นิน่า เผยชีวิตนักเรียนนอก จากเด็กขี้อาย กลายเป็นคนกล้า

นิน่า เผยชีวิตนักเรียนนอก จากเด็กขี้อาย กลายเป็นคนกล้า

นิน่า เผยชีวิตนักเรียนนอก จากเด็กขี้อาย กลายเป็นคนกล้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
อดีตนักเรียนไทยคนเดียวในคณะ Theatre Education (การละคร) แห่ง Emerson College เป็นนักศึกษาที่ไม่กล้าโต้ตอบกับอาจารย์ และเป็นเด็กไทยที่ไม่มีเพื่อนต่างชาติอยากจะคุยด้วย และเหตุการณ์อีกมากมายที่เด็กไทยคนนี้เคยประสบมา แล้ววิธีไหน เคล็ดลับอะไร ที่ทำให้เด็กคนหนึ่งผ่านพ้นความอึดอัด กับวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคย สังคมที่แวดล้อมไปด้วยภาษาอังกฤษ วันนี้เรามาย้อนวันวานของผู้ประกาศข่าวสาวคนเก่งจากรายการผู้หญิงถึงผู้หญิง ช่อง 3 นิน่า-กุลนัดดา ปัจฉิมสวัสดิ์ กับการเป็นบัณฑิตหน้าใหม่จบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตัดสินใจไปเรียนต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกา

นิน่า, กุลนัดดา ปัจฉิมสวัสดิ์, เคล็ดลับ,เรียนต่อ, เรียนต่อยังประเทศ, สหรัฐอเมริกา

ณ เมือง Boston ที่เลือกเรียนที่นี่เพราะค่อนข้างจะคุ้นเคยสถานที่ เส้นทางต่าง ๆ ค่อนข้างชำนาญ เพราะมาเที่ยวบ่อย เนื่องจากพี่สาวเรียนอยู่ที่นี่ค่ะ ตอนที่จบมาใหม่ ๆ รู้สึกว่าตัวเองเคว้งมาก ยังไม่รู้ว่าจะเรียนต่ออะไรดี แต่ยังตัดสินใจบินมาทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ที่เรียนด้วย เริ่มแรกเลยไปสมัครเรียนภาษาที่ Boston University เรียนได้ประมาณ 3 เดือนกว่า ๆ ระหว่างที่เรียนภาษาทำให้ได้รู้จักกับชีวิตใหม่ ๆ แต่เราต้องแบ่งเวลาเพื่อหาที่เรียนต่อปริญญาโทด้วย เพราะเป้าหมายของพี่นิน่าคือการเรียนต่อปริญญาโท สืบไปสืบมาจนได้รู้ว่ามีที่เรียนอยู่แห่งหนึ่งซึ่งเปิดสอนเกี่ยวกับด้านสื่อสารโดยตรง และเราจบมาทางด้านนี้ด้วยจึงตัดสินใจเดินเข้าไปสมัครเรียน Emerson College ตอนแรกที่เดินเข้าสมัครเรียนยังไม่รู้หรอกค่ะว่าตัวเองอยากเรียนอะไร แต่เรารู้แค่ว่าที่นี่มีสอนทางด้านการสื่อสาร ด้วยความที่พี่นิน่าไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรดี จึงเดินเข้าไปถามเขาเลยว่าขอพบหัวหน้าสำนักงาน เพราะเราอยากคุยกับเขาว่าเราเรียนจบมาทางด้านวาทวิทยา สามารถเรียนสาขาอะไรของ Emerson ได้บ้าง ทางเจ้าหน้าที่บอกว่าอีก 2 อาทิตย์ค่อยกลับมาใหม่ หลังจากนั้นเรากลับมาตามที่เขาบอกและได้พบกลับผู้อำนวยการที่นี่เลยนะคะ (ยิ้ม) ซึ่งเป็นผู้หญิงที่ใจดีมาก เขาให้เราเล่าถึงพื้นฐานทางการศึกษาของตัวเอง พี่นิน่าเล่าว่าเรียนจบมาทางด้านวาทวิทยา เลยอยากเรียนต่อทางด้านนี้ ท่านผู้อำนวยการฟังจบจึงท้วงขึ้นมาว่าสิ่งที่เธอเล่ามานั้นตาเธอไม่มีประกายแห่งการอยากเรียนเลยนะ เขาจึงถามพี่นิน่าต่อว่าเคยทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง คราวนี้เราเล่าให้เขาฟังเยอะมาก ตั้งแต่เรียนแจ๊สแดนซ์ เรียนบัลเลต์ และฝันมาตั้งแต่เด็กว่าอยากเป็นนักเต้นระดับโลก แต่คุณพ่อคุณแม่อยากให้เรียนทางด้านสายสามัญด้วย พอท่านได้ฟังจบ ท่านถามกลับมาว่าแล้วคราวนี้รู้รึยังว่าอยากเรียนอะไร ท่านจึงบอกว่าถ้าอย่างนั้นฉันจะเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่าเธอน่าจะเรียนอะไร ตอนที่เธอพูดถึงเรื่องการเรียนนั้นเธอพยายามเอาเหตุผลเข้าสู้ตลอดเลย แต่เวลาที่เธอพูดถึงการทำกิจกรรมนั้นแววตาของเธอเป็นประกายมาก ถ้าอย่างนั้นเธอเรียนทางด้านการละครดีไหม เพราะที่นี่เราเปิดสอนเหมือนกัน

นิน่า, กุลนัดดา ปัจฉิมสวัสดิ์, เคล็ดลับ,เรียนต่อ, เรียนต่อยังประเทศ, สหรัฐอเมริกา

จุดไฟในใจให้คุโชนขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ท่านผู้อำนวยการบอกว่าเรียนต่อทางด้านการละครดีไหม เท่านั้นแหละค่ะเป็นการจุดไฟในใจของเราให้ลุกขึ้นมาอีกครั้ง เพราะพี่นิน่าชอบการเต้นรำ ชอบการแสดงมาตั้งนาน แต่ถูกดับไฟด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่างจากตัวเราเองด้วย จากคุณพ่อคุณแม่ด้วย ตรงนี้พี่นิน่าอยากจะบอกน้อง ๆ เลยว่าการเรียนต่อปริญญาโทที่อเมริกา เขาจะดูถึงความตั้งใจจริงว่าเราอยากเรียนต่อสาขานั้น ๆ หรือเปล่า สิ่งที่เขาดูนอกจากพื้นฐานการเรียนแล้ว คุณต้องตอบคำถามและเขียนเรียงความที่น่าสนใจด้วย บอกถึงความมุ่งหวังในการเรียนเพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพในอนาคตให้ได้ ผลสอบโทเฟลยังเป็นเรื่องรองเลยนะคะ เขาดูที่จุดประสงค์ของการเรียนต่อเป็นหลักค่ะ ประสบการณ์หฤโหด Culture Shock พี่นิน่าได้เข้ามาเรียนด้านการละคร ชีวิตความเป็นอยู่แรก ๆ ค่อนข้างจะโหดต่สนุกเพราะเราได้เรียนรู้โลกมากยิ่งขึ้น ใครมีโอกาสขอให้ไปเรียนเถอะ นอกจากเรื่องวิชาการแล้ว สิ่งที่ได้คือบทเรียนชีวิตมากมาย สำหรับพี่นิน่าก่อนที่จะก้าวไปเรียนต่ออเมริกา ระยะ 3 ปีกว่าสามารถเปลี่ยนเราไปเป็นคนละคนได้เลย แต่แกนในยังเป็นพี่นิน่าคนเดิมนะคะ จากเมื่อก่อนเราแค่หันหน้าได้ 180 องศา คือไม่ซ้ายก็ขวา แต่หลังจากที่พี่นิน่าไปใช้ชีวิตที่อเมริกาแล้วทำให้เรามองเห็นได้กว้างขึ้นมองได้รอบด้าน 360 องศา เพราะเราได้เจอคนหลายชาติหลากภาษา เป็น Culture Shock การสัมผัสวัฒนธรรมที่เราไม่คุ้นเคย วัฒนธรรมอเมริกัน ความเชื่อของเขาไม่เหมือนคนไทย วิธีการเรียนไม่เหมือนกันด้วย นักเรียนตะวันตกเวลาครูถามอะไรแย่งกันตอบ ถ้าเขาไม่เชื่อคุณครูจะเถียงหน้าแดงหูแดงเลยนะคะ ผิดกลับเด็กแถบเอเชีย เวลาครูถามจะนั่งก้มหน้า นิ่งเงียบ วันหนึ่งพี่นิน่าเจอคุณครูเรียกเข้าไปพบแล้วถามว่าทำไมเวลาครูถามไม่แย่งตอบเหมือนเพื่อน ๆ เราก็บอกความจริงเขาไปว่ากลัวตอบผิด ตรงนี้แหละเป็นการเปลี่ยนความคิดพี่นิน่าเลยนะคะ เพราะคุณครูพูดมาประโยคหนึ่งว่า ถ้าเธอเก่งแล้วจะมาเรียนหนังสือทำไม เธอมาเรียนเพื่อเพิ่มเติมความรู้ไม่ใช่เหรอ ตอบผิดแล้วตายไหม เป็นความผิดหรือเปล่า นั่นแหละค่ะ หลังจากนั้นนิน่าที่ไม่กล้า เปลี่ยนเป็นคนละคนเลย Home Alone & Work ตอนแรกอยู่กับเพื่อน ซึ่งเพื่อนจะเป็นพี่เลี้ยงแนะนำสถานที่ทุกอย่าง พอเพื่อนย้ายไปเมืองอื่น พี่นิน่าอยู่คนเดียว รับผิดชอบเองทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องบิลค่าโทรศัพท์ ค่าไฟ ต้องชำระให้ตรงเวลา ซึ่งตอนอยู่บ้านไม่เคยได้สนใจสิ่งเหล่านี้เลย หรือขับรถจากบอสตันไปนิวยอร์ก ทำได้นะ ตอนนั้นอายุ 23 เองค่ะ อย่างพี่นิน่าถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก เด็กฝรั่งเขาอึดมากกว่านี้หลายเท่า ไม่มีบ่น เด็กฝรั่งต้องล้างทุกบ้านนะ เขาโตมาเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่เห็นความแตกต่าง การทำงานพิเศษของเขาเป็นเรื่องปรกติมากค่ะ พี่นิน่าอยากทำงานพิเศษเป็นสาวเสิร์ฟมากแต่ไม่มีร้านไหนรับเลย (หัวเราะ) แต่ยังมีโอกาสได้ทำงานพิเศษเหมือนกันนะคะ นั่นคือเป็นคนเขียนลิสต์เมล์ตอนจัดงานปาร์ตี้ ซึ่งรายได้ดีมากนะคะ วันหนึ่งแค่ 2-3 ชั่วโมงได้ 50 เหรียญ

นิน่า, กุลนัดดา ปัจฉิมสวัสดิ์, เคล็ดลับ,เรียนต่อ, เรียนต่อยังประเทศ, สหรัฐอเมริกา

วันแรกของการเข้าห้องเรียน ตอนเข้าเรียนแล้วรู้สึกว่าทุกอย่างมันหนักมาก จำภาพได้วันแรกที่คุณครูพาไปดูห้องเรียน ซึ่งเป็นตึก 4 ชั้น มีชื่อว่า 69 Brimmer Street ตั้งอยู่กลางสวนสาธารณะ Boston Common ภาพที่เห็นตอนเดินเข้าไปด้านในทำให้พี่นิน่าตกตะลึงมาก นั่นคือนักศึกษาจะนิยมเจาะร่างกายเยอะ เจาะหูเยอะ รอยสักเต็มร่างกายไปหมด บางคนนั่งพูดคนเดียว นั่นคือต้องท่องบทละคร เดินไปเรื่อย ๆ เจอโรงละคร Circle Theatre รูปวงกลม ขึ้นชั้น 2 เจอนักเรียนการแสดง อีกฟากหนึ่งเป็นห้องเรียนดนตรี เรียนว่าทุกอย่างทำให้เราตื่นเต้นมาก เข้าคลาสเรียนวันแรก คณะที่พี่นิน่าเรียนเราเป็นเด็กไทยเลยค่ะ และคุณครูให้เราแนะนำตัวแบบไม่ธรรมดา นั่นคือต้องทำให้คนจำเราได้ไปตลอด เท่านั้นแหละโอ้โห! ในใจเลยนะ ตอนนั้นคิดว่าโอ้ย! มันบ้าอะไรนี่ รับไม่ได้แล้ว อยากกลับบ้าน นั่งดูคนอื่นแนะนำตัว บางคนก็ชักกระตุกตามพยางค์ชื่อ พอถึงทีเราพี่นิน่าจำท่าของจอห์น ทราโวตา คือท่าดิสโก้ เราก็ออกไปทำถือว่าผ่านไปได้แบบอาย ๆ เลย เด็กหลังเขาในสายตาของเพื่อนต่างชาติ เคยท้อนะคะ เพราะภาษาตอนแรกเป็นสิ่งที่ยากลำบากมาก แล้วยังถูกฝรั่งมองว่าเป็นเด็กหลังเขาตลอดอีกด้วย คือเราอายุ 23 กับฝรั่งอายุ 23 แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงนะคะ ในอายุ 23 แบบของเราจะเป็นเด็กกะโปโลหน้าเด๋อ ๆ พูดอะไรก็ยิ้มทำหน้าแบบงง ๆ นั่นแหละที่ทำให้เขามองเราเป็นภาพแบบนั้นตลอดเวลา แต่เราบอกกับตัวเองว่าต้องสู้ห้ามยอมแพ้เด็ดขาด จากนั้นพี่นิน่าเปลี่ยนตัวเองเลยค่ะ เริ่มทักทายคนโน้นคนนี้ก่อน ไม่เข้ามาคุยกับฉันไม่เป็นไรเราเดินเข้าไปหาเอง วันนี้ยังไม่มีใครคุยกับเรา ไไรพี่นิน่าเดินเข้าไปหาคุณครูคุยกับท่าน ซึ่งทำให้คุณครูเอ็นดูเราด้วยนะ (ยิ้ม) หลังจากนั้นกลับบ้านไม่พอ พี่นิน่ายังเปิดทีวี.เพื่อเป็นการฝึกภาษา และช่องที่พี่นิน่าเปิดบ่อยที่สุดคือช่องช็อปปิ้ง ซึ่งเป็นวิธีการเรียนภาษาที่ดีมากนะคะ ค้นพบตัวตนที่แท้จริง Theatre Education ปรับตัวอยู่ 6 เดือนกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นภาษาอังกฤษ ทำให้เราได้วิธีคิดใหม่ ๆ เยอะมาก ที่เมืองไทยส่วนใหญ่จะบอกว่าทำไมไม่ทำให้เหมือนคนอื่นเขาบ้าง แต่ที่นี่คือทำไมเราต้องทำเหมือนคนอื่น ถ้าเขาบอกว่าไปซ้าย เราต้องไปขวาดูสิอาจจะเจอสิ่งใหม่ ๆ ศิลปะไม่มีผิดไม่มีถูก ความจนคือความรวย ต้องสร้างสรรค์ให้ได้จากการไม่มีทุน ถ้าวันไหนคิดไม่ออกถามนางฟ้าที่ลอยตามเธอมาสิ เขาสอนอย่างนี้เลยนะ จากที่คิดว่าเรียนที่นี่มันบ้าแต่หลัง ๆ เราเริ่มชิน พอเริ่มชินสเตปต่อไปที่คิดได้คือนี่แหละเราจริง ๆ วันนี้เราได้มาถูกที่ถูกทางแล้ว

นิน่า, กุลนัดดา ปัจฉิมสวัสดิ์, เคล็ดลับ,เรียนต่อ, เรียนต่อยังประเทศ, สหรัฐอเมริกา

ฝึกงานที่ Twenty Century Fox, Santa Monica และเรียนเพิ่มเติมที่ New York University เรียนอย่างมีความสุขและประทับใจสุด ๆ ประมาณ 2 ปี หลังจากเรียนจบยังไม่พอ เราน่าจะได้ฝึกงานนะ เลยกลับไปหาคุณครูให้ช่วยหาที่ฝึกงานให้หน่อย และบังเอิญว่าน้องสาวของคุณครูได้เป็นผู้กำกับหนังต้นทุนต่ำที่ L.A. แต่ต้องไปอาทิตย์หน้านะ ซึ่งพี่นิน่าตัดสินใจไปเลย บอกเลิกเช่าอพาร์ตเมนต์ ซื้อตั๋วเครื่องบิน ไปเป็นเด็กในแผนกตัดต่อ สนุกมากค่ะ ได้เห็นโลกในการทำงานแบบมืออาชีพของเขา ฝึกงานเสร็จพี่นิน่าได้ลงเรียนคอร์สสั้น ๆ เรียนทางด้านวิทยุและโทรทัศน์ที่ New York University รวมแล้วพี่นิน่าอยู่อเมริกาประมาณ 3 ปีกว่า ๆ ค่ะ สุดท้ายพี่นิน่าแนะนำน้อง ๆ ที่กำลังจะลัดฟ้าไปเรียนต่อ อยากให้ทุกคนที่ตัดสินใจไปเรียนต่อต่างประเทศ ให้คิดว่าทุกสถานที่คือห้องเรียน ขอให้ใช้ทุกวินาทีเป็นแหล่งเรียนรู้และห้องเรียนของเรา อย่าพยายามใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ หรือแค่เปลี่ยนบรรยากาศเท่านั้น ให้ลองคบเพื่อนต่างชาติด้วยเพื่อที่เราจะได้ฝึกภาษาไปในตัวและได้เรียนรู้วัฒนธรรมเขา หรือถ้าเป็นไปได้ให้ลองอยู่หอพัก การอยู่หอพัก หนึ่งเราจะได้ภาษา สองได้เพื่อนเยอะ หรือไปอยู่กับแฟมิลี่ ถือว่าได้เรียนรู้วัฒนธรรมของเขาแบบชัดเจนมากยิ่งขึ้น หรือเรื่องของภาษาเทคนิคของพี่นิน่านั่นคือ Just speak out คือพูดออกมาเถอะ พูดอะไรก็ได้แล้วเราจะพูดได้เก่งโดยใช้เวลาไม่นาน ได้ฟังพี่นิน่าเล่าถึงประสบการณ์การไปใช้ชีวิตยังเมืองนอก เรียกว่านึกภาพออกเลยทีเดียว ใครที่กำลังคิดจะไปศึกษาต่อยังอเมริกา คิดคงไม่ยากถ้าเราค้นหาตัวเองเจอ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook