พลิกปูม... เทศกาลวันสารทไทย

พลิกปูม... เทศกาลวันสารทไทย

พลิกปูม... เทศกาลวันสารทไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 ถึงเดือนสิบเห็นกันเมื่อวันสารท ใส่อังคาสโภชนากระยาหาร กระยาสารทกล้วยไข่ใส่โตกพาน พวกชาวบ้านทั่วหน้าธารณะ เจ้างามคมห่มสีชุลีนบ แล้วจับจบทัพพีน้อมศีรษะ หยิบข้าวของกระยาสารทใส่บาตรพระ ธารณะเสร็จสรรพกลับมาเรือน ข้อความข้างต้นพระยาอนุมานราชธน ได้เล่าเรื่องเทศกาลสารทไว้ว่า สารทเป็นการทำบุญกลางปีของไทยตรงกับวันสิ้นเดือน 10 หรือ วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 สารทเป็นนักขัตฤกษ์ ถือเป็นประเพณีนิยมมาแต่โบราณว่า เทศกาลทำบุญสิ้นเดือน 10 คือ วัน เวลา เดือน และปีที่ผ่านพ้นไปกึ่งปี และโดยที่มนุษยชาติ ดำรงอยู่ได้ด้วยเกษตรกรรมเป็นหลักสำคัญ เมื่อกึ่งปีเป็นฤดูกาลที่ข้าวออกรวงเป็นน้ำนม จึงได้มีกรรมวิธีปรุงแต่งที่เรียกว่า กวนข้าวทิพย์ หรือ ข้าวปายาส ข้าวยาคู และขนมชนิดหนึ่งเรียกว่า กระยาสารท แล้วประกอบการบำเพ็ญกุศลถวายพระสงฆ์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนา ทั้งอุทิศส่วนกุศลให้บรรพชนผู้มีพระคุณ และแจกสมนาคุณญาติมิตร ตามคติที่ชาวไทยพุทธศาสนิกชน แม้จะเป็นประเพณีที่มีส่วนมาจากลัทธิพราหมณ์ ชาวไทยก็นิยมรับพระเป็นประเพณีในส่วนที่มีคุณธรรมอันดี พึงยึดถือปฏิบัติ สารท เป็นคำของอินเดีย หมายถึง ฤดู ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Autumn แปลว่า ฤดูใบไม้ร่วง ฤดูสารทเป็นเวลาที่พืชพันธุ์ธัญชาติ และผลไม้เริ่มสุก ซึ่งหมายถึงเฉพาะในเขตของตอนกลางเท่านั้น ประเทศเราอยู่ใน เขตร้อนของโลก จึงไม่มีฤดูซึ่งมีลักษณะอย่างนี้ ฤดูสารทมีอยู่แต่ในประเทศที่ถัดเขตร้อนของโลกขึ้นไป เช่น ในทวีปยุโรปตอนเหนือ หรือในประเทศจีน และประเทศอินเดียที่อยู่ทางเหนือ เทศกาลวันสารทไทยของเรา ไม่ใช่ฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูที่พืชพันธุ์ธัญญาหาร และผลไม้สุก เพราะข้าวของเราก็ยังไม่สุก ผลไม้ของเราก็มีบางชนิดเท่านั้นที่สุกในฤดูนี้ เทศกาลวันสารทไทย จะทำแบบอย่างคล้าย ๆ กับทางอินเดียตอนใต้ ซึ่งมีพิธีต้มข้าวกับน้ำนมทำเป็นขนม เรียกว่า ข้าวทิพย์ข้าวปายาสถวายบูชาพระคเณศ เรียกว่า พิธีปงคัล แต่เขาทำพิธีนี้ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นเวลาเก็บเกี่ยวข้าวของเขา เพราะฤดูกาลของอินเดียตอนใต้เหมือนกับของเรา เสร็จพิธีสังเวยบูชาแล้ว ก็มีสมโภชเลี้ยงดูกันเอิกเกริกสนุกสนาน ในประเทศยุโรป ก็มีงานสมโภชเกี่ยวกับพิธีนี้เรียกว่า วันขอบคุณอันเนื่องด้วยการเก็บเกี่ยวได้ (HARVEST THANKSGIVING DAY) บางทีเลือกหญิงสาวสวยคนหนึ่ง เป็นประธานไปงานเลี้ยงดูนี้ เรียกว่า ราชินีแห่งผลที่เก็บเกี่ยวได้ (HARVEST QUEEN) ซึ่งในที่นี้อาจสมมติเป็นแม่โพสพของเขาก็เป็นได้

วันสารทไทย คือ เทศกาลทำบุญสิ้นเดือนสิบของไทย ชาวบ้านนำเอาโภชนาหาร พร้อมทั้งกระยาสารท กล้วยไข่ไปตักบาตรธารณะกันที่วัด แต่ก่อนนี้เมื่อถึงใกล้วันสารทชาวบ้านจะกวนขนมซึ่งเรียกว่า กระยาสารทกันทุกบ้าน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องทำเอง เพราะมีขายสะดวกดี กระยาสารท คือ ข้าวเม่าข้าวตอก ถั่ว งา และมะพร้าว กวนกับน้ำตาลให้เหนียวหนืดเกาะติดกันเป็นปึก เมื่อชาวบ้านกวนกระยาสารทเสร็จ ก็จะเอาใบตองห่อ เพื่อนำไปตักบาตรถวายพระในวันสารทที่วัด ส่วนพระสงฆ์รับบาตรกระยาสารทในวันนั้นแล้ว หลังจากฉันอาหารแล้วก็ฉันกระยาสารทเป็นของหวานสลับกับกล้วยไข่ เพราะกระยาสารทจะหวานจัด กินมากจะแสบคอต้องฉันกล้วยไข่ขัดจังหวะ เพื่อจะฉันได้มาก ๆ ในช่วงเทศกาล อีกประการหนึ่งของวันสารทไทย จะตรงกับหน้ากล้วยไข่สุกพอดี ในสมัยก่อนชาวบ้านจะกวนกระยาสารทเอง เหลือจากทำบุญก็จะแจกจ่ายให้เพื่อบ้านร้านถิ่น เป็นการแลกเปลี่ยนรสชาติฝีมือการทำกระยาสารทว่าใครทำได้อร่อยกว่ากัน แต่มาในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ จะหาซื้อมาทำบุญมักจะไม่ทำเองเพราะสาเหตุว่าไม่มีเวลาขั้นตอนทำยุ่งยาก จึงมีคนเพียงกลุ่มหนึ่งที่ทำขนมเป็นธุรกิจการค้ามากกว่าการจะลงมือทำเองแล้วนำมาแลกเปลี่ยนชิมกันเหมือนแต่ก่อน ตรงนี้ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้การแสดงน้ำใจ แบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในสังคมลดน้อยไปด้วย จากภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้คนต้องกระตือรือร้นหาเงินทองมาจับจ่ายใช้สอยสิ่งต่าง ๆ มากมาย ถึงอย่างไรประเพณีก็ยังเหนี่ยวรั้งค่านิยมของคนให้สืบทอดประเพณีต่อไป แม้จะแปรเปลี่ยนพฤติกรรมไปจากเดิมก็ตาม

นอกจากเทศกาลวันสารทไทย ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ยังมีการทำบุญเทศกาลวันสารทไทยของภาคใต้ ที่รู้จักกันในชื่อการทำบุญเดือน 10 เป็นประเพณีการทำบุญ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ปู่ย่า ตายาย ญาติ พี่ น้อง และบุคคลอื่น ๆ ที่ล่วงลับไปแล้วซึ่งมีชื่อเรียกเป็น 4 อย่าง คือ

1. ประเพณีทำบุญเดือนสิบ โดยกำหนดเอาเดือนทำบุญเป็นหลัก

2. ประเพณีทำบุญวันสารท โดยถือหลักของการทำบุญ ที่มีความสัมพันธ์กับอินเดีย เหมือนวันสารทไทยของคนไทย ในภาคกลาง บางครั้งก็เรียกว่า ประเพณีทำบุญสารทหรือเดือนสิบ

3. ประเพณีจัด หฺ มฺ รับ (สำรับ) การยกหฺ มฺ รับ และการชิงเปรต คำว่า จัดหฺ มฺ รับ ได้แก่ การจัดเสบียงอาหารเ ป็นสำรับถวายพระภิกษุเป็น โดยให้พระภิกษุจับสลากแล้ว ให้ศิษย์เก็บไว้ แล้วนำถวายพระภิกษุเป็นมื้อ ๆ การยก หฺ มฺ รับ ที่จัดเรียบร้อยแล้วไปวัด พร้อมทั้งภัตตาหารไปถวายพระภิกษุ ในช่วงเวลาเช้าก่อนเพล จะจัดเป็นขบวนแห่ใหญ่โตก็ได้ บางแห่งแต่งตัวเป็นเปรต เข้าร่วมไปในขบวนด้วย ส่วนชิงเปรตหรือตั้งเปรตนั้น เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำบุญ กล่าวคือ เมื่อจัดหฺ มฺ รับ ยกหฺ มฺ รับ ไปถวายพระภิกษุแล้ว จะเอาอาหารที่จัดไว้ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ไปจัดตั้งไว้ให้เปรต โดยมากเป็นอาหารที่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ชอบในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือขนม 5 อย่าง คือ ขนมพอง ขนมลา ขนมกง ขนมดีซำ และขนมบ้า สถานที่ตั้งอาหาร เป็นนั่งร้านสูงพอสมควร เรียกว่า ร้านเปรตหรือหลา (ศาลา) เปรต มีสายสิญจน์วงรอบ โดยให้ปลายสายสิญจน์อีกข้างหนึ่งโยงมาสำรับสำหรับพระภิกษุชักบังสุกุล ซึ่งชาวบ้านจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ พอเก็บสายสิญจน์แล้ว ก็จะมีการแย่งอาหาร และขนมที่ตั้งเปรตไว้นั้นอย่างสนุกสนานเรียกว่า ชิงเปรตแล้วนำมากิน ถือว่าได้กุศลแรงและเป็นสิริมงคล การทำบุญด้วยวิธีตั้งเปรต และชักบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลนี้ บางครั้งเรียกว่า การฉลองหฺ มฺ รับและบังสุกุล ถือว่าสำคัญเพราะเป็นวันส่งญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย

4. ประเพณีทำบุญตายาย หรือประเพณีรับส่งตายาย โดยถือคติว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้ว กลับมาเยี่ยมลูกหลานในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับนรกตามเดิมในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 แต่มีบางแห่งถือว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เหล่านี้เป็นตายาย เมื่อท่านมาก็ทำบุญรับ เมื่อท่านกลับก็ส่งกลับ จึงเรียกประเพณีดังกล่าวนี้ว่า ทำบุญตายาย ของทำบุญก็เหมือนกับที่กล่าวไว้ในข้อ 3 สำหรับเทศกาลวันสารทไทยในปีพุทธศักราช 2550 ตรงกับวันที่ 11 ตุลาคม 2550 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชน ทำบุญตักบาตร รักษาศีล สร้างน้ำใจไมตรีในครอบครัว ชุมชน และสังคมให้เป็นวัฒนธรรมประเพณีสืบทอดเทศกาลวันสารทไทย ถึงแม้ประเพณีปฏิบัติ ความเชื่อของแต่ละภูมิภาคจะแตกต่างกันไปบ้าง แต่วัตถุประสงค์คือ ต้องการที่จะทำบุญสร้างกุศลให้แก่ตนเอง ครอบครัว และผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเป็นเทศกาลการสร้างความดีอีกเทศกาลหนึ่ง ที่มีแต่การให้ไม่เบียดเบียนผู้อื่น จึงเป็นประเพณีที่ควรสืบสานต่อไป

***เอกสารอ้างอิง เทศกาลและประเพณีไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ขอขอบคุณข้อมูลข่าว : กฤษณา พันธุ์มวานิช กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ พลิกปูม... เทศกาลวันสารทไทย

พลิกปูม... เทศกาลวันสารทไทย
พลิกปูม... เทศกาลวันสารทไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook