6 กลยุทธ์ที่จะช่วยให้คุณ “ผ่านโปร” ได้อย่างฉลุย

6 กลยุทธ์ที่จะช่วยให้คุณ “ผ่านโปร” ได้อย่างฉลุย

6 กลยุทธ์ที่จะช่วยให้คุณ “ผ่านโปร” ได้อย่างฉลุย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในการทำงานที่ใดก็ตาม บริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ จะมีช่วงเวลา “ทดลองงาน” ให้กับพนักงานใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ระยะเวลาจะอยู่ที่ประมาณ 120 วัน หรือ 4 เดือน

บางคนอาจคิดว่าการทดลองงาน (Probation) นั้นไม่ได้สลักสำคัญมากมาย แค่รอเวลาให้พ้นโปรเพื่อรับเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นจากฐานที่กำหนดไว้เท่านั้น แต่ใช่ว่าพนักงานใหม่ทุกคนจะได้รับการว่าจ้างหลังพ้นจากช่วงทดลองงานไปแล้ว เพราะนายจ้างมีสิทธิ์ที่จะประเมินผลงานและเลิกจ้างได้ เพียงแต่ต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า

โดย พรบ.คุ้มครองแรงงาน กำหนดไว้ว่าหากพนักงานถูกเลิกจ้างหลังจากทำงานครบ 120 วัน บริษัทจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานคนนั้นอย่างต่ำ 1 เดือน ดังนั้น ช่วงเวลาทดลองงานจึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการพิสูจน์พนักงานว่าสมควรได้รับการจ้างให้ทำงานต่อหรือไม่
เหตุผลที่ไม่ผ่านทดลองงาน

ผลการศึกษาจาก Leadership IQ พบว่าพนักงานเกือบครึ่ง (46 เปอร์เซ็นต์) ที่ไม่ผ่านการทดลองงานนั้น มีปัจจัยอยู่เพียงไม่กี่อย่าง

  • ทักษะการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลแย่ อาทิ การสื่อสาร, การฟังผู้อื่น, การแก้ปัญหาความขัดแย้ง
  • ไม่ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่น
  • อารมณ์อ่อนไหวเกินไป
  • มีปัญหาควบคุมอารมณ์ในการทำงาน

หากไม่อยากเป็นคนที่ถูกเลิกจ้างก็ต้องพิสูจน์ผลงานของตัวเองให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อที่จะได้รับโอกาสให้ทำงานต่อไป และนี่คือ 6 กลยุทธ์ที่จะช่วยให้คุณผ่านโปรได้อย่างฉลุย โดยไม่ต้องลุ้นแบบใจหายใจคว่ำเมื่อครบกำหนดทดลองงาน

1. อย่ามองข้าม First Impression

การสร้าง First Impression หรือการสร้างความประทับใจตั้งแต่แรกพบเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม การวางตัวในที่ทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากเป็นคนยิ้มแย้ม มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ไม่ถือตัว เพื่อนร่วมงานสามารถเข้าถึงได้ และเป็นคนรักษาเวลา ไม่มาทำงานสายหรือลางานโดยไม่มีเหตุผลที่เหมาะสม ก็จะช่วยทำให้นายจ้างและเพื่อนร่วมงานประทับใจได้

2. วัดความก้าวหน้าของตนเอง

สิ่งแรกที่ควรทำคือทำความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดของงานให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ จากนั้นให้ตั้งเป้าหมายในการทำงานของตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้จดจ่อกับเป้าหมายนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และควรถามฟีดแบ็กจากเพื่อนร่วมงานด้วย เพื่อวัดความก้าวหน้าในการทำงาน และนำมาปรับปรุงผลงานให้ดียิ่งขึ้น

3. สร้างโอกาสให้ผู้อื่นได้เห็นความสามารถ

หากทำงานส่วนที่รับผิดชอบเสร็จแล้ว ก็อาจจะอาสาช่วยงานคนอื่นที่เหมาะกับความสามารถของตนเอง หรือใช้ทักษะความรู้ที่มีอยู่ช่วยพัฒนาระบบการทำงานในทีมให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้เพื่อนร่วมงาน และนายจ้างได้เห็นฝีมือและจุดแข็งที่มีอยู่ของเราได้

4. ผูกมิตรกับเพื่อนร่วมงาน

หากมีเพื่อนร่วมงานคอยสนับสนุนการทำงานของคุณ ก็ช่วยให้การทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่นมากขึ้น และยังช่วยให้คุณมีตัวตนในสายตาคนอื่นด้วย จึงไม่ควรมองข้ามมิตรภาพในที่ทำงานเป็นอันขาด ซึ่งการผูกมิตรกับเพื่อนร่วมงานสามารถทำได้ง่าย ๆ เช่น ไปกินข้าวกลางวัน นั่งดื่มกาแฟด้วยกัน หรือแค่ใช้เวลาพูดคุยทักทายกันเล็กน้อย

5. ตั้งเป้าหมายระยะยาว

การตั้งเป้าหมายในอาชีพแบบระยะยาว คือการสร้างแรงจูงใจที่ได้ผลในการกระตุ้นให้คุณมีความมุ่งมั่นตลอดระยะเวลาที่อยู่ในช่วงทดลองงาน พร้อมทั้งเสริมทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องมีในหน้าที่การงานของคุณ เพื่อจะได้ก้าวไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

6. จัดการกับความตึงเครียด

การทดลองงานย่อมทำให้เกิดความเครียดกับพนักงานใหม่เป็นธรรมดา เนื่องจากต้องปรับตัวและเรียนรู้ทั้งงานใหม่และเพื่อนร่วมงานใหม่ ๆ จึงต้องจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น และพยายามใช้ชีวิตแบบ Work-Life Balance ให้ได้ เพื่อไม่ให้ความเครียดมาบั่นทอนหรือลดประสิทธิภาพการทำงานของเรา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook