จริงหรือ ? อาชีพในฝันปัจจุบันไม่ใช่ยุคของ"แพทย์" !

จริงหรือ ? อาชีพในฝันปัจจุบันไม่ใช่ยุคของ"แพทย์" !

จริงหรือ ? อาชีพในฝันปัจจุบันไม่ใช่ยุคของ"แพทย์" !
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ STORY โดย ทีมงาน DLife อาชีพในฝันของเยาวชนในปัจจุบันคืออะไร ? ยังเป็น "แพทย์" อยู่อีกหรือเปล่า...? ต้องยอมรับว่าอาชีพแพทย์ในทุกวันนี้ต้องระมัดระวังการรักษาเป็นอย่างมาก เพราะหากเกิดรักษาผิดพลาดขึ้นมาอาจถูกคนไข้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินมากมาย สมมติฐานนี้เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการได้พบปะพูดคุยกับแพทย์หลายต่อหลายคน ประกอบกับช่วงที่ผ่านมามีสถิติการฟ้องร้องแพทย์ต่อแพทยสภาและศาลไม่น้อยเลย DLife จึงขอสะกดรอยตามไปดูว่า ทุกวันนี้เยาวชนยังมอง "แพทย์" เป็นอาชีพในฝันอยู่หรือไม่ ? แพทย์, หมอ, นายแพทย์, เรียนหมอ, อาชีพในฝัน, แพทยสภา

อาชีพความหวังสูง อาจเพราะแพทย์เป็นอาชีพที่ผู้คนคาดหวังสูง ทำงานอยู่กับชีวิตและลมหายใจของผู้คน นั่นจึงทำให้ถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ ไม่แปลกหากที่ผ่านมาเมื่อมีการตรากฎหมายใหม่ๆ ขึ้นมา จำนวนคดีความเกี่ยวกับแพทย์จึงมีมากขึ้น นายแพทย์อิทธร คณะเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ได้เปิดเผยว่า สถิติการฟ้องร้องแพทย์ต่อแพทยสภาและศาลในช่วงปี 2539-พ.ค.2551 เฉพาะโจทก์ที่ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุข คดีแพ่งมีจำนวน 76 คดี ทุนทรัพย์ที่ฟ้องประมาณ 426 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุขชำระตามคำพิพากษาไปแล้วประมาณ 7.4 ล้านบาท ส่วนคดีอาญามีประมาณ 12 คดี สาเหตุหลักในการฟ้องร้องแพทย์ คือการรักษาผิดพลาด รองลงมาทำคลอด วินิจฉัยผิดพลาด ซึ่งมีแพทย์ที่ถูกฟ้องร้องในคดีแพ่ง 55 ราย พยาบาล 11 ราย ส่วนคดีอาญามีแพทย์ที่ถูกฟ้องร้อง 5 ราย และพยาบาล 2 ราย ...การฟ้องร้องแพทย์เกิดจากกฎหมายใหม่ๆ ที่ให้สิทธิกับผู้รับบริการ ทำให้เกิดผลกระทบที่ตามมา คือการรั่วไหลของแพทย์ภาครัฐ ภาระงานที่สูงขึ้น และแพทย์เลี่ยงรักษากรณีที่รักษายาก !!!

ไม่เพียงแพทยสภาที่มองเห็น แต่แพทย์อาชีพอย่าง นายแพทย์นิเวศ เสริมศีลธรรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ตกแต่ง เจ้าของคลินิกความงามย่านสยามสแควร์ เป็นอีกคนที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลง "บางอย่างเป็นเรื่องสุดวิสัยต้องยอมรับ เรื่องแบบนี้เป็นการแพทย์ เหมือนคลอดลูกไม่มีหมอคนไหนอยากทำให้ลูกคนอื่นพิการหรอก คนตั้งความหวังไว้กับหมอสูงมาก แต่คุณเคยไปตั้งความหวังกับระบบยุติธรรมบ้างไหม ? ผู้พิพากษาตัดสินใจผิด ไม่เคยโดนเลย ไม่เคยมีใครพูดถึงเรื่องนี้ ถ้าทำอย่างนี้ ต่อไปเมืองไทยจะไม่มีใครกล้าเป็นหมอ ปัจจุบันผมไปถามครูผมที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ ครูผมบอกว่าทุกวันนี้คนเรียนเก่งที่สุดจะไปเรียนนิติศาสตร์ ต่อไปคนที่เรียนกลางๆ กับน้อยสุดจะไปเรียนหมอ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น สังคมจะเปลี่ยนไปในอีก 10 ปีข้างหน้าโดยที่คนไม่ไหวตัว"

...เมื่อก่อนคนที่ฉลาดที่สุดจะเรียนหมอกับวิศวะ ปัจจุบันคนที่ฉลาดที่สุดไปเรียนนิติศาสตร์ เป็นนักการเมือง แล้วต่อไปอะไรจะเกิดขึ้น ก็เหมือนกับครูที่ปัจจุบันคนที่จะเรียนครูก็เพื่อจบไปแล้วไปสอนพิเศษ มีเพื่อนผมตั้งใจให้ลูกเป็นครูสอนพิเศษ อัดความรู้ทุกอย่าง แม่เขาดูแล้วธุรกิจนี้ไปได้ดี "ผมว่าบางทีสังคมก็ทำให้มันเป็นไปอย่างนั้นโดยที่ตัวเองไม่ได้คิด อย่างในอเมริกาบางรัฐไม่มีหมอทำคลอดเลย ต้องไปคลอดอีกรัฐหนึ่ง เพราะคนชอบฟ้องร้อง หมอสูติฯในอเมริกาจึงถูกฟ้องมากอันดับหนึ่ง คิดดูสิ แล้วต่อไปจะคลอดลูกกันได้อย่างไร ผมไม่อยากให้เมืองไทยไปถึงจุดนั้น ให้มันพอสมควร ดีกว่า บางคดีที่หมอติดคุกเพราะสุดวิสัยจริงๆ คนไม่ไปอยู่ บ้านนอกมาไม่รู้หรอก อัตราการแทงหลังเข้าไปแล้วตาย หมอดมยาแทงก็ตายเหมือนกัน แล้วเอาเขาติดคุก คดีนั้นทำให้หมอลาออกเยอะมาก รุ่นหลังๆ ไม่เรียนหมอก็มี" นายแพทย์นิเวศบอกด้วยว่า เท่าที่มีการพูดคุยกับเพื่อนๆ ที่เป็นแพทย์ ลูกๆ เพื่อนที่สอบติดแพทย์แล้วไม่เอาแพทย์ก็มี ปัจจุบันไม่มีใครอยากเรียนหมอ ในอนาคตผมว่าจะได้เห็นหมอจากอินเดีย เนปาล ปากีสถาน เข้ามารักษาคนไทย ถามว่า โอเคไหม...นี่คือข้อเท็จจริง ผมว่าน่ากลัวมาก ในสังคมไม่มีนักกฎหมายอาจจะได้ แต่ไม่มีหมอไม่ได้ !!! แพทย์, หมอ, นายแพทย์, เรียนหมอ, อาชีพในฝัน, แพทยสภา

หมอ : อาชีพในฝัน ? ในสมรภูมิสอบเข้ามหาวิทยาลัย "คณะแพทยศาสตร์" เป็นหนึ่งในคณะสุดยอดของเด็กเรียนดี...แน่ละ ใครใคร่เลือก คณะนี้ นอกจากจะ "มั่นใจ" และ "กล้า" แบบสุดยอดแล้ว คะแนนในหมวดวิชาคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์จะต้องสุดยอดด้วย ที่ผ่านมาภาพของ "หมอ" กับภาพของ "เด็กเรียนเก่ง" จึงกลายเป็นของคู่กันอย่างแยกกันไม่ออก... "ไม่ต่ำกว่า 5 ปีที่เทรนด์ของเด็กเก่งเริ่มเปลี่ยนไปไม่เลือกแค่หมอ ถ้าเด็กชอบชีวะก็เป็นธรรมดาที่จะเลือกคณะแพทย์ แต่ระยะหลังเริ่มเปลี่ยนแนว คือเด็กสายวิทย์มีแนวโน้มเลือกคณะวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพราะเด็กเก่งบางคนมีข้อจำกัด แค่เห็นเลือดก็เป็นลมแล้ว ไม่ใช่ว่าเด็กเรียนสายวิทย์ทุกคนแล้วจะอยากเป็นหมอ เพราะวิทยาศาสตร์สอนให้เด็กคิดเป็นกระบวนการแบบวิทยาศาสตร์ บางคนได้คะแนนพอที่จะเลือกหมอแต่เขาชอบงานวิจัยมากกว่า เขาเลยเลือกไปรับทุน พสวท. แบบนี้ก็มี" อาจารย์นิพนธ์ ศรีนฤมล อาจารย์ประจำโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผู้คลุกคลีกับเด็กเก่งในกลุ่มโอลิมปิกวิชาการกว่า 20 ปี เล่าให้ฟัง "ผมเคยเจอเด็กฟิสิกส์โอลิมปิกแต่เอนทรานซ์เข้าคณะบัญชี ถามว่าแล้วมาเข้าโครงการโอลิมปิกทำไม เขาบอกเลยว่าอยากพิสูจน์ว่าตัวเองก็เรียนได้ แต่เขาเลือกที่จะไม่เรียนเอง หรืออย่างบางคนเอนฯเข้าเศรษฐศาสตร์ เขาก็แฮปปี้ดี" อาจารย์นิพนธ์บอกว่า ความนิยมในการเลือกคณะแพทย์ในอดีต ส่วนหนึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องของทัศนคติ แต่ปัจจุบันไม่จำเป็นที่คนเก่งจะต้องเลือกเติบโตในสายอาชีพหมอเสมอไป เพราะทุกอาชีพก็มีเกียรติ มีโอกาส ถือว่าเป็นการกระจายอัจฉริยะให้ครอบคลุมทุกๆ อาชีพ หมอไม่เกี่ยวกับการเรียนเก่งหรือไม่เก่ง เพราะความเป็นหมอไม่ได้แขวนอยู่แค่คะแนน อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่านักเรียนแพทย์ส่วนมากก็ยังเป็นเด็กเก่งอยู่ดี...

ณฐพล สุโภไควณิช นิสิตแพทย์ ชั้นปีที่ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าให้ฟังว่า ความฝันของผมคือโตขึ้นอยากเป็นหมอตั้งแต่เด็ก เพราะคุณพ่อเปิดร้านขายยา เขารู้สึกประทับใจคำขอบคุณของคนไข้เมื่อกินยาแล้วหายป่วย "รู้สึกตั้งแต่เด็กแล้วว่า การได้ช่วยเหลือให้คนหายป่วยมัน รู้สึกดีมาก ก่อนหน้านี้ 5-6 ปีเรื่องเรียนหมอเป็นอะไรที่บูมมาก สังคมมองว่าหมอเป็นอาชีพที่มั่นคง มีงานทำแน่นอน มีรายได้สูง ส่วนหนึ่งที่คนเรียนแพทย์เยอะอาจเพราะพ่อแม่อยากให้เรียน ของผมที่บ้านก็สนับสนุน คุณแม่หาซื้อแบบฝึกหัดมาให้ทำตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่เคยบังคับนะ พอช่วงหลังแพทย์มีข่าวโดนฟ้องเยอะ คนที่สนใจอยากให้ลูกหลานเป็นอาชีพนี้ก็อาจมีทัศนคติเปลี่ยนไป" ก่อนที่จะมีข่าวเรื่องฟ้องร้อง คนอาจมองว่า ไม่ว่าเรื่องอะไรแพทย์ก็ถูกเสมอ แพทย์มีเกียรติ สังคมมีทัศนคติต่อแพทย์ค่อนข้างสูง แต่พอมีข่าวฆ่าหั่นศพ ผ่าตัดผิดพลาด ไม่ดูแลคนไข้ เรื่องเหล่านี้ก็กลายเป็นประเด็นทางสังคม "ผมว่าเรื่องหมอทำผิดพลาดนี่มีมาแต่ไหนแต่ไร แต่ไม่มีคนเอามาพูด เพราะในอดีตมองว่าหมอทำดีที่สุดแล้ว แต่ตอนนี้พอพลาดขึ้นมา กลายเป็นว่าหมอทำไม่เต็มที่ หมอประมาท เวลาเป็นข่าวขึ้นมา อาจารย์เอามาคุยในชั้นให้ฟังเหมือนกัน ที่ลืมผ้าก๊อซไว้ในท้องคนไข้ ผ่าแล้วเอาออกมาไม่หมด ข่าวที่ออกมา บอกว่าหมอทำผิด ทั้งๆ ที่นอกจากหมอก็คือทีมผ่าตัดทั้งทีม" และในความเป็นจริงแล้ว หลังเรียนจบเส้นทางสู่การเป็นหมอนั้นไม่ได้ราบรื่น เพราะไม่ใช่รักษาแค่เคสตัวอย่าง แต่เป็นชีวิตคนจริงๆ

แพทย์หญิงจันทรา ทิพชัย แพทย์ประจำโรงพยาบาลปากน้ำชุมพร วัย 25 ปี เล่าให้ฟังว่า ตัวเธอเองก่อนเรียนแพทย์ก็เหมือนคนอื่นทั่วไป ทัศนคติต่ออาชีพนี้ดีตรงที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น ทำประโยชน์ได้ ได้ผลตอบแทนที่ดีด้วย ตอนเด็กพ่อแม่มีส่วน ผลักดันมาก แต่ที่โรงเรียนมีส่วนมากกว่า พอไปอยู่โรงเรียน เตรียมอุดมฯ เพื่อนๆ อยากเรียนหมอกันเยอะ ทำให้ในหัวถูกเปลี่ยนไปอย่างนั้น พอเธอสอบโควตาผ่านแพทย์ศิริราชจึงไม่ลังเลที่จะเลือกเรียนสาขานี้ "ตอนที่เรียน เราขึ้นวอร์ดไปเจอคุณป้าคนหนึ่งไม่สบาย ไปช่วยป้อนข้าวเช็ดตัว ก็ยังรู้สึกดี คือ เราไม่ได้กดดันว่าต้องทำให้หาย พอทำงานจริง ความรู้สึกดีที่ได้ช่วยเหลือคนอื่นก็ยังดีเหมือนเดิม แต่เรื่องที่เราไม่เคยรู้ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ก็มารู้หลังเรียนจบ เช่น ระบบ 30 บาท รักษาทุกโรค เดี๋ยวนี้ไม่ต้องเสียสักบาท ทำให้คนมาที่โรงพยาบาลเยอะมากๆ" เธอเล่าให้ฟังว่า ปัญหาคนไข้ล้นมือหมอพบมากในต่างจังหวัด คนไข้มักจะมาโรงพยาบาลในเวลาหลังราชการ ซึ่งไม่ต้องเข้าคิวรอ บางรายขอเข้าแผนกฉุกเฉินทั้งที่ไม่ได้เป็นอะไรมากก็เยอะ "คนไข้จำนวนมากรู้แต่สิทธิ แต่ไม่รู้หน้าที่ ทำให้ทัศนคติเราที่มีต่อคนไข้เป็นศูนย์ ซึ่งคนไข้คนไหนที่พูดจาดีก็จะเป็นรางวัลของวันนี้ ส่วนมากเจอคนไข้พูดไม่ดีสัก 10% รู้สึกที่มีปัญหาน่าจะเป็นเรื่องการมาโรงพยาบาลของคนไข้ เช่น เป็นแผลที่ปาก 4-5 วัน แล้วเพิ่งมาหาหมอ แถมมาตอน 4-5 ทุ่ม เคสอย่างนี้ จริงๆไม่ควรต้องรอขนาดนั้น บางคนบอกมานอกเวลาไม่ต้องรอ ถ้ามาในเวลาก็ต้องเข้าคิวแบบนี้เป็นต้น" "ระหว่างเรียนกับทำงานมันต่างกันมาก แต่ทุกคนก็มีเวลาได้ปรับตัว เคยพูดเล่นๆ กับเพื่อน โดยเรียกนักเรียนแพทย์ว่า...พวกหลงผิด...พอเห็นเด็กสมัยนี้เลือกเรียนกฎหมาย บัญชี ได้ทำงานสบายๆ ได้ผลตอบแทนสูงๆ ก็กลับมาคิดเหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่จะเติบโตได้เร็ว ลู่ทางเยอะ ไม่ตกงาน สำหรับอาชีพแพทย์มันก็มีบ้างที่เหนื่อยทั้งใจ เหนื่อยทั้งกาย ก็แล้วแต่คนด้วยมากกว่า บางคนที่บ้านร่ำรวยอยู่แล้ว ก็อาจจะลาออกไปทำอย่างอื่นได้ แต่สำหรับตัวเองที่ต้องเลี้ยงพ่อแม่ด้วยก็ยังรู้สึกโอเค รู้สึกว่ายังมีจุดที่จะพัฒนาด้านอาชีพได้มากกว่า" เธอบอกว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เธอก็ยังขอเรียนหมอเหมือนเดิม !!! แพทย์, หมอ, นายแพทย์, เรียนหมอ, อาชีพในฝัน, แพทยสภา

เส้นทางสู่เสื้อกาวน์ ไม่เพียงสมมติฐานว่าเด็กๆ สมัยนี้เลือกเรียนหมอน้อยลงหรือเปล่า ? แต่เทรนด์การเลือกเรียนมหาวิทยาลัยยังออกมาตอกย้ำอีกว่า โอนเอียงไปทางสายศิลป์มากขึ้น แถมยังมีโพล บอกว่าอาชีพที่ทำเงินมากที่สุดในยุคนี้ไม่ใช่หมอ เหล่านี้คือกระแสข่าวที่ออกมาให้เรารู้สึกหวั่นใจว่า อนาคตบ้านเราจะไม่มีเด็กๆ อยากจะเป็นหมอแล้วหรือไร ???

ในเวลานี้มีว่าที่นักเรียนแพทย์ รหัส 52 ของโรงเรียนแพทย์ในกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) กำลังเตรียมก้าวเข้าสู่รั้วสถาบันกันไปแล้ว เราจึงไปเปิดดูข้อมูลกันสักนิด แล้วก็พบว่าในปี 2551 จำนวนนักเรียนที่สมัครสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ในปีการศึกษา 2552 ผ่านระบบรับตรงมียอดผู้สมัคร จำนวน 24,857 คน จากปีที่ผ่านมามีผู้สมัคร 22,000 คน ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมา 2,000 คน เลยทีเดียว จากการพูดคุยกับ รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงนันทนา ศิริทรัพย์ รองเลขาธิการ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ช่วยยืนยันสถิติดังกล่าวได้เป็นอย่างดี "จำนวนเด็กสอบแพทย์สูงขึ้นทุกปี จำนวนนักเรียนที่สอบเข้าแพทย์สูงขึ้นอาจจะเป็นเพราะช่วง 2 ปีหลังกลุ่มสถาบันแพทย์ฯ เรารวมเอาคณะทันตแพทย์เข้าไว้เพื่อเป็นการลดภาระของนักเรียนและผู้ปกครอง ลดปัญหาในการมอบตัวเข้าศึกษา ซ้ำซ้อนหลายสถาบันในปีการศึกษาเดียวกัน อันเป็นเหตุให้มีการสละสิทธิ์ และมีที่นั่งว่างในแต่ละสถาบัน" แต่ถ้าหากเข้าใจกันว่าเด็กไม่อยากเป็นหมอเพราะกลัวการฟ้องร้องแล้วหันไปเรียนเป็น "หมอความ" ตามข่าวที่เคยเห็นกันมานั้น อาจารย์หมอนันทนาให้ความเห็นว่า "เด็กออกไปเหมือนเราปล่อยนกออกไปบิน โรงเรียนคือสถานที่สร้างภูมิคุ้มกัน แต่ปัจจุบันเชื้อโรคก็แข็งแรงมาก เราเองก็สร้างไม่ไหวเหมือนกัน สำหรับคดีฟ้องร้องแพทย์นั้น กับเด็กนักเรียนที่กำลังเตรียมสอบแล้ว คงไม่มีเด็กคนไหนวิตกจริตว่าเรียนแพทย์ไม่ดี แล้วไปเรียนนิติฯดีกว่า ดิฉันว่านี่เป็นเรื่องไกลตัวเด็กมาก เราขยายปัญหามากไป ของบางอย่างต้องสร้างแรงจูงใจ คนทำถูกต้องควรจะยกย่องชมเชยกันมากกว่าคนที่ทำผิดทำไม่ดีก็ไม่ต้องสนใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เด็กที่สอบแพทย์ได้แล้วสละสิทธิ์ก็มี แต่เขาสละสิทธิ์เพราะสอบติดโครงการพิเศษ และโครงการปกติ ต้องเลือกเอาโครงการใดโครงการหนึ่ง หรือบางคนอาจจะสอบติดทุนโท-เอก แต่ที่สละสิทธิ์ก็มีน้อย และถ้าเลือกสละสิทธิ์ไปสู่อาชีพอื่นที่เขามีโอกาส"

ในปีนี้จะเห็นได้ชัดว่าการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยนั้นมีความเปลี่ยนแปลง และแน่นอนว่าจะต้องมีผลต่อการสอบคัดเลือกเข้าเรียนแพทย์ในปีต่อไป นั่นคือข้อสอบที่สำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จัดขึ้นใหม่ คือการจัดสอบความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test หรือ GAT) และความถนัดเฉพาะด้านวิชาการ (Professional A Aptitude Test หรือ PAT) เพื่อใช้เป็นคะแนนในการนำไปสอบระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือแอดมิชชั่นกลางในปี 2553 แทนแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (A-NET) เมื่อไม่มี A-NET แล้ว ดังนั้นทางกลุ่มสถาบันแพทย์ฯ เลือกที่จะจัดสอบด้วยตัวเองโดยไม่ใช้คะแนน GAT และ PAT มาเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก แล้วเปลี่ยนเป็นการสอบวิชาสามัญ และให้ค่าน้ำหนักวิชาสามัญ 70% แบ่งเป็นวิทยาศาสตร์ 40% คณิตศาสตร์ 20% ภาษาอังกฤษ 20% ภาษาไทย 10% และสังคมศึกษา 10% และยังมีการจัดสอบวิชาเฉพาะมีค่าน้ำหนัก 30% ประกอบด้วยการทดสอบศักยภาพในการเรียนรู้ และการประเมินแนวคิดจริยธรรม รศ.พ.ญ.นันทนากล่าวว่า "กสพท.เราเลือกสอบรวมกันเพื่อลดปัญหาตรงนี้ และก็มีคำถามว่าทำไมเราไม่เชื่อระบบกลางของประเทศชาติ เพราะเรารู้จักไม่มากพอ การสอบแข่งขันนั้นตัดกันที่จุด ไม่ใช่ที่คะแนน เป็นจุดทศนิยม และจะพบว่าแค่จุดเดียวก็พลิกชีวิตแล้ว ในขณะที่เทสต์ทุกตัวจะมี Variation ดังนั้นการสอบครั้งเดียว และข้อสอบเดียวกันจะทำให้ให้ความยุติธรรมกับนักเรียนมากกว่า กสพท.ก็เลยไม่ขอเลือกใช้ GAT-PAT ในการคัดเลือกเข้าเรียนต่อแพทย์" "แพทย์วัดแค่ความรู้อย่างเดียวไม่พอ มีคุณสมบัติหลายอย่างต้องวัด วัดไม่ได้แค่เนื้อหาวิชา ต้องวัดความถนัดด้วย อันที่จริงแล้วเราอยากมีเวลามากพอที่จะสังเกตพฤติกรรม แต่บังเอิญยังทำไม่ได้ การวัดความถนัดคือวัดความสามารถในการวิเคราะห์ ให้เหตุผล สรุปความ เชื่อมโยงความคิด สังเคราะห์ได้ เพราะคนไข้มาหาหมอด้วยอาการมากมาย แต่คนไข้จะไม่บอกว่า...คุณหมอคะ หนูเจ็บคอ เจ็บทอนซิล ปวดไซนัส...ดังนั้นหมอต้องเป็นคนที่รวบรวมข้อมูล ตั้งสมมติฐาน หักล้าง สรุป แล้วหาข้อมูลสนับสนุนเพื่อวินิจฉัยว่าคนไข้เป็นอะไร อีกทั้งหมอต้องมีความจำ จริงอยู่ที่ทุกอย่างเปิดตำราได้ แต่เราต้องมี core content ในตัว ไม่ใช่ว่าคนไข้มาแล้ว หมอขอเปิดตำราดูก่อน ดังนั้นก็ต้องรู้จักที่จะสรุปใจความ เก็บข้อมูล จับใจความ ถ้าจำไม่ได้ก็ไม่ได้เลย นอกจากจะจำได้แล้ว ก็ต้องมีความเร็ว มีความสามารถในการประเมินด้านมิติสัมพันธ์ด้วย" ส่วนเรื่องแนวข้อสอบจะออกมาเป็นแบบไหนนั้น อาจารย์หมอบอกว่า คนใน กสพท.ยังไม่ทราบกันเลย เพราะข้อสอบนั้นออกโดยกลุ่มคนจำกัด แต่ความเชื่อถือได้ของข้อสอบนั้นมีสูง สำหรับคนที่อยากจะเรียนหมอ อาจารย์หมอแนะว่า ควรจะต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้าไว้สัก 3 ปีจะดีที่สุด เพราะสิ่งที่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาคือระบบการสอบจากส่วนกลาง ดังนั้นการเตรียมพร้อมและรู้ตัวเองไว้แต่เนิ่นๆ เป็นเรื่องดีสำหรับการวางแผนสู่อนาคตที่สดใส :D ปกติหนังสือเกี่ยวกับการเอนทรานซ์จะเป็นหนังสือแนะนำการเตรียมตัวให้กับเด็กนักเรียนกระโปรงบานขาสั้น แล้วผู้ปกครองของพวกเขาล่ะ จะเตรียมตัวอย่างไรดี? หากคิดไม่ออกลองอ่าน "เมื่อลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัย คำแนะนำไม่ให้พ่อแม่สติแตก" โดยอาจารย์อู๋ หนังสือเล่มนี้อธิบายการเตรียมสอบเอนทรานซ์รวมไปถึงการปรับสภาพจิตใจของพ่อแม่ก่อนที่จะสติแตกไปเพราะลุ้นไปกับลูกตัวเองด้วย อ่านสนุกด้วยภาษาสบาย แถมพกข้อคิดดีๆก่อนที่ลูกของคุณจะก้าวเข้าสู่โลกมหาวิทยาลัย (สนพ.ภาราดาบุ๊ก)

กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ประกอบไปด้วยคณะแพทยศาสตร์ 12 สถาบัน และคณะทันตแพทยศาสตร์ 5 สถาบัน

ได้แก่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แพทย์, หมอ, นายแพทย์, เรียนหมอ, อาชีพในฝัน, แพทยสภา

คณะยอดนิยม ปีที่แล้วมหาวิทยาลัยมหิดลได้เผยข้อมูลความนิยมในแต่ละคณะ โดยสุ่มตัวอย่างจากทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พบว่า 5 คณะยอดนิยมของเยาวชนชาย คือคณะวิศวกรรมศาสตร์ 16.2%, คณะแพทย์ศาสตร์ 15%, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 8.4%, คณะนิติศาสตร์ 7.9%, คณะรัฐศาสตร์ 7.4% ส่วนเยาวชนหญิงนั้น คือคณะอักษรศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์ 20.4%,คณะนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และคณะสื่อสารมวลชน 17.3%, คณะบัญชี 7.6%, คณะรัฐศาสตร์ 5.2%, คณะพยาบาลศาสตร์ 4.6% ขณะที่มหาวิทยาลัยยอดนิยมจัดตามอันดับแล้ว อันดับ 1 ตกเป็นของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อันดับ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อันดับ 3 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, อันดับ 4 มหาวิทยาลัยมหิดล, อันดับ 5 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, อันดับ 6 มหาวิทยาลัยศิลปากร, อันดับ 7 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, อันดับ 8 มหาวิทยาลัยขอนแก่น, อันดับ 9 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, อันดับ 10 มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) (หน้าพิเศษ)

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ จริงหรือ ? อาชีพในฝันปัจจุบันไม่ใช่ยุคของ"แพทย์" !

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook