูกเข้าใจผิดและแก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว

แต่ใช้ไม่ได้เลยกับยุคนี้ที่เราสามารถหาได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในระบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวกี่ร้อยปีมาแล้ว หรือเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อหนึ่งชั่วโมงก่อนก็หาได้เพียงไม่กี่วินาที เมื่อทุกคนมีโซเชียลมีเดียอยู่ในมือ มีแหล่งข่าวที่มาจากคนทั่วไป ย่อมหาความจริงได้ง่าย เห็นข้อมูลที่มีทั้งกรองและไม่กรอง หากเราเห็นว่าข้อมูลเหล่านั้นที่เราเห็นมันตรงข้ามกับสิ่งที่สื่อพยายามจะนำเสนอ พยายามเบี่ยงความสนใจของคนให้ออกนอกประเด็นไปไกล คงต้องบอกว่า ไม่ได้ผล คนเค้าดูออก นอกเหนือจากนั้นความน่าเชื่อถือของตัวเองก็ลดลงไปด้วย

แถมบ่อยครั้งที่เราต้องส่ายหน้าให้กับจรรยาบรรณสื่อที่ถดถอยลงไปทุกที ถึงขั้นที่เกิดความคิดว่า เป็นสื่อแท้ ๆ ทำไมถึงนำเสนออะไรไม่คิดถึงใจคนอื่นเลย ซึ่งความคิดนี้ดันเกิดจากผู้เสพข่าวที่อยู่นอกวงการสื่อ เป็นอีกเรื่องน่าเศร้าที่ก็ได้แต่ถอนหายใจและทำใจไปพร้อม ๆ กัน

ยิ่งกระแสการปราบปราม Fake News หรือ พ.ร.บ. คอมที่ออกมา บางครั้งกลับกลายเป็นเครื่องมือการเล่นงานกันเองซะอย่างงั้นแหละ ส่วนบางสื่อที่เราเห็นว่าพยายาม (หรืออาจจะไม่ได้ตั้งใจก็ตามที) ที่จะเสนอข่าวโดยบิดเบือนความจริงไปหลายพันลี้ ก็ยังคงทำหน้าที่ต่อแบบไม่ได้รับผิดชอบสังคมอะไรตรงไหน

ก็ถอนหายใจเฮือกใหญ่ ๆ กันไปอีกรอบ

นี่ยังไม่นับประเด็นที่ว่าสำนักข่าวส่วนใหญ่ก็นำข้อมูลจากโซเชียลมีเดียจากคนทั่วไปมารีรันอีกที ซ้ำแล้วซ้ำอีกในทุกช่วงข่าวของแต่ละวัน ยิ่งเป็นเรื่องน่าเบื่อ

ถ้าอย่างงั้นก็ไปตามความเคลื่อนไหวโลกในออนไลน์ตั้งแต่แรกก็หมดเรื่องแล้วแหละ ไม่ต้องรอข่าวก็ได้

แต่ในยุคที่ง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูลมันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียนั่นแหละ

เพราะแหล่งข่าวเหล่านั้นบางคนก็เลือกที่จะเผยแพร่สิ่งที่ไม่จริง บางคนตั้งใจดิสเครดิตให้เสียหาย หรือจริงครึ่งไม่จริงครึ่งเหมือนกัน ยิ่งต้องทำให้ผู้เสพต้องใช้วิจารณญาณส่วนบุคคลกันเยอะหน่อยในทุกย่างก้าวของชีวิต ทุกการกดแชร์ กดรีทวิต

คนที่มีภูมิต้านทานทางด้านนี้ก็จะดีหน่อย ตรงที่น่าจะมีสติคิด วิเคราะห์ แยกแยะข่าวได้เองก่อนที่จะปักใจเชื่ออะไรซักอย่าง ไม่เป็นเหยื่อของ Fake News และไม่แพร่กระจายข่าวผิด ๆ ก่อนที่จะได้รับการพิสูจน์พร้อมหลักฐานว่านี่แหละเรื่องจริงแท้แน่นอน

ทำให้เราได้ข้อคิดมาเป็นบทเรียนใหญ่ ๆ เกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเสพข่าวสารในยุคนี้ คืออย่าเชื่ออะไรหากเราได้เห็นความจริงเพียงด้านเดียว หรือแม้แต่สิ่งที่ดูน่าเชื่อถือที่สุดอย่างสำนักข่าว หรือข้อมูลที่มีภาพประกอบสวยสดงดงามจริงจัง ไม่ใช่เครื่องการันตีว่าข้อมูลนั้นถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์

เอาเป็นว่าการจะเชื่อ จะแชร์ จะบอกต่อข่าวแต่ละครั้งในตอนนี้ ไม่ต่างจากการเดินหลบระเบิดบนทางเท้าประเทศไทย ไอ้ที่เราเห็นว่าเนียนสุด ๆ เหยียบโผล๊ะลงไป น้ำพุ่งมาเปรอะเลอะเต็มขาซะงั้น

แทบจะเอาแว่นขยายส่องเพื่อดำเนินชีวิตกันเลยทีเดียว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook