“Youth Forward” พลังคนรุ่นใหม่ ช่วยเหลือชาวนาให้ยั่งยืน

“Youth Forward” พลังคนรุ่นใหม่ ช่วยเหลือชาวนาให้ยั่งยืน

“Youth Forward” พลังคนรุ่นใหม่ ช่วยเหลือชาวนาให้ยั่งยืน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กไทยมีความสามารถและศักยภาพในด้านต่าง ๆ ไม่แพ้กับเด็กชาติอื่นในโลก ดังที่เราจะเห็นได้จากหลายข่าวที่เด็กไทยสามารถคว้ารางวัลและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ จากการประกวดในเวทีต่าง ๆ ระดับโลก เช่นเดียวกับทีม “Youth Forward” ของ 2 นักเรียนจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ที่คว้าแชมป์อันดับ 1 ระดับอาเซียน จากการแข่งขัน ASEAN Data Science Explorers (ASEANDSE) มาครองได้สำเร็จ โดยทั้งคู่ได้หยิบยกปัญหาของชาวนาในภูมิภาคอาเซียนและใช้การวิเคราะห์ข้อมูลมาช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งนอกจากการแข่งขันครั้งนี้จะเปิดโลกให้เยาวชนทั้งสองได้เข้าใจปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรแล้ว ยังสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเธอและวัยรุ่นคนอื่นๆ ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กับสังคมอีกด้วย 

แก้ปัญหาชาวนาด้วย​ “ข้อมูล” 

“พวกเราสองคนเข้าร่วมการแข่งขัน ASEAN Data Science Explorers หรือ ASEANDSE ซึ่งเป็นการแข่งขันที่เน้นศักยภาพด้านการวิเคราะห์ข้อมูล จัดขึ้นโดย ASEAN Foundation กับ SAP” รดา ประไพกรเกียรติ หนึ่งในสมาชิกของทีม Youth Forward เริ่มต้นเล่าถึงที่มาที่ไปของการแข่งขัน 

สองผู้ชนะจากการแข่งขัน ASEANDSEสองผู้ชนะจากการแข่งขัน ASEANDSE

รดาเล่าต่อไปว่า การแข่งขันดังกล่าวเป็นการร่วมมือกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการ ขององค์การสหประชาชาติ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า SDGs ซึ่งผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมต้องเลือก SDG แต่ละประการขึ้นมานำเสนอ ซึ่งทีมของเธอได้เลือก SDG 8 นั่นก็คือ งานที่ดีและเศรษฐกิจที่เติบโต โดยมุ่งเป้าหมายไปที่ปัญหาทางด้านเกษตรกรรม หรือปัญหาของ “ชาวนา” ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ที่มีประโยคที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” เป็นสโลแกนหลักของประเทศ

เรารู้สึกว่าค่าจ้างหรือแรงงานของชาวนาหรือชาวสวนที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมไม่เท่าเทียมกับแรงงานที่ได้ทำลงไป ขณะเดียวกัน การวิจัยเรื่องปัญหาชาวนาในกลุ่มประเทศอาเซียนก็ยังมีไม่เพียงพอ จึงทำให้พวกเราเลือกปัญหาของชาวนาขึ้นมา” กัญจรีย์ ศุภวิทยา อีกหนึ่งสมาชิกของทีม กล่าวเสริม 

เช่นเดียวกับวัยรุ่นยุคใหม่ทั่วไป รดาและกัญจรีย์เริ่มต้นปฏิบัติการด้วยการ “เสิร์ชหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต” จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มา “วิเคราะห์” ในแพลตฟอร์ม SAP Analytics Cloud ซึ่งเป็นชุดเครื่องมือที่จะช่วยวิเคราะห์และแปลงข้อมูลออกมาเป็นกราฟ ซึ่งสิ่งที่ทำให้พวกเธอประหลาดใจมากที่สุด คือ ปัญหาเรื่อง “ค่าแรง” ของชาวนาในภูมิภาคอาเซียนและจำนวนการวิจัยปัญหาของชาวนาที่ยังมีน้อยมากจนน่าตกใจ ทั้งที่การเกษตรถือเป็นหัวใจหลักของภูมิภาคนี้

รดา ประไพกรเกียรติรดา ประไพกรเกียรติ

“เราพบว่าเป็นค่าแรงที่ต่ำมาก ๆ อย่างเช่น ค่าแรงของชาวนาในฟิลิปปินส์ ก็ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง ก็มีค่าแรงที่ต่ำมาก” รดากล่าว 

“งานวิจัยก็มีน้อยมากเช่นกัน คือหลักเกณฑ์ของภาคเกษตรกรรมนั้น จะต้องแบ่งทุนด้านการเกษตรไปให้งานวิจัยอย่างน้อย 1 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป แต่ว่าเราเห็นว่าในช่วงปี 2000 - 2017 และเรื่อย ๆ มา มันลดลงไปตั้งแต่ 0.7 เปอร์เซ็นต์ จนถึง 0.3 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ จึงเป็นจุดที่เราสนใจมาก ๆ แล้วต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้” กัญจรีย์ชี้ 

ลดปัญหา “พ่อค้าคนกลาง” 

หลังจากทำการวิเคราะห์ข้อมูลและพบว่าปัญหา “พ่อค้าคนกลาง” เป็นปัญหาใหญ่ที่ชาวนาในภูมิภาคอาเซียนต้องเผชิญ ทำให้รดาและกัญจรีย์คิดวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการใช้แอปพลิเคชั่น “AGRI Connect” เพื่อตัดปัญหาพ่อค้าคนกลาง และเป็นสะพานเชื่อมระหว่างลูกค้าและเกษตรกรโดยตรง 

กัญจรีย์ ศุภวิทยา กัญจรีย์ ศุภวิทยา

“ด้วยความที่ว่าเทรนด์ออนไลน์ชอปปิงกำลังมาแรง โดยเฉพาะในยุคโควิด-19 เราจึงคิดที่จะนำออนไลน์ชอปปิงมารวมกับเกษตรกรรม เพื่อให้ลูกค้าที่อยู่ที่บ้านสามารถรับผลผลิตจากเกษตรกรได้เลย เราจึงคิดแอปฯ AGRI Connect ขึ้นมา แต่ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงไอเดีย แต่เป้าหมายของเราก็คือการตัดพ่อค้าคนกลาง” รดาอธิบาย 

“อีกอย่างก็คือ การทำแอปฯ นี้ เราสามารถให้ชาวนาเริ่มสร้างตัวเป็นนักธุรกิจรายย่อยเองได้ ซึ่งพอผ่านไปหลาย ๆ ปี พวกเขาก็จะสามารถควบคุมหรือทำในส่วนของภาคการเกษตรได้เลย โดยไม่ต้องพึ่งคนอื่นที่จะมาเอาผลประโยชน์ของพวกเขาไป” กัญจรีย์เสริม 

อย่างไรก็ตาม การใช้แอปฯ อาจจะปัญหาสำหรับชาวนาที่ไม่สามารถเข้าถึงสมาร์ตโฟนหรืออินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งรดาและกัญจรีย์ก็แสดงความคิดเห็นว่า ในยุคนี้สมาร์ตโฟนถือเป็นสิ่งจำเป็นที่คนส่วนใหญ่ต้องมีไว้เพื่อใช้งาน ดังจะเห็นได้จากโครงการของรัฐบาลที่ต้องมีสมาร์ตโฟนเพื่อเข้าถึงการช่วยเหลือ พวกเธอจึงเชื่อว่าชาวนาก็สามารถเข้าถึงสมาร์ตโฟนได้แล้ว ขณะที่ปัญหาเรื่องอินเทอร์เน็ต ทั้งคู่ระบุว่า AGRI Connect ยังจะมีบริการส่ง SMS เพื่อแจ้งเตือนชาวนาในกรณีที่ไม่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ 

สองผู้ชนะจากการแข่งขัน ASEANDSE

ความสำเร็จจากความมุ่งมั่นของเด็กรุ่นใหม่ 

“ตอนประกาศผลรอบ Regional Final ซึ่งเรารู้สึกว่าทีมของเราทำเต็มที่ แต่เราไม่คิดว่าจะได้ที่หนึ่ง แต่หัวข้อของเราค่อนข้างโดดเด่น เราก็เลยมั่นใจ และรู้สึกสนใจในหัวข้อนี้จริง ๆ เราจึงสามารถถ่ายทอดมันออกมาได้อย่างเต็มที่” กัญจรีย์เล่าถึงช่วงเวลาที่เธอประทับใจมากที่สุดระหว่างแข่งขัน 

Ms.Dolly DomingoMs.Dolly Domingo

ขณะที่ Ms.Dolly Domingo คุณครูผู้ดูแลทีม Youth Forward ก็เล่าให้เราฟังว่า ด้วยความที่นักเรียนทั้ง 2 คน เป็นผู้เข้าแข่งขันที่อายุน้อยที่สุด แม้จะกังวลเรื่อง “ความกดดัน” ที่อาจเกิดขึ้น แต่เธอก็เชื่อมั่นว่านักเรียนของเธอจะทำได้อย่างแน่นอน และสุดท้ายรดาและกัญจรีย์ก็สามารถคว้ารางวัลได้จริง ซึ่งทำให้ Ms.Dolly รู้สึกดีใจและภูมิใจเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับเซอร์เทเรซา เกศแก้ว พรรณเชษฐ์ เซอร์ดูแลภาคภาษาอังกฤษ ก็ระบุว่าตื่นเต้นมากตอนที่รู้ผลว่านักเรียนทั้ง 2 คน ชนะรอบภูมิภาคอาเซียน ซึ่งนักเรียนทั้งคู่ก็ทำผลงานได้เป็นอย่างดีจากการตอบคำถามและการมีไหวพริบในรอบสุดท้าย ดังนั้นเมื่อเห็นว่านักเรียนดีใจ ก็ทำให้เซอร์เทเรซาดีใจไปด้วย 

เซอร์เทเรซา เกศแก้ว พรรณเชษฐ์เซอร์เทเรซา เกศแก้ว พรรณเชษฐ์

“ดีใจมากค่ะ ตั้งแต่รอบแรกที่ลงแข่ง เราก็ไม่คิดว่านักเรียนของเราจะก้าวมาถึงขนาดนี้ เพราะเขาก็อายุน้อยที่สุดในการแข่งขัน แต่ก็ผ่านมาได้จนกระทั่งถึงรอบของอาเซียน ซึ่งพวกเขาทำได้ดี เป็นธรรมชาติ และครูมองว่าทีมเวิร์กเป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารให้ผู้ชมได้รับทราบข้อมูลคุณครูชุลีพร เพียรช่าง ครูผู้ประสานงานภาคภาษาอังกฤษ กล่าว 

คุณครูชุลีพร เพียรช่างคุณครูชุลีพร เพียรช่าง

“ทีมเวิร์ก” กุญแจสำคัญสู่การเปลี่ยนแปลง 

แน่นอนว่าการแข่งขันเป็นทีมจำเป็นต้องใช้การสื่อสารและการทำงานร่วมกัน ซึ่งทั้งคุณครูและผู้ปกครองของนักเรียนทั้งสองก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทั้งสองมีความเป็นทีมเวิร์กดีมาก โดยกัญจนี ศุภวิทยา คุณแม่ของกัญจรีย์ ก็เปิดเผยว่า เธอไม่เคยรู้จักกับรดา เพื่อนร่วมทีมของลูกมาก่อน ทว่าจากการได้ยินเด็กทั้ง 2 คน พูดคุยกันขณะเตรียมตัวก่อนแข่งขัน ก็ทำให้ทราบว่าทั้งคู่มีความสอดคล้องกันมาก และเธอเชื่อว่านั่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทั้งสองคนสามารถคว้ารางวัลมาครองได้สำเร็จ 

กัญจนี ศุภวิทยากัญจนี ศุภวิทยา

“พวกเขามีความเอื้ออาทรต่อกัน มีการแนะนำซึ่งกันและกันก่อนที่จะแข่งขัน แล้วหลังจากแข่งเสร็จ เราก็สังเกตว่าเขาจะคุยกันนอกรอบว่าเป็นอย่างไร หนูพูดเป็นยังไง พี่พูดเป็นยังไง จุดดีจุดเสียของเราเป็นอย่างไร เพื่อจะพัฒนาในครั้งต่อ ๆ ไป” กัญจนีกล่าว 

เช่นเดียวกับกัญจรีย์ที่ย้ำว่า “ทีมเวิร์ก” คือสิ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่กล้าคิดกล้าทำ และมีไอเดียที่จะช่วยเหลือสังคมได้ ดังนั้น การทำงานร่วมกัน การสนับสนุนกัน และการส่งเสริมศักยภาพของเยาวชนก็จะทำให้สังคมไทยพัฒนาไปได้ไกลมากขึ้น 

ท่านอธิการิณีเซอร์ เซเลสตินา กิจเจริญ ท่านอธิการิณีเซอร์ เซเลสตินา กิจเจริญ

“ถ้าคอมมูนิตี้มีความเป็นทีมเวิร์ก เราก็จะทำทุกอย่างสำเร็จได้เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้ามีไอเดียอะไรที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่าคิดว่าเป็นแค่ความฝันหรือเป็นแค่ไอเดีย เพราะบางทีมันอาจจะนำมาพัฒนาได้ และเราก็อยากให้พูดมันออกมาเลย นำเสนออกมา เพราะทุกไอเดียเป็นไปได้” รดากล่าวทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook