แฉลึก...แต่ไม่ลับ กับต้นสายการอนุญาตเปิดร้านเกม

แฉลึก...แต่ไม่ลับ กับต้นสายการอนุญาตเปิดร้านเกม

แฉลึก...แต่ไม่ลับ กับต้นสายการอนุญาตเปิดร้านเกม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ซึ่งร้านเหล่านี้ กำลังเป็นปัญหา ที่พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย โทรไปร้องเรียนยังกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อขอให้ช่วยจัดระเบียบ และดำเนินการกับร้านที่ปล่อยให้เด็กเข้าไปเล่นเกม อย่างหามรุ่งหามค่ำ จนไม่ยอมไปทำกิจกรรมอื่นๆ หรือบางคนก็เล่นจนเสียการเรียนเสียอนาคต อันที่จริงเรื่องเด็กติดเกมนี้ เป็นปัญหาที่สั่งสมกันมานานพอสมควรแล้ว แต่เพิ่งจะเป็นปัญหาใหม่และใหญ่ขึ้นๆ ทั้งของพ่อแม่ผู้ปกครองและสังคม เมื่อร้านเกมเริ่มเปิดขึ้นอย่างมากมาย ทั้งนี้เพราะร้านเกมกำลังเป็นแหล่งรายได้ใหม่ ที่ผู้ประกอบการเห็นช่องทาง ที่จะหาเงินได้ดีอีกทางหนึ่ง จึงนิยมเปิดกันอย่างแพร่หลาย และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เปิดเผยว่าจากสถิติช่วงเดือนมีนาคม 2550 ที่ผ่านมา มีร้านเกมมาขอใบอนุญาต ทั้งประเภทเปิดร้านใหม่ และต่ออายุใบอนุญาตร้านเก่า จากสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จำนวนกว่า 200 รายแล้ว นับเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น ซึ่งหากคิดรวมผู้ประกอบการ ที่เปิดทั่วประเทศในขณะนี้ คาดว่าน่าจะมีถึงหมื่นร้านเลยทีเดียว สำหรับเรื่องการเปิดร้านเกมไม่ว่าจะเป็นร้านเกมออนไลน์ ตู้เกมเพลย์สเตชั่นในศูนย์การค้า รวมไปถึงการเปิดคาราโอเกะตามโรงแรม สถานบริการ หรือร้านค้าต่างๆ เชื่อว่าหลายคนคงไม่ทราบว่า จะต้องมีการขอใบอนุญาตในการเปิดให้บริการสิ่งเหล่านี้ และอาจจะสงสัยว่า สำนักคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ หรือ สวช. มาเกี่ยวข้องอะไรกับการเปิดร้านเกมด้วย ก็ต้องบอกเป็นข้อมูลว่า ขณะนี้

ใครก็ตามที่ประกอบกิจการใดกิจการหนึ่งใน 3 เรื่องต่อไปนี้ เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร จะต้องไปติดต่อที่ สวช. เพื่อขออนุญาตในการดำเนินการทั้งสิ้น กิจการทั้งสามประเภทได้แก่

1. การประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายซึ่งเทป และวัสดุโทรทัศน์ หรือพูดง่ายๆก็คือ ผู้ที่เปิดร้านขาย หรือให้เช่าดีวีดี วีซีดี เช่น พวกร้านแมงป่อง ซึทาญ่า ฯลฯ ตลอดจนร้านค้าที่จำหน่ายเทป วีซีดี ดีวีดีทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเพียงบูท หรือแผงลอย ก็ต้องมาขอใบอนุญาต เพื่อให้มีสิทธิ์จำหน่ายซึ่งเทป และวัสดุโทรทัศน์เหล่านี้ได้

2. การประกอบกิจการให้ฉาย หรือให้บริการซึ่งเทป และวัสดุโทรทัศน์ ในข้อนี้หมายถึง ผู้ประกอบการทั้งหลาย ที่มีการเผยแพร่ภาพเกมคอมพิวเตอร์ เกมออนไลน์ เกมเพลย์สเตชั่น คาราโอเกะ และสินค้าตัวอย่าง ฯลฯ ไม่ว่าจะอยู่ในอาคาร หรือยานพาหนะ ถ้าทำในรูปของการให้บริการ เช่น เปิดเป็นร้านเกม ห้องอาหารที่มีคาราโอเกะ หรือแม้แต่ฉายโฆษณาในรถไฟฟ้าบีทีเอส เหล่านี้ก็ต้องมาขอใบอนุญาต ให้เผยแพร่ภาพตามสถานที่ประกอบการของตนเช่นกัน

3. การขอรับการตรวจพิจารณาเทป และวัสดุโทรทัศน์ ก็คือการเซ็นเซอร์หนัง ละคร เกม ฯลฯที่จัดทำในรูปดีวีดี วีซีดี วีดิโอเกม เพื่อไปเผยแพร่หรือจัดจำหน่าย หรือพูดง่ายๆ ว่าหนังแผ่นทั้งหลาย ที่จะวางขายหรือจะนำไปฉายตามสถานที่ต่างๆ ได้นั้น ต้องเป็นแผ่นที่ผ่านการเซ็นเซอร์แล้วเท่านั้น ยกเว้นจะทำขึ้นเพื่อการศึกษา หรือการวิจัยทางวิชาการที่มีสถาบันการศึกษารับรองจึงจะเข้าข่ายยกเว้น ไม่ต้องไปผ่านการตรวจพิจารณาดังกล่าว (ส่วนหนังที่ฉายตามโรงภาพยนตร์ขณะนี้ ยังเป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจพิจารณาอยู่ ยังมิได้โอนมายังกระทรวงวัฒนธรรม) สาเหตุที่ผู้ประกอบกิจการข้างต้น ต้องมาขอใบอนุญาต และขอให้มีการเซ็นเซอร์แผ่นที่จะไปขายหรือฉายนั้น ก็เพราะแต่เดิม การควบคุมสื่อที่เผยแพร่ ต่อสาธารณะมีเพียง พ.ร.บ. ภาพยนตร์ พ.ศ. 2473 เท่านั้น ต่อมาเมื่อวิทยาการเจริญขึ้น สื่อก็มีการพัฒนาการขึ้นเป็นลำดับ ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงภาพยนตร์ ดังนั้น หากไม่มีกฎหมาย หรือระเบียบใดออกมาควบคุมสื่อบางประเภท ก็อาจจะทำให้มีผู้นำภาพหรือเรื่องราวที่หมาะสม ขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณี หรือศีลธรรมอันดีออกเผยแพร่ เช่น ขายหรือฉายหนังลามก หนังที่มีเนื้อหาโหดร้าย รุนแรง หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย ก็จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวม และอาจกระทบกระเทือน ไปถึงความมั่นคงของรัฐ

ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการออกพ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ ขึ้นมา เมื่อปี พ.ศ. 2530 เพื่อที่จะควบคุมดูแลสื่อประเภทเทป และวัสดุโทรทัศน์ ซึ่งตามกฎหมายฉบับนี้หมายถึง วีดิโอเกม เลเซอร์ดีส ดีวีดี วีซีดี ซีดีรอม(ที่มีภาพ หรือมีทั้งภาพและเสียง) และขณะนี้รวมไปถึงฮาร์ดดิสก์ที่บันทึกหรือถ่ายทอดเกมการเล่นทุกชนิดที่มาจากอินเตอร์เนทด้วย ซึ่งการควบคุมดังกล่าวก็ทำโดยผ่านการออกใบอนุญาตและการเซ็นเซอร์ตามที่พูดถึงข้างต้นนั่นเอง ทั้งนี้ โดยมีการกำหนดคุณสมบัติ และรายละเอียดไว้ในกฎกระทรวงว่า ผู้ขอจะต้องทำอะไรบ้าง โดยแต่เดิมผู้ที่ดูแลให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติฯนี้ก็คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อมาเมื่อรัฐบาลเห็นว่า งานลักษณะดังกล่าว มิใช่การรักษาความสงบเรียบร้อย หรือป้องกัน ปราบปรามผู้กระทำผิด อันเป็นภารกิจหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้มีมติคณะรัฐมนตรี โอนภารกิจนี้มายังกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อเดือนตุลาคม ปีพ.ศ. 2547 จากนั้นสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ก็ได้โอนภารกิจนี้ มาให้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 ที่ผ่านมา โดยมีสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งตั้งขึ้นตามโครงสร้างภายในของสวช.เป็นหน่วยงานที่รองรับภารกิจนี้ และจากพ.ร.บ.ควบคุมเทป และวัสดุโทรทัศน์พ.ศ. 2530 นี้เอง ที่ทำให้ร้านเกมคอมพิวเตอร์ เกมออนไลน์ หรือตู้เกมที่ตั้งตามสถานที่ต่างๆ ต้องมาขอใบอนุญาตในการดำเนินกิจการ เพราะเป็นสื่อที่เข้าข่ายถูกควบคุมตามพ.ร.บ.นี้ ซึ่งรายละเอียด ขั้นตอนการขอใบอนุญาตดูได้จาก www.culture.go.th

ในสมัยแรกๆ ที่ออกพ.ร.บ.นี้ อาจกล่าวได้ว่ายังไม่มีร้านเกมอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ในปัจจุบัน เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่มิใช่คนทั่วๆ ไปจะเข้าถึงได้ง่าย เนื่องจากมีราคาแพงและต้องมีความรู้เฉพาะ ผิดกับสมัยนี้ที่แม้แต่เด็กๆ ก็สามารถเล่นได้ โดยเฉพาะการเล่นเกมที่เน้นความสนุกสนาน เร้าใจ และท้าทายให้อยากเอาชนะในการเล่น จึงทำให้เกิดอาการ เสพติดเกม จนเด็กและเยาวชนจำนวนมากถอนตัวไม่ขึ้น และก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมามากมาย อาทิ ปัญหาสุขภาพ เช่น ทำให้เป็นโรคนิ้วล็อค ปัญหาสังคม ทำให้ขาดความสัมพันธ์กับครอบครัว/เพื่อนฝูง และทำให้เสียการเรียนเพราะบางคนเล่นจนถูกรีไทร์ เป็นต้น เรียกได้ว่า การเล่นเกมของเด็ก และเยาวชนในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ทำให้หลายคนต้องเสียเงิน เสียเวลา เสียการเรียน เสียเพื่อน เสียสุขภาพ และเสียอนาคตในที่สุด เนื่องจากไม่สามารถแบ่งเวลา และไม่อาจบังคับใจตนเองให้หยุดเล่น เมื่อต้องหยุดได้ ด้วยเหตุนี้ ล่าสุดทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงได้มีการออกระเบียบที่เรียกว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยแนวทางการปฎิบัติ ในการกำหนดเงื่อนไข ในการออกใบอนุญาตของนายทะเบียน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2549 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ขึ้น อันเป็นระเบียบที่กำหนดเงื่อนไขให้ร้านเกม ต้องมีลักษณะเฉพาะมากขึ้น เช่น ต้องตั้งในทำเลที่ปลอดภัย มีอากาศถ่ายเทสะดวก มีระบบป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร มีป้ายแสดงประเภทและราคาค่าบริการ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขการบริการและข้อห้ามที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนคือ การอนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าไปใช้บริการได้เพียงระหว่างเวลา 14.00 - 22.00 น.ตั้งแต่จันทร์-ศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการ และห้ามเล่นเกมคอมพิวเตอร์เกินกว่า 3 ชม.ต่อวัน โดยเกมที่เล่นจะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีด้วย นอกจากนี้ ยังห้ามจำหน่ายสารเสพติดทุกชนิด รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ให้บริการ และห้ามเล่นการพนัน ตลอดจนห้ามมีสื่อลามกอนาจาร ในสถานที่บริการอีกด้วย เกณฑ์และระเบียบข้างต้นนี้ เน้นไปที่ร้านเกมโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับร้านที่เปิดให้บริการอินเตอร์เน็ต ซึ่งไม่ข่ายกฎหมายฉบับนี้ ยกเว้นว่าจะเป็นการเปิดกิจการควบคู่กันไป ก็ต้องมาขอใบอนุญาต และต้องปฏิบัติตามระเบียบนี้ ซึ่งจากระเบียบข้างต้น พ่อแม่ผู้ปกครอง ตลอดจนครูบาอาจารย์ ส่วนใหญ่ก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่จะช่วยควบคุมดูแลเด็ก มิให้ไปเล่นเกมจนเลยเถิดจนเสียอนาคตอย่างที่กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันหลายๆ จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งตามกฎหมายถือว่า เป็นนายทะเบียนประจำจังหวัด ได้ออกระเบียบเพิ่มขึ้นหลายข้อ เพื่อควบคุมร้านเกมในจังหวัดของตน เช่น บางจังหวัดให้ร้านเกมเปิดได้ถึงเวลา 22.00 น.เท่านั้น และห้ามเด็กต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปเล่นก่อน 16.00 น. บางจังหวัดห้ามมิให้ร้านเกม ไปเปิดใกล้กับสถานศึกษาเกินกว่ากำหนด เป็นต้น

ซึ่งจากระเบียบที่แต่ละจังหวัด ประกาศใช้นี้เอง ปรากฎว่าร้านเกมจำนวนไม่น้อย ได้มีการร้องเรียนและร้องขอมายังกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงมหาดไทยว่า มีการปฏิบัติที่เหลื่อมล้ำ ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะเวลาเปิด-ปิดร้านเกม ที่บางจังหวัดสามารถเปิดได้ตลอดเวลา แต่บางจังหวัดกลับเปิดได้เพียง 22.00 น. ทั้งนี้ เพราะตามกฎหมาย เป็นอำนาจของนายทะเบียนประจำจังหวัดคือ ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดจะกำหนดเอง เนื่องจากเป็นผู้อยู่ในพื้นที่ ย่อมจะทราบดีถึงสภาพแวดล้อมสังคมว่า ควรปฏิบัติเช่นไรจึงจะเหมาะสมกับท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม เพื่อลดปัญหาในทางปฏิบัติ ขณะนี้ก็กำลังอยู่ในระหว่างการปรึกษาหารือกันอยู่ ว่าจะดำเนินการเช่นไร เพราะหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นว่า ประเด็นหลัก อยู่ที่การควบคุมดูแลกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งกำหนดไว้ในระเบียบนี้ ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนเรื่องเพิ่มเติมอื่นๆ ก็ยังเห็นควรขึ้นกับดุลพินิจ ของผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด ในการพิจารณาเช่นเดิม ซึ่งหากผู้ประกอบการเห็นว่าไม่เหมาะสม ก็สามารถร้องขอ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดของตนเป็นจังหวัดๆ ไป

กล่าวโดยทั่วไป หากร้านเกมจะมิใช่ แหล่งรายได้ใหม่ ที่เชิญชวนให้ผู้ประกอบการทั้งหลาย อยากเข้ามาหารายได้ และ ลูกค้า ที่แท้จริงจะมิใช่ เด็กและเยาวชน แล้ว ระเบียบที่เข้มข้น และเข้มงวดเช่นข้างต้น ก็คงมิใช่สิ่งจำเป็น เพราะ ร้านเกม ก็เป็นเพียงหนึ่งในอาชีพสุจริต ที่มาพร้อมกับวิทยาการสมัยใหม่ แต่เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านเกมเป็นเด็ก และเยาวชน ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงมิใช่เพียงปัญหาใหญ่ สำหรับพ่อแม่เท่านั้น แต่ได้กลายเป็นปัญหาสังคม ที่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไข เพื่อให้เด็กและเยาวชน ผู้ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ได้เติบโตเป็นทรัพยากรบุคคล ที่มีคุณภาพต่อไปด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลข่าว : อมรรัตน์ เทพกำปนาท สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ แฉลึก...แต่ไม่ลับ กับต้นสายการอนุญาตเปิดร้านเกม

แฉลึก...แต่ไม่ลับ กับต้นสายการอนุญาตเปิดร้านเกม
แฉลึก...แต่ไม่ลับ กับต้นสายการอนุญาตเปิดร้านเกม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook