ไขปริศนาไอยคุปต์ กับ 7 เทพเจ้าอียิปต์โบราณ ที่จะทำให้ประวัติศาสตร์อียิปต์สนุกยิ่งขึ้น

ไขปริศนาไอยคุปต์ กับ 7 เทพเจ้าอียิปต์โบราณ ที่จะทำให้ประวัติศาสตร์อียิปต์สนุกยิ่งขึ้น

ไขปริศนาไอยคุปต์ กับ 7 เทพเจ้าอียิปต์โบราณ ที่จะทำให้ประวัติศาสตร์อียิปต์สนุกยิ่งขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปริศนาไอยคุปต์มีมนต์ขลังเสมอ เพราะไม่ว่าจะผ่านมากี่พันปี แม้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจะก้าวไปไกลเพียงใด แต่ความลับของดินแดนอียิปต์โบราณแห่งลุ่มน้ำไนล์ก็ยังไม่ถูกเปิดเผยเสียหมด หลายความเชื่อและตำนานยังคงถูกส่งต่อ คลุมเครือ และบ้างก็ยังไม่ได้รับการไขคำตอบ เช่นเดียวกับตำนานแห่ง “เทพเจ้าอียิปต์โบราณ” ที่เกี่ยวเนื่องกับการสร้างโลกและการปกครองโลกหลังความตาย

ในอียิปต์โบราณนั้นมีความเชื่อเรื่องเทพเจ้าอวตารมายังโลกมนุษย์คลับคล้ายกับความเชื่อแบบฮินดูของชาวอินเดีย เช่น “เทพโอซิริส” อวตารลงมาเป็นมนุษย์และเป็นกษัตริย์ปกครองอียิปต์จนรุ่งเรืองร่มเย็น แต่ถูก “เทพเซธ” น้องชายขี้อิจฉาทำอุบายฆ่าและตามไปหั่นศพทิ้งทั่วอียิปต์ ส่วนเทพองค์สุดท้ายที่อวตารมาเป็นมนุษย์ปกครองอียิปต์คือ “เทพฮอรัส” ซึ่งทำสงครามยาวนานกับ “เทพเซธ” เพื่อกู้อาณาจักรอียิปต์ และหลังสิ้นสุดยุครุ่งเรืองของเทพฮอรัส บรรดาทวยเทพก็ปล่อยให้มนุษย์ปกครองอียิปต์กันเอง

Sarakadee Lite ขอชวนตีตั๋วท่อง “อียิปต์โบราณ” ย้อนเวลาไปราว 5,000 ปีก่อนกับเรื่องราวของ 7 เทพเจ้าองค์สำคัญที่จะทำให้ประวัติศาสตร์อียิปต์สนุกยิ่งขึ้น

169478626_481240393320320_762

เทพเจ้ารา (Ra/Re)

ลักษณะเด่น : ศีรษะเป็นเหยี่ยว มีสัญลักษณ์รูปดวงอาทิตย์อยู่เหนือศีรษะ

ความหมาย : เทพแห่งความเป็นอมตะ

บทบาท : เทพเจ้ารา หรือ เร ถือเป็นสุริยเทพ หรือเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ เป็นเทพสูงสุดอียิปต์ อียิปต์โบราณเชื่อว่า ฟาโรห์ เจ้าผู้ปกครองอาณาจักร เป็นโอรสแห่งสุริยเทพที่ถูกส่งลงมาปกครองโลกมนุษย์ เทพเจ้าราเป็นตัวแทนแห่งการฟื้นคืนชีพ เสมือนพระอาทิตย์ที่ขึ้นใหม่ในทุกเช้าของชีวิตบนโลกมนุษย์

ตำนาน : การบูชาเทพเจ้าเร หรือ เทพเจ้ารา ปรากฏหลักฐานเก่าแก่ที่สุดในยุคราชวงศ์ที่ 2 แห่งอาณาจักรเก่า ต่อมาในยุคราชวงศ์ที่ 5 จึงค่อยปรากฏความเชื่อที่เชื่อมโยงกับฟาโรห์ กล่าวว่าฟาโรห์เป็นโอรสของเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์หรือ เทพเจ้ารา ส่งผลให้ชื่อของฟาโรห์ทุกพระองค์จะมีคำว่า เร หรือ รา ผสมอยู่

เทพรา เป็นเทพเจ้าที่ได้รับการบูชาในสมัยอาณาจักรเก่า ก่อนที่ชาวอียิปต์จะหันมาบูชา เทพอามุน-รา (Amon-Ra) ในยุคอาณาจักรกลาง ซึ่งเทพเจ้าอามุน-รา เป็นการรวมเทพอามุน (Amun) เทพแห่งเมืองธีบส์ เมืองหลวงของอาณาจักรอียิปต์ยุคกลาง กับเทพรา มารวมเป็นเทพองค์เดียวกัน

แต่เมื่อการบูชาเทพเจ้าอามุนต้องผ่านนักบวช จนนักบวชมีอิทธิพลร่ำรวยและมีอำนาจมากกว่าฟาโรห์ ต่อมาในยุคอาณาจักรใหม่ ฝ่ายฟาโรห์จึงยกเทพเจ้าราขึ้นสูงสุด และปลูกฝังความเชื่อว่าฟาโรห์สืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์โดยเฉพาะในยุคของฟาโรห์ทุตโมซิส (Thuthmosis) และ ฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 3 (Amenhotep III) ต่อมาฟาโรห์แอเคนาเทน (Akhenaten) ก็ได้หันมาบูชาเทพเจ้าแห่งแสงอาทิตย์ ในชื่อของเทพเจ้าอาเทน (Aten) เป็นเทพสูงสุดองค์เดียวและยกเลิกการบูชาเทพอามุน หรือเทพอามุน-รา โดยสิ้นเชิง และการบูชาเทพเรหรือเทพรา ก็รุ่งเรืองอย่างที่สุดในยุคอาณาจักรใหม่นี่เอง

วิหารบูชาเทพเจ้ารา : มีในสมัยอาณาจักรเก่า และพบหลักฐานภายในวิหารอาบูซิมเบล ที่สร้างหลายสมัยจนเสร็จสิ้นในสมัยฟาโรห์รามเสสที่ 2 เป็นวิหารบูชาเทพอามุน-รา แต่ในห้องศักดิ์สิทธิ์ชั้นใน มีทั้งรูปปั้นเทพเจ้ารา หรือเรียกว่า ราแห่งเฮียราโพลิส และเทพอามุน-ราอยู่ด้วย

ภายในสุสานฟาโรห์แห่งสมัยอาณาจักรใหม่ที่ตั้งอยู่ใน หุบผากษัตริย์ (Valley of the Kings) มักจะมีภาพสลักและภาพวาด เล่าเรื่องราวการเดินทาง 12 ชั่วโมงหรือ 12 ยาม ในโลกแห่งความตาย เล่าถึงการเสียชีวิตในยามที่ 5 ก่อนจะได้รวมตัวกับเทพโอซิริสในดินแดนแห่งความตายนั้น และกลับมาฟื้นคืนชีพเป็นแมลงทับ หรือ สคารับ (Scarabหรือ Khepri) ในชั่วโมงสุดท้าย

ในสมัยราชวงศ์ทอโลมีของชาวกรีกที่เข้ามาสถาปนาราชวงศ์ปกครองอียิปต์ยุคหลังพระเจ้าอเล็กซานเดอร์พิชิตอียิปต์ ก็ยังบูชาเทพเจ้ารา แต่เมื่อราชวงศ์นี้สิ้นสุดลงในยุคของพระนางคลีโอพัตรา ความเชื่อและการบูชาเทพราก็เสื่อมไปด้วย

169352992_481240543320305_381

เทพีไอซิส (Isis)

ลักษณะเด่น : รูปร่างเป็นสตรี สวมหมวกเป็นรูปบัลลังก์ (มีทั้งรูปเก้าอี้บัลลังก์บนศีรษะ บ้างก็เป็นวงกลมคือดวงอาทิตย์อยู่กลางเขาวัว)

ความหมาย : เทพีแห่งเวทมนตร์
บทบาท: เป็นเทพีผู้ปกป้องกษัตริย์อียิปต์และพระโอรส “ฮอรัส”เปรียบเสมือนเทพีแห่งมารดาผู้มีพลังในการเยียวยารักษา

ตำนาน : ธิดาของเทพรา มเหสีเทพโอซิริส อียิปต์เคยมีความเชื่อเรื่องเทพอวตารมาปกครองโลกมนุษย์ โดยเทพีไอซิส อวตารมาเป็นมนุษย์และเป็นน้องสาวแท้ๆ ของเทพโอซิริสในภาคมนุษย์ ทั้งสองครองคู่กันปกครองอาณาจักรอียิปต์เจริญรุ่งเรือง และมีพระโอรสคือ เทพฮอรัส ผู้เป็นเทพอวตารมาเช่นกัน

วีรกรรมของเทพีไอซิสภาคมนุษย์ คือการตามกอบกู้ร่างพระสวามี เทพโอซิริสภาคกษัตริย์อียิปต์ที่ถูกน้องชาย (เทพเซธ) ล่อลวงฆ่าถ่วงน้ำแถมตามสับร่างเป็นชิ้นเพื่อโค่นอำนาจแย่งราชบัลลังก์ ก่อนจะนำร่างของเทพโอซิริสในตอนเป็นกษัตริย์อียิปต์กลับมาประกอบพิธีกรรมเพื่อส่งวิญญานของโอซิริสเข้าสู่ดินแดนมรณะหลังความตาย และเทพโอซิริสก็กลายเป็นราชันหลังความตายผู้ทำหน้าที่พิพากษาความดี-ความชั่วของมนุษย์ ส่งมนุษย์ที่ตายแล้วไปสู่ดินแดนชีวิตนิรันดร์

ในภาพวาดที่เล่าเรื่องชีวิตหลังความตายตามความเชื่อของอียิปต์ เทพีไอซิส เป็นผู้รอรับร่างคนตายต่อจากเทพอนูบิส และพาร่างนั้นขึ้นเรือล่องข้ามแม่น้ำไปสู่ดินแดนมรณะ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิพากษา ที่เทพโอซิริสจะจับหัวใจของคนตายรายนั้นชั่งตวงเทียบกับขนนก ถ้าหัวใจคนนั้นเบากว่าขนนก ก็จะได้สิทธิฟื้นคืนชีพ วิญญาณกลับเข้าร่าง และได้อยู่ในดินแดนชีวิตนิรันดร์

วิหารบูชาเทพไอซิส : วิหารที่ถูกสร้างอุทิศให้แก่เทพไอซิส คือ วิหารฟิเล (Philae) ซึ่งเคยถูกจมน้ำ หลังจากอียิปต์สร้างเขื่อนอัสวาน (เขื่อนกักน้ำแห่งแรกของโลก) ต่อมาวิหารฟิเลถูกรื้อไปสร้างใหม่ที่เกาะฟิเล

169511387_481240476653645_343

เทพเจ้าโอซิริส (Osiris)

ลักษณะเด่น : รูปร่างเป็นมนุษย์มีเครา ถือแส้และคฑาหัวขอ

ความหมาย : เทพแห่งแม่น้ำไนล์

บทบาท : เป็นผู้พิพากษา ดวงวิญญาณของมนุษย์หลังความตายว่าใครจะได้ขึ้นสวรรค์-ขั้นตอนการพิพากษา จะนำก้อนเนื้อหัวใจของผู้ตายที่ติดอยู่ในร่างมัมมี่นั้น (ในการทำมัมมี่อวัยวะภายในที่ไม่ถูกดูดออกคือหัวใจ) มาชั่งบนตาชั่ง เทียบกับ น้ำหนักของขนนกหากหัวใจเบากว่าขนนก ถือว่าคนนั้นเป็นคนดี สมควรได้ขึ้นสวรรค์ หรือ เป็นการฟื้นคืนชีพ เกิดใหม่ในดินแดนที่ชีวิตเป็นนิรันดร์

ตำนาน : เทพโอซิริสเป็นเทพเจ้าที่อวตารลงมาเป็นมนุษย์และได้เป็นกษัตริย์ปกครองอียิปต์และมีพระชายาคือ เทพีไอซิส ซึ่งเป็นน้องสาวแท้ๆ ทั้งคู่ให้กำเนิดเทพฮอรัส ในยุคสมัยของโอซิริสปกครองอียิปต์บนผืนโลกนั้น มีความรุ่งเรืองร่มเย็น ทำให้น้องชายแท้ๆ ชื่อ เทพเซธ เกิดความอิจฉาริษยา และวางแผนกำจัดพี่ชาย ด้วยการออกอุบายให้จัดงานเลี้ยงและล่อลวงเทพโอซิริสให้ลงไปนอนในโลงศพ และปิดฝาโลงเอาไปถ่วงแม่น้ำไนล์ ก่อนที่เทพเซธจะสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นกษัตริย์อียิปต์องค์ใหม่
ส่วนเทพีไอซิส พระชายาได้ออกตามหาพระศพของเทพโอซิริสเพราะเชื่อว่าหากไม่มีการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ ดวงวิญญาณของเทพโอซิริสภาคอวตารเป็นกษัตริย์นี้จะไม่ได้ขึ้นสวรรค์ในที่สุดเทพีไอซิสก็ตามหาโลงศพของโอซิริสพลที่เมืองบิบลอส (ปัจจุบันคือเลบานอน) แต่เทพเซธก็ตามล่าล้างบางเช่นกัน และจับร่างโอซิริสหั่นเป็น 14 ชิ้น และเอาไปโยนทิ้งทั่วอียิปต์ เทพีไอซิสยังตามไปเก็บชิ้นส่วนร่างเหล่านั้นกลับมาจนครบ แม้จะใช้เวลาหลายปีขาดเพียงชิ้นส่วนอวัยวะเพศ ที่ถูกทิ้งแม้น้ำไนล์และถูกปลากัดกิน

เมื่อนำชิ้นส่วน 13 ชิ้นของกษัตริย์โอซิริมาประกอบพิธีกรรม และเทพีไอซิสร่ายพระเวทย์เรียกอวัยวะเพศกลับมาใหม่จนครบ 14 ชิ้นแล้ว ได้มีการประกอบพิธีฝังศพบนเกาะฟิเล ซึ่งถือเป็นเกาะศักด์สิทธิ์ ส่งให้ดวงวิญญาณของกษัตริย์เข้าสู่แดนมรณะ และกลายเป็นเทพเจ้าผู้ทำหน้าที่ตัดสินการกลับคืนฟื้นชีพของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม หลังยุคของกษัตริย์โอซิริสและเทพีไอซิสแล้ว เทพเจ้าที่อวตารลงมาเป็นกษัตริย์อียิปต์คนต่อมาคือ เทพฮอรัส ซึ่งได้กอบกู้อาณาจักรคืนจากเทพเซธ

หลักฐานการบูชาเทพโอซิริส : มีภาพวาดสีภายในสุสานของฟาโรห์ทุตโมซิสที่ 4 มีเทพโอซิริสใส่ชุดขาว และอนูบิส เทพแห่งความตาย (ซึ่งมีศีรษะเป็นรูปสุนัขและร่างกายเหมือนคน)มารับฟาโรห์ไปสู่ปรโลกและมีภาพสลักเทพโอซิริสบนฝาโลงศพชั้นในสุดที่ทำด้วยทองคำแท้หนักกว่า 100 กิโลกรัม ของฟาโรห์ตุตันคาเมน -ตำนานของเทพโอซิริสและครอบครัว (เทพไอซิสและเทพฮอรัส) เป็นตำนานยอดนิยม ถูกนำมาทำเป็นรูปปั้นและภาพวาดของที่ระลึกวางขายให้นักท่องเที่ยวที่มาอียิปต์ยุคศตวรรษที่ 21

169331619_481240453320314_442

เทพีฮาเธอร์ (Hathor)

ลักษณะเด่น : รูปร่างเป็นสตรี บนศีรษะมีเขาวัวและดวงอาทิตย์อยู่ตรงกลาง (มีความคล้ายกับเทพีไอซิส)

ความหมาย : เทพแห่งความรัก ความเป็นแม่ ศิลปะและดนตรี

บทบาท : เทพแห่งความรัก ความเป็นแม่ และเป็นเทพีแห่งสตรีทั้งมวล เป็นเทพแห่งการเจริญพันธุ์และการให้กำเนิด รวมทั้งเรื่องสุขภาพ ความงาม โดยมีนักบวชที่บูชาเทพฮาเธอร์มีทั้งนักบวชชายและหญิงมีงานเทศกาลต่างๆ ที่เฉลิมฉลองเพื่อบูชาเทพฮาเธอร์ อีกทั้งยังเป็นเทพผู้คุ้มครองฟาโรห์

ตำนาน : หนึ่งในเทพเก่าแก่ที่อยู่คู่ชาวไอยคุปต์มานาน เทพราสร้างเทพีฮาเธอร์มาจากน้ำตาของพระองค์ การบูชาเทพฮาเธอร์ปรากฏมาตั้งแต่ในสมัยอาณาจักรเก่า หรือยุคที่แผ่นดินอียิปต์รวมกันและมีฟาโรห์เป็นเจ้าปกครองอาณาจักรเป็นครั้งแรก เมื่อราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ให้การเคารพบูชาเทพฮาเธอร์ในฐานะเทพของอียิปต์บน (เทพอียิปต์ล่างคือ บาสต์) และยังได้รับการเคารพบูชาเรื่อยมาจนถึงสมัยราชวงศ์ทอเลมีปกครองอียิปต์ ยุคสุดท้ายการมีฟาโรห์ เทพฮาเธอร์ เป็นเทพแห่งเดือน เฮทารา (Hethara) เดือนที่ 3 แห่งปีตามปฏิทินอียิปต์

170535392_481245053319854_121

เทพเจ้าอนูบิส (Anubis)

ลักษณะเด่น : ศีรษะเป็นหมาในสีดำ ร่างกายเป็นมนุษย์ผู้ชาย

ความหมาย : เทพแห่งความตาย เจ้าแห่งดินแดนศักดิ์สิทธิ์

บทบาท : ต้อนรับผู้ตายและปกป้องร่างกายไม่ให้เน่าเปื่อย เป็นเทพองค์แรกที่มนุษย์จะได้พบหลังความตาย

ตำนาน : เดิมทีอนูบิสเป็นเทพที่เกี่ยวกับความตายเฉพาะในส่วนของฟาโรห์เท่านั้น ต่อมาจึงเป็นเทพที่ดูแลโลกหลังความตายของชาวไอยคุปต์ทั่วไปด้วย และในภาพสลักเกี่ยวกับการทำมัมมี่ก็มักจะมีรูปเทพอนูบิสเป็นผู้ทำหน้าที่ดองศพทำมัมมี่แต่อันที่จริงหน้าที่หลักของเทพอนูบิส คือต้อนรับผู้ตาย เข้าสู่โลกหลังความตาย และการดูแลรักษาศพไม่ให้เน่าเปื่อย ก่อนที่จะส่งต่อร่างนั้นให้เทพไอซิส ซึ่งจะพาร่างคนตายนั่งเรือข้ามแม่น้ำไปสู่แดนมรณะ เพื่อพบกับเทพเจ้าโอซิริส ผู้พิพากษาว่าวิญญาณของใครจะขึ้นสู่สวรรค์

ภาพวาดเทพอนูบิสจะปรากฏอยู่ในภาพวาดเล่าเรื่องชีวิตหลังความตาย ทั้งในสุสานของฟาโรห์ ที่หุบผากษัตริย์ และในภาพวาดบนกระดาษปาปิรุส ชื่อ Hunefer, Book of the Dead ซึ่งพบหลักฐานในเมืองธีบส์ อียิปต์ วาดช่วง 1,290 ปีก่อนคริสตกาลปัจจุบันเป็นคอลเลกชันที่ตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์บริทิช พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของอังกฤษ ปัจจุบัน

169378225_481245003319859_484

เทพเจ้าฮอรัส (Horus)

ลักษณะเด่น : ศีรษะเป็นเหยี่ยวร่างกายเป็นมนุษย์ผู้ชาย ดวงตาข้างซ้ายคือดวงสุริยะ ดวงตาข้างขวาคือดวงจันทร์

ความหมาย : เทพเจ้าแห่งท้องฟ้า ตามพระนามแปลว่า เทพผู้อยู่เบื้องบน

บทบาท : ตัวแทนองค์ฟาโรห์ เชื่อมโยงถึงกษัตริย์ และมีความเชื่อว่าเป็นผู้กอบกู้อาณาจักรอียิปต์จากอธรรมในยุคเทพเจ้าปกครอง

ตำนาน : มีตำนานที่เล่าว่า กษัตริย์ผู้ปกครองอียิปต์ในสมัยดึกดำบรรพ์ (ก่อนเกิดอาณาจักรอียิปต์โบราณเมื่อ 5,000 ปีมาแล้ว) เป็นเทพเจ้า และเทพฮอรัสเป็นเทพองค์สุดท้ายที่อวตารมาเป็นมนุษย์ปกครองอียิปต์ช่วยกู้อาณาจักรอียิปต์จากเทพเซธ ผู้มีศักดิ์เป็นอา (น้องชายเทพโอสิริสภาคอวตาร พระบิดาของเทพฮอรัส) แย่งราชบัลลังก์ เทพฮอรัสกู้อียิปต์คืนจากเทพเซธได้และปกครองอียิปต์เจริญรุ่งเรือง เมื่อสิ้นสุดการปกครองของเทพฮอรัส บรรดาทวยเทพก็ปล่อยให้มนุษย์ปกครองอียิปต์กันเอง

วิหารบูชาเทพฮอรัส : วิหารฮอรัสเป็นวิหารที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในอียิปต์ สร้างสมัยราชวงศ์ทอเลมีที่ 3 ยุคสุดท้ายของอาณาจักรอียิปต์ ช่วงราว 237 ปีก่อนคริสตกาล (ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ทอเลมี คือนายพลปโตเลมี ชาวกรีกหลังกองทัพพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชของกรีกยึดอียิปต์ได้สำเร็จ พระนางคลีโอพัตราผู้โด่งดังเป็นฟาโรห์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ทอเลมี และอาณาจักรอียิปต์)

169262913_481245173319842_693

เทพอามอน/อามุน/อมุน (Amon/Amun/Amen)

ลักษณะเด่น : ศีรษะเป็นมนุษย์ สวมกระโปรงแบบฟาโรห์และสวมหมวกมงกุฎขนนกคู่

ความหมาย : จอมราชันแห่งปวงเทพ

บทบาท : เทพสูงสุดของทวยเทพอียิปต์ทั้งมวล ตามประวัติบอกว่าเทพอามุนได้รับการเคารพบูชาในอาณาจักรโบราณและขยายไปถึงดินแดนเอธิโอเปีย นิวเบีย ลิเบีย และปาเลสไตน์ ทั้งยังเป็นเทพแห่งสุริยะและสายลม

ตำนาน : หนึ่งในแปดเทพเจ้าสำคัญยุคอียิปต์โบราณที่มีชื่อจารึกอยู่ในคัมภีร์ Pyramid Texts ทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นจอมราชันแห่งปวงเทพที่เกี่ยวเนื่องกับตำนานการสร้างโลก (เมือง Hermopolite)

เทพอามุนถือเป็นเทพประจำเมืองหลวงของอาณาจักรอียิปต์โบราณ ยุคอาณาจักรใหม่นั่นก็คือ “เมืองธีบส์”มีพระมเหสีคือ เทพีอมุเนต (Amunet)แต่พออีกยุคสมัยที่เทพอามุนถูกนำมารวมกับเทพราเป็น อามุน-รา และได้รับการยกย่องจากชาวกรีกให้เทียบเท่าเทพซุส

วิหารบูชาเทพอามุน : เทพอามุนเป็นมหาเทพที่มีมหาวิหารใหญ่โตที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างมา ได้แก่

  • มหาวิหารคาร์นัค (Karnak) และลักซอร์ (Luxor)ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไนล์ สร้างเพื่อบูชาเทพอามุนมีถนนสฟิงซ์เชื่อมวิหารทั้งสองหลัง ความยาวเกือบ 3 กิโลเมตร มหาวิหารคาร์นัคถือเป็นวิหารเทพเจ้าที่ใหญ่โตที่สุดในโลกที่มนุษย์เคยสร้างมามีป้อมปราการหนาทึบสูงเกือบเท่าตึก 20 ชั้น หนาหลายสิบฟุต และเสาหินหนาสูงใหญ่ทั้งหมด 10 เสา ภายในมีวิหารเล็กซ้อนอยู่ข้างในอีกหลายแห่งวิหารคาร์นัคสร้างสืบต่อกันมาหลายสมัย เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในสมัยของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ซึ่งมีรูปปั้นของรามเสสที่ 2 ขนาดมหึมา ยืนอยู่ปากทางเข้าวิหารเทพอามุน-ราและภายในมีภาพสีนูนสูงนูนต่ำ เล่าเรื่องราวทวยเทพของอียิปต์ รวมทั้งรูปฟาโรห์รามเสสที่ 3 บนรถศึกกำลังทำสงครามกับศัตรู ความใหญ่โต เฉพาะห้องโถงภายในมหาวิหารคาร์นัคใหญ่เทียบเท่ากับโบสถ์เซนต์ปอลในลอนดอนรวมกับโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ในโรม
  • วิหารอาบูซิมเบลตั้งอยู่ที่เมืองอัสวาน เป็นเทวสถานแห่งเดียวที่ไม่จมอยู่ใต้เขื่อนอัสวานเป็นวิหารบูชาเทพสูงสุดอามุน-รา สร้างสมัยฟาโรห์รามเสสที่ 2 เป็นวิหารที่เจาะเข้าไปในภูเขาหินทราย ด้านหน้าแกะสลักผาหินเป็นรูปฟาโรห์รามเสสที่ 2 ในท่านั่ง 4 รูป ตรงปากทางเข้าห้องเล็กๆ ด้านในสุดของวิหารอาบูซิมเบล เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด มีรูปปั้นเทพอามุน-รา และเทพอีก 2 องค์ คือเทพทาห์แห่งเมมฟิส เทพรา-ฮอรัคตี แห่งเฮลิโอโปลิส (Heliopolis)และฟาโรห์รามเสสที่ 2
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook