ทำความรู้จัก กระทรวงแพทยาคม หรือ กระทรวงเวทมนตร์ ของไทยในอดีต

ทำความรู้จัก กระทรวงแพทยาคม หรือ กระทรวงเวทมนตร์ ของไทยในอดีต

ทำความรู้จัก กระทรวงแพทยาคม หรือ กระทรวงเวทมนตร์ ของไทยในอดีต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รู้กันรึเปล่าว่าในอดีตนั้นประเทศไทยของเรานั้นเคยมีกระทรวงเวทมนตร์นะ แต่ไม่ได้ใช้ชื่อ กระทรวงเวทมนตร์ นะ แต่ในตอนนั้นประเทศไทยเราใช้ชื่อ กระทรวงแพทยาคม หรือบางบันทึกเรียกว่า ศาลกระทรวงแพทยา ซึ่งเป็นกระทรวงที่เกี่ยวกับสอบสวนพิจารณาโทษผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการกระทำทางไสยศาสตร์โดยเฉพาะ

วันนี้ Sanook Campus เราก็จะพาเพื่อนๆ มาทำความรู้จักกับ กระทรวงแพทยาคม หรือ กระทรวงเวทมนตร์ของไทยในอดีตที่ถูกยุบลงไปแล้วในช่วงรัชกาลที่ ๕ มาให้เพื่อนๆ ได้ทำความเข้าใจกันว่า ประเทศของเราเคยมีกระทรวงที่เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่จริงๆ

กระทรวง แพทยาคม คืออะไร?

แพทยาคม นั้นมาจากคำว่า แพทย และ อาคม รวมกัน โดยคำว่า แพทย มีความหมายว่า หมอรักษาโรค ส่วนคำว่า อาคม มีความหมายว่า เวทมนตร์ รวมกันมีความหมายว่า หมอรักษาโรคเกี่ยวกับเวทมนตร์

กระทรวงแพทยาคม ตามประวัติศาสตร์ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเกิดขึ้นสมัยใด แต่ถูกกล่าวถึงในหลายรัชสมัย เช่น พระเจ้าอู่ทอง พระเจ้าทรงธรรม แต่ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม ได้ปรากฏบันทึกว่า กระทรวงแพทยาคม มีไว้เพื่อชำระคดีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับคุณไสย เสน่ห์ยาแฝด ฝังรูปด้วยวิทยาคมเอาไว้ โดย วิทยาคม มาจาก วิทย และ อาคม รวมกัน โดยคำว่า วิทย มีความหมายว่า ความรู้ ส่วนคำว่า อาคม มีความหมายว่า เวทมนตร์ รวมกันจึงมีความหมายว่า ความรู้เกี่ยวกับเวทมนตร์ (ส่วน วิทยาคม ที่เห็นในชื่อโรงเรียนนั้น คำว่า อาคม มีอีกความหมาย คือ การมาถึง ดังนั้น วิทยาคม, พิทยาคม ในชื่อโรงเรียน จึงมีความหมายว่า การมาถึงของความรู้)

กระทรวงแพทยาคม หรือ ศาลกระทรวงแพทยา จะมีผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาคมเป็นตุลาการ มีหน้าที่สอบสวนพิจารณาโทษผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการกระทำทางไสยศาสตร์ เรื่องคุณไสยโดยเฉพาะ โดยจะมีอำนาจหน้าที่พิจารณา ความกล่าวหาว่าเป็นกระสือกระหัง ทำเวทมนตร์อาคม ใส่ว่านยา ทำเสน่ห์ยาแฝดยาเมา รีดลูก โดยผู้เสียหายไม่ถึงตาย หรือคดีพราหมณ์โยคีเป็นโจทก์จำเลยหาความกัน เป็นต้น ถ้าความเกิดในหัวเมือง ขุนหมื่นกรมแพทยาหัวเมือง เป็นผู้พิจารณา

โดย กระทรวงแพทยาคม หรือ ศาลกระทรวงแพทยา มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ตอนต้น จนกระทั่งถูกลดบทบาทและอำนาจจาก ศาลกระทรวงแพทยา เป็น ศาลกรมแพทยา ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๓ ปี ๒๓๘๐ และในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ เกิดการปฏิรูปหลายอย่างในแผ่นดิน หนึ่งในนั้นคือ การปฏิรูปศาล เนื่องจากเกิดวิกฤตทางการศาล และท้ายที่สุด ศาลกรมแพทยา ถูกยุบลง เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๔๓๔ เพราะถูกมองว่าล้าหลัง ไม่ทันสมัย ประกอบกับเวลานั้น รัชกาลที่ ๕ มีนโยบายพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมชาติมหาอำนาจ จึงต้องยกเลิกกระทรวงนี้ไปในที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook