ซานตา มาเรีย ผลงานอัจฉริยะจากยุคเรอเนสซอง
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    https://s.isanook.com/ca/0/ud/182/910947/b_02890_001.jpgซานตา มาเรีย ผลงานอัจฉริยะจากยุคเรอเนสซอง

    ซานตา มาเรีย ผลงานอัจฉริยะจากยุคเรอเนสซอง

    2007-10-15T00:00:19+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานที่สำคัญทางศาสนา เช่น โบสถ์ วิหาร ฯลฯ เป็นศูนย์กลางในการรวมจิตใจของศาสนิกชน จึงเป็นสถานที่ที่ได้รับความเอาใจใส่ ทุ่มเทตั้งแต่การก่อสร้าง เพื่อให้เกิดเป็นผลงานที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำให้ศาสนสถานหลายแห่งกลายเป็นผลงานตระการตา เป็นที่เลื่องลือมาหลายยุคหลายสมัย สำหรับโบสถ์คริสต์มีมากมายหลายแห่งที่ขึ้นชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โบสถ์ในประเทศอิตาลี สถานที่ซึ่งคริสต์ศาสนาเฟื่องฟูไปพร้อมๆ กับศิลปะ และสถาปัตยกรรมมาตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ หรือยุคเรอเนสซอง และหากจะเฉพาะเจาะจงลงไปถึงโบสถ์ที่งดงาม และยิ่งใหญ่ ที่สุดในอิตาลี เห็นจะเป็นโบสถ์ซานตา มาเรีย เดล ฟิโอเร แห่งเมืองฟลอเรนซ์นั่นเอง โบสถ์ซานตา มาเรียแห่งนี้ สร้างขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 ด้านนอกตกแต่งด้วยหินอ่อนหลากสี ทั้งชมพู เขียว ขาว ก่อเกิดเป็นโบสถ์สีหวานที่เลื่องชื่อ พร้อมยอดโดมสูงตระหง่านที่กว่าจะสำเร็จเสร็จเป็นผลงานอันมโหฬารนี้ ต้องใช้เวลาไปนานถึง 173 ปีทีเดียว ชาวเมืองฟลอเรนซ์สร้างโบสถ์นี้ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้เป็นศาสนสถานที่ใหญ่ และสวยงามกว่าโบสถ์อื่นๆในอิตาลี และเมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ซานตา มาเรีย ก็ยิ่งใหญ่สมใจชาวฟลอเรนซ์ เมื่อได้ชื่อว่าเป็นโบสถ์ใหญ่ที่สุดของยุโรปในขณะนั้น สามารถจุคนได้มากถึง 30,000 ชีวิต จนถึงปัจจุบันก็เป็นรองเพียงแค่โบสถ์เซนต์ปีเตอร์ ในวาติกัน และเซนต์พอล ที่ลอนดอนเท่านั้น ความดีความชอบในเรื่องนี้คงจะต้องยกให้สถาปนิกผู้ออกแบบ คือ อาโนลโฟ ดี แคมบิโอ ซึ่งลงมือก่อสร้างในปี ค.ศ. 1296 แต่ยอดสถาปนิกก็ได้เห็นเพียงโครงร่างคร่าวๆ เพราะมาด่วนเสียชีวิตไปก่อนในปี 1302 เป็นที่น่าเสียดายว่า เมื่อสถาปนิกคนแรกจากไป โบสถ์แห่งนี้ก็ขาดคนมาสานต่อ ทำให้ งานชะงักไป 32 ปี กว่าสถาปนิกจิออตโตจะเข้ามารับงานอันยิ่งใหญ่นี้ก็เป็น ค.ศ. 1334 แต่เดินหน้าไปไม่ถึงไหน ผู้ควบคุมการก่อสร้างคนนี้ก็หมดเคราะห์หมดโศก ตายไปใน 3 ปีต่อมา ทำให้ซานตา มาเรีย ถูกทอดทิ้งอีกครั้ง กว่าจะกลับมาทำอีกหนก็ปาเข้าไป 12 ปีต่อมา 

    หลังจากผ่านมือสถาปนิกหลายคน ในที่สุด ตัวอาคารหลักของโบสถ์ก็สำเร็จลงได้ในปี 1418 เหลือเพียงโดมใหญ่ที่ฟิลลิปโป บรูเนลเลสกี้ ได้รับเลือกให้เข้ามาก่อสร้าง จนกลายเป็นโดมมหึมาอันเป็นจุดเด่นสำคัญของซานตา มาเรีย และทำให้ชื่อของบรูเนลเลสกี้อยู่ คู่กับโบสถ์แห่งนี้ในฐานะยอดสถาปนิกที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งแห่งยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ด้วยอัจฉริยะของบรูเนลเลสกี้เกิดเป็นโดม 8 เหลี่ยมอลังการที่ไม่เคยมีใครคิดทำมาก่อน อิฐกว่า 4 ล้านก้อนที่ทำให้หลังคาหนักถึง 37,000 ตัน เป็นเรื่องท้าทายความสามารถในยุคนั้น ทว่าแม้จะสร้างโดมสำเร็จในปี 1436 แต่ซานตา มาเรีย ก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะยังขาดยอดโดมประดับไม้กางเขนต่อขึ้นไปอีก บรูเนลเลสกี้ได้รับคัดเลือกให้เข้ามารับ หน้าที่อีกหน แต่ดูเหมือนกับว่าโชคชะตาจะเล่นตลก บรรดาสถาปนิกนามกระเดื่องแต่ละคน ที่เข้ามารับงานแทบไม่เคยมีใครได้อยู่ดูความสำเร็จขั้นสุดท้าย บรูเนลเลสกี้เองก็เช่นกัน ศิลปินผู้ร่วมสร้างยุคทองแห่งศิลปะ เสียชีวิตลงในปี 1446 หลังจากลงมือสร้างยอดโดมได้เพียงไม่กี่เดือน ทำให้งานชะงัก ไปอีกกว่า 20 ปี ก่อนจะมีผู้มาสานต่อ จนยอดโดมและไม้กางเขนเสร็จ สมบูรณ์ในปี 1469 ในจุดนี้นี่เองที่พระเอกคนสำคัญอีกคน หนึ่งก้าวเข้ามาช่วยให้ ซานตา มาเรีย เกิดความ สมบูรณ์แบบ กล่าวคือยอดโดมที่สูงตระหง่าน บวกกับไม้กางเขนที่พุ่ง เสียดฟ้า รวมความสูงถึง 114.5 เมตรนั้น เป็นเรื่อง ยากที่จะก่อสร้างโดยง่าย แต่ก็สำเร็จลงได้ด้วยความสามารถของลีโอนาร์โด ดาวินชี ที่ช่วยออกแบบปั้นจั่นยกยอดโดมขึ้นไป ทำให้ซานตา มาเรีย กลายเป็นสุดยอดโบสถ์แห่งยุค

    นอกจากซานตา มาเรีย แห่งฟลอเรนซ์ แล้ว ที่อิตาลียังมีโบสถ์ ซานตา มาเรีย อีกแห่งหนึ่งในมิลานคือ ซานตา มาเรีย เดลเล กราเซีย ซึ่งปัจจุบันนี้ได้รับการยกย่องในฐานะมรดกโลก ของยูเนสโก สิ่งสำคัญที่สุดของซานตา มาเรีย แห่งมิลาน คือผลงานโด่งดังที่สุดชิ้นหนึ่งของลีโอนาร์โด คือภาพวาด เดอะ ลาสต์ ซัปเปอร์ หรือ พระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้าย ภาพที่ พระเยซูถูกห้อมล้อมด้วยอัครสาวก 12 คน ซึ่งกลายมาเป็นแก่นของนวนิยายที่อื้อฉาวที่สุดศตวรรษนี้ คือ ดาวินชี โค้ด ที่ระบุว่า ลีโอนาร์โดซ่อนงำความ ลับอันยิ่งใหญ่ที่สุดของคริสต์ศาสนาไว้กับภาพวาดนี้ นั่นคือความลับที่ว่า หนึ่งในอัครสาวกเป็นผู้หญิงที่มีความสัมพันธ์กับพระเยซู

    ย้อนกลับไปที่ตัว โบสถ์ซานตา มาเรีย แห่งมิลาน สร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ตาม บัญชาของฟรานเซสโก สฟอร์ซา ผู้ปกครอง มิลาน โดยสถาปนิก กุยนีฟอร์เต้ โซลารี ที่บรรจงออกแบบและควบคุมการก่อสร้างจนได้เป็นโบสถ์ที่สวยงาม สไตล์โกธิคผสมเรอเนสซอง แต่ผู้ปกครองคนต่อ มาคือ ลูโดวิคโค สฟอร์ซา ได้เข้ามาปรับปรุงเพิ่ม เติมด้วยการระดมศิลปินชื่อดังแห่งยุคมาช่วยกัน ทำให้ซานตา มาเรีย งดงามขึ้น และในช่วงนี้นี่เอง ที่ลีโอนาร์โดถูกว่าจ้างให้เข้ามารับหน้าที่วาดภาพ เดอะ ลาสต์ ซัปเปอร์ เอาไว้บนผนังในหอฉัน โบสถ์ซานตา มาเรีย ทั้งที่ฟลอเรนซ์ และมิลาน เป็นผลงานอันเกิดจากความตั้งใจและอุตสาหะที่ยากจะทำให้เกิดขึ้นมาได้ แม้ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีพร้อมพรั่ง เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือจิตวิญญาณของผู้สร้างที่ทุ่มเท และเต็มไปด้วยแรงศรัทธา The History Channel จะพลิกประวัติศาสตร์กลับมา ให้ผู้ชมได้เห็นถึงความพยายามในการก่อสร้างซานตา มาเรีย เดล ฟิโอเร อีกครั้งทางทรูวิชั่นส์ ในภาพยนตร์สารคดี ซีรี่ส์ Engineering an Empire เรื่องราวความมหัศจรรย์ของการก่อสร้างตั้งแต่ยุคโบราณ ตั้งแต่ไบเซนไทน์ อาณาจักรเปอร์เซีย กรีก โรมัน จนถึงยุคทองเรอเนสซอง ทุกวันอาทิตย์ เวลา 19.00 น. ตลอดเดือนตุลาคมนี้. ทีมงาน ต่วย'ตูน

    อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

    อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ ซานตา มาเรีย ผลงานอัจฉริยะจากยุคเรอเนสซอง

    ซานตา มาเรีย ผลงานอัจฉริยะจากยุคเรอเนสซอง
    ซานตา มาเรีย ผลงานอัจฉริยะจากยุคเรอเนสซอง
    ซานตา มาเรีย ผลงานอัจฉริยะจากยุคเรอเนสซอง