ย้อนประวัติศาสตร์ "ไข้หวัดใหญ่"เขย่าโลก!

ย้อนประวัติศาสตร์ "ไข้หวัดใหญ่"เขย่าโลก!

ย้อนประวัติศาสตร์ "ไข้หวัดใหญ่"เขย่าโลก!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจุบัน แม้สถานการณ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ระบาดจนพบผู้ติดเชื้อกระทั่งล้มป่วยขั้นวิกฤตจะลดน้อยลง แต่องค์การอนามัยโลก (ฮู) เตือนว่า รัฐบาลแต่ละประเทศไม่ควรประมาท เพราะยังคงตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ที่สำคัญโรคอาจกลับมาระบาดหนักระลอกสองในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าและรุนแรงมากกว่าเดิม ทำให้มนุษยชาติเดือดร้อนถ้วนหน้าเหมือนกับมหันตภัยไข้หวัดใหญ่ที่เคยระบาดหนักหลายครั้งหลายหนในอดีต! เท่าที่ผ่านมา วงจรเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะ "กลายพันธุ์" เว้นระยะห่าง 20-30 ปี และทำอันตรายต่อร่างกายคนเรามากขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม บางครั้งไวรัสที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าจะเป็นภัยร้ายแรงต่อมนุษยชาติ แต่ถึงเวลาเอาเข้าจริงกลับไม่ร้ายแรงอย่างที่คิด สาธารณชนบางส่วนจึงกล่าวโทษนักวิทยาศาสตร์ รวมถึงสื่อว่าโหมประโคมข่าวเกินจริง ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกโดยใช่เหตุ

ประวัติศาสตร์โรคไข้หวัดใหญ่ระบาดครั้งสำคัญๆ ระดับโลกนั้นเกิดขึ้นกี่ครั้งและคร่าชีวิตมนุษย์มาก-น้อยแค่ไหน วันนี้จะพาไปทบทวนข้อมูลกันดูอีกครั้ง เพื่อเป็นบทเรียนว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เราไม่ควรประมาทเป็นดีที่สุด!

1. "ปฐมบทโรคระบาดครั้งใหญ่" ปีค.ศ.1580 (พ.ศ.2123) จากหลักฐานที่พิสูจน์ได้จนถึงขณะนี้พบว่า โรคไข้หวัดใหญ่ระบาดรุนแรงไปทั่วโลกครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1580 มีจุดเริ่มต้นจากทวีปเอเชีย แพร่ไปยังทวีปแอฟริกา ตามด้วยยุโรป รายงานในวารสารจุลชีววิทยา "Applied Microbiology" ปีค.ศ.2001 หรือเมื่อ 8 ปีก่อน ชี้ว่า โรคระบาดครั้งนี้ทำให้ประชากรในเมืองหลายแห่งของสเปนตายยกเมือง ส่วนในกรุงโรม ประเทศอิตาลี มีผู้เสียชีวิต 8,000 คน และเป็นที่มาของคำว่า "Influenza" หรือ "ไข้หวัดใหญ่" ที่เราเรียกกันทุกวันนี้ โดยมีรากศัพท์ภาษาอิตาเลียนจากคำว่า "Influenza del Freddo" แปลว่า "อาการจับไข้" คล้อยหลังอีก 160 ปีต่อมา คนอังกฤษจึงหยิบยืมตัดทอนคำว่า "Influenza" มาใช้เรียกคนที่ป่วยเป็นไข้รุนแรง

2. "ไข้หวัดสเปน" ปีค.ศ.1918-1919 (พ.ศ.2461-2462) ไข้หวัดใหญ่สเปน นับเป็นภาวะโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก คาดว่ามีประชากรโลกเสียชีวิต 50-100 ล้านคน เมื่อแยกช่วงอายุออกมาพบด้วยว่า ไข้หวัดสเปนยังทำให้ประชากรวัยหนุ่มสาวเสียชีวิตไปร้อยละ 8-10 เปอร์เซ็นต์ ความสูญเสียมหาศาลนี้ช่วยผลักดันให้ทั่วโลกร่วมมือกันพัฒนาองค์ความรู้ทางการแพทย์และวิจัยผลิตยาสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพรับมือเชื้อไวรัสได้ดีกว่าเดิม

3. "ไข้หวัดใหญ่เอเชีย" ปีค.ศ.1956-1958 (พ.ศ.2499-2501) ไข้หวัดใหญ่เอเชียมีความรุนแรงน้อยกว่าไข้หวัดสเปนหลายเท่า แต่ก็ลามจากเอเชียไปถึงสหรัฐอเมริกา เฉพาะในสหรัฐมีผู้เสียชีวิต 70,000 คน ขณะที่ยอดรวมคนติดเชื้อและเสียชีวิตทั่วโลกมีสูงกว่า 2 ล้านคน ไวรัสกลายพัฒนามาจากไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ "เอช 2 เอ็น 2" พบการแพร่ระบาดครั้งแรกในประเทศรัสเซีย กระทั่งระบาดใหญ่ช่วงปีค.ศ.1889 (พ.ศ.2432) ผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่เอเชียมีอัตราการเสียชีวิตต่ำ แต่เนื่องจากโรคระบาดนานถึง 2 ปีกว่าจะยุติ คอยซ้ำเติมปัญหาไข้หวัดใหญ่ระบาดตามฤดูกาลอยู่แล้วให้แย่หนักขึ้นไปอีก

4. "ไข้หวัดฮ่องกง" ปีค.ศ.1968 (พ.ศ.2511) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง "เอช 3 เอ็น 2" กลายพันธุ์จากเชื้อไข้หวัดใหญ่เอเชีย ทิ้งห่างกันราว 10 ปี พบครั้งแรกในเกาะฮ่องกง ก่อนลามไปยังเวียดนาม สิงคโปร์ อินเดีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ยุโรป แอฟริกา อเมริกาใต้ และทหารผ่านศึกอเมริกันที่เคยรบสมรภูมิเวียดนามเอาโรคกลับไปแพร่ในแผ่นดินสหรัฐ เชื้อไข้หวัดฮ่องกงเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์น้อยกว่าไข้หวัดสเปนและไข้หวัดเอเชีย แต่ก็เป็นเหตุให้ชาวโลกล้มตายไป 1 ล้านคนโดยประมาณ ในฮ่องกงมีผู้ติดเชื้อ 500,000 คน ส่วนตัวเลขคนล้มตายไม่มากนัก เชื่อว่าเพราะร่างกายมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อครั้งเจอกับภัยไข้หวัดใหญ่เอเชียระบาด

5. "โลกตื่นตระหนกไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์หมู : Swine Flu" ปีค.ศ.1976 (พ.ศ.2519) เดือนกุมภาพันธ์ ปี 1976 นายทหารอเมริกันประจำค่ายฟอร์ตดิกซ์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ เสียชีวิตหลังติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ เอช 1 เอ็น 1 ชนิดเดียวกับที่พบในหมู เนื่องจากเชื้อเอช 1 เอ็น 1 ที่ว่านี้มีสายพันธุ์ในกลุ่มเดียวกับไวรัสไข้หวัดสเปน จึงทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเกิดอาการ "ตื่นตูม" สั่งเดินหน้าโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโดยด่วน แต่ผลกระทบจากการฉีดวัคซีนเข้าสู่ร่างกายกลับกลายเป็นว่าอันตรายมากกว่าการติดเชื้อเสียอีก สรุปแล้ว ทั่วสหรัฐมีคนเสียชีวิตเพราะไวรัสตัวนี้เพียง 1 คน นั่นก็คือ ทหารค่ายฟอร์ตดิกซ์ ส่วนคนที่แพ้วัคซีนเสียชีวิตมีถึง 25 ราย

6. "ไข้หวัดรัสเซีย" ปีค.ศ.1977-1978 (พ.ศ.2520-2521) ไข้หวัดใหญ่รัสเซีย เป็นไวรัสในกลุ่ม เอช 1 เอ็น 1 เหมือนกับไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์หมูที่ระบาดช่วงปี 1976 และไข้หวัดใหญ่สเปน ผู้เสียชีวิตและติดเชื้อจนป่วยหนักส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก เพราะร่างกายยังไม่เคยมีภูมิคุ้มกันเชื้อสายพันธุ์นี้มาก่อน ส่วนคนอายุ 25 ปีขึ้นไปไม่ค่อยเป็นอะไรมากนัก

7. "ไข้หวัดใหญ่ เอช 5 เอ็น 1" หรือ "ไข้หวัดนก" ปีค.ศ.2003 (พ.ศ.2546) ปี 2003 องค์การอนามัยโลกประกาศว่าพบไวรัสไข้หวัดใหญ่ตระกูล "เอช 5 เอ็น 1" หรือ "ไข้หวัดนก" สายพันธุ์ใหม่ล่าสุดในทวีปเอเชีย มีพิษรุนแรงกว่าเชื้อไข้หวัดนกในอดีต ผู้ติดเชื้อมีเปอร์เซ็นต์เสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 60 คล้ายๆ กับไข้หวัดใหญ่สเปน สร้างความหวาดวิตกขนานใหญ่ไปทั่วโลก เคราะห์ดีที่ไวรัสจะติดจากสัตว์ปีกสู่คนเท่านั้น ไม่ติดแบบ "คนสู่คน" ทำให้มาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคระบาดทำได้ง่ายขึ้น แต่ก็ระบาดกระจายสู่หลายประเทศจนได้ เช่น ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย จีน ฮ่องกง อินเดีย ไนจีเรีย อิรัก อาเซอร์ไบจาน อียิปต์ อังกฤษ ออสเตรีย อิตาลี กรีซ สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส โครเอเชีย เยอรมนี ยอดรวมผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเฉียด 300 ราย

ข้อมูลจากเว็บไซต์ : popsci.com

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ ย้อนประวัติศาสตร์ "ไข้หวัดใหญ่"เขย่าโลก!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook