ดาวตก, ลูกไฟ, และ ดาวตกชนิดระเบิด มีความแตกต่างกันอย่างไร

ดาวตก, ลูกไฟ, และ ดาวตกชนิดระเบิด มีความแตกต่างกันอย่างไร

ดาวตก, ลูกไฟ, และ ดาวตกชนิดระเบิด มีความแตกต่างกันอย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รู้หรือไม่...ดาวตก (Meteor) ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะช่วงเวลาที่เกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกเท่านั้น แต่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกคืน หากเราสังเกตการณ์ท้องฟ้าในเวลากลางคืนเราจะพบเห็นดาวตกหลายดวงและจะเห็นได้มากขึ้นหากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตก

วัตถุต้นกำเนิดของดาวตกคือ วัตถุท้องฟ้าขนาดเล็ก ได้แก่ ดาวเคราะห์น้อย (Asteroid) และดาวหาง (Comet) รวมถึงเศษชิ้นส่วนที่กระเด็นจากการพุ่งชนบนดวงจันทร์หรือดาวอังคาร เป็นต้น เมื่อเศษชิ้นส่วนดังกล่าวเคลื่อนที่เข้ามายังชั้นบรรยากาศโลก การปะทะระหว่างวัตถุที่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็วกับอนุภาคในชั้นบรรยากาศ ทำให้อากาศอัดตัวอย่างฉับพลันเกิดความร้อนสูงจนลุกไหม้เกิดเป็นแสงสว่างวาบพาดผ่านท้องฟ้า เกิดเป็น #ดาวตก

94317583_3087547787975481_559

กรณีที่เศษชิ้นส่วนมีขนาดใหญ่ ความร้อนและแสงสว่างที่เกิดขึ้นก็จะมากขึ้นตามไปด้วย นักวิทยาศาสตร์เรียกดาวตกที่มีแสงสว่างมาก หรือมีค่าโชติมาตรปรากฏประมาณ -4 (ความสว่างเทียบเท่าความสว่างของดาวศุกร์) นี้ว่า #ลูกไฟ และหากมีความสว่างเทียบเท่ากับความสว่างของดวงจันทร์เต็มดวง หรือเกิดการระเบิดขึ้นกลางอากาศ นักดาราศาสตร์จะเรียกว่า #ดาวตกชนิดระเบิด

ดาวตก (Meteor) ลูกไฟ (Fireball) และ ดาวตกชนิดระเบิด (Bolide) ต่างมีความน่าสนใจทั้งสิ้น แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ เหตุการณ์ลูกไฟตก หรือ ดาวตกชนิดระเบิด เนื่องจากวัตถุต้นกำเนิดน่าจะมีขนาดใหญ่มากพอจะมีเศษชิ้นส่วนที่หลงเหลือจากการเผาไหม้ขณะเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศโลกตกถึงพื้นได้ เราเรียกวัตถุที่ตกถึงพื้นผิวโลกว่า อุกกาบาต (Meteorite)

94355459_3091828324214094_517

บางครั้ง ลูกไฟ หรือ ดาวตกชนิดระเบิด จะสว่างมากจนเราสังเกตเห็นได้ในเวลากลางวัน ที่มีผู้พบเห็นเหตุการณ์จำนวนมากอาจจะสร้างความแตกตื่นให้กับผู้คนในวงกว้าง รวมถึงโอกาสที่จะมีชิ้นส่วนหลงเหลือถึงพื้นโลกและสร้างผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตก็จะมากยิ่งขึ้นด้วย ความเสียหายจากการพุ่งชนพื้นผิวโลกจากวัตถุในอวกาศสามารถดูได้จากหลุมอุกกาบาตที่กระจายอยู่ทั่วโลก บรรดานักล่าอุกกาบาต หรือนักดาราศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับอุกกาบาตจะค้นหาชิ้นส่วนของอุกกาบาตเพื่อระบุประเภท องค์ประกอบทางเคมี และประเมินย้อนกลับถึงความเป็นไปได้ว่าชิ้นส่วนอุกกาบาตที่ค้นพบนั้น มาจากวัตถุต้นกำเนิดชนิดใด

หมายเหตุ: ชื่อเรียกวัตถุท้องฟ้าขณะที่เคลื่อนที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกนั้น ผู้เขียนจะอภิธานศัพท์ในการเรียก meteor หรือ meteoroid ว่า “ดาวตก” แทนคำว่า “สะเก็ดดาว” เนื่องจากคำว่าสะเก็ดดาวนั้นอาจจะทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเศษชิ้นส่วนหรือสะเก็ดของดาวฤกษ์ โดยดาวตกนี้จะหมายรวมถึงวัตถุต้นกำเนิดทั้งหมด อาทิ ดาวหาง ดาวเคราะห์น้อย หรือวัตถุขนาดเล็กที่เคลื่อนที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศโลก

เรียบเรียง : ธีรยุทธ์ ลอยลิบ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook