อนุสัญญาเจนีวา ทำความเข้าใจ แกนสำคัญของกฎหมายมนุษยธรรม

อนุสัญญาเจนีวา ทำความเข้าใจ แกนสำคัญของกฎหมายมนุษยธรรม

อนุสัญญาเจนีวา ทำความเข้าใจ แกนสำคัญของกฎหมายมนุษยธรรม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อนุสัญญาเจนีวา หรือ Geneva Conventions คือสนธิสัญญาสี่ฉบับ และพิธีสารสามฉบับที่วางมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้เป็นเหยื่อของสงครามอย่างมีมนุษยธรรม ได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492 และเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2493 มีเป้าหมายให้การสงเคราะห์ทหาร และพลเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม โดยประสานงานใกล้ชิดกับคณะกรรมการกาชาดสากล (ไอซีอาร์ซี)

อนุสัญญาเจนีวานี้เป็นแกนสำคัญของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ อันเป็นตัวบทกฎหมายระหว่างประเทศที่จำกัดวิธีการทำสงครามและการสู้รบ รวมทั้งยังมุ่งจำกัดผลกระทบของความขัดแย้งทางอาวุธอีกด้วย ดังที่ได้กล่าวมา อนุสัญญาทั้งสี่ฉบับนี้จะคุ้มครองผู้ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำสงคราม และผู้ที่ไม่สามารถร่วมในการสู้รบได้อีกต่อไป ตัวอนุสัญญาและ พิธีสารฉบับต่าง ๆ นั้น ระบุถึงมาตรการต่าง ๆ เพื่อที่จะป้องกัน หรือยุติการละเมิดกฎในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีการระบุไว้ในอนุสัญญา ตัวอนุสัญญาจะมีกฎเกณฑ์อันเข้มงวดเพื่อรับมือกับ “การละเมิดกฎอย่างร้ายแรง” ผู้ที่กระทำการละเมิดกฎอย่างร้ายแรงนี้ จะต้องถูกจับกุม ดำเนินคดี หรือดำเนินตามวิธีส่งผู้ร้ายข้ามแดน ไม่ว่าผู้ละเมิดนั้นจะเป็นคนสัญชาติใดก็ตาม

จากการประชุมที่จัดโดยรัฐบาลประเทศสวิตเซอร์แลนด์และประเทศต่าง ๆ ในยุโรปอีก 12 ประเทศในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2507ข้อตกลงที่ประชุมได้รับการร่างและลงนามโดยประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้น ซึ่งเราเรียกข้อตกลงนี้ว่า อนุสัญญาเจนีวา เป็นอนุสัญญาฉบับแรก ซึ่งมีสาระสำคัญว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้บาดเจ็บจากสนามรบ ซึ่งอนุสัญญานี้ได้รับการแก้ไขปรับปรุงจากการประชุมระหว่างประเทศในเวลาต่อมา การแก้ไขปรับปรุงครั้ง ล่าสุด คือการประชุมในปี พ.ศ. 2492 และได้ตกลงประกาศเป็นอนุสัญญาเจนีวาจำนวน 4 ฉบับ ได้ลงนามกันในปี พ.ศ. 2492 โดยมีหลักการมูลฐานสำคัญ 3 ประการ คือ มนุษยธรรม ความเสมอภาค และ ความไม่ลำเอียง และอนุสัญญาทั้ง 4 ฉบับมีสาระสำคัญโดยสังเขปดังนี้

page1-428px-geneva_convention

อนุสัญญาฉบับที่ 1 ว่าด้วยการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วยในกองทัพที่อยู่ในสนามรบให้มี สภาพดีขึ้น

อนุสัญญาฉบับที่ 2 ว่าด้วยการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วยและลูกเรือที่อับปางของกอง กำลังรบในทะเล ให้มีสภาพดีขึ้น

อนุสัญญาฉบับที่ 3 ว่าด้วยการปฏิบัติต่อเชลยศึก

อนุสัญญาฉบับที่ 4 ว่าด้วยการปกป้องคุ้มครองบุคคลพลเรือนในระหว่างสงคราม หรือการขัดแย้งทางกำลังทหารประเทศต่าง ๆ ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญานี้ ดังนี้

  • การรักษาพยาบาล แก่เพื่อนและศัตรูโดยเท่าเทียมกัน
  • เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เกียรติของมนุษย์ สิทธิในครอบครัว ในการนับถือศาสนาและเกียรติของสตรี
  • ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ไปเยี่ยมนักโทษสงคราม และประชาชนที่อยู่ในค่ายกักกัน โดยพูดกับผู้ถูกกักขังอย่างไม่มีพยานร่วมรับรู้
  • ห้ามการกระทำที่ไม่มีมนุษยธรรม การทรมาน การประหารชีวิต การเนรเทศ จับตัวประกัน สอบสวนหมู่การกระทำที่รุนแรงและทำลายทรัพย์สินส่วนตัวอย่างไม่ปรานี

นอกจากนี้ อนุสัญญาเจนีวาฉบับนี้ ยังได้กล่าวถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับการคุ้มครองพลเรือนให้พ้นจากภัยสงครามระหว่างประเทศและคุ้มครองแก่พวกกบฏให้พ้นจากการถูกทรมานในกรณีเกิดสงครามกลางเมืองภายในประเทศ รวมทั้งมีสาระอื่น ๆ อีก เช่น เงื่อนไขการลงโทษเพื่อคุ้มครองผู้ถูกต้องโทษ และการส่งตัวนักโทษสงครามกลับสู่ประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตน เป็นต้น

การลงนามเข้าร่วมของไทย

ประเทศไทยก็เป็นภาคีในสนธิสัญญาเจนีวาด้วย และ ได้ออกกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวาด้วย นั่นคือ พระราชบัญญัติ บังคับการให้เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึก พ.ศ. 2498 โดยมีเนื้อหาอันเป็นการช่วยคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่เชลยศึก อันจะเห็นได้ในบทบัญญัติ ในส่วนความผิดที่กระทำต่อ เชลยศึก

  • มาตรา ๑๒ ผู้ใดกระทำการทดลองชนิดใดๆ แก่เชลยศึกในทางแพทย์ทางชีววิทยา หรือทางวิทยาศาสตร์ อันไม่เป็นการสมควรแก่เหตุในการรักษาพยาบาลเชลยศึกนั้น มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามพันห้าร้อยบาท และจำคุกไม่เกินเจ็ดปี
  • มาตรา ๑๓ ผู้ใดขู่เข็ญ ดูหมิ่น หรือกระทำให้เชลยศึกได้รับความอัปยศหรืออปมานในตัวตนและเกียรติยศ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
  • มาตรา ๑๔ ผู้ใดทรมานร่างกายหรือจิตใจหรือบังคับเชลยศึกด้วยประการใดๆ เพื่อจะได้มาซึ่งข้อความใดๆ จากเชลยศึก หรือคุกคาม ดูหมิ่น หรือให้ได้รับผลปฏิบัติใดอันเป็นที่เดือดร้อนรำคาญ หรือเสื่อมเสียประโยชน์ไม่ว่าประการใดๆ ในกรณีที่เชลยศึกไม่ยอมให้คำตอบมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
  • มาตรา ๑๕ ผู้ใดบังคับเชลยศึกให้เข้าประจำการในกองทหารศัตรูของเชลยศึกมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
  • มาตรา ๑๖ ผู้ใดกระทำการใดๆ เพื่อให้เชลยศึกมิได้รับการพิจารณาคดีโดยเที่ยงธรรมหรือตามระเบียบที่กำหนดไว้ในอนุสัญญา มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
  • มาตรา ๑๗ ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัตินี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามพันห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook