รับมือคำวิจารณ์ด้านลบอย่างไรให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง

รับมือคำวิจารณ์ด้านลบอย่างไรให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง

รับมือคำวิจารณ์ด้านลบอย่างไรให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เวลาที่เราต้องอยู่ร่วมกันกับผู้คนในสังคม บ่อยครั้งที่เราก็ไม่รู้ตัวเองว่าสิ่งที่เราทำนั้นมันดีหรือไม่ดี และเมื่อไม่รู้ เราก็จะทำสิ่งนั้นไปเรื่อย ๆ อย่างไม่รู้ตัว แต่ในขณะเดียวกัน คนอื่น ๆ รอบข้างที่เขาสัมผัสได้ เขาก็จะมองเราไม่ดี จนอาจมีคำถามในใจว่า “เขาโตมาแบบไหน” หรือ “ไม่มีคนเตือนเขาเลยเหรอ” สุดท้ายแล้วเราก็อาจจะกลายเป็นคนที่ไม่พึงปรารถนาในสังคมนั้น ๆ ไปได้

นั่นอาจทำให้เราอยากจะได้กระจกที่สะท้อนตัวเราอีกด้านว่ามุมที่เรามองไม่เห็นตัวเองนั้นเป็นเช่นไร ทำไมถึงเข้ากับคนอื่นไม่ได้ เราพลาดที่ตรงไหน สิ่งที่สะท้อนได้ดีที่สุดก็คือ คนใกล้ตัวที่กล้าจะพูดอย่างตรงไปตรงมาด้วยความจริงใจ เพื่อหวังว่าเราจะนำไปปรับปรุงเป็นคนที่ดีขึ้นได้ กระนั้นก็ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างในด้านลบจะเก็บกลับมาแก้ไขได้ บางอย่างก็ไม่ได้มีประโยชน์ที่จะเก็บมาคิดให้หนักใจ

อย่างไรก็ดี การที่คนอื่นมาวิจารณ์ตัวเราในด้านลบนั้น ไม่ใช่แค่การเปิดใจโดยปราศจากอคติเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณาด้วย ไตร่ตรองดูว่าความคิดเห็นในเชิงลบนั้นสร้างสรรค์ สามารถนำมาแก้ปัญหาได้หรือไม่ เพราะในบางครั้ง ความเห็นเชิงลบก็มุ่งแต่จะให้ร้ายเพียงอย่างเดียว ไม่สร้างสรรค์ สร้างความแตกแยก หรือบั่นทอนจิตใจ จนสร้างผลเสียมากกว่าเดิม Tonkit360 จึงมีวิธีรับมือคำวิจารณ์ด้านลบแบบที่เป็นประโยชน์กับตัวเรามากที่สุดมาฝาก

กรองระหว่าง “คำด่า” กับ “คำวิจารณ์ ให้ออก

“คำด่า” กับ “คำวิจารณ์” นั้นไม่เหมือนกัน ต้องแยกให้ออกว่าผู้พูดมีเจตนาใด แค่อยากทำให้เสียหาย ด่าด้วยถ้อยคำหยาบคายหรือคำที่ส่อไปในทางไม่ดี ฟังแล้วไม่สร้างสรรค์ ไม่มีประโยชน์ในแง่ข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนา ก็ไม่ต้องเก็บมาใส่ใจ แต่ถ้าเป็นคำวิจารณ์ คือ การติเพื่อก่อ ชี้ข้อบกพร่องที่เรามองไม่เห็นตัวเองเพื่อให้เรารับไปแก้ไข สังเกตง่าย ๆ คำวิจารณ์ที่ดี คือ เขาจะติในสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่โจมตีตัวของเรา

นิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว

ทันทีที่ได้ยินคนวิจารณ์ตัวเองในด้านลบ แน่นอนว่า วินาทีแรกย่อมไม่สบอารมณ์และหัวร้อนจนแทบทนไม่ไหว เพราะปกติของคนเราไม่ชอบให้ใครมาพูดถึงในแง่ลบ แต่การรีบเถียงหรือปฏิเสธก็ไม่ใช่วิธีที่มืออาชีพเขาทำกัน มันดูเหมือนร้อนตัวและพยายามแก้ตัวซะมากกว่า ฉะนั้น เมื่อได้ยิน ให้นิ่งและยิ้มรับ ฟังให้มากว่าเราพลาดที่ตรงไหน แล้วถอยออกมามองตัวเองด้วยสายตาของคนนอก ค่อย ๆ คิดตามว่าเป็นแบบที่เขาว่าหรือไม่ แล้วต้องแก้ไขอย่างไร

พิจารณาตัวเองว่าเป็นแบบที่เขาวิจารณ์หรือเปล่า

ลองรับฟังแบบไม่อคติ ลองถอยออกมามองตัวเองในสายตาคนนอก และลองพิจารณาดู ก็คงพอจะเห็นแล้วว่าที่เขาพูดมานั้นเป็นจริงหรือไม่ ข้อเสียที่ว่าจะส่งผลด้านลบกับเราอย่างไร สมควรปรับปรุงแก้ไขไหม ถ้าเป็นจริงอย่างเขาว่า แสดงว่าเขาหวังดี อยากจะให้เราได้เป็นตัวเองแบบที่ดีขึ้น แต่ถ้าไม่จริง ก็ถือว่าเขาให้โอกาสเราปฏิเสธด้วยการพิสูจน์ว่าที่เขาพูดนั้นไม่เป็นความจริง และเราก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไร (แต่ไม่ใช่ดื้อแพ่ง)

มองว่าเขาคือมิตรแท้

ทั้งนี้ต้องพิจารณาให้ดี ๆ ว่าเขาวิจารณ์เพื่ออยากเห็นเราในมุมที่ดีขึ้น หรือสักแต่ว่าขอให้ได้พูดถึงเราในแง่ร้าย หากเป็นข้อแรก จงจำไว้ว่าเขาคนนี้คือมิตรแท้ ที่กล้าที่จะบอกว่าเราผิดพลาดตรงไหน และอาจให้ข้อเสนอแนะมาด้วยว่าควรทำอย่างไร ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนเราจะกล้าสะท้อนด้านลบของใครสักคนให้อีกฝ่ายรู้ ในขณะที่เราไม่เห็นตัวเอง เพราะเขาคงไม่อยากให้เราไปทำแบบนี้ที่ไหนจนโดนตำหนิ ฉะนั้น เพียงแค่เปิดใจ ฟังแบบไม่อคติ และนำไปพัฒนา

รับมาเพื่อปรับปรุงตัว

ถ้าเราเข้าใจและยอมรับข้อเสียหรือข้อบกพร่องของตัวเองได้แล้ว รู้ว่าอะไรคือปัญหา และก็รู้ด้วยว่าการนำมาพัฒนา เปลี่ยนแปลงตัวเองย่อมให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า แล้วเราจะเมินคำวิจารณ์ไปทำไม ในเมื่อเรายังต้องอยู่ร่วมกับผู้คนอื่น ๆ ในสังคม โดยเฉพาะคนที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ทำงานด้วยกัน การที่มีคนสะท้อนให้เราเห็นความผิดพลาดที่อาจทำให้เราอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ยาก เราก็ควรรับมาเป็นข้อคิดในการพัฒนาตัวเอง เพื่อให้เป็นเราในเวอร์ชันที่อัปเกรดกว่าเดิม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook