เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงอุทิศกำลังพระวรกายประกอบพระกรณียกิจนานัปการ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ซึ่งรวมถึงทรงมีพระคุณูปการแก่วงการศึกษาของชาติ

*ทรงเป็นอาจารย์-นักวิชาการ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาเคมี ในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี พ.ศ.2491 และในระหว่างที่ทรงศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์นั้น พระองค์ได้ศึกษาหลักสูตรสังคมศาสตร์-ครุศาสตร์ อันประกอบด้วยวิชาต่างๆ ในสาขาวิชาการศึกษา วรรณคดี ปรัชญา และจิตวิทยาด้วย เมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จนิวัตประเทศไทยในปี พ.ศ.2493 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงทราบดีว่าพระธิดาโปรดการเป็นครูมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงรับสั่งแนะนำให้ทรงงานเป็นอาจารย์ พระองค์จึงทรงรับงานเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาฝรั่งเศสที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึงปี พ.ศ.2501 ในปี พ.ศ.2512 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ขอประทานพระกรุณาเป็นอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย ทรงรับงานสอนและงานบริหาร โดยทรงเป็นหัวหน้าสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส และผู้อำนวยการภาษาฝรั่งเศส จนถึงปี พ.ศ.2519 จึงทรงลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ประจำ เนื่องจากพระภารกิจด้านอื่นๆ ที่มีมากขึ้น แต่ก็ยังมีพระกรุณารับเป็นอาจารย์พิเศษ เมื่อพอจะมีเวลาประทาน และยังมีพระกรุณาเป็นอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยแห่งอื่นๆ ด้วย เช่น ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีพระกรุณาเสด็จไปประทับที่วิทยาเขตปัตตานี เพื่อทรงสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสของคณะมนุษยศาสตร์ด้วย และทรงได้รับโปรดเกล้าฯพระราชทานตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2521 จากพระประสบการณ์ที่ทรงงานสอนภาษาฝรั่งเศสมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ทรงตระหนักถึงปัญหาความต่อเนื่องในการเรียนภาษาฝรั่งเศสระดับมัธยมศึกษากับอุดมศึกษา จึงทรงริเริ่มก่อตั้งสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทยขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2520 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเรียนการสอนภาษานี้ และทรงดำรงตำแหน่งนายาสมาคมมาเป็นเวลา 5 ปี

ต่อจากนั้นก็ยังทรงพระกรุณารับเป็นนายกสมาคมกิตติมศักดิ์ ซึ่งจากผลงานของสมาคมมีส่วนช่วยให้การสอนและวิจัยภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทยเจริญรุดหน้าเป็นอย่างดี ด้วยทรงมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่และสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทย รวมทั้งยังทรงมีไมตรีจิตอันต่อเนื่องแก่ประเทศฝรั่งเศสเสมอมา ทำให้ทางการฝรั่งเศสโดยประธานาธิบดี นิโกลาส์ ซาร์โกซี ได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวายอิสริยาภรณ์ชั้น กรองด์ ออฟฟิซิเยร์ เดอ ลา เลฌิยง ดอนเนอร์ แด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ มิได้ทรงสนพระทัยการศึกษาเฉพาะระดับอุดมศึกษาเท่านั้น หากทรงคำนึงถึงความสำคัญของการศึกษาระดับต้นว่าเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไป ดังนั้น เมื่อมูลนิธิสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ของพระองค์ จัดตั้งโครงการสอนการอ่านแก่เด็กเล็กในชั้นเตรียมความพร้อมทั่วประเทศ พระองค์ได้ประทานความช่วยเหลือ โดยทรงรับเป็นผู้ดำเนินการทดลองการใช้อุปกรณ์การเรียนของมูลนิธิ โดยทรงนำไปทดลองใช้ในระหว่างการตามเสด็จ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จเยี่ยมและสงเคราะห์ราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารของจังหวัดต่างๆ เกือบทั่วประเทศ ทรงประเมินผลอุปกรณ์ วิเคราะห์ และแนะนำข้อแก้ไขจนแล้วเสร็จตามโครงการ

*องค์อุปถัมภ์โอลิมปิกวิชาการ* เหตุที่พระองค์ทรงเป็นนักวิชาการและทรงศึกษามาทางวิทยาศาสตร์ จึงทรงสนพระทัยโครงการจัดส่งผู้แทนเยาวชนไทยไปเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิควิชาการระหว่างประเทศ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2532 มาจนถึงปัจจุบัน ได้ประทานทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินกองทุนสมเด็จย่าเพื่อช่วยเหลือ และทรงติดตามความเคลื่อนไหวของการแข่งขันทุกระยะ ประทานกำลังใจ และแสดงความยินดีแก่ผู้แทนเยาวชนไทยที่ประสบความสำเร็จมาทุกครั้ง ด้วยสายพระเนตรที่กว้างไกล สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้ศาสตราจารย์ศักดา ศิริพันธุ์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในขณะนั้น ไปดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิควิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ (สอวน.) ขึ้น และทรงรับเป็นองค์ประธานมูลนิธิ สอวน.ด้วย เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของนักเรียนทั่วประเทศให้ได้มาตรฐานสากล เป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลแบบยั่งยืน และประเทศไทยจะได้นักเรียนที่มีความรู้ระดับมาตรฐานสากลไปเข้าร่วมแข่งขันทางวิชาการกับนานาชาติมากขึ้น ซึ่งมูลนิธิ สอวน.ได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยของรัฐ จัดตั้งศูนย์ สอวน.ขึ้นทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์พัฒนาศักยภาพของนักเรียนและครูทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ศึกษา จำนวน 16 ศูนย์

*ทรงเป็นที่พึ่งเด็กไทยภูเขา* สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ยังทรงห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ ทรงมีพระเมตตาสนับสนุนหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่ดำเนินงานช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสอย่างสม่ำเสมอมาโดยตลอด

"ชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า" เป็นสถานที่จัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนชาวไทยภูเขา ซึ่งมีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา และอยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯทรงตั้งพระทัยที่จะสืบสานตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่จะให้เด็กๆ ชาวเขาได้มีโอกาสเข้ามาเรียนหนังสือ เพื่อกลับไปใช้ชีวิตในชุมชนของตนเองได้อย่างเหมาะสม มีคุณภาพ กลับไปเป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชนให้เกิด

"การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน" การดำเนินงาน "ชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า" เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 โดยตั้งอยู่ที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเด็กชาวเขาในท้องถิ่นภาคเหนือเข้ามาเรียนรู้ในลักษณะอยู่ประจำ ให้ช่วยกันทำการเกษตรเพื่อการบริโภค ในระหว่างเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯทรงมีพระเมตตาประทานเงินเป็นค่าใช้จ่ายผ่านโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า จนกระทั่งปัจจุบันปี พ.ศ.2550 ชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่าแห่งนี้ ได้ช่วยเหลือเด็กๆ ชาวไทยภูเขาไปแล้วจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน โดยสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้

"โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดาร" ก็เป็นอีกโครงการในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทยภูเขา ซึ่งความเป็นมาก่อนที่จะเกิดโครงการนี้ขึ้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯได้ตามเสด็จสมเด็จย่า และทอดพระเนตรเห็นความยากลำบากของชาวเขาในด้านต่างๆ อยู่เป็นนิจ ทั้งความเป็นอยู่ การทำมาหากิน สุขภาพอนามัย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต โดยพื้นที่ทรงงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดารนี้ อยู่ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ อันได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน ตาก แพร่ น่าน และพะเยา กิจกรรมในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดาร ในแต่ละพื้นที่ มีได้แก่ การให้การสนับสนุนซ่อมแซมอาศรมศูนย์การเรียนในพื้นที่ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมในการจัดการเรียนการสอน การส่งเสริมการเกษตร ทั้งการปลูกผัก ไม้ผล และส่งเสริมการเลี้ยงเป็ด เพราะให้โปรตีนค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ได้ทรงส่งเสริมให้ชาวเขาเพาะเห็ดหอม เติมสารไอโอดีนให้แก่ชาวเขาโดยให้เด็กๆ ที่มาเรียนที่ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" เพื่อได้ดื่มน้ำที่ผสมสารไอโอดีน เสริมภูมิต้านทานโรคคอพอก

จึงเป็นดั่งน้ำทิพย์ที่ชโลมใจชาวไทยภูเขาทุกชนเผ่า ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook