“Indentation Error” ไม่ใช่เด็กเรียน แค่เป็นเซียนในทางที่ใช่

“Indentation Error” ไม่ใช่เด็กเรียน แค่เป็นเซียนในทางที่ใช่

“Indentation Error” ไม่ใช่เด็กเรียน แค่เป็นเซียนในทางที่ใช่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อพูดถึงกลุ่มเด็กที่เรียกว่า “เนิร์ด” ภาพจำของหลายคนคงหนีไม่พ้นเด็กสวมแว่นสายตากรอบหนา ใช้ชีวิตอยู่กับตำราเรียน เข้าสังคมไม่เก่ง แต่เรียนเก่งระดับหัวกะทิของประเทศ ซึ่งเป็นภาพที่ถูกผลิตซ้ำในสื่อบันเทิงต่างๆ อย่างไรก็ตาม การเหมารวมเด็กเนิร์ดตามภาพจำเช่นนี้ก็อาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะเด็กกลุ่มนี้อาจจะไม่ใช่เด็กที่เก่งแต่ในตำราเรียนเท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่ง เด็กกลุ่มนี้คือคนที่ค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบและศึกษา ฝึกฝน จนเชี่ยวชาญก็เป็นได้

Sanook ได้พูดคุยกับทีม Indentation Error 3 นักเรียนจากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Achievement Onboard Award ระดับเอเชีย จากการแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์อวกาศ ในโครงการ The 2nd Kibo Robot Programming Challenge ซึ่งจัดโดยองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2564 ถึงแง่มุมของ “เด็กเรียนเก่ง” ที่ใครหลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้ ทว่าคำตอบที่ได้จากพวกเขาคือ พวกเขาไม่ใช่เด็กที่เรียนเก่งที่สุด แต่เป็นเด็กที่ค้นพบว่าตัวเอง “แค่เป็นคนที่ชอบเขียนโปรแกรม”

(จากซ้าย) ธฤต วิทย์วรสกุล, เสฎฐพันธ์ เหล่าอารีย์, กรปภพ สิทธิฤทธิ์, (จากซ้าย) ธฤต วิทย์วรสกุล, เสฎฐพันธ์ เหล่าอารีย์, กรปภพ สิทธิฤทธิ์

“พวกผมไม่ใช่เด็กเรียนเก่งที่สุด”

“จริงๆ ผมไม่ได้เป็นเด็กที่เรียนเก่งที่สุดของห้องครับ มีเด็กที่เก่งกว่าผมเยอะ พวกสายที่จะไปเป็นหมอ พวกนี้คือวิชาการแน่นกว่าเยอะ แต่ว่าส่วนตัวผมจะได้เรื่องการปฏิบัติมากกว่า พวกการเขียนโปรแกรม หุ่นยนต์” ธฤต วิทย์วรสกุล พี่ใหญ่ของทีมกล่าว เช่นเดียวกับน้องร่วมทีมอีก 2 คน ที่ยืนยันว่าพวกเขาไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง แต่เป็นคนที่สนใจและชื่นชอบการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์

ธฤตอธิบายว่า เด็กเรียนเก่งส่วนใหญ่ที่เขารู้จัก จะเป็นคนที่เก่งด้านวิชาการ ทำคะแนนสอบในห้องเรียนได้ดี รวมถึงสามารถสอบแข่งขันในสนามใหญ่ๆ อย่างโอลิมปิกวิชาการได้ ทว่าตัวเขาเองไม่ได้อยู่ในเด็กกลุ่มนี้

กรปภพ สิทธิฤทธิ์ สมาชิกอีกคนหนึ่งของทีมระบุว่า “คนที่เรียนเก่งกว่าก็คือคนที่พยายามมากกว่า เขาพยายามไปในทางที่เขาชอบมากกว่า มีคนเก่งชีววิทยามากกว่าผมอยู่แล้ว เพราะว่าเขาก็ตั้งใจเรียน อยากไปทางสายหมอ คนที่ชอบเรียนฟิสิกส์ก็เรียนของเขาเรื่อยๆ ไปของเขาเรื่อยๆ ก็เหมือนที่ผมเขียนโปรแกรม ก็ชอบคนละทางมากกว่า”

เช่นเดียวกับเด็กวัยรุ่นทั่วไป กิจกรรมยามว่างของทั้งสามคนคือการอ่านหนังสือการ์ตูนและเล่นเกมออนไลน์ ทว่าความสนใจของพวกเขากลับขยายออกไปจากความบันเทิงในการเล่นเกม สู่ความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับโลกของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และการเขียนโปรแกรมก็กลายเป็น “งานอดิเรก” อีกอย่างหนึ่งของเด็กกลุ่มนี้

“ปกติผมก็เล่นเกมกับเพื่อนๆ แหละครับ แล้วพอเล่นเกมมากๆ ผมก็อยากรู้เรื่องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มากขึ้น ก็เลยลองหาข้อมูลเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมดู ก็เลยออกมาเป็นแบบนี้ครับ” เสฎฐพันธ์ เหล่าอารีย์ น้องคนเล็กของทีมกล่าว

เมื่อถามถึงไอดอลหรือบุคคลที่พวกเขายึดถือเป็นแบบอย่าง ทั้งสามคนตอบตรงกันว่า ไอดอลของพวกเขาคือ “นายอาร์ม” ยูทูบเบอร์และอินฟลูเอนเซอร์สายไอที ที่มีความสามารถด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ธฤตเองก็ยังยกย่องให้ทีมผู้พัฒนา “แป้นพิมพ์มนูญชัย” เป็นไอดอลอีกด้วย เนื่องจากแป้นพิมพ์ดังกล่าวช่วยให้ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์สามารถใช้มือทั้งสองข้างอย่างสมดุล ทำให้สามารถพิมพ์ได้เร็วขึ้นถึง 45% ในขณะที่แป้นพิมพ์แบบเดิม ผู้ใช้งานต้องใช้มือขวาในการพิมพ์มากกว่ามือซ้าย และทำให้พิมพ์ได้ช้าลง

“อีกคนที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจก็คือคนที่คิดแป้นพิมพ์มนูญชัย ที่เป็นเลย์เอาต์ใหม่ เพราะเขาเห็นว่ามันเป็นปัญหาในประเทศไทย ที่แป้นพิมพ์มันพิมพ์ยาก แล้วเขาก็ลงมือที่จะแก้ปัญหานี้ เป็นการแก้ปัญหาเพื่อคนหมู่มาก” ธฤตกล่าว

ด้านกรปภพก็กล่าวว่า นอกจากนายอาร์มแล้ว เขายังมีธฤตเป็นไอดอลเรื่องความพยายาม และธฤตก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กรปภพสนใจเรื่องการเขียนโปรแกรมด้วย

“ตอนแรกผมก็เริ่มจากทำในคาบหุ่นยนต์ในแผนการเรียน STEM ตอน ม.ต้นก่อน ก็ไปลองจับ ลองสัมผัสดู ก็ลองเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ไปเรื่อยๆ ตอนแรกมันก็เริ่มมาจากที่ผมมีงานค้าง ก็มานั่งทำหลังเลิกเรียน ก็เห็นพี่ธฤตนั่งทำงานของเขาอยู่ แล้วผมก็ลองไปทำตามเขาดู ทำไปเรื่อยๆ อยู่ๆ มันก็ชอบไปเลย แล้วก็ชอบเห็นสิ่งที่ตัวเองเขียนไปแล้วก็เป็นจริงขึ้นมา เหมือนเราได้สร้างอะไรสักอย่าง แล้วเราก็ภูมิใจกับมัน” กรปภพกล่าว

ความเจ๋งของการเขียนโปรแกรม

“จุดที่ผมชอบการเขียนโปรแกรมเลยก็คือ ผมรู้สึกว่าการเขียนโปรแกรม พอเราเขียนไปแล้วรอบหนึ่ง มันก็ทำงานต่อไปได้เรื่อยๆ ทีนี้เราก็เอามาเขียนในงานที่มันต้องทำซ้ำๆ เราก็เขียนโปรแกรมขึ้นมาให้มันทำงานแทนคนได้ แล้วเราก็เอาเวลาไปทำอย่างอื่น แล้วผมก็รู้สึกว่า เออ มันเจ๋งดี ที่อยู่ดีๆ เราก็สามารถไปควบคุมคอมพิวเตอร์หรือควบคุมหุ่นยนต์ที่มันเป็นอุปกรณ์อีกอย่างหนึ่งที่ทำงานตามที่เราต้องการได้ครับ” ธฤตกล่าวถึงเสน่ห์ของการเขียนโปรแกรม

“การเขียนโปรแกรมมันเหมือนเป็นเรื่องที่ฟิกซ์ตายตัวไปเลย ถ้าทำถูกมันก็ถูกไปเลย มันไม่มีที่เราทำถูกแล้วมันจะมาผิดกลางคันไม่ได้ มันอยู่ที่เราหมดแล้ว” เสฎฐพันธ์เสริม

ธฤตอธิบายว่า โปรแกรมที่ดีในมุมมองของเขา คือต้องเป็นโปรแกรมที่สามารถทำงานได้ตามหน้าที่ที่ต้องทำได้ รวมทั้งสามารถทำงานได้ดี ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์แบบใดก็ตาม เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญก็คือ โปรแกรมเมอร์จะต้องเขียนดักทางปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ครบทุกรูปแบบ

“อีกเรื่องหนึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องคุณภาพของโค้ด หรือว่าการเขียนโค้ดให้เรากลับมาอ่านอีก 2 อาทิตย์ แล้วก็อ่านรู้เรื่องว่าบรรทัดนี้มันทำอะไร ถ้าสมมติเราเขียนแบบไม่ได้คิดอะไรมา เสิร์ชในเน็ตแล้วก็อปมาแปะ โดยที่ไม่วางโครงสร้างให้มันดีๆ เวลาย้อนกลับมาเราก็อาจจะงงว่าตรงนี้มันจะทำอะไร แล้วเวลาแก้ มันจะยาก สุดท้ายคือการเลือกใช้อัลกอริธึมที่มันทำงานได้เร็ว เพราะยิ่งถ้าเราเขียนโปรแกรมอะไรที่มันใช้ไปอีกนานๆ หรือว่ามีคนใช้เยอะๆ การที่โปรแกรมเรารันได้เร็วก็จะเป็นเรื่องที่ดีครับ” ธฤตอธิบาย

เส้นทางของว่าที่โปรแกรมเมอร์

เมื่อถามถึงเป้าหมายในอนาคต ทั้งสามคนมองถึงการศึกษาต่อด้านคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจจะเป็นวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์ รวมทั้งพยายามทดลองทำหลายสิ่งหลายอย่าง เพื่อค้นหาตัวเองต่อไป

“ผมอยากทำในลักษณะที่เป็นแพลตฟอร์ม หรือว่าเป็นผลิตภัณฑ์อะไรสักอย่างที่คนใช้ทั้งโลกน่ะครับ คือตอนนี้ผมก็ยังไม่มั่นใจว่ามันจะออกมาในแนวทางไหน อาจจะเป็นโซเชียลมีเดียเหมือน Facebook หรือว่า Search Engine อย่าง Google แต่ว่าตอนนี้เทรนด์ Metaverse ก็มาแรง ผมก็สนใจในแนว Blockchain หรือ Metaverse ผมก็มองว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจ ลองเอาพวก Blockchain มาจับ มันก็น่าสนใจดีเหมือนกัน”

“Google บริษัทอยู่อเมริกา ทำไมคนใช้กันทั่วโลก เราเดินทาง เราใช้ Google Map แล้ว Google Map ของอเมริกา ทำไมมันรู้จักถนนเมืองไทยดีกว่าคนไทยอีก ผมก็รู้สึกว่าเราก็น่าจะทำอะไรแบบนั้นได้บ้าง” ธฤตกล่าว

เสียงของเด็กสายปฏิบัติ

แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว ขึ้นชื่อว่า “เด็กสายวิทยาศาสตร์” ก็มักจะได้รับเสียงชื่นชมจากสังคมและการสนับสนุนจากภาครัฐอยู่เสมอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การสนับสนุนต่างๆ กลับโฟกัสไปที่นักเรียนที่มีความสนใจหรือความถนัดด้านวิชาการมากกว่าเด็กที่เน้นการปฏิบัติจริง อย่างการเขียนโปรแกรม ซึ่งธฤตกล่าวว่า

“ผมอยากให้มีการสนับสนุนเด็กที่เน้นด้านการปฏิบัติ อย่างเขียนโปรแกรมแข่งขัน หรืออะไรมากขึ้น เพราะว่าสังเกตในปัจจุบัน การที่จะได้ทุนเรียนต่อ หรือทุนรัฐบาลที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ มันก็จะเป็นข้อสอบซะส่วนใหญ่ หรือว่าพวกทุนที่มีอยู่ก็อาจจะเป็นเด็ก สวอน. เรียนได้ทุน ซึ่งผมรู้สึกว่ามันยังไม่มีอะไรมารองรับเด็กที่ทำผลงานในด้านนี้ ที่มันเป็นลักษณะของ hands on หรือว่าการปฏิบัติ ส่วนใหญ่ก็จะเน้นได้ทุนจากผลการสอบมากกว่า”

ด้านกรปภพมองว่า ควรมีการสนับสนุนด้านบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการเขียนโปรแกรมให้มากขึ้น โดยเฉพาะในโรงเรียนอื่นๆ

“โรงเรียนผมมีครูที่ดีมากๆ เลยครับ ให้คำปรึกษาได้ ก็อยากให้ทุกโรงเรียนได้มีโอกาสเท่าๆ กัน ที่ได้ครูที่ดี เพราะว่าผมไม่มั่นใจว่าโรงเรียนอื่นเป็นอย่างไร แต่ว่าถ้าไม่มีครูที่ดีมากหรืออะไรมาก ก็อยากให้ได้ช่วยสนับสนุนทางนี้ครับ”

สำหรับเสฎฐพันธ์ เขามองว่าสิ่งที่จำเป็นสำหรับนักเรียนเขียนโปรแกรมของไทย คือสื่อการเรียนการสอนที่เป็นภาษาไทย เพราะที่ผ่านมา พวกเขาเรียนรู้จากสื่อต่างประเทศเป็นหลัก และต้องแปลมาเป็นภาษาไทย หากมีบุคลากรของไทยที่เชี่ยวชาญเรื่องการเขียนโปรแกรมมาทำสื่อการเรียนการสอนภาษาไทยบ้าง ก็จะช่วยได้ไม่น้อยทีเดียว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ “Indentation Error” ไม่ใช่เด็กเรียน แค่เป็นเซียนในทางที่ใช่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook