Are U OK ? ถ้าชีวิตไม่โอเค อย่าเก็บเรื่องนี้ไว้คนเดียว

Are U OK ? ถ้าชีวิตไม่โอเค อย่าเก็บเรื่องนี้ไว้คนเดียว

Are U OK ? ถ้าชีวิตไม่โอเค อย่าเก็บเรื่องนี้ไว้คนเดียว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โควิด-19 มันร้ายกว่าที่เราคาดคิด จากคนเข้มแข็ง จากคนที่เคยมีสุขภาพกายและใจแข็งแรงก็อาจถูกวิกฤติโควิด-19 ค่อยๆ รุมเร้าและกัดกร่อนจิตใจให้บอบบางลงได้ และในวันที่คุณเริ่มรู้สึกว่า ฉันไปต่อไม่ไหว แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตแนะนำว่าควรจะมองหาใครสักคนที่พร้อมจะรับฟัง และนั่นจึงเป็นที่มาของการตั้งทีมสายด่วนเฉพาะกิจ Are U OK ? สายด่วนรามาธิบดีปรึกษาสุขภาพจิต ที่ขอเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดพื้นที่รับฟังทุกความทุกข์ใจ

are-you-ok-3

เครียด กังวล เศร้า โทรหาเราสิคะ

“คนเครียดมากๆ เปรียบได้กับน้ำร้อนที่อยู่บนเตาไฟ สายด่วนต่างๆ หรือเพื่อนใกล้ชิดที่เราสามารถพูดคุยได้คือคนที่จะช่วยชักฟืนออกไม่ให้น้ำเดือดพุ่ง ถ้าชักฟืนออกไม่ได้ก็ต้องเปิดฝาหม้อ ไม่ให้หม้อมันระเบิดด้วยวิธีการรับฟัง”

รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ นินทจันทร์ หัวหน้าสาขาวิชาการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต หนึ่งในทีม Are U OK ? สายด่วนรามาธิบดีปรึกษาสุขภาพจิต บอกเล่าถึงหน้าที่หลักของสายด่วน ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อกลางปี 2564 ที่ผ่านมา เป็นการผนึกกำลังระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารอย่าง AIS และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ได้แก่ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ทีมอาจารย์พยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

“ปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น จากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพจิต ซึ่งเราพบว่าปัญหาดังกล่าวอาจจะถูกมองข้ามไป ทำให้ภาวะความเครียดส่งผลต่อการใช้ชีวิต จนบางครั้งหากมีความรุนแรงอาจถึงขั้นการคิดฆ่าตัวตายเลยก็ว่าได้ นั่นจึงเป็นที่มาของการร่วมมือกับ AIS เปิดให้บริการ Are U OK ? สายด่วนรามาธิบดีปรึกษาสุขภาพจิต บริการรับปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตของคนไทย ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน”

รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการตั้งสายด่วนซึ่งต้องย้อนไปยังปี พ.ศ.2563 เมื่อครั้งที่โควิด-19 เพิ่งเริ่มระบาดในประเทศไทย ซึ่งทางโรงพยาบาลรามาธิบดีได้เปิดโต๊ะให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ซึ่งถือเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ประชาชนทั่วไปยังมีความรู้เกี่ยวกับไวรัสและโรคนี้น้อยมากในช่วงเวลานั้น

“ตั้งแต่วันแรกๆ ที่เริ่มรู้ว่ามีโควิด-19 ระบาด เราจะเห็นว่ามีผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาลรามาฯ เยอะมากด้วยเหตุผลคือ อยากรู้ว่าตัวเองติดโควิด-19 รึเปล่า ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ตรวจ ที่รามาฯ มีระบบสกรีนเบื้องต้น ปรากฏว่ามีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่เข้าข่ายติดเชื้อ มีความเสี่ยง ส่วนที่เหลืออีก 97 เปอร์เซ็นต์ที่เข้ามาตรวจไม่มีความเสี่ยง อาจจะเรียกว่า 97 เปอร์เซ็นต์ที่มาโรงพยาบาลเป็นโรควิตกกังวลก็ว่าได้ ปัญหาคือพอคนกลุ่มนี้กลับบ้าน ความวิตกกังวลก็ยังตามเขาไปด้วย ความวิตกกังวล ความเครียดมันไม่ได้ถูกแก้ไข เราก็เลยกลับมาคิดว่าแล้วเราจะทำอย่างไรกับคน 97 เปอร์เซ็นต์ตรงนั้น

“ก็เลยเป็นที่มาของการตั้งโต๊ะเป็นศูนย์ให้ความรู้เรื่องโควิด-19 และพอเราได้คุยกับคนที่มาใช้บริการมากขึ้นก็เลยรู้ว่าคนกลุ่มนี้ไม่ควรที่จะต้องมาโรงพยาบาลเลย เขาไม่ควรมาเสี่ยงรับเชื้อที่โรงพยาบาล เราก็เลยตัดสินใจปรับบริการเป็นโควิด-19 คอลเซนเตอร์ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งทีมแพทย์ พยาบาลที่เข้ามารับโทรศัพท์ก็สังเกตได้ว่า เมื่อระยะเวลาเปลี่ยน คำถามจากปลายสายที่โทรเข้ามาก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด”

รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข ย้อนเล่าถึงการตั้งทีมฉุกเฉินของรามาฯ ที่แรกทีเดียวก็เพื่อจะให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับโควิด-19 ทว่าเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ประชาชนเข้าใจโรคระบาดมากขึ้น แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจและอาจจะยังไม่รู้ตัวก็คือ ความรู้สึกเครียด วิตกกังวล ปัญหาสุขภาพจิตที่เริ่มก่อตัวขึ้นจากการที่ต้องรับมือกับโรคระบาดนานข้ามปี

“ระยะแรกทุกคนถามว่าตัวเองจะติดโควิดไหม มีไข้ ไอแบบนี้ติดหรือยัง เป็นคำถามเกี่ยวกับความวิตกกังวลว่าจะเป็นโควิด-19 จากนั้นก็จะเป็นเรื่องการจัดการ เช่น จะมาตรวจต้องทำอย่างไร เบิกค่าใช้จ่ายได้ไหม ขยับมาเป็นเรื่องแอดมิด วัคซีน เขาจะได้เตียงไหม เราก็จะเห็นความทุกข์ยากของประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ ซึ่งเราพบว่าคนกลุ่มนี้มีความเครียดสูงมากเพราะว่าโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลต่อร่างกายอย่างเดียว แต่ยังกระทบถึงจิตใจ ภาวะสังคม สิ่งแวดล้อมรอบตัวเขา เรียกว่าโควิด-19 ครอบคลุมทั้งหมดกระทบทุกด้าน

“หลายคนมีปัญหาที่ทั้งซับซ้อนและทับซ้อนจนเรารู้สึกว่า เขาจะอยู่ได้อย่างไรกับปัญหาที่เขากำลังเจอ เช่น เขาโทรมาด้วยเรื่องอย่างอื่น เขาก็อาจจะพ่วงมาด้วยเรื่องจิตใจ และคนที่รับโทรศัพท์ ณ เวลานั้นคือเตรียมตอบคำถามเกี่ยวกับโรค การดูแลตัวเอง คนที่รับสายไม่ได้เก่งด้านสุขภาพจิตทุกคน เขาก็จะตอบได้แบบที่เรียกว่าช่วยเหลือกันไปเท่าที่จะช่วยได้ ซึ่งก็จะเป็นแบบมวยวัดที่ชกตรงบ้าง ไม่ตรงปัญหาบ้างก็ว่าไป เราก็เลยมีแนวคิดว่าจากสถานการณ์โดยรวมที่ไม่ดีขึ้นสักที คนที่เคยสติดีๆ ก็อาจจะไม่ไหวแล้ว ก็เลยคิดว่าน่าจะนำผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตมาช่วยเลยดีกว่า ก็เลยคุยกับอาจารย์พยาบาลสาขาสุขภาพจิตและจิตเวชให้เซตทีมคอลเซนเตอร์เรื่องสุขภาพจิตโดยเฉพาะขึ้นมาเลย ก็เลยเป็นที่มาของ Are U OK ? สายด่วนรามาธิบดีปรึกษาสุขภาพจิต”
Are U OK ?

are-you-ok-2

เครียดแค่ไหน วิตกแค่ไหนจึงควรโทรหา Are U OK ?

สำหรับการทำงานของสายด่วนนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ ให้ข้อมูลว่า ปลายสายส่วนใหญ่ที่โทรมาคือคนที่มีภาวะของความกังวล ซึมเศร้า ช่วงเวลาที่สถานการณ์โควิด-19 ต่างกัน ความกังวลของผู้คนก็ต่างกันไปด้วย เช่น บางคนกังวลเรื่องการติดเชื้อ วิตกเรื่องผลข้างเคียงวัคซีน บางปลายสายก็กำลังวิตกกังวลถึงอนาคตและชีวิตความเป็นอยู่ และบางสายก็ถึงขั้นที่ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ก็มี

“นอกจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งที่โทรเข้ามาคือคนที่กำลังตกงาน ขาดรายได้อันเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 บางคนรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระกับคนอื่น บางเคสก็ซึมเศร้าไปเลย มีบางสายที่มีความคิดอยากจะฆ่าตัวตายชั่ววูบ ซึ่งแม้ Are U OK ? จะเป็นสายด่วน แต่ถ้าเคสไหนที่เราคิดว่าเขาต้องได้รับการรักษา เราก็จะขอคุยกับเขา หรือขอคุยกับญาติเลย บางสายอาจจะต้องให้ญาติพาไปสถานบริการด้านสุขภาพจิตที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อให้เขาได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที บางเคสเจ้าตัวคิดว่าเขายังประคองจิตใจได้โดยที่ยังไม่ต้องไปหาหมอ แต่เขาอาจจะอยู่ในเคสที่หนักพอสมควร ทางทีมก็จะขอโทรกลับเพื่อติดตามจนกระทั่งเขาดีขึ้น ถ้าเขาบอกว่าเขาโอเคแล้วไม่ต้องให้เราโทรแล้วเราก็จะไม่โทรกลับ”

นอกจากบุคคลทั่วไปที่รู้สึกว่าชีวิตไม่โอเคจนต้องโทรมาหาใครสักคนเพื่อรับฟังแล้ว ในบางเคสก็เป็นกลุ่มบอบบางซึ่งเป็นผู้ป่วยจิตเวชอยู่แล้ว ทว่าการระบาดและมาตรการล็อกดาวน์ห้ามเดินทางอาจจะทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ หรือทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหน้าที่ของทีมสายด่วน Are U OK ? จึงเป็นการส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

“เคยเจอเคสหนึ่งเป็นโรคซึมเศร้า เขากำลังจะเดินลงถนนไปให้รถชน โชคดีว่าญาติเขาไปช่วยไว้ทันและก็โทรมาหาเรา เราเลยบอกว่าอาการของเคสนี้ต้องได้รับการรักษา ทางญาติเขาบอกว่าเขาเคยรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ไม่สามารถเดินทางไปรักษาต่อเนื่องได้ เจ้าตัวและญาติเองไม่รู้ช่องทางว่าจะทำอย่างไร ทางเราก็ประสานโรงพยาบาลต้นทางเรื่องซึ่งเขามีก็ทำการส่งยาทางไปรษณีย์ และสามารถส่งต่อเคสนี้ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งคนไข้จิตเวชหลายคนหรือแม้แต่ญาติเองก็อาจจะไม่รู้ว่ามีบริการเหล่านี้รองรับ”

อีกกลุ่มที่หลายคนอาจจะคิดว่าไม่มีความเครียด แต่กลับกลายเป็นกลุ่มที่เข้าสู่ความวิตกกังวลก็คือ กลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และหายดีแล้ว ซึ่งรองศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจแต่หลายคนอาจจะมองข้ามว่า กลุ่มผู้ที่ติดเชื้อแล้ว บางคนเครียดเพราะกลัวสังคมรังเกียจ กลัวผู้คนรอบข้างไม่ยอมรับเขา บางคนเจอสถานการณ์นายจ้างไม่ยอมรับ คนรอบข้างไม่เข้าใจ ซึ่งการปรับชุดความคิดเหล่านี้อาจจะต้องคุยนาน มีการให้ข้อมูลเพิ่มขึ้นเพื่อให้คนกลุ่มนี้รู้สึกผ่อนคลายความเครียด และเมื่อถามต่อว่าต้องเครียดแค่ไหน วิตกกังวลแค่ไหนถึงควรโทรมา รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ กล่าวว่าให้ลองสังเกตความเครียด วิตกกังวลที่เกิดขึ้นว่าทำให้เราสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติได้หรือไม่

“ลองสังเกตว่าช่วงนี้เรามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปไหม เช่น นอนไม่หลับ เครียด ปวดศีรษะ ย้ำคิดย้ำทำ กังวล ไม่กล้าออกจากบ้าน ไม่กล้าออกไปตลาด ซึ่งบางทีเราอาจมองว่ามันไม่ได้รุนแรงอะไร แต่ความกังวลที่เพิ่มสูงและเราอาจจะไม่รู้ตัวจะทำให้พฤติกรรมในแต่ละวันผิดปกติไปจนวันหนึ่งอาจทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติได้ ถ้ารู้สึกถึงสิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ได้โทรมาหาเราทันที แต่ลองหาคนที่พอจะคุยด้วยได้ คนที่พร้อมจะรับฟังเราก็ได้”

ทั้งนี้รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข ย้ำว่า เมื่อความคิดเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน เมื่อหมดหนทาง อย่าเพิ่งคิดว่าไม่มีทาง ให้โทรมาหากันก่อน

“บางคนคิดว่าการพูดคุยไม่สามารถช่วยได้ แต่อยากให้ลองโทรมาคุยกันก่อน เมื่อความคิดเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยนอย่างแน่นอน เมื่อคุณหมดหนทางอย่าเพิ่งคิดว่าไม่มีทาง โทรมาก่อน หลายคนจะคิดว่าการคุยมันช่วยอะไรหรอ การคุยมันทำให้เขาได้เตียงอย่างไรหรอ การคุยจะทำให้ชีวิตอยู่รอดได้อย่างไร เราเลยอยากให้เขามาคุยก่อน ทางเลือกอีกทางที่จะพาให้ชีวิตก้าวผ่านวิกฤติไปได้คือการได้คุยกับใครสักคน”

รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ ทิ้งท้ายว่า ในยามที่จิตใจกำลังจะเผชิญวิกฤติไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ อย่าปล่อยให้ตัวเองโดดเดี่ยว

“ต้องไม่ปล่อยให้ตัวเองโดดเดี่ยว คนที่ต้องอยู่คอนโด หรือบ้านคนเดียวก็อาจจะออกกำลังกาย ผ่อนคลาย ทำงาน ถ้ามีเพื่อนที่ใกล้ชิดที่คุยกันได้ก็พูดคุยระบาย คนเครียดมากๆ เปรียบได้กับน้ำร้อนที่อยู่บนเตาไฟ สายด่วนต่างๆ หรือเพื่อนใกล้ชิดที่เราสามารถพูดคุยได้คือคนที่จะช่วยชักฟืนออกไม่ให้น้ำเดือดพุ่ง ถ้าชักฟืนออกไม่ได้ก็ต้องเปิดฝาหม้อ ไม่ให้หม้อมันระเบิดด้วยวิธีการรับฟัง คนเราแค่ได้พูด แค่ได้ระบายออกไป จากนั้นเขาจะมีวิธีการจัดการกับปัญหาของเขาได้ ที่ผ่านมาเขาอาจจะไม่สามารถจัดการปัญหาของเขาได้ก็เพราะความเครียด ความวิตกมันท้นอยู่ในจิตใจของเขา จริงๆ แล้วปลายสายอาจจะไม่ได้ต้องแนะนำอะไรเลย แค่รับฟังอย่างเข้าใจและเห็นใจเท่านั้น คนที่โทรมาก็รู้สึกได้ผ่อนคลาย ได้ระบายความรู้สึก อย่าเก็บไว้คนเดียวนี่คือสิ่งสำคัญ”

Fact File

Are U OK ? สายด่วนรามาธิบดีปรึกษาสุขภาพจิต โทร. 02-078-9088 ตั้งแต่เวลา 8.00-16.00 น.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook