บันไดสู่การเป็นเชฟในต่างแดน

บันไดสู่การเป็นเชฟในต่างแดน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บันไดสู่การเป็นเชฟ ในต่างแดน ตอนที่ 1 สำหรับคนที่ไม่ได้เรียนเชฟ

เชฟ เป็นงาน หรือ อาชีพในฝันของใครหลาย ๆ คน แม้แต่ตัวผู้เขียนเอง ก็หลงใหลและมีความรักในอาชีพนี้ โดยเฉพาะคนที่ชอบทำอาหาร และรู้ว่าตัวเองมีพรสวรรค์ด้านนี้ ส่วนใหญ่ ก็จะเลือกศึกษาด้านการครัวและภัตราคารโดยตรง หลักสูตรส่วนใหญ่มีตั้งแต่ 2 ปี ต่อเนื่อง ไปจนถึง 4 ปี ในกรณีสำเร็จขั้นปริญญาตรี ค่าหลักสูตรก็ค่อนข้างสูง แต่ถามว่าแล้วสำหรับคนที่ไม่ได้เรียนด้านนี้มาโดยตรงละ แต่พึ่งจะมารู้ตัวทีหลังว่าตัวเองมีความชอบและอยากมีอาชีพเป็นเชฟ ยังจะมีโอกาสทำงานด้านนี้อยู่ไหม ขอตอบจากประสบการณ์ส่วนตัวเลย ว่ามีแน่นอน ถ้าคุณเป็นคนที่มีใจรักในการทำอาหารและมีความมุ่งมั่น ความฝันก็ไม่น่าจะไกลเกินเอื้อม โดยผู้เขียนจะขอเล่าจากประสบการณ์คร่าว ๆ เผื่อว่าผู้อ่านท่านใดที่สนใจอาจจะนำไปใช้เป็นแนวทางได้บ้าง ปัจจุบันตัวผู้เขียนเองทำงานเป็นเชฟอยู่โรงแรม ชื่อดังแห่งหนึ่ง ในเมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ภัตราคารที่ทำอยู่ในโรงแรมเป็นภัตราคารที่มีชื่อเสียง คือ White restaurant เป็นร้านอาหารที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกละแต่อันนี้ต้องยกให้กับฝีมือในการทำอาหารและออกแบบเมนูของเจ้านายเชฟใหญ่เค้า ถามว่าเรียนเชฟมาโดยตรงไหม ขอตอบเลยว่าไม่ได้เรียนคะ เรียนทางด้าน บริหารธุรกิจ และเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่พักใหญ่ๆ แต่มีใจรักในด้านการทำอาหารและมีความสุขกับการทำอาหารมาก มีความใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็นเชฟและมีร้านอาหารเป็นของตัวเอง ทำงานสอนหนังสืออยู่ จนถึงจุดอิ่มตัวก็อยากจะเรียนภาษาเพิ่มและในใจก็ฝันอยากจะเป็นเชฟเพราะชอบทำอาหาร และต้องการมีประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิมๆ ก็เลยสมัครลงเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ ที่เมืองโอ๊คแลนด์ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นเมืองท่า และเป็นเมืองที่มีนักศึกษาจากหลายๆ ประเทศเข้าไปศึกษาต่อกันมาก เรียกได้ว่าเดินๆ อยู่ที่ถนนมีแต่นักศึกษาเดินขวักไขว่เต็มไปหมด ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของผู้มีอันจะกินที่ส่งลูกหลานไปเรียนทั้งนั้นเลยคะ แต่ตัวผู้เขียนเองไม่ใช่นะคะ ไปด้วยทุนของตัวเองที่เก็บหอมรอมริบมาตั้งแต่เริ่มทำงานคะ ทุนติดตัวไปก็ค่อนข้างน้อยเพราะจ่ายค่าลงทะเบียนเรียน ครอสภาษาอังกฤษไป 6 เดือนคะ เรียนสัปดาห์ละ 5 วัน หยุดเสาร์อาทิตย์ เหมือนบ้านเราเลย ภายในห้องเรียนก็จะมีหลากหลายชาติ หลายภาษา แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาติที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ อันนี้ก็แต่นอนละ เรียนอยู่ได้สองเดือน เงินที่ติดตัวมาก็เริ่มร่อยหลอลงเรื่อยๆ ทำยังไงดี ภาษาก็ยังไม่ค่อยดีเท่าไร แต่ก็พอเอาตัวรอดได้ เลยปรึกษากับที่ปรึกษาประจำโรงเรียน ขอบอกก่อนว่าเกือบจะทุกๆ โรงเรียนส่วนใหญ่จะจัดให้มีที่ปรึกษาประจำชาติหนึ่งคน ไว้คอยให้คำแนะนำเกือบจะทุกๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนั้นๆ หรือเรื่องส่วนตัว เรื่องเรียน เอาเป็นว่าเน้นให้นักเรียนที่ไกลบ้านไปเรียนที่นั่นแล้วเกิดความอบอุ่นใจ ก็เลยคุยกับพี่เค้าว่าต้องการจะหางานพิเศษทำหลังเลิกเรียน พี่เค้าก็ให้คำปรึกษาได้เป็นอย่างดี แนะนำให้ไปทำร้านอาหารไทย เป็นเด็กเสริ์ฟอาหารในร้าน รายได้อยู่ที่ประมาณ 50 เหรียญต่อวัน ซึ่งเทียบแล้วก็ถือว่าค่าจ้างที่น้อยกว่ามาตรฐานมากเลย เพราะโดยส่วนใหญ่ตามกฎหมายนิวซีแลนด์ต้องจ่ายอยู่ที่ 12 เหรียญต่อชั่วโมงแต่นักเรียนที่เข้าไปเรียนยังต่างประเทศใหม่ๆ ก็จะรับทำ แม้ค่าจ้างจะน้อยเพราะส่วนใหญ่ยังไม่รู้ช่องทาง คิดอยู่อย่างเดียวว่าต้องการทำงานเพื่อให้อยู่ได้ ขอให้มีงานทำมีข้าวกินก็ดีมากแล้ว สำหรับตัวผู้เขียนนั้นแอบหวังในใจอยู่ทำงานในร้านอาหารก็ดีจะได้เก็บเอาไว้เป็นแนวทางเผื่อวันหนึ่งอาจับพลัดจับผลูได้เป็นเชฟเหมือนที่ใจหวังเอาไว้ เริ่มงานตั้งแต่หลังเลิกเรียน บ่าย 4 โมงเย็นจนถึงร้านปิด ส่วนใหญ่จะเลิก 5 ทุ่ม ต้องทำความสะอาดร้านเก็บของเข้าที่ทุกอย่างก็เที่ยงคืนกว่าๆ ได้ เราก็ตกลงจะไปลองทำดู เพราะจะไม่มีตังค์แล้ว จึงตัดสินใจไปสมัครกับพี่คนไทยซึ่งเป็นเจ้าของร้าน นิสัยดี น่ารักมาก ๆ เจ้าของร้านพูดจาดี นิสัยดีอยู่กันสามคนแม่ลูก พอเราไปสมัครก็ถามให้เราทดลองงานเลย ไม่เรื่องมาก ตำแหน่งงานที่รับให้ทำก็คือ พนักงานเสริ์ฟ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของนักเรียนนอกส่วนใหญ่งาน พิเศษนอกเหนือจากเรียนหนังสือก็ไปเป็นพนักงานเสริ์ฟ รูปแบบร้านอาหารเป็นเล็ก ๆ ประมาณ 35 ที่นั่ง หน้าที่หลักๆ เลย ก็คือ ต้องมาถึงที่ร้านก่อน 5 โมงเย็น เพราะร้านจะเปิดตอน 6 โมง ต้องทำความสะอาดห้องน้ำแบ่งเป็นสองห้องชายหญิง เช็ดทำความสะอาดโต๊ะเก้าอี้ ดูดฝุ่น และปูผ้า เซ็ตโต๊ะ อาหาร จาน ช้อน ส้อม แก้วน้ำ เมนู เพื่อพร้อมเสริ์ฟเมื่อลูกค้าเข้ามาใช้บริการ แต่ขอบอกผู้อ่านไว้ก่อนเลยว่าไม่ง่าย กับการที่เราเคยมีอาชีพเป็นครูผู้สอนหนังสือให้ แล้วลาออกมาตายเอาดาบหน้าที่เมืองนอก และขณะกำลังนั่งขัดห้องน้ำในร้านอาหารอยู่ ในใจคิดว่าอยากร้องไห้มาก สงสารตัวเองว่าทำไม จบปริญญา เป็นครูบาร์อาจารย์อยู่ดีๆ จึงอยากออกมาหาเรื่องนั่งขัดห้องน้ำ นี่เราบ้าไปแล้วหรือไงกัน คิดอยู่อย่างนี้ทุกวันเลย ขอบอกว่าตอนแรก ๆ ท้อมาก มักจะเกิดอาการท้อเฉพาะช่วงตอนขัดส้วมอยู่เท่านั้น ทำอย่างอื่นก็โอเค แต่ก็พยายามปลอบใจตัวเองและให้กำลังใจตัวเองเสมอโดยคิดถึงจุดเป้าหมายที่ตัวเองต้องการไปถึง ความท้อก็จะหายไปทันที ขอใช้สำนวนภาษาอักกฤษของเจ้านายที่ชอบพูดเป็นเชิงเตือนสติเสมอ คือ No Pain No Gain ช่วงที่ทำงานอยู่ก็เดินเพ่นพ่านเข้าออกในครัว ครูพักลักจำ ขั้นตอนการปรุงอาหารของแม่ครัว จนพอรู้แนวและเทคนิคต่างๆ ก็มีความคิดในใจอยู่ตลอดเลยว่าทำอย่างไรจึงจะก้าวไปเป็นเชฟได้ และเปิดร้านอาหารเป็นของตัวเอง ก็ภาวนาในใจทุกๆ วันเลย ว่าขอให้แม่ครัวที่ทำอาหารซึ่งเป็นเจ้าของร้านเอง ป่วย เราจะได้เสนอตัวเสียบแทนไงละ ไม่ได้คิดไม่ดีนะ แต่มันเป็นช่องทางสู่ฝันอย่างหนึ่ง เนื่องจากร้านอาหารไทยเล็กๆ ในต่างแดนส่วนใหญ่จะมีเชฟแค่สองคนเท่านั้น ส่วนร้านที่ผู้เขียนทำอยู่ในขณะนั้นมีเชฟเพียงแค่คนเดียวคือเจ้าของร้านเท่านั้น แต่ก็จะมีผู้ช่วยซึ่งได้แก่ ลูกสาวของเจ้าของร้านที่ทำหน้าที่ประจำคือคิดเงินและเสริ์ฟบ้างในเวลาที่ร้านยุ่ง บ่อยครั้งเธอก็จะเข้ามาช่วยในครัว แต่โชคเข้าข้างเราขณะนั้นก็คือเธอท้องอยู่ทำให้ทำอะไรไม่ค่อยฉะนัดนัก เราจึงได้ย้ายมาทำกับข้าวในครัวสมใจ ด้วยความพยายาม ช่วงที่ทำงานเป็นเด็กเสริ์ฟอยู่ก็มาก่อนเวลา แอบ ดูเจ้าของร้านตระเตรียมขั้นตอนการปรุงอาหาร พักหลัง ๆ ก็เข้าไปเสนอตัวช่วย ปอกมัน หั่นฝัก คือทำทุกอย่างเพื่อให้เค้าเห็นว่าเรามีพรสวรรค์ในการทำอาหาร และมีใจรัก ต่อมาก็เลยพูดกับเจ้าของร้านตรงๆ เลยว่าอยากเป็นเชฟ และอยากจะมีร้านอาหารเป็นของตัวเอง ขอย้ายเข้ามาทำในครัวได้ไหม ขอเน้นว่าตอนพูดต้องทำหน้าแบบ จริงจัง มากๆ เลย จากประวัติการเข้ามาช่วยเจ้าของร้านในครัวบ่อยๆ เค้าก็พอเห็นฝีมือและความตั้งใจจริง เค้าก็เลยตกลงให้โอกาส โอ้ยเราดีใจมากเลย แต่ขอบอกว่า งานในครัวหนักกว่างานเสริ์ฟเยอะเลย แต่ถ้าคนเราได้ทำในสิ่งที่เรารัก อีกทั้งสิ่งนั้นเป็นเทางเดินที่จะทำให้เราไปถึงจุดหมายที่เราตั้งไว้แล้ว ไม่มีคำว่าท้อเลย สุดท้ายก็ก้าวเข้ามาเป็นเชฟตามที่ฝันจนได้ การจะก้าวเข้ามาเป็นเชฟแบบถูกต้องตามกฎหมายของต่างประเทศก็ไม่ยากแต่ก็ไม่เท่ากับปลอกกล้วยเข้าปาก อย่างที่คิด ยังต้องมีการพัฒนาตัวเองโดยการไปอบรมหลักสูตรการทำอาหาร ซึ่งขณะที่ทำงานอยู่นั้นก็ยังต้องเจียดเวลาไปอบรมเข้าครอสการทำอาหารต่างๆ เพื่อให้ได้ประกาศนียบัติ ซึ่งส่วนใหญ่ทางรัฐบาลไทยจะเป็นฝ่ายร่วมมือกับทางหน่วยงานต่างประเทศจัดตั้งหลักสูตรการอบรมขึ้นมา ส่วนใหญ่ไม่เสียตังค์ ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยทำให้อาชีพเชฟของเราได้รับการพัฒนาและเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติมากยิ่งขึ้น เนื่องจากชาวต่างชาติส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับใบประกาศทางวิชาชีพมาก ถือว่าเชฟเป็นผู้ประกอบอาหาร เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยโดยตรง เพราะฉะนั้นผู้ที่จะมาทำหน้าที่ปรุงอาหารต้องมีความรู้ในในเรื่องของความปลอดภัยและสุขอนามัยมากพอสมควร โดยทำงานเป็นเชฟอยู่ร้านอาหารไทย อยู่ประมาณหนึ่งปี ก็ต้องขอบคุณพี่เจ้าของร้าน ที่ให้โอกาส และฝึกสอนให้เป็นอย่างดี ได้ความรู้และความแข็งแกร่งมากโขพอสมควร ก่อนอื่นขอเล่าว่าหน้าที่รับผิดชอบในครัวแบบคร่าวตามประสบการณ์มีอะไรบ้าง ผู้อ่านจะได้จินตนาการออกว่าเป็นงานที่หนักอยู่พอสมควร

1. ต้องมาถึงร้านก่อนเจ้าของคะไขกุญแจ เปิดร้าน เจ้าของไว้ใจมากให้กุญแจร้านถือเลย เพราะตอนไม่มีกุญแจเราต้องรอพี่แกนานมากๆ พี่แกก็เลยให้ถือกุญแจซะรู้แล้วรู้รอดไปเลย

2. พอเข้ามาในครัวสิ่งแรกเลย ต้องเปิดไฟก่อน ยกพลาสติกปูพื้นมาปูเพื่อกันลื่นซึ่งหนักมากๆ ประมาณ 20 กิโลกรัมได้ถ้าคิดในแง่บวกก็คือ เป็นการเล่นก้ามและออกกำลังกายไปในตัว

3. เอาซี่โครงไก่ที่แช่แข็งออกมาล้างทำความสะอาด ใส่หม้อเพื่อต้มน้ำซุป ไว้สำหรับผัด หรือแกงหรือเป็นส่วนประกอบของน้ำซุป อันนี้เป็นเคล็ดไม่ลับ ที่ทำให้อาหารเกือบจะทุกจานของร้านอร่อยมากๆ

4. ตรวจเช็คน้ำมัน Deep fry ดูว่ามันยังใช้ได้อยู่รึเปล่า ถ้ามันใช้ไม่ได้ดำมากแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนน้ำมันและต้องล้างเครื่องด้วย ขอบอกว่างานหนักมาก เพราะเครื่อง ไม่ใช่เล็กๆ เลย และส่วนประกอบก็เยอะต้องถอดออกมาที่ละชิ้นแล้วล้างขัด และเช็ดให้แห้งให้ใสปิ้งเลย แล้วจึงเติมน้ำมันถังใหม่ลงไป ซึ่งเป็นถังน้ำมันที่ใหญ่และหนักมากๆ ต้องยกคนเดียวถ้าเจ้าของร้านยังไม่มา

5. เอาผักทั้งหลายในตู้เย็นที่เป็นส่วนประกอบของเมนูในแต่ละจาน ออกมาหั่นเตรียมไว้ให้พอ ผักที่ต้องหั่นได้แก่ ถั่วฝักยาว หอมใหญ่ ต้นหอม หน่อไม้ มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดอ่อน พริกหยวก มันฝรั่ง โคเจ็ก ใบมะกรูดหั่นฝอย พริกแดง ผักใบเขียว แครอท บล็อคโครี่ กระหล่ำดอกกระหล่ำปี เตรียมถั่วงอก แล้วก็แช่เส้นก้วยเตี๊ยว หุงข้าว สามหม้อข้าว ใหญ่ ๆ ใหญ่มากๆ ต้องหุงหลายรอบมากๆ คืนๆ หนึ่งต้องหุงข้าวประมาณ สามรอบ

6. จากนั้นจะเป็นการหั่นเนื้อ ทั้งหลาย อันได้แก่ เนื้อ ไก่ เนื้อแลมหรือแกะ ปลาหมึก

7. จากนั้นเจ้าของก็จะเข้ามาพอดี ใกล้เสร็จ พร้อมที่จะเปิดร้าน เราก็จะต้องทำอาหารให้พนักงานทั้งร้านกินกันก่อน ส่วนใหญ่เป็นเมนูตามใจเรา อันนี้ชอบมาก เลยช่วงที่ปฏิบัติขั้นตอนทั้งหมดตั้งแต่ 1 ถึง 7 อยู่นั้นก็จะมีโทรศัพท์ดังเข้ามาที่ร้านเป็นระยะๆ เรา ก็ต้องออกไปรับ เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าโทรเข้ามาจอง Booking โต๊ะอาหาร

เห็นไหมคะว่าไม่ง่ายเลย ต้องทำเป็นทุกอย่างไม่สบายเหมือนเป็นเชฟอยู่เมืองไทยเลย อาจเพราะค่าแรงถูกจึงจ้างคนมาช่วยได้เยอะ แต่ที่พูดมาทุกขั้นตอนนั้นส่วนใหญ่เราจะทำคนเดียว จะโชคดีอยู่บ้างถ้าเจ้าของร้านมาเร็วก็จะมีสองคนที่ทำ ช่วงที่เราเข้ามาทำครัวแรก ๆ พี่เจ้าของร้านก็ไม่ได้ปล่อยให้ทำเอง จะคอยดูและกำกับอยู่ตลอดเลย แต่พอหลัง ๆ เริ่มเป็นงานมากขึ้นพี่เค้าก็สบายใจ ปล่อยให้เราทำไปก่อนเกือบจะทุกวันเลย แรก ๆ ก็สอนให้ทำแกง ต่อมาเป็นผัด ต่อมาเรื่อยๆ ก็สอนให้ทำทุกอย่างเลย เราถือคติเอาว่ามาทำเพราะต้องการความรู้และแนวทางเพื่อเติมฝันของตัวเอง ไม่ต้องคิดอะไรมากแม้ว่าจะหาขอบเขตสิ้นสุดของงานไม่เจอเลยก็ตาม

จากนั้นก็ทำการเปิดขาย ลูกค้าก็จะเริ่มเข้ามา เยอะมากๆ ทำอาหารกันจนมือเป็นระวิงเลย จนบางครั้งอยากร้องเพลงทศกัณฑ์ ท่านผู้อ่านเคยได้ยินไหม ถ้าฉันมีสิบมือ อย่างทศกัณฑ์ จะเอามาทำกับข้าวให้หมดทั้งสิบมือเลย อันนี้เป็นเพลงแก้เครียดตอนที่เรายุ่งมากๆ บางครั้งยุ่งจนพนักงานเสริ์ฟ เสริ์ฟไม่ทันเราเป็นแม่ครัวก็ต้องเดินออกไปเสริ์ฟช่วย แบบว่าต้องทำเป็นทุกอย่างและต้องอึดจริงๆ จึงจะอยู่บนเส้นทางสายนี้ได้ หรือเรียกว่าเส้นทางสายแบบไม่ได้เรียนมาโดยตรง ท่องไว้นะ No Pain No Gain

ขายกันจนร้านปิดประมาณ 5 ทุ่มหรือห้าทุ่มครึ่งเกือบทุกคืน ขอบอกว่าจากประสบการณ์ไม่เคยได้นั่งเลย เพราะยุ่งตลอดจนร้านปิด ร้านปิดเจ้าของร้านก็เริ่มนับเงิน เช็คบิลต่างๆ ส่วนเราก็ปัญญาชนก้นครัว ต้องมีขั้นตอนและหน้าที่ในการปิดครัวดังนี้

1.หลังจากลูกค้ากลับไปหมดแล้ว เราก็เริ่มเก็บกล่องผักและเนื้อที่หั่นไว้ กลับเข้าตู้เย็นเก็บให้เรียบร้อยทุกอย่างเน้นว่าต้องสะอาดและสวยงาม เพราะไม่เช่นนั้นพี่เจ้าของร้านจะเข้ามาชี้นิ้วแล้วบอกให้ทำใหม่อีกรอบ

2.ทำความสะอาดเช็ดเตา ลงน้ำยาเช็ดความมันให้หมดไป แล้วเช็ดให้แห้ง เงาวับเพื่อเตรียมสำหรับทำอาหารวันรุ่งขึ้นคะเอาแบบว่าแมลงไม่กล้าเดิน มันกลัวลื่นอะ

3.บางครั้งถ้าขายดีมากๆ คนล้างจานก็จะล้างไม่ทัน ถ้าเราอยากกลับเร็วและสงสารเค้าก็ต้องช่วยเค้าล้างให้เสร็จจะได้กลับบ้านปิดร้านพร้อมกัน เพราะคนล้างจานส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กนักเรียนที่หารายได้พิเศษ แต่ช่วงนี้ส่วนใหญ่เจ้าของร้านนับเงินกลับบ้านไปแล้ว เหลือไว้แต่ปัญญาชนก้นครัวอย่างเราๆ ที่ต้องเช็ดล้างตามหน้าที่กันต่อไป

4.หลังจากคนล้างจานล้างเสร็จแล้ว ก็ต้องล้างพื้น ถูพื้นให้สะอาด ลงน้ำยาถูพื้นด้วย จะได้ไม่เหนียวและสะอาด พร้อมสาดด้วยน้ำร้อนปิดท้ายด้วยการ ม็อบให้แห้งเป็นอันจบ

5.จากนั้นก็ปิดร้าน หิ้วถุงขณะในร้านไปทิ้งที่ถังขณะหน้าร้านเพื่อป้องกันกลิ่นเหม็นที่จะเกิดขึ้นในวันถัดไป เสร็จก็ กลับบ้านพร้อมกันประมาณ เที่ยงคืนได้ ถึงบ้านก็ตีหนึ่งพอดี

ตอนเช้าตื่นมา 9 โมงเช้าก็ต้องรีบไปโรงเรียน ทำอย่างนี้อยู่ประมาณหนึ่งปี ฝึกฝนฝีมือการทำกับข้าวซึ่งเป็นอาหารไทยพร้อมๆ ไปกับการเรียนหนังสือ ถือว่าเป็นช่วงชีวิตที่หนักเอาการแต่ ก็ได้ฝึกความอดทน และแข็งแกร่งมากขึ้น ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือจุดเริ่มของการไต่บรรไดสู่การเป็นเชฟมืออาชีพในต่างแดน ขอแนะนำให้ผู้ที่สนใจต้องการจะไปทำงานเป็นเชฟในต่างแดนหรือในประเทศไทย ก็แล้วแต่ ถ้าไม่ได้เรียนเชฟมาโดยตรง วิธีที่ง่ายและเร็วและค่อนข้างได้ผลและเป็นที่ยอมรับอีกอย่างก็คือ ไปอบรมหลักสูตรครัวไทยสู่ครัวโลก เพื่อเพิ่มความรู้รอบครัว แถมยังเป็นการสร้างเครือข่ายไปในตัว เพราะส่วนใหญ่ทุกๆ คนที่สมัครไปอบรมหลักสูตรนี้ต่างมีจุดเป้าหมายเดียวกันคือต้องการเป็นเชฟในต่างประเทศ หรือต้องการเปิดร้านอาหารเป็นของตัวเอง เมื่อจบหลักสูตรจะมีการสอบเพื่อทดสอบฝีมือแรงงาน และให้ประกาศนียบัตร ซึ่งถือเป็นใบผ่านงานในระดับหนึ่งที่หลาย ๆ ประเทศค่อนข้างให้การยอมรับ ส่วนตัวบุคคลจะมีความสามารถมากน้อยเพียงใดนั้นอยู่ที่การฝึกฝนและประสบการณ์ของแต่ละคน

จากที่ผู้เขียนเล่ามาทั้งหมดในตอนที่หนึ่งนี้เป็นเพียง จุดเริ่มประกายฝันของคนที่อยากเป็นเชฟเท่านั้นเองนะคะยังไม่ได้เข้าเนื้อหาของการเป็นเชฟจริงๆ เลยคะ ถ้าอยากรู้ว่าชีวิตของเชฟในต่างแดนจะเข้มข้นเกินคาดแค่ไหนโปรดติดตามตอนที่สองต่อคะ วันนี้ต้องขอตัวไปทำงานก่อนนะคะ

ก่อนไปขอฝากสูตรของหวานให้ผู้ที่สนใจได้ลองไปประลองฝีมือกันดูคะ

Vanilla creme brulee with raspberries

Ingredients

6 tablespoons raspberry jam
2 1/2-pint baskets fresh raspberries

6 large egg yolks
6 tablespoons sugar
1 vanilla bean, split lengthwise
1 1/2 cups whipping cream

12 teaspoons (packed) golden brown sugar

Preparation

Preheat oven to 325°F. Spread 1 tablespoon jam over bottom of each of six 3/4-cup soufflé dishes or custard cups. Press 7 berries, placed on their sides, into jam in each dish. Reserve remaining raspberries for garnish.

Whisk yolks and 6 tablespoons sugar in medium bowl to blend. Scrape in seeds from vanilla bean. Gradually whisk in cream. Divide mixture among dishes. Arrange dishes in 13x9x2-inch baking pan. Pour enough hot water into pan to come halfway up sides of dishes.

Bake custards until set in center, about 40 minutes. Place pan on work surface. Cool custards in water 30 minutes. Remove from water; chill overnight.

Preheat broiler. Sieve 2 teaspoons brown sugar atop each custard. Place dishes on small baking sheet. Broil until sugar just starts to caramelize, rotating sheet for even browning, about 2 minutes. Chill until topping hardens, about 2 hours. Garnish with reserved berries.

แล้วเจอกันตอนสองนะคะ เพื่อน ๆ สามารถเข้ามาคุย หรือแนะนำให้ความคิดเห็น comment

ได้ที่ Hatori_hato@sanook.com คะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook