"การเมือง" ในออฟฟิศ รับมือให้เป็นถึงจะอยู่รอด!

"การเมือง" ในออฟฟิศ รับมือให้เป็นถึงจะอยู่รอด!

"การเมือง" ในออฟฟิศ รับมือให้เป็นถึงจะอยู่รอด!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สังคมการทำงาน องค์กรส่วนใหญ่มักอยากเห็นพนักงานรักใคร่สามัคคี ปรองดอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้องค์กรได้ประโยชน์สูงสุด แต่ก็มีบางองค์กรที่มีวิธีการปกครองที่ต่างไปจากนั้น โดยใช้วิธีการ “Divide and Rule” หรือ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” นำไปสู่ “การเมืองในที่ทำงาน” ซึ่งเป็นปัญหาโลกแตกที่มนุษย์ออฟฟิศแทบทุกคนต้องเคยเจอ

วิธีนี้เป็นลักษณะของ “ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ” แยกให้คนแตกออกเป็นกลุ่มเล็ก จากนั้นค่อยปกครองกลุ่มเล็กนั้นอีกที เพราะปกครองได้ง่ายกว่า ส่วนมากจะใช้ในองค์กรใหญ่ มีหลายแผนก แต่ละแผนกมีพนักงานหลายคนหลายระดับงาน ซึ่งเรามักเห็นได้ตามละครหลังข่าว ตัวละครที่เป็นพนักงานจะพยายามชิงดีชิงเด่นกันเพื่อสร้างผลงาน รวมถึงมีแผน “เลื่อยขาเก้าอี้” ของอีกฝ่ายที่เป็นคู่แข่งด้วย

เทคนิคนี้จะสร้างหรือกระตุ้นให้พนักงานแบ่งแยกกัน ส่วนหนึ่งก็เพื่อป้องกันไม่ให้ทุกคนรวมใจกันเพื่อท้าทายอำนาจส่วนกลาง อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ก็ช่วยดึงศักยภาพที่มีอยู่ของแต่ละคนออกมา เพราะทุกคนต้องเอาตัวรอด ใครไม่มีผลงานพิสูจน์ให้ประจักษ์ก็ต้องออกไป สุดท้ายองค์กรก็จะเหลือแต่ทรัพยากรบุคคลที่คัดมาแล้วว่ามีประสิทธิภาพต่อองค์กรจริง ๆ เพื่อให้องค์กรได้ประโยชน์มากที่สุด

แม้ว่าวิธีนี้จะใช้ได้ผล แต่การอยู่ร่วมกันในออฟฟิศ เหมือนต้องทำ “สงครามประสาท” ทุกวัน บรรยากาศการทำงานก็อาจจะอึดอัด ไม่น่าอยู่ เพราะมัวแต่หวาดระแวงเพื่อนร่วมงานกันเอง จนไม่กล้าไว้ใจใคร ท้ายที่สุดอาจกลายเป็นศัตรูกันเอง มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ถ้าเป็นทีมลูกรักก็สนับสนุนทุกอย่าง แต่ถ้าตั้งตัวเป็นปรปักษ์ก็จะกลายเป็นทีมลูกชังทันที

วิธีเอาชีวิตให้รอดในสถานการณ์นี้มีอยู่วิธีเดียว คือ “อยู่ให้เป็น” เพราะเราไม่สามารถหนีการเมืองในออฟฟิศได้เลย ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีการใช้อำนาจเพื่อให้งานบรรลุผลหรือทำให้คนในองค์กรอยู่ร่วมกันได้อยู่แล้ว

ฉะนั้น วิธีรับมือกับเพื่อนร่วมงานจึงสำคัญมาก เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ขัดแย้งให้มากที่สุด จะต้องรู้ตัวเองก่อนว่ามีอำนาจหน้าที่และสิทธิ์มีเสียงมากแค่ไหน และควรคิดให้รอบคอบทุกครั้งก่อนที่จะพูดอะไรออกไป หรือตัดสินใจทำอะไรซึ่งอาจกระทบกับคนหมู่มาก และหากต้องเผชิญหน้ากัน ควรใช้วิธีพูดกันอย่างประนีประนอมด้วยเหตุผล แทนที่จะให้อารมณ์เป็นตัวชี้นำ เพราะมีแต่จะทำให้เกิดความขัดแย้งยิ่งขึ้น

และควรหาเพื่อนแท้ไว้บ้างในองค์กร แม้ว่าจะไม่อาจวางใจหรือไว้ใจใครได้อย่างสนิทใจก็ตาม ควรใช้ใจซื้อใจเพื่อนร่วมงาน พยายามอย่าสร้างศัตรูโดยไม่จำเป็น และต่อให้สนิทกันแค่ไหนก็ไม่ควรเล่าความลับของตัวเองให้ฟัง เพราะอาจจะถูกแบล็กเมล์ภายหลังได้ รวมต้องสังเกตวัฒนธรรมองค์กร นิสัยใจคอของผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานด้วย เพื่อจะได้ปรับตัวให้เข้ากับองค์กร

แม้ว่าสมรภูมิการเมืองในออฟฟิศจะดุเดือดเพียงใด แต่ถ้า “แกร่ง” และมี “คุณธรรม” มากพอ ไม่ว่าอย่างไรก็อยู่รอดได้!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook