“Nine Lives” แรงบันดาลใจจากแมวของ “ทรงศีล ทิวสมบุญ”

“Nine Lives” แรงบันดาลใจจากแมวของ “ทรงศีล ทิวสมบุญ”

“Nine Lives” แรงบันดาลใจจากแมวของ “ทรงศีล ทิวสมบุญ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • ทรงศีล ทิวสมบุญ เป็นศิลปินและนักเขียน เจ้าของผลงานซีรีส์นิยายภาพ “ถั่วงอกกับหัวไฟ” และ “Nine Lives”
  • หนังสือ “Nine Lives” และ “Nine Lives: The Broken Song” เป็นผลงานที่เล่าเรื่องโลกและชีวิตผ่าน "แมว" รวมทั้งสะท้อนการเติบโตและแง่มุมด้านสว่างของตัวผู้เขียน
  • นิทรรศการ “Nine Lives” จัดแสดงผลงานภาพวาดจากหนังสือ “Nine Lives” และ “Nine Lives: The Broken Song” เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจไปยังผู้ชมงาน เช่นเดียวกับที่ตัวทรงศีลเคยได้รับแสงสว่างจากผลงานทั้งสองชิ้นนี้

ในหมู่นักอ่านผู้หลงใหลนิยายภาพ หรือ Graphic Novel "ทรงศีล ทิวสมบุญ" ถือเป็นศิลปินฝีมือเยี่ยมที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เขามีจุดเริ่มต้นจากความรักในการวาดภาพ และค้นพบว่าการวาดภาพเป็นเหมือนเพื่อนสนิท ซึ่งมอบพื้นที่ปลอดภัยในการทำงานและการใช้ชีวิต จนกระทั่งเขามีโอกาสทำงานเขียน และกลายเป็นทั้งศิลปินนักวาดภาพและนักเขียนอิสระในที่สุด

ในระยะเวลากว่า 10 ปี ทรงศีลให้กำเนิดผลงานนิยายภาพและนวนิยายมากมาย ทั้งซีรีส์นิยายภาพที่หม่นมืดแต่น่าติดตามอย่าง “ถั่วงอกกับหัวไฟ” รวมทั้งคาแรกเตอร์นักดนตรีปีศาจอย่าง “บ็อบบี้ สวิงเกอร์” ไปจนถึงผลงานละเมียดละไม อย่าง “Nine Lives” และ “Nine Lives: The Broken Song” ก่อนจะจับมือกับภรรยาคู่ชีวิต ก่อตั้งสำนักพิมพ์ SongsinThings และส่งนวนิยายเล่มแรกในชีวิตอย่าง “รอยสนธยา” เข้าสู่รอบ shortlist ชิงรางวัลซีไรต์ เมื่อปี 2564

หลังจากทำงานหนังสือมานานหลายปี กลางปีนี้ ทรงศีลได้นำเอาภาพวาดจากนิยายภาพ “Nine Lives” และ “Nine Lives: The Broken Song” มาจัดแสดงในนิทรรศการเดี่ยว ที่มีชื่อว่า “Nine Lives” ซึ่งจัดขึ้นในพื้นที่ชั้น 1 ของห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม

ทรงศีล ทิวสมบุญทรงศีล ทิวสมบุญ

เมื่อ "แมว" เล่าเรื่องคน

เสน่ห์อย่างหนึ่งของบรรดาตัวละครที่ทรงศีลสร้างขึ้น คือความมีชีวิต ซึ่งเขาเปิดเผยกับ Sanook ว่า ตัวละครบางตัวเกิดขึ้นจากส่วนหนึ่งของตัวเขา ในขณะที่บางตัวเป็นเหมือน “ลูก” ที่เขาให้กำเนิด ซึ่งเหล่าตัวละครใน “Nine Lives” จัดอยู่ในกลุ่มนี้

“Nine Lives” เล่ม 1 เป็นนิยายภาพขาวดำ ที่บอกเล่าเรื่องราวการผจญภัยของแมวหลากหลายชีวิต แต่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปของโลกและชีวิตของมนุษย์ โดยมีตัวละครหลักเป็นแมวดำและแมวสีเทา ทรงศีลอธิบายว่า การที่เขาเลือกเล่าเรื่องโลกและชีวิตผ่าน “แมว” ส่วนหนึ่งก็เพราะความผูกพันกับแมวตั้งแต่วัยเด็ก และคุณสมบัติอันลี้ลับของสัตว์ชนิดนี้

“แมวมีความลึกซึ้งแล้วก็อ่อนไหวมากพอที่จะเป็นตัวแทนของมนุษย์ในหลายๆ แง่มุม เพราะจริงๆ แล้ว แมวในเรื่องนี้ก็มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนมนุษย์ เพียงแค่อยู่ในรูปลักษณ์ของแมว แต่ผมรู้สึกว่าทุกครั้ง เวลาเรามองไปที่ตาแมวที่เราเลี้ยง เรารู้สึกว่า ในขณะเดียวกันกับที่อยู่กับเราตรงนี้ เขามีโลกอีกใบซ้อนอยู่กับเขา หนังสือของเราก็เป็นเช่นนั้น มันเหมือนเป็นโลกคู่ขนานกับโลกที่เราอาศัยอยู่”

นอกจากความรักและความผูกพันกับแมวแล้ว “Nine Lives” เล่มแรกนี้ ยังเป็นผลงานที่ทรงศีลเขียนขึ้นเพื่อเยียวยาตัวเองในขณะที่ยังเป็นวัยรุ่นด้วย ซึ่งเขาเล่าว่า ตอนนั้นเขาไม่ได้คิดถึงความสำเร็จหรือสิ่งตอบแทนใดๆ เพียงแต่ต้องการทำอะไรสักอย่างเพื่อสร้างแสงสว่างให้ตัวเองและผู้อื่น ทว่าสุดท้าย “Nine Lives” เล่มแรกกลายเป็นหนึ่งในผลงานสร้างชื่อของทรงศีล และทำให้นักอ่านรู้จักเขาในมุมที่เป็นด้านสว่าง ซึ่งแตกต่างจากผลงานที่ผ่านมา



Nine Lives: The Broken Song

10 ปีผ่านไป หลังจากสร้างสรรค์ “Nine Lives” เล่มที่ 1 ทรงศีลให้กำเนิด “Nine Lives: The Broken Song” ซึ่งเป็นภาคต่อจากเล่มแรก ทว่าด้วยวัยและประสบการณ์จากสิ่งที่พบเจอ ทำให้เขามองชีวิตเปลี่ยนไป และนั่นทำให้ในเล่มที่สองนี้ เขาเลือกเล่าเรื่องความรักผ่านตัวละครแมวสีเทาผู้มีชีวิตอมตะแต่ไร้หัวใจ โดยมุ่งนำเสนอเรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในแง่ความหมายและความรู้สึก

“ผมคิดว่าแมวสีเทาเป็นตัวละครที่เหมาะที่สุดกับช่วงเวลาที่เราเขียนเล่มสอง เพราะว่าถ้าพูดอย่างซื่อสัตย์จริงๆ ก็คือ สิ่งที่เขาตามหา ตัวเราเองก็ตามหาเหมือนกัน ในเรื่อง แมวสีเทาเขาเป็นอมตะ แต่เขายังตามหาความรู้สึกอยู่ ความรู้สึกที่แมวสีเทาตามหาอยู่คือความรัก เพราะว่าเขาได้เอาหัวใจไปแลกกับความเป็นอมตะมา สิ่งที่เราตามหาอาจจะเป็นความรักเหมือนกัน แต่เป็นความรักที่มีต่องาน ในแบบที่ตัวเราตอนเป็นวัยรุ่นเคยเป็น แล้วเรารู้สึกว่าเราเสียบางส่วนไป



บางช่วงเวลาในการทำงานศิลปะของทรงศีล มีการปะทะกันระหว่าง “เสียงภายใน” คือตัวตนของตัวเอง และ “เสียงของโลกภายนอก” คือเสียงของคนรอบข้าง ที่ผลักให้เขาต้องทำงานโดยมุ่งไปที่รายได้ จนทำให้หลายครั้งต้องมองข้ามความเป็นตัวเองไป และในช่วงเวลาสิบกว่าปีที่เขาทำงาน บางครั้งเสียงของโลกภายนอกก็ดังจนเกือบจะกลบเสียงหัวใจของเขา

“ผมคิดว่า “ถั่วงอกกับหัวไฟ” เล่มที่หนึ่งเป็นหนังสือเล่มเดียวที่ไม่มีเสียงของโลกภายนอกเลย เพราะว่าเรายังไม่เป็นที่รู้จักใดๆ แต่พอหลังจากนั้น ไม่มีผลงานชิ้นไหนที่เราจะทำงานโดยปราศจากเสียงภายนอกได้ เพราะว่ามันก็สื่อสารกับโลกไปแล้ว บางอย่างมันก็สูญเสียไป มันถูกสั่นคลอนเหมือนกันว่า ตอนนี้เรากับงานเป็นเพื่อนกันแบบไหน ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันหรือเปล่า หรือว่าเราเลยจุดนั้นมาแค่ไหนแล้ว มันก็เหมือนการตามหาของแมวสีเทาเหมือนกัน หนังสือเล่มนี้ก็เหมือนการเดินทางอีกครั้ง เพื่อหาคำตอบให้ตัวเอง”



เมื่อผู้เขียนเติบโตขึ้น ความรู้สึกและเนื้อหาในเรื่องก็ซับซ้อนขึ้น ดังนั้น จากเล่มแรกที่ใช้ขาวดำเป็นหลัก เมื่อมาถึงเล่มที่สอง “Nine Lives: The Broken Song” จึงจัดทำขึ้นด้วยภาพสีทั้งหมด พร้อมรูปเล่มที่ใหญ่ขึ้นเพื่อสื่อความหมายผ่านภาพได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

“มันจะมีอยู่ภาพหนึ่งที่ผมตั้งชื่อว่า Tender Autumn ทุกอย่างเป็นสีเหลือง เป็นฤดูใบไม้ร่วงที่สวยงาม แล้วก็เป็นภาพที่เต็มไปด้วยความรัก ภาพนั้นเราจำได้ว่าเราฟังเพลง Yellow ของ Coldplay วนไปเรื่อยๆ เพราะเราอยากให้ความรู้สึกมันอยู่ตรงนั้น มันเป็นความรักที่ซับซ้อน มันไม่ได้มีแค่หลงรักอย่างเดียว มันเริ่มเลยไปถึงจุดริษยาบางอย่าง ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว” ทรงศีลเล่า



ส่งต่อเวทมนตร์ในนิทรรศการ Nine Lives

หากเทียบกับ “ถั่วงอกและหัวไฟ” ซึ่งเติบโตมาอย่างยาวนานในแวดวงนักอ่านด้วยจำนวนภาคต่อถึงเก้าเล่ม “Nine Lives” ทั้งสองเล่มอาจไม่ใช่นิยายภาพเรื่องยาว ทว่าเหตุผลที่เขาเลือกภาพวาดจาก “Nine Lives” มาจัดแสดงเป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก ก็เพราะว่า เขาต้องการส่งต่อ “เวทมนตร์สีขาว” ไปยังผู้ชมคนอื่นๆ

“มันเป็นหัวใจด้านสว่างที่สุด แล้วก็สามารถจะเป็นเหมือนเวทมนตร์สีขาวสำหรับคนอื่นๆ ได้ ถ้าใครมาถามว่าจะเริ่มอ่านหนังสือเราเล่มไหนดี เรามักจะแนะนำ “Nine Lives” เพราะอยากให้เขาได้เวทมนตร์สีขาวอันนี้ไป เราเคยได้รับการช่วยชีวิตเอาไว้จากหนังสือเล่มนี้ ก็เลยรู้สึกว่ามันจะทำหน้าที่นั้นกับผู้ชมได้

อย่างไรก็ตาม ทรงศีลกล่าวว่า เขาไม่อาจประเมินได้ว่าผลงานภาพวาดและประติมากรรมของเขาที่จัดแสดงในนิทรรศการจะทำงานกับหัวใจของผู้ชมแต่ละคนอย่างไร แต่เขาขอเพียงให้ผู้ชมได้ “รู้สึก” ไปกับผลงานที่เขาบรรจงสร้างสรรค์ขึ้น

“ผมคุยกับคนที่แวะมาชมงาน ถามว่ารู้สึกอย่างไร บางคนก็รู้สึกกับภาพเดียวกันในมุมที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ผมคิดว่าตรงนี้น่าสนใจ สำหรับตัวเราด้วยนะ เขาจะมาชมโดยไม่ต้องซื้ออะไรเลยก็ได้ แต่เราอยากคุยกับเขาว่าเป็นอย่างไรบ้างครับ รู้สึกอย่างไรบ้าง ฉะนั้น เราเลยให้ความสำคัญมากว่า สารที่เราสื่อออกไป นอกจากเข้าใจอะไรบางอย่างแล้ว อยากให้รู้สึกกับมันด้วย เพราะความรู้สึกมันมีพลังมากกว่าในการที่จะลงมือทำสิ่งดีๆ จากความเข้าใจ”



เสียงหัวใจจะนำทาง

แม้หลายคนจะมองว่าทรงศีลเป็นศิลปินคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จด้วยการทำงานศิลปะ แต่สำหรับเขา งานศิลปะเป็นเหมือนเวทมนตร์ที่ส่งผ่านไปยังผู้คนในรูปแบบการบันทึกเรื่องราวจากตัวตน ความรู้สึกนึกคิด และความปรารถนาต่างๆ ซึ่งเขาบันทึกมันอย่างเรียบง่ายและซื่อสัตย์ที่สุด นั่นทำให้เขาสามารถเดินอยู่บนเส้นทางศิลปะได้จนถึงทุกวันนี้

“ในชีวิตคนเราน่ะ เราทำงานอย่างซื่อตรงได้ยาก เมื่อมีโลกมาบอกว่าสิ่งต่างๆ ควรจะทำอย่างไร หนังสือควรจะเป็นอย่างนี้ๆ มันก็ทำให้เราไปติดกับอะไรบางอย่างได้เหมือนกัน ติดกับความน่าจะเป็น ติดกับสิ่งที่กำลังนิยมอยู่ ติดกับเสียงรอบข้าง จนบางทีเราลืมสิ่งที่ง่ายที่สุดว่า แค่เราฟังเสียงข้างในดีๆ ฟังตัวเราเองดีๆ หรือฟังสิ่งที่เรารักเหมือนกับเขาเป็นเพื่อน เขาจะนำทางเราไป โดยที่เราแทบไม่ต้องพยายามเป็นสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวเราเลยก็ได้ แล้วบางทีอันนี้แหละ ที่มันจะดีที่สุด เป็นธรรมชาติที่สุด แข็งแรงที่สุด

อัลบั้มภาพ 47 ภาพ

อัลบั้มภาพ 47 ภาพ ของ “Nine Lives” แรงบันดาลใจจากแมวของ “ทรงศีล ทิวสมบุญ”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook