8 หนังสือว่าด้วยการอ่านและอำนาจของตัวอักษร

8 หนังสือว่าด้วยการอ่านและอำนาจของตัวอักษร

8 หนังสือว่าด้วยการอ่านและอำนาจของตัวอักษร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่ว่าคุณจะเป็นหนอนหนังสือ นักอ่านตัวยง หรือซื้อหนังสือมานั่งมองเพราะของมันต้องมี อย่างน้อยๆ คุณก็ต้องเคยเห็นโควตเยินยอการอ่านผ่านหน้าผ่านตาไปบ้าง การอ่านช่วยเสริมความรู้อย่างนั้น ช่วยเปิดกว้างทางความคิดอย่างนี้ เป็นประโยคเดิมวนเวียนซ้ำๆ ซึ่งอาจทำคนไม่อ่านหนังสือเห็นแล้วต้องกลอกตาเป็นรูปสะพานโค้ง จริงอยู่ที่ความรู้ไม่ได้ผูกขาดอยู่กับแค่การอ่านหนังสือ แต่ถ้าคุณได้ลองก้าวเข้าสู่โลกของการอ่าน คุณก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าคำพูดพวกนั้นไม่ใช่การเยินยอถึงอำนาจของตัวอักษรอย่างเกินจริงเลยแม้แต่น้อย ก่อนอ่าน คุณมีตาเพียงสองข้างไว้มองโลก แต่หลังอ่าน คุณอาจค้นพบแว่นตาอีกหลายอันที่จะทำให้คุณมองโลกใบเดียวกันนั้นได้อย่างรอบด้าน

หนังสือที่เรากำลังจะหยิบมาพูดถึงคือหนังสือที่ว่าด้วย “การอ่าน” ในแต่ละแง่มุม การอ่านเพื่อซึมซับความรู้ อ่านเพื่อถกเถียง อ่านเพื่อปลูกฝังการอ่านในครอบครัว การอ่านเพื่อตอบสนองความหลงใหลคลั่งไคล้ที่ปรากฏอยู่ในนิยายสนุกๆ ไปจนถึงเรื่องราวของเรื่องเล่าที่เรา ‘อ่าน’ กันอยู่ทุกวัน

 

1. ความลับที่คนอ่านหนังสือเท่านั้นจะรู้

หนังสือฮาวทูอ่านง่าย บอกเล่าเกี่ยวกับการอ่าน ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงอ่านอะไรก็ได้ ฉลากแชมพู ข้อความบนทวิตเตอร์ หรือสเตตัสคมๆ ในเฟซบุ๊ก แต่คือการอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ เนื้อหายืนยันขันแข็งว่าการอ่านเป็นเรื่องสำคัญ พร้อมอธิบายเหตุผลว่าทำไมคนเราต้องอ่านหนังสือ การอ่านให้อะไรกับเรา ไปจนถึงวิธีการอ่านเพื่อซึมซับความรู้ ตกตะกอนความคิด ขยายมุมมองที่มีต่อสิ่งต่างๆ ในโลกให้กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น กระนั้นคำวิจารณ์บางส่วนก็ยังไม่แน่ใจนักว่าสรุปแล้วทาร์เก็ตของหนังสือเล่มนี้คือกลุ่มนักอ่านหรือนักไม่อ่าน เพราะเนื้อหาภายในเต็มไปด้วยเรื่องที่นักอ่านรู้อยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกัน รูปลักษณ์ภายนอกของมันก็ไม่มีพลังดึงดูดมากพอที่จะทำให้นักไม่อ่านหยิบขึ้นมาพลิกดูตั้งแต่แรก

 

2. โลกในมือนักอ่าน

การอ่าน คือความหฤหรรษ์ส่วนบุคคล คือความรื่นรมย์ในโลกโหดร้าย คือความรุ่มรวยในชีวิตแล้งไร้ คือสะพานเชื่อมผู้คนต่างยุคสมัย คือการปลดปล่อยจินตนาการให้โลดแล่น คือดินแดนแห่งเสรีภาพทางปัญญาไร้ที่สิ้นสุด คือคลังความทรงจำของมนุษยชาติ

โลกในมือนักอ่าน หนังสือซึ่งมีความหนาหนึ่งนิ้วอันแน่นไปด้วยประวัติศาสตร์การอ่านทั้งมวลของมนุษยชาติ อัลเบร์โต มังเกล ผู้เขียนร้อยเรียงประวัติศาสตร์กว่า 6,000 ปี ที่ดำเนินผ่านบทสนทนาระหว่างถ้อยคำ ผู้คน และชีวิต นับตั้งแต่มนุษย์เริ่มถอดความหมายผ่านดวงตา ละเลียดสุนทรียะแห่งการอ่านตามลำพัง เสพมนตร์ขลังของการอ่านออกเสียง ต่อยอดสู่การอ่านเพื่อทำนายอนาคต การกำเนิดหอสมุดยุคโบราณโดย “นักบัญญัติจักรวาล” ตลอดจนการพลิกแพลงโวหารผ่านงานแปลอันรุ่มรวย

เรื่องราวเหล่านี้ครอบคลุมเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในประวัติศาสตร์การอ่านทั้งหมด เช่น การเขียนหนังสือเพื่ออ่านกันเองของกลุ่มผู้หญิง ในยุคที่หนังสือถูกสงวนไว้อ่านกันในหมู่ผู้ชายเท่านั้น เรื่องการห้ามไม่ให้ทาสรับใช้อ่านหนังสือ เพราะกลัวว่าการอ่านจะทำให้พวกเขาอยากเป็นไทขึ้นมา และด้วยตัวผู้เขียนที่ให้ความสำคัญกับวิจารณญาณของผู้อ่าน จึงให้ผู้อ่านตัดสินเรื่องราวที่เขาหยิบยกมาเล่าด้วยตัวเอง ถือเป็นการมอบโลกทั้งใบของตัวอักษรให้อยู่ในมือนักอ่านตามชื่อหนังสือ

 

3. วรรณกรรม: ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ (A Little History of Literature)



หนังสือว่าด้วยประวัติศาสตร์ของวรรณกรรม ในฐานะเรื่องราวที่เปลี่ยนภาชนะบรรจุมาเรื่อยๆ ตั้งแต่การใช้ปากเล่าต่อๆ กัน สู่ตัวอักษรตวัดจากปลายปากกาลงกระดาษ จนมาถึงการกระจุกตัวกันเป็นพรืดอยู่ในหน้าจอสี่เหลี่ยมพร้อมชื่อเรียกใหม่เก๋ๆ ว่าอีบุ๊กส์ เล่าโดยไล่เรียงตามไทม์ไลน์จากอดีตถึงอนาคต ตัวละครประกอบด้วยนักเขียนเอกในโลกฝั่งตะวันตกหลายคน คาฟคา เจน ออสเตน ดิกเกนส์ พร้อมสำรวจบริบทต่างๆ ที่รายล้อมวรรณกรรม ทั้งชาติพันธุ์ สังคม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังชวนเราไปค้นหาแง่มุม “ระหว่างบรรทัด” ที่อาจไม่เคยสังเกต เช่น เหตุใดเราจึงรู้สึกสนุกเมื่อดูโศกนาฏกรรม การถือกำเนิดของนวนิยายเกี่ยวพันกับระบบทุนนิยมอย่างไร นวนิยายยูโทเปียและดิสโทเปียทำนายสังคมมนุษย์ได้ถูกต้องหรือไม่

 

4. อ่านแบบโทได

“โทได” คือมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น สอบเข้ายากและมีอัตราการแข่งขันสูงสุด ภายในจึงมีแต่นักเรียนระดับหัวกะทิเท่านั้น ส่วนผู้แต่งอย่างนิชิโอกะ อิสเซ แม้จะสอบได้ที่โหล่ของโรงเรียนปลายแถว แต่กลับสอบเข้าโทไดได้เป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ หนังสือเล่มนี้รวบรวมเทคนิคการอ่านที่อิสเซสังเกตจากวิธีอ่านหนังสือของหมู่นักศึกษาโทได สรุปได้ประมาณว่าอย่าให้การอ่านเป็นเพียงแชทหนักซ้ายหรือ one-way communication อย่าอ่านเพื่อให้หนังสือบอกอะไรกับเราอยู่ฝ่ายเดียว จงอ่านเพื่อทำความเข้าใจ พูดคุย และถกเถียงกับหนังสือเล่มนั้นกลับไปด้วย

 

5. ครอบครัวอ่านออกเสียง

“ว่ากันว่าคนที่อ่านหนังสือได้ใช้ชีวิตหนึ่งพันครั้ง ส่วนคนที่ไม่เคยอ่านหนังสือเลยได้ใช้ชีวิตเพียงครั้งเดียว เราจะมอบสิ่งอื่นใดให้กับลูกๆ ที่ดีไปกว่าโอกาสได้ใช้ชีวิตหนึ่งพันครั้งก่อนพวกเขาออกจากบ้านไป”

ซาร่าห์ แม็คเคสซี ผู้เขียนซึ่งเป็นคุณแม่ลูกหก และเจ้าของพอดแคสต์โด่งดัง Read-Aloud Revival เปิดบ้านต้อนรับเราเข้าสู่ครอบครัวอ่านออกเสียง พาไปรู้จักพลังมหัศจรรย์ของการอ่านออกเสียงที่จะเปลี่ยนทั้งชีวิตของลูกๆ และพ่อแม่ ด้วยการสร้างความผูกพันมั่นคง เสริมสร้างการเรียนรู้เชิงวิชาการ พัฒนาทักษะการเข้าสังคม ตลอดจนปลูกฝังความเป็นนักอ่านตลอดชีวิต พร้อมกลเม็ดเคล็ดลับมากมายที่นำไปปฏิบัติได้จริง เช่น สารพัดวิธีแก้ปัญหาเมื่อลูกไม่มีสมาธิฟังหนังสือ หลักการตั้งคำถามน่าคิดเพื่อชวนลูกคุยหลังอ่านหนังสือจบ และเคล็ดลับการเลือกหนังสือสำหรับเด็กแรกเกิดถึงวัยรุ่น

 

6. ราชินีนักอ่าน

เรื่องราววุ่นวายเรียกรอยยิ้มของควีนอลิซาเบธที่สองของอังกฤษ ที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่เพราะหันไปทุ่มเทเวลาให้การอ่านหนังสือ ราชินีนักอ่านเป็นนวนิยายขนาดสั้นที่สะท้อนความหมายหลายมุมของหนังสือ และแสดงอาณาเขตกว้างใหญ่ไร้พรมแดนของการอ่าน ผ่านความคลั่งไคล้หลงใหลของควีนอลิซาเบธ ตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อล้อเลียนเจ้าอย่างที่คนอังกฤษโปรดปราน เนื้อหามีโควตเด็ดๆ เกี่ยวกับการอ่านจากคำพูดของราชินีมากมาย และหลายประโยคอาจทำให้นักอ่านอย่างคุณตบเข่าฉาดด้วยความชอบใจ

“หนังสือไม่ได้เกี่ยวกับการฆ่าเวลา มันเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้อื่น หรือโลกอื่น ๆ มันห่างไกลจากการฆ่าเวลา มันมีแต่จะทำให้เราปรารถนาเวลามากกว่านี้”

 

7. นักอ่านผู้ยิ่งเล็ก

"การอ่านหนังสือมาก ๆ อาจทำให้คนเราตัวเล็กลง" คือคำโปรยของหนังสือจากหลากหลายนักอ่านเล่มนี้ ซึ่งสรุปเมสเสจหลักในเรื่องได้อย่างสมบูรณ์แบบ บางครั้งคุณอ่านหนังสือเพื่อหวังว่าตัวเองจะได้กลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่มากความรู้ แต่ความจริงแล้วการอ่านกลับพาคุณไปเป็นผู้ยิ่งเล็กเสียมากกว่า เพราะมันทำให้คุณรู้ว่าเรื่องราวในโลกนี้กว้างใหญ่ไพศาลเหลือเกิน จนคุณรู้สึกว่าตัวคุณหดเล็กเหลือนิดเดียว คล้ายความรู้สึกเวลาจ้องมองท้องฟ้าเหนือมหาสมุทรนั่นแหละ

หนังสือเล่มนี้เล่าประสบการณ์การอ่านของคน 11 คน ที่ไม่ว่าอาชีพของพวกเขาจะเป็น ‘นัก’ อะไร แต่สิ่งที่เป็นร่วมกันก็คือ ‘นักอ่าน’ บ้างได้หนังสือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต บ้างได้หนังสือพาพ้นผ่านวิกฤต บ้างได้หนังสือช่วยค้นพบความสุขในอดีต ต่อให้การอ่านจะแปรผกผันกับความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ต่อให้ตัวคุณจะเหลือเล็กกระจ้อยร่อยเท่าไร แต่ในอีกทางหนึ่ง การอ่านก็รดน้ำให้เมล็ดพันธุ์ในตัวคุณเติบโตได้เช่นกัน

 

8. อ่านจนแตก: วรรณกรรม ความทันสมัย และความเป็นไทย



หนังสือที่นำแนวคิดทฤษฎีอันหลากหลายมาประยุกต์ใช้เพื่อวิเคราะห์นัยทางการเมืองและความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่สะท้อนอยู่ในวรรณกรรม โดยนำบริบททางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมมาร่วมพิจารณา ซึ่งไม่เพียงช่วยให้เราอ่านตัวบทวรรณกรรมจนแตกเท่านั้น แต่ยังทำให้เราอ่านความคิด มายาคติ และวาทกรรมการเมืองที่อยู่ในและนอกตัวบทวรรณกรรมจนแตกด้วยเช่นกัน

ใครอยากหาหนังสือใหม่มาเสริมพลังของการอ่านและสร้างอำนาจทางตัวอักษร วันที่ 23-31 ตุลาคมนี้มีงานหนังสือจัดแบบลูกผสม คือ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook