โลกร้อน...มหันตภัยถล่มมนุษยชาติ ปีหนูทดลอง

โลกร้อน...มหันตภัยถล่มมนุษยชาติ ปีหนูทดลอง

โลกร้อน...มหันตภัยถล่มมนุษยชาติ  ปีหนูทดลอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โลกร้อน... ปรากฏการณ์ที่สร้างความหวาดผวาต่อมนุษยชาติ ภาวะโลกร้อน

ทั้งๆที่หลายปีที่ผ่านมา ธรรมชาติได้ส่งสัญญาณเตือนถึงมหันตภัยภัยที่จะเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า จากปรากฏการณ์เรือนกระจก ก๊าซเรือนกระจก ที่ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่สำเหนียกถึงหายนภัยที่กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ตัว และพร้อมจะคุกคามโลก ขนาดเกิดกรณี น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายและจะทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น รวมถึงปรากฏการณ์อื่นๆที่ส่งผลกระทบต่อความสมดุลทางธรรมชาติ หลายคนยังฟังเพียงผ่านๆ และคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ยิ่งนานวันผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศจากสภาวะโลกร้อน ก็ยิ่งพ่นพิษรุนแรง และลุกลามเพิ่มขึ้น แม้จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น เกิดสภาวะ เย็นจัดผิดปกติ น้ำท่วมมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เกิดไฟป่าบ่อยขึ้น ความแห้งแล้งยาวนานขึ้น ฤดูหนาวไม่หนาวจัด ฤดูใบไม้ผลิมาถึงเร็วขึ้น ฤดูใบไม้ร่วงมาถึงช้าลง ต้นไม้ออกดอกเร็วขึ้น โรคภัยไข้เจ็บลุกลาม ปะการังฟอกขาว การทับถมของหิมะลดลง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกหายไป พืชและสัตว์ต่างถิ่นรุกราน แนวชายฝั่งสึกกร่อน ป่าในเขตภูเขาสูงแห้งแล้ง ฯลฯ ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน จากภัยทางธรรมชาติเหล่านี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า และทุกครั้งก็เหมือนจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คือ การยืนยัน และตอกย้ำชัดเจนจนไม่อาจปฏิเสธได้แล้วว่า

วิกฤตการณ์โลกร้อน....เปิดฉากคุกคามมนุษยชาติอย่างหฤโหด! และวันนี้ภัยธรรมชาติ กลายเป็นภัยใกล้ตัวของสังคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นอย่างมากมาย และเกือบจะทั่วทุกมุมโลก ทั้งเพิ่มความซับซ้อนยากต่อการทำนาย ภาวะโลกร้อน แต่ที่แน่นอนที่สุด คือ ปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะหาต้นเหตุหรือต้นตอของปัญหาจากทฤษฎีใดก็ตาม คำตอบสุดท้าย คือ มนุษย์เป็นตัวการสำคัญของปัญหาโลกร้อน! พวกเราต่างพากันปล่อยปละละเลย ไม่ดูแลปกป้องรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซ้ำร้ายกลับช่วยกันคนละไม้คนละมือสร้างมลพิษ จากการใช้น้ำมัน การปล่อยสารพิษ สารเคมี การตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกที่ผิดปกติขึ้น รวมทั้งก๊าซชนิดอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติดักจับความร้อนออกไปยังบรรยากาศของโลก ก๊าซเหล่านี้จะรวมตัวกันจนกลายเป็นผ้าห่มหนาๆ ดักจับความร้อนของดวงอาทิตย์ และทำให้โลกมีอุณหภูมิร้อนขึ้น ยิ่งก๊าซเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ความร้อนก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จนกระทั่งกลายเป็นปัญหาโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติ หรือมีความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นทั่วโลก

ประเทศไทยเองก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงจากภาวการณ์นี้ไปได้ จากความผิดปกติของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา นั่นก็คือ ภาวะฝนตกน้ำท่วมขนาดหนักในหลายพื้นที่ การไม่มีฤดูหนาวและฤดูร้อนที่ร้อนมาก หรือกระทั่งแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ขณะที่แนวโน้มของสภาพภูมิอากาศในระยะเวลาประมาณ 40 ปี และ 70 ปีข้างหน้า นักวิชาการจากหลายสำนัก ระบุไปในทิศทางใกล้เคียงกันว่า ประเทศไทยจะมีฝนมากขึ้นในเกือบทุกภาค ส่วนอุณหภูมิสูงสุดและต่ำสุดในประเทศไทยจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก อาจเพิ่มสูงขึ้นหรือลดลงประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส แต่จำนวนอากาศเย็นจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในทางกลับกันจำนวนวันที่อากาศร้อนก็จะเพิ่มขึ้นขณะที่ในช่วงเวลาปีต่อปี จะยังคงมีความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศอยู่ เช่น บางปีฝนชุก บางปีแล้งจัด หรือบางปีร้อนมาก เป็นต้น แต่ที่น่าห่วง คือ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศเหล่านี้อาจจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.ศูนย์ เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลก แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (START) จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนว่า สภาพภูมิอากาศของประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อยๆ จากการศึกษาแบบจำลองสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในอีก 30-80 ปี พบว่า จำนวนวันร้อนที่สูงกว่า 33 องศาเซลเซียส จะมีมากขึ้นประมาณ 30-60 วันต่อปี จากปกติ 20 วันต่อปี จังหวัดที่มีวันร้อนมากที่สุด คือ อุทัยธานี เนื่องจากมีพื้นที่อยู่ในหุบเขา รองลงมาคือ นครสวรรค์ สำหรับจำนวนวันเย็นที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส จะมีประมาณ 20-30 วันต่อปี จากเดิมประมาณ 30-40 วันต่อปี โดยจังหวัดที่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันตกจะมีจำนวนวันเย็นมากที่สุด ภาวะโลกร้อน ภาวะโลกร้อนยังส่งผลกระทบต่อแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ฤดูน้ำหลากเปลี่ยนแปลงไป โดยในเดือน พ.ย.-ธ.ค. จะมีปริมาณน้ำมากกว่าที่ผ่านมาถึงร้อยละ 40 เนื่องจากทั้งปริมาณน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุน ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นกว่าที่ผ่านมา จะส่งผลทำให้กรุงเทพฯ และปริมณฑลเกิดน้ำท่วมง่ายและถี่ขึ้น ดร. อานนท์กล่าวย้ำ วิกฤติโลกร้อน ไม่เพียงแต่ ส่งผลกระทบต่อมนุษย์โดยตรง แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศต่างๆ รวมถึงผลผลิตทาง การเกษตร การแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืชหลายชนิด และที่หลายคนอาจจะลืมนึกถึง นั่นคือผลกระทบที่สำคัญอันเกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ในเชิงสุขภาพอนามัย จากภาวะโลกร้อนที่จะนำมาซึ่งโรคอุบัติใหม่

ศ.ดร.นพ.สมชัย บวรกิตติ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน กล่าวถึงสถานการณ์โรคที่มากับภาวะโลกร้อนว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้อัตราการเป็นโรคมะเร็งปอดเพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการสูดก๊าซเรดอน (Radon) ซึ่งเป็นภาวะก๊าซที่เกิดขึ้นในพื้นดินแทรกซึมผ่านรอยแตกของตึก อาคาร บ้านเรือนที่ก่อสร้างพื้นบ้านติดดิน เป็นที่นิยมกันทั่วไป หากเทียบอัตรา ส่วนกับบ้านเรือนสมัยก่อนที่นิยมสร้างบ้านลักษณะยกพื้นสูง คนสมัยก่อนจึงมีความเสี่ยงต่ำในการเป็นมะเร็งปอด น่าตกใจว่าปัจจุบันมีคนเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นถึงวันละ 5 ราย ศ.ดร.นพ.สมชัยอธิบายด้วยว่า ภาวะพิษทางอากาศจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ผ่านทางระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะผู้ที่ไวต่อสารเหล่านั้นจะมีผลให้มีอาการของโรคทางเดินหายใจ และที่เป็นอยู่แล้วจะมีอาการรุนแรงมากขึ้น ในผู้ที่มีโรคปอดหรือโรคหัวใจจะมีความอึดต่อการออกกำลังลดลง สำหรับผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ มลพิษทางอากาศที่เกิดจากโลกร้อน จะเป็นปัญหาสำคัญของชุมชนเมืองใหญ่และเมืองอุตสาหกรรม ภาวะโลกร้อนยังเป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคเขตร้อน ทำให้เกิดความชุกเพิ่มขึ้นในประเทศ และแพร่ขยายออกไปสู่ประเทศที่อยู่เหนือขึ้นไปที่ไม่เคยมีการระบาดมาก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากผลของการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาของพาหะนำโรค เช่น โรคมาลาเรีย โรคไข้เลือดออกเดงกี โรคสมองอักเสบติดเชื้ออาร์บอไวรัส ที่มียุงเป็นพาหะนำโรค เพราะยิ่งอุณหภูมิโลกสูงขึ้นก็ยิ่งเหมาะแก่การนำพาโรคและออกหากินบ่อน ขณะที่ นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จากการประชุมประเมินสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อ

จากภาวะโลกร้อนในระดับนานาชาติ มีความกังวลถึงผลกระทบด้านสุขภาพ เนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย รวมทั้งโรคจากอาหารและน้ำ เช่น อหิวาห์ตกโรค ไทฟอยด์ บิด อาหารเป็นพิษ เป็นต้น นอกจากนี้สภาพอากาศที่ร้อนชื้นยังทำให้แบคทีเรียในอากาศมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ มีโอกาสในการแพร่ระบาดสูง ในอนาคตมีความเป็นไป ได้ว่าโรคเหล่านี้หากไม่รีบรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ อาจมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 60% โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่ต้องจับตามองมากที่สุด เพราะนอกจากยังไม่มียาหรือวัคซีนในการรักษาแล้ว ปัจจุบันยังพบว่ายุงลายซึ่งเป็นพาหะสำคัญของโรค ซึ่งเคยออกหากินเฉพาะแต่ในเวลากลางวัน ได้เปลี่ยนมาออกหากินในเวลาพลบค่ำจนถึง 5 ทุ่ม ทำให้ยากต่อการป้องกันหรือวินิจฉัยโรค ปัญหาโลกร้อนจึงเป็น 'มหันตภัยแห่งอนาคตของมนุษยชาติ' อย่างแท้จริง และสังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายของสภาพอากาศ นพ.ธวัชแสดงความห่วงใย

ภาวะโลกร้อน

จากวิกฤติมหันตภัยทางธรรมชาติที่เพิ่มความรุนแรงและขยายวงมากขึ้นทุกที ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม มองว่า การยุติปัญหาโลกร้อนเป็นหน้าที่ของมนุษยชาติทุกคน โดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา อายุ อาชีพ หรือฐานะความร่ำรวย หรือยากจน แต่ทุกคนต้องมีจิตสำนึกและเริ่มต้นปรับตัว ปรับใจ และปรับวิธีการใช้ชีวิตเพื่อร่วมกันป้องกัน และแก้ไขมหันตภัยที่คืบคลานเข้าคุกคามมนุษยชาติ โดยเฉพาะเรามองว่า หัวใจในการแก้วิกฤติครั้งนี้ คือ การดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการรู้จักใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ที่เริ่มได้ตั้งแต่ส่วนเล็กที่สุด คือ ตัวเอง ครอบครัว ชุมชน ประเทศ และสังคมโลก ด้วยการร่วมแรงร่วมใจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้พลังงานน้ำมัน หาพลังงานทดแทน สกัดกั้นการตัดไม้ทำลายป่า ทั้งต้องปลูกป่าเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญคือ มนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมและรักธรรมชาติ เพราะการรักษาความสมดุลของธรรมชาติไม่ให้ถูกย่ำยี หรือทำร้ายเกินกว่าความจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ น่าจะเป็นหัวใจในการช่วยปกป้องโลกใบนี้ให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด หรือต้องรอให้เกิดโศกนาฏกรรม ที่ต้องสังเวยด้วยชีวิตอีกกี่สิบกี่ร้อยล้านคน อย่าสร้างตราบาปให้คนรุ่นลูกหลานจดจำว่า มหันตภัย...โลกร้อน เกิดจากน้ำมือและน้ำใจของคนรุ่นปัจจุบันเลย!!!

ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ โลกร้อน...มหันตภัยถล่มมนุษยชาติ ปีหนูทดลอง

โลกร้อน...มหันตภัยถล่มมนุษยชาติ  ปีหนูทดลอง
โลกร้อน...มหันตภัยถล่มมนุษยชาติ  ปีหนูทดลอง
โลกร้อน...มหันตภัยถล่มมนุษยชาติ  ปีหนูทดลอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook