ก่อนก้าวเป็น แอร์ - สจ๊วด

ก่อนก้าวเป็น แอร์ - สจ๊วด

ก่อนก้าวเป็น แอร์ - สจ๊วด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
อาชีพที่ใครหลายคนใฝ่ฝันและอยากเป็น อาชีพที่ใครหลายคนว่ากันว่าเป็น นางฟ้า อาชีพที่ว่านี้คือ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน (Flight Attendant) หรือคนไทยทั่วไปใช้คำว่า แอร์โฮสเตส (Air Hostess) หรือ สจ๊วด (Steward) หรือที่พวกเขานิยมเรียกตัวเองว่าลูกเรือ (Cabin crew) นั่นเอง มาถึงขั้นตอนต่อไปของการก้าวเข้าสู่เส้นทางของการเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ไม่ว่าฝันของเราจะเป็นสายการบินของประเทศไทย สายการบินญี่ปุ่น สายการบินเกาหลี หรือสายการบินที่มาแรงอย่างสายการบินตะวันออกกลางแล้วละก็ ก้าวแรกที่สำคัญคือ การเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อสมัครเป็นลูกเรือในสายการบินต่างๆ ที่ตั้งใจเอาไว้ เพราะอาชีพนี้เขามีไว้สำหรับคนที่พร้อมที่สุดเท่านั้น

เตรียมตัวให้พร้อม ก่อนที่เราจะไปสมัครคักเลือกเพื่อเป็นแอร์โฮสเตส หรือสจ๊วดตามที่เราใฝ่ฝันเอาไว้ เราต้องมาลองตรวจดูตัวเองกันหน่อยดีกว่า เราพร้อมมากน้อยแค่ไหนที่จะก้าวสู่อาชีพนี้ อันดับแรกที่อยากจะแนะนำคือ ถามใจตัวเองกันก่อนดีไหมว่าเราเป็นคนที่มีจิตใจชอบบริการคนอื่นกันบ้างหรือเปล่า หรือเพื่อนๆ รอบข้างเคยเอ่ยปากบอกเราบ้างไหมว่า เราเป็นคนที่รักในการบริการผู้อื่น ถ้าคำตอบของเราคือไม่เลยแม่แต่นิด เส้นทางสู่การเป็นพนักงานต้องรับบนเครื่องบินคงมีอุปสรรคอีกหนึ่งขั้นแล้วล่ะ เพราะการทำงานนี้ต้องอาศัยความเข้าใจธรรมชาติของอาชีพจากภายใน ไม่ใช่คนรอบข้างบอกว่าอาชีพนี้ดี จึงไปสมัครเรียนต่อในหลักสูตรด้านธุรกิจการบิน หรือหลักสูตรเตรียมความพร้อมในสถาบันหรือโรงเรียนต่างๆ เพราะการเรียนต่อทางด้านนี้เป็นการสายอาชีพเฉพาะทาง ถ้าเราเกิดไม่ชอบขึ้นมาก็คงต้องเสียเวลาเริ่มเรียนในสายอื่นๆ ใหม่ หรือต้องทนทำงานนี้ไปเรื่อยๆ ทำให้ไม่มีความสุขทั้งการเรียนและการทำงานไปอีกนาน แต่ถ้าเรามีจิตใจชอบงานบริการ ชอบการช่วยเหลืออื่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อาชีพนี้ก็เป็นอีกหนึ่งสายงานที่น่าสนใจ ทั้งเราและผู้ได้รับการบริการก็มีความสุขไปด้วย นอกจากความชอบในงานบริการแล้ว ก็ต้องมาพร้อมกับสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เพราะการทำงานบนเครื่องบินนั้นมีสภาวะแตกต่างจากการทำงานทั่วๆ ไป ซึ่งต้องการคนที่สุขภาพสมบูรณ์ไม่เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เมื่อมีจิตใจและร่างกายพร้อมแล้ว ขั้นตอนที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การติดตามข่าวสารของการรับสมัคร ติดตามข้อมูลข่าวสารในการสมัคร ในแต่ละสายการบินที่อ้าแขนรับลูกเรือชาวไทยนั้นมีการเปิดรับสมัคร และการกำหนดคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป บางสายการบินไม่รับลูกเรือผู้ชาย บางสายการบินรับสมัครทั้งผู้ชายและผู้หญิง รวมถึงช่วงเวลาที่เปิดรับสมัครไม่ตรงกัน การติดตามข้อมูลข่าวสารจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม แหล่งข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดรับสมัครทางที่ดีที่สุดคือ คอยติดตามการประกาศข่าวรับสมัครจากทางเว็บไซต์ของสายการบินนั้นๆ ที่เราสนใจ หรือตามหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ก็จะเป็นหนทางรับข่าวสารได้รวดเร็วและถูกต้องมากที่สุด นอกจากนี้ยังสามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงสายการบินอย่างเว็บไซต์ Thaicabincrew ก็เป็นอีกเส้นทางหนึ่งในการเสาะหาข้อมูล ข้อดีของการติดตามข่าวสารอยู่เสมอจะทำให้เราสามารถเตรียมตัวในการสมัครได้ก่อนคนอื่นๆ เพราะในแต่ละปี ข้อกำหนดคุณสมบัติในการรับสมัครอาจมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นส่วนสูง คะแนนสอบ TOEIC อายุของผู้สมัคร หรือแม้แต่วัน เวลา และสถานที่การรับสมัคร สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องอ่านโดยละเอียด คุณสมบัติของผู้สมัคร ได้ข้อมูลแน่นปึ้กเป็นที่อุ่นใจกันแล้ว สิ่งที่ไม่ควรละเลยก็คือ การอ่านข้อกำหนดที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่ต้องการสมัครคัดเลือกโดยละเอียด ซึ่งการประกาศรับสมัครเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษแทบทั้งสิ้น โดยข้อกำหนดหลักๆ ของการประกาศคือ ข้อกำหนดในเรื่องเพศ ช่วงอายุที่กำหนด สถานภาพที่ต้องโสดเท่านั้น หรือความสูงที่แต่ละสายการบินต้องการไม่เท่ากัน ความสามารถทางภาษาอังกฤษที่ต้องมีผลคะแนนไม่ต่ำกว่าเกณฑ์จากทางสายการบินกำหนด สุขภาพและสายตาดี และวุฒิการศึกษา ถึงแม้ข้อกำหนดต่างๆ จะมีข้อแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย เช่น สายการบินญี่ปุ่นอาจต้องการหญิงที่มีความสูงไม่ต่ำกว่า 156 ซม. สามารถยืดตัวแตะเส้นความสูงที่ 208 ซม.ได้ แต่สำหรับส่วนสูงเดียวกันอาจมาสมัครที่สายการบินอื่นๆ ไม่ได้ บางแห่งอาจต้องการผู้ที่มีความสูง 160 ซม.ขึ้นไป ในบางสายการบินยินดีรับผลคะแนนสอบ TOEIC ที่ระดับ 550 คะแนนขึ้นไป แต่บางสายการบินอาจสูงถึง 600 คะแนนขึ้นไป ดังนั้นทางที่ดีเราควรเตรียมตัวการสอบภาษาอังกฤษให้พร้อมที่จะสามารถยื่นสมัครไปได้หลากหลายที่ด้วย การสอบ TOEICเมื่อฝันที่จะทำงานสายการบิน สิ่งหนึ่งที่ต้องเตรียมตัวกันเนิ่นๆ และหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการสอบ TOEIC ได้ยินคำนี้มานานแล้ว แต่บางคนก็ยังไม่เข้าใจว่า TOEIC คือการสอบอะไร ต้องนำผลสอบเหล่านั้นไปทำไม และมีความจำเป็นอย่างไรถึงต้องสอบกัน เป็นดังนั้นเรามาทำความรู้จัก TOEIC กันดีกว่า TOEIC เป็นตัวย่อจากคำว่า Test of English for International Communication เป็นการทดสอบสมิทธิภาพในการใช้ภาษาอังกฤษ (Proficiency Test) สำหรับผู้ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ (Non-native speaker) ถ้าจะพูดให้เข้าใจยิ่งขึ้นคือ การทดสอบวัดระดับภาษาอังกฤษของเราว่าสามารถสื่อสารเพื่อการใช้ชีวิต การทำงานได้อยู่ในระดับมากน้อยแค่ไหน โดยการทดสอบประเภทนี้เป็นการทดสอบทางภาษาอังกฤษที่เน้นไปทางหลักการหรือเข้มข้นทางวิชาการเหมือนกับการสอบ TOEFL หรือ IELTS ที่มุ่งเน้นวัดระดับทางภาษาอังกฤษเพื่อไปยื่นสมัครศึกษาต่อในต่างประเทศที่ต้องใช้ความสามารถทางภาษาอังกฤษทั้ง ฟัง พูด อ่าน เขียนได้เป็นอย่างดี รูปแบบของการสอบ TOEIC เป็นการวัดความสามารถทางการใช้ภาษาแบบ Passive Skills คือมีเพียงการทดสอบการฟังและการอ่าน ประกอบข้อเขียนแบบเลือกตอบ แบ่งเป็นข้อสอบ 2 ส่วนหลักคือ การฟังมีข้อสอบ 100 ข้อ และการอ่านอีก 200 ข้อ ใช้เวลาในการทดสอบ 2 ชั่วโมง 30 นาที มีผลคะแนนในแต่ละส่วนคือ 5-495 ซึ่งรวมผลคะแนนการสอบทั้งส่วนแล้วจะมีผลคะแนนตั้งแต่ 10-990 คะแนน สำหรับการสอบความเข้าใจในทักษะการฟัง (Listening Comprehension) ประกอบด้วย 4 ส่วนย่อยดังนี้ Picture ltems, Question-Response, Shot Conversation และ Short Talk สำหรับการทดสอบความเข้าใจในการอ่านประกอบด้วยบททดสอบย่อย 3 ส่วนด้วยกันคือ Incomplete Sentences, Error Identification และ Reading Passages ดังนั้น ผู้สอบควรฝึกฟังและอ่านภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันให้มากๆ ทั้งการฟังข่าว ดูหนัง ฟังเพลง หรือ อ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษบ่อยๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เรามีทักษะในการฟังและการอ่านชำนาญมากขึ้น และผลสอบ TOEIC ที่ได้จึงเป็นเครื่องวัดว่าเรามีความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ดีเพียงใด การสมัครงานทางด้านสายการบิน โรงแรมหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศจึงต้องการผลคะแนนสอบในส่วนนี้มารับรอง ว่าเราก็มีความสามารถในการร่วมงานกับเขาได้ ผู้ที่สนใจเตรียมสอบ TOEIC สามารถจองวันสอบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วันที่ศูนย์สอบ TOEIC ในประเทศไทยที่มีอยู่ 2 สาขา สำหรับผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียงสามารถจองวันและสมัครสอบได้ที่ สำนักงานใหญ่กรุงเทพฯ ที่ อาคาร Bangkok Business Building (BB Building) ถนนอโศก (สุขุมวิท 21) โทรศัพท์ 0-2664-3131-2 และสำนักงานเขตภาคเหนือที่ เลขที่ 4/6 อาคารนวรัฐ ชั้น 3 ถนนแก้วนวรัฐ ซอย 3 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โทรศัพท์ 0-5324-8208, 0-5330-6600 หรือ www.toeic.co.th สามารถสมัครสอบได้ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ผู้สมัครต้องเตรียมหลักฐานในการสมัครคือ บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง หรือหนังสือเดินทาง (Passport) ตัวจริง และค่าสมัครสอบจำนวน 1,000 บาท ในแต่ละวันมีการสอบทั้งหมด 2 รอบคือ รอบเช้าเวลา 09.00 น. และรอบบ่ายเวลา 13.00 น. สำหรับผู้ที่สอบแล้วไม่พอใจในผลการสอบของตัวเอง สามารถลงสมัครสอบต่อได้ทันทีหลังจากได้รับผลการสอบแล้ว รู้จักสายการบินในฝันดีพอหรือยัง สิ่งที่จำเป็นอีกประการหนึ่งของการสมัครลูกเรือคือ ควรศึกษาข้อมูลของแต่ละสายการบินเอาไว้บ้าง เนื่องจากอาจเป็นส่วนหนึ่งของคำถามในวันสมัครหรือในวันสัมภาษณ์ของเราด้วย โดยเฉพาะในการบินต่างชาติเราควรให้ความสำคัญของการเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ซึ่งในอนาคตเราต้องเดินทางไปใช้ชีวิตหรือทำงานที่นั่น จะได้ไม่เกิดอาการ Culture Shock ทำอะไรผิดแผกแตกต่าง หรือกระทำในสิ่งที่ไม่ควรโดยไม่รู้ตัว ต้องสวย-หล่อเท่านั้นถึงมีโอกาสเป็น Flight Attendant หรือ? ถึงแม้ว่าเรื่องรูปร่างหน้าตาจะเป็นเรื่องที่หลายคนปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนสำคัญในการสมัครเป็นลูกเรือ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าสิ่งอื่นใดในวันที่เราก้าวเข้าไปสมัคร นั่นคือบุคลิกภาพที่สง่างาม มั่นใจ และความเป็นตัวของตัวเอง และรู้จักคำว่ากาลเทศะ เพราะถึงแม้ว่าเราจะหน้าตาเข้าขั้นนางงาม หรือนายแบบเพียงใดก็ตาม แต่ในวันสมัครแต่งกายไม่สุภาพ ทำผม แต่งหน้า ทาเล็บไม่เหมาะกับกาลเทศะแล้วละก็ โอกาสที่เราจะได้รับการคัดเลือกก็คงริบหรี่เต็มที ดังนั้น เรื่องของหน้าตาจึงเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง ในส่วนสำคัญอีกหลายประการของการผ่านการคัดเลือก ทำให้บางคนที่มีรูปร่างหนาไม่ได้เข้าขั้นซอเปอร์โมเดล แต่มีบุคลิกภาพที่ดี มีความเหมาะสม ก็สามารถทำงานนี้ได้เช่นเดียวกัน เรื่องของรูปร่างหน้าตาอาจมีข้อถกเถียงกันอยู่บ้างว่าแบบไหนคือสวย แบบไหนคือหล่อ ขึ้นอยู่กับรสนิยมของคนที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่สามารถลงความเห็นได้เป็นเอกฉันท์ก็คือ ลูกเรือทุกคนของแต่ละสายการบินต้องมีบุคลิกภาพที่ดูดีอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การให้บริการบนเครื่องบิน หรือการพูดจากับผู้โดยสาร สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้สมัครต้องให้ความสำคัญมากกว่าความไม่มั่นใจว่าเราหน้าตาโดดเด่นสู้คนอื่นเขาไม่ได้ การฝึกอบรมของแต่ละสายการบิน ผ่านขั้นตอนการสมัคร สัมภาษณ์ ตรวจร่างกายกันไปเรียบร้อยแล้ว ก่อนการเดินสู่เส้นทางในอาชีพ Flight Attendant กันอย่างจริงๆ จังๆ ก็ต้องผ่านขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือการฝึกอบรม (Training) โดยสารการบินทั้งในประเทศไทย และสายการบินต่างชาติจะมีกระบวนการที่คล้ายคลึงกันคือ การฝึกอบรมด้านการให้บริการ (Service Training) และการฝึกอบรมการดูแลความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารบนเครื่องบิน (Emegency Training) หรือ Safety Training หรือเรียกสั้นๆ ว่าการเทรนนั่นเอง การเทรนนั้น ประกอบด้วย ภาคทฤษฎีและภาคการปฏิบัติ ว่าที่ลูกเรือทุกคนต้องผ่านการเรียนรู้ในการปฏิบัติตัวอย่างไรต่อผู้โดยสารควรบริการเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มอย่างไร ในขั้นตอนนี้ขึ้นอยู่กับสไตล์ของแต่ละสายการบินว่ามีการดูแลผู้โดยสารอย่างไร มีการทำงานหรือแบ่งงานกันอย่างไรเมื่อต้องทำงานบนเครื่องบิน แต่ทุกคนต้องผ่านการเรียนรู้ทั้งการเดินเสิร์ฟอาหาร และการเตรียมอาหารภายในห้อง Galley ผู้สอนในการเทรนงานบริการตรงนี้ส่วนมากจะเป็นรุ่นพี่ลูกเรือที่มีประสบการณ์มานาน นอกจากการสอนงานบริการที่เป็นมาตรฐานแล้ว ลูกเรือรุ่นใหม่จะได้รับเทคนิค ประสบการณ์ข้อควรระวังเล็กๆ น้อยๆ จากรุ่นพี่ๆ เหล่านี้ด้วย เมื่อมีการฝึกอบรมด้านงานบริการแล้ว ขั้นตอนที่มีความสำคัญอย่างมากในการไปเป็นลูกเรือคือ การเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาล และการป้องกันความปลอดภัยบนเครื่องบินหรือ Emegency Training เพราะหน้าที่หลักของลูกเรือทุกคนคือต้องดูแลผู้โดยสารให้เดินทางด้วยความปลอดภัย สะดวกสบายตลอดเส้นทาง ลูกเรือใหม่ทุกคนต้องผ่านการฝึกอบรมในส่วนนี้ ทั้งมีการปฐมพยาบาลหากผู้โดยสารป่วยหรือบาดเจ็บ หรืออาจมีเหตุฉุกเฉินที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต การช่วยเหลือตัวเองและผู้โดยสารในกรณีที่เครื่องบินอยู่ในสภาวะไม่ปรกติ เครื่องบินตก ทุกคนต้องช่วยตัวเองจากน้ำขึ้นบนแพยางก่อน เพื่อสามารถไปช่วยเหลือผู้โดยสารได้ ถึงแม้ว่าบางสายการบินจะไม่มีการทดสอบว่ายน้ำ แต่ถึงเวลาที่ฝึกอบรมความปลอดภัยลูกเรือทุกคนก็ต้องผ่านขั้นตอนที่เกี่ยวพันกับน้ำตรงนี้อยู่ดี ดังนั้นควรทำความคุ้นเคยกันมาก่อนจะช่วยให้เราไม่ตื่นเต้นเวลาอยู่ในสถานการณ์ฝึกจริงๆ สำหรับสายการบินต่างชาติที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในต่างประเทศ การฝึกอบรมด้านความปลอดภัยตรงนี้ ลูกเรือต้องเดินทางไปเทรนกันในศูนย์ฝึกของสายการบินนั้นๆ เช่น สายการบิน JALways ต้องเดินทางไปฝึกที่ประเทศญี่ปุ่น สายการบินเกาหลี ก็ต้องเดินทางไปฝึกที่ประเทศเกาหลี หรือสายการบิน AirAsia ก็ต้องผ่านการฝึกที่ประเทศมาเลเซีย หรืออาจต้องฝึกทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ หากแต่ละสายการบินมีศูนย์ฝึกอยู่ในเมืองไทยด้วย นอกจากการฝึกที่สำคัญทั้งงานบริการและความปลอดภัยแล้ว บางสายการบินอาจมีการฝึกอบรมด้านภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษให้กับลูกเรือด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละสายการบินนั่นเอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook