สวยจริง วิธีคิดการออกแบบงานสถาปัตย์ จากนักศึกษา สถาปัตย์ไทยศิลปากร

สวยจริง วิธีคิดการออกแบบงานสถาปัตย์ จากนักศึกษา สถาปัตย์ไทยศิลปากร

สวยจริง วิธีคิดการออกแบบงานสถาปัตย์ จากนักศึกษา สถาปัตย์ไทยศิลปากร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรียกว่าใครอยากเรียนต่อคณะสถาปัตย์ ต้องห้ามพลาดจริงๆ เพราะทางแฟนเพจ สถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มีการแชร์ วิธีคิดวิธีการออกแบบงานสถาปัตย์ไทยของนักศึกษาของสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรมาให้เราได้ศึกษากัน ว่าถ้าอยากจะเป็นนักศึกษาคณะสถาปัตย์ ต้องมีความพร้อมอะไรบ้าง

สถาปัตย์ไทยศิลปากร ชวนชม ผลงานประกอบการเรียนในกลุ่มรายวิชา การออกแบบสถาปัตยกรรมไทย สามวิชาในช่วงปี สองและปีสาม โดยครั้งนี้ ได้นำผลงานและการสัมภาษณ์ พี่แจม #ปัดไทยปี3 เกี่ยวกับวิธีคิด กระบวนการและการทำงาน ทั้ง 3 โปรเจค ของ แจม-จิตเพชร ชูชาติ มาให้ทุกท่านได้ชื่นชม

95495155_2894550503926577_373

โปรเจคทดลองออกแบบมณฑปอาคารเครื่องยอด

95554411_2894537707261190_397

วิธีคิด

ในโปรเจคนี้ให้ออกแบบมณฑปอาคารเครื่องยอดที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทคู่จำลอง พร้อมทั้งออกแบบพิพิธภัณฑ์ด้วย โดย site ตั้งอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรีที่เป็นดินแดนเก่าแก่ของเมืองศรีมโหสถ ผมได้ศึกษาประวัติศาสตร์และได้สนใจวัตถุโบราณที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สิ่งนั้นคือ ธรรมจักร ซึ่งเป็นตัวแทนของการเผยแพร่ศาสนา แล้วธรรมจักรยังมีความเกี่ยวโยงกับรอยพระพุทธบาทคู่ที่มีสัญลักษณ์ธรรมจักรอีกด้วย จากนั้นผมจึงย้อนกลับมามองภาพรวมของบริบทอีกครั้ง ทำให้สรุปได้ว่าสิ่งที่ผมสนใจมีทั้งหมด 4 อย่าง ได้แก่ ธรรมจักร, พระพุทธบาทที่จริง ,สระแก้ว ,ผังเมืองศรีมโหสถ ซึ่ง 4 อย่างนี้จะเชื่อมโยงกันแล้วจะตอบคำถามในการออกแบบได้

วิธีการออกแบบ

ผมได้ใช้ความรู้ที่ได้ทำมาจากการออกแบบพระอุโบสถและเจดีย์มาใช้ในการออกแบบมณฑปที่มีลักษณะยอดบุษบกหลังนี้ โดยผมได้ยืดอาคารให้มีความสูงขึ้นไปอีก เพื่อทำให้สามารถมองเห็นได้ชัดจากพระพุทธบาทที่จริง ทำให้มณฑปเด่นออกมาจากพิพิธภัณฑ์ในระดับสายตาและในทุกมุมมองรอบ site
อีกทั้งการจัดวางมณฑปยังถูกออกแบบให้มีแนวแกนตรงกับพระพุทธบาทที่จริงอีกด้วย

ส่วนการตีความ concept ผมได้ตีความ ธรรมจักร เป็นเนื้อหาหลักที่จะสื่อความหมายของการเผยแพร่ศาสนาพุทธที่เมืองศรีมโหสถ โดยได้คลี่คลายธรรมจักรสู่ประติมากรรมเป็นลักษณะแท่นธรรมจักรตั้งพื้น เสริมด้วยประติมากรรมกวางหมอบ วางอยู่บนกลางบ่อน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งจะวางตรงกับแนวแกนของอาคารมณฑป 1 จุด และอีก 1 จุดจะวางตรงกับแนวแกนที่ตรงกับอาคารมณฑปและพระพุทธบาทที่จริง ซึ่งจุดนี้จะเป็นทางเข้า site อีกทางนึงที่เดินตรงมาจากพระพุทธบาทที่จริงได้ รวมมีแท่นธรรมจักรทั้งหมด 2 จุด ทำให้เกิดการสื่อสารในภาพใหญ่สัมพันธ์กับ รอยพระพุทธบาทที่จริง อีกชั้นนึง นั่นคือ แท่นธรรมจักร 2 อันสื่อถึงธรรมจักรที่อยู่บนรอยพระพุทธบาทคู่ และมณฑปที่เป็นจตุรมุขสื่อถึงสัญลักษณ์สวัสดิกะที่อยู่ระหว่างรอยพระพุทธบาท 2 ข้าง จากข้อมูลพบว่าตรงกลางของสัญลักษณ์สวัสกะมีหลุมกลมอยู่ มีการสันนิษฐานว่าเคยมีเสาฉัตรมาปักไว้ ดังนั้นผมจึงตีความเสาฉัตรนั้นเป็นยอดของมณฑป ส่วนของพิพิธภัณฑ์ผมได้ออกแบบให้เดินข้างบนได้ โดยความรู้สึกที่มองลงมาจะเป็นการรับรู้แบบเดียวกับการมองลงไปที่ สระแก้ว ซึ่งเป็น 1 ในโบราณสถานเมืองศรีมโหสถ โดยผิวอาคารของพิพิธภัณฑ์ถูกออกแบบให้เป็นศิลาแลง ซึ่งเป็นวัสดุเดียวกันกับสระแก้ว และการมองลงไปเจอบ่อน้ำจึงทำให้รับรู้ได้ตรงกัน ส่วนรูปทรงของพิพิธภัณฑ์ที่เป็นลักษณะสี่เหลี่ยมมุมมนนั้น เป็นรูปทรงเดียวกันกับ ผังเมืองศรีมโหสถ นั้นเองครับ

เทคนิคในการทำงาน

ผมได้ทำลักษณะคล้ายกับงานเจดีย์เกือบทั้งหมดโดยในครั้งนี้ได้ 3d print ส่วนของอาคารมณฑปทั้งหลังโดยได้ทำ model section ที่จะสามารถดึงอาคารออกมา 1 ส่วน 4 เพื่อดูภายในอาคารได้ ส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ ฐาน การจัด lighting นั้นทำด้วยมือทั้งหมดครับ

โปรเจคทดลองออกแบบเจดีย์

95521787_2894549637259997_504

วิธีคิด

ในการออกแบบเจดีย์เป็น site ลอยๆที่ไม่มีบริบท จึงได้อิสระในการคิด concept ซึ่งในครั้งนี้ concept ของผมเป็นหลักธรรม นั่นคือ “โลกุตรธรรม 9 (สภาวะแห่งจิตนิพพาน)” โดยผมได้รวบรวมข้อมูลแล้วนำมาวิเคราะห์ว่าจะสื่อสารผ่านงานสถาปัตยกรรมด้วยวิธีไหนได้บ้าง โดยอาจารย์ได้แบ่งกลุ่มนักศึกษาให้ทำรูปแบบของเจดีย์ที่มีสมัยแตกต่างกันไป ในที่นี้ผมได้สมัยล้านนา ซึ่งก็ต้องไปค้นคว้าข้อมูลองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมล้านนาผ่านหนังสือประวัติศาสตร์มาใช้ในงานด้วย รวมทั้งต้องผสมผสาน concept กับองค์ประกอบแบบล้านนาให้เข้ากันได้ด้วย

วิธีการออกแบบ

วิธีการออกแบบจะคล้ายกับการออกแบบพระอุโบสถเทอมที่แล้ว ซึ่งจะสื่อสาร concept งานผ่าน ลวดลายหน้าบรรพ์,ประติมากรรม,ความสัมพันธ์ในแนวแกน,ลำดับการเข้าถึง,การสร้างจุดเด่น,การรับรู้ในการเปลี่ยนผ่านพื้นที่ และการลดทอนรูปทรง แต่ที่เพิ่มเข้ามามีบทบาทด้วยคือเรื่องของโทนสี ในการออกแบบเจดีย์ครั้งนี้ สีจึงมีความสัมพันธ์กับ concept โดยการลดสีขาวจากล่างสุดถึงบนสุดจะเป็นการขัดเกลาระดับจิตใจไปสู่โลกุตรธรรม(สภาวะนิพพาน) อีกทั้งยังมีเรื่องการแทนค่า concept ผ่านทางการนับจำนวน ทั้งที่มีองค์ประกอบที่เหมือนกันและต่างกัน เช่น จำนวนเจดีย์ที่มี 9 องค์ (โลกุตรธรรม9) จำนวนพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า 80 องค์ และยังมีการคลี่คลายรูป form เพื่อสื่อความหมาย จาก วงกลม(ทางโลก)-แปดเหลี่ยม-สี่เหลี่ยม(ทางธรรม)-แปดเหลี่ยม-วงกลม(โลกุตรธรรม) การเปลี่ยน form ที่กลับไปกลับมาเปรียบเสมือนการไตร่ตรองไปสู่สภาวะนิพพาน

เทคนิคในการทำงาน

ในการเขียนแบบใช้หลักการเดิมเหมือนกับการออกแบบพระอุโบสถคือเขียนแค่ครึ่งเดียว แล้ว mirror มาดราฟขัดเส้นอีกที ส่วนการทำโมเดลครั้งนี้ผม print 3d ทั้งหลังโดยแบ่งเป็นส่วนๆแล้วนำมาประกอบกัน โดยโมเดลที่ตัดด้วยมือจะมีแค่ฐานอย่างเดียว ส่วนโมเดลที่ใช้ความเนียบก็ยังคงสั่ง Laser Cut เหมือนเดิมครับ

โปรเจคทดลองออกแบบพระอุโบสถ

95526347_2894549743926653_565

วิธีคิด

ผมมองเข้าไปในบริบทของ site ที่ประกอบไปด้วย วัด โรงเรียน ตลาด สิ่งเหล่านี้อยู่กับชุมชนมานาน ผมมองเห็นลักษณะการสัญจรของคนและรูปร่างของ site ทำให้ผมรู้ว่าการเข้าถึงควรจะเป็นแบบไหน ลักษณะอาคารควรเป็นยังไง จากนั้นผมจึงกลับมามองภาพรวมของสังคมอีกครั้ง จึงลองตั้งคำถามดูว่า "อะไรคือสิ่งที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนนี้ดีขึ้น?" ภายใต้ปัญหาที่พบเจอในสังคมปัจจุบัน ได้แก่ การทำผิดศีลธรรม การกระทำความผิดโดยเจตนา จากคำถามนี้ จึงเกิดเป็น
concept : สวรรค์ระยะต้น (จาตุม ชั้นที่1,ดาวดึงส์ ชั้นที่2) เป้าหมายการออกแบบ : ต้องการจำลองสวรรค์ผ่านสถาปัตยกรรมและประติมากรรม โดยจะจำลองสวรรค์ในระยะแรกๆ ที่ใกล้ชิดกับโลกมนุษย์มากที่สุด เป็นการเล่าเรื่องเกี่ยวกับสวรรค์ชั้น 1 และชั้นที่ 2 เพื่อให้คนในชุมชนได้รับรู้ว่าถ้าอยากไปสวรรค์ในภพหน้า ก็ต้องแลกด้วยการทำความดี เป้าหมายที่แท้จริงคือการโน้มน้าวให้คนคิดที่จะทำสิ่งดีๆเพิ่มมากขึ้น เพื่อทำให้คนขาดศีลธรรมลดน้อยลงไปจากสังคมไม่มากก็น้อย

วิธีการออกแบบ

ผมเริ่มค้นคว้าข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ concept แล้วเขียนสรุปออกมาว่าจะสื่อสารสิ่งไหนบ้าง แล้วจะสื่อสารด้วยวิธีไหนที่จะทำให้คนทั่วไปรับรู้ได้ง่ายที่สุด คำตอบคือผมสื่อสารผ่าน 7 อย่างนี้ คือ ลวดลายหน้าบรรพ์, ประติมากรรม, ความสัมพันธ์ในแนวแกน, ลำดับการเข้าถึง, การสร้างจุดเด่น, การรับรู้ในการเปลี่ยนผ่านพื้นที่ และการลดทอนรูปทรง ส่วนรูปด้านอาคารจะถูกอ้างอิงได้ด้วย เส้นจอมแห ที่จะทำให้อาคารมีทรวดทรงที่สวยได้

เทคนิคในการทำงาน

ผมเริ่มเขียนรูปด้านครึ่งเดียวด้วย สเกล 1:200 เขียนด้วยไม้สเกลเล็กๆผสมกับ freehand พร้อมใส่คนที่ถูกสเกลลงไปเพื่อเช็กสัดส่วน ลงบนกระดาษ a4 จากนั้นเอาไปสแกนเข้าคอมแล้ว mirror รูปด้านให้เต็มทั้ง 2 ด้าน และปริ้นสเกล 1:75 มาดราฟลงบนกระดาษไขจะทำให้รูปด้านนั้นมีความละเอียดมากขึ้นแล้วนำไปให้อาจารย์ตรวจเพื่อปรับต่อไป แล้วถ้าถูกแก้อะไรมาก็จะเขียนเป็นสเกล 1:75 ครับ ผมจะปั้นงาน 3D ในคอมแล้วส่งไปปริ้นที่ร้าน 3D printer เฉพาะส่วนที่ตัดโมเดลยาก และส่วนไหนที่ละเอียดมากๆก็จะทำไฟล์ CAD แล้วส่งร้าน Laser Cut เมื่อได้แล้วจึงนำมาประกอบเข้ากับโมเดลที่ทำด้วยมือจากนั้นทาสีทั้งหมด ส่วน lighting ผมได้ทดลองส่องไฟก่อนว่าแสงที่ออกมาจะเป็นแบบไหนครับ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ สวยจริง วิธีคิดการออกแบบงานสถาปัตย์ จากนักศึกษา สถาปัตย์ไทยศิลปากร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook