ไขปริศนา อยู่ในห้องแอร์เย็น ๆ ทำไมจึง “ปวดฉี่” บ่อย

ไขปริศนา อยู่ในห้องแอร์เย็น ๆ ทำไมจึง “ปวดฉี่” บ่อย

ไขปริศนา อยู่ในห้องแอร์เย็น ๆ ทำไมจึง “ปวดฉี่” บ่อย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนน่าจะเคยเป็น เวลาที่ฝนตก อากาศเย็น ช่วงฤดูหนาว หรือแม้แต่เวลานั่งอยู่ในห้องแอร์หนาว ๆ แทบทั้งวัน แล้วจะมีอาการปวดฉี่บ่อย บางคนคิดว่าตัวเองคิดไปเอง บางคนก็มั่นใจหนักแน่นว่าอากาศเย็น ๆ นี่แหละที่ทำให้เราปวดฉี่บ่อย แต่อาจอธิบายไม่ได้ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ร่างกายของเราทำงานอย่างไร Tonkit360 จะมาอธิบายให้ฟัง

อาการปวดฉี่บ่อย (เมื่ออากาศเย็น) เป็นภาวะปกติของร่างกายที่เรียกว่า “Cold diuresis” เนื่องจากเวลาที่อากาศเย็น ร่างกายคนเราจะพยายามปรับอุณหภูมิร่างกายให้คงที่ ด้วยกระบวนการรักษาความอบอุ่นแก่ร่างกาย

มนุษย์เป็นสัตว์เลือดอุ่น เวลาที่เจอสภาพอากาศเย็นหรือหนาว ร่างกายก็จะเข้าสู่โหมดปรับตัวเพื่อรักษาความอบอุ่นไว้ ด้วยวิธีการปรับให้หลอดเลือดที่ผิวหนังหดตัวเล็กลง ร่างกายจะลดการไหลเวียนเลือดไปบริเวณแขนขา โดยเฉพาะนิ้วมือและนิ้วเท้า ซึ่งเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบจากความเย็นภายนอกมากที่สุด (นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงรู้สึกมือเย็นเท้าเย็นกว่าบริเวณอื่นเมื่อรู้สึกหนาว)

เมื่อหลอดเลือดหดเล็กลง จะส่งผลให้ความดันเลือดสูงขึ้น (ปริมาณเลือดเท่าเดิม แต่เส้นเลือดที่เลือดจะไหลผ่านนั้นมันเล็กลง) ร่างกายก็เลยต้องปรับให้ความดันเลือดกลับมาเป็นปกติด้วยเหมือนกัน เพื่อควบคุมความดันเลือดให้เป็นปกติ ไต ซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่รักษาความสมดุลของน้ำจะกรองเอาของเหลวส่วนเกินออกจากเลือด ของเหลวเหล่านั้นจะถูกส่งไปยังกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งถ้ากระเพาะปัสสาวะเต็ม เราก็จะรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น

อีกทั้งธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ร่างกายจะมีการขับของเสียออกมาอยู่ตลอดเวลาในรูปของเหงื่อ ปัสสาวะ อุจจาระ แต่เวลาที่อากาศเย็น ร่างกายจะแทบไม่ได้ขับเหงื่อออกมาเลย ร่างกายจึงต้องหาทางขับของเสียออกทางอื่น หรือก็คือทางปัสสาวะ เราจึงรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยขึ้นในสภาพอากาศเย็น ๆ

ดังนั้น เมื่อต้องอยู่ในห้องแอร์นาน ๆ ก็ควรจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ และไม่ควรอั้นฉี่เอาไว้ เพราะอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ รวมถึงการปัสสาวะออกทันทีก็จะช่วยรักษาความอบอุ่นได้ ดังนั้น การปวดฉี่บ่อยเวลาที่อากาศเย็นจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ถ้ามีอาการอื่นร่วม เช่น ปวดท้องน้อย ปัสสาวะแสบขัด ควรไปพบแพทย์ให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยต่อไปจะดีที่สุด เพราะมันอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ ก็ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook