ERASMUS MUNDUS ทุนศึกษาต่อ 2-3 ประเทศในหนึ่งหลักสูตร

ERASMUS MUNDUS ทุนศึกษาต่อ 2-3 ประเทศในหนึ่งหลักสูตร

ERASMUS MUNDUS ทุนศึกษาต่อ  2-3  ประเทศในหนึ่งหลักสูตร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
โครงการทางการศึกษาระดับโลกที่มีชื่อว่า Erasmus Mundus เป็นโครงการทุนการศึกษาของสหภาพยุโรป (EU) สนับสนุนให้นักศึกษาและนักวิชาการจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้มีโอกาสศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเป็นระยะเวลา 2 ปี หรือรับทุนทำงานทางด้านวิชาการไม่เกิน 3 เดือน สำหรับนักวิชาการ

ERASMUS MUNDUS

ด้วยความที่เป็นทุนการศึกษาที่เกิดจากความร่วมมือกันของหลายประเทศ ในที่นี้หมายถึงประเทศที่เป็นสมาชิก สหภาพยุโรป 27 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม สาธาณรัฐเชก เดนมาร์ก เยอรมนี เอสโตเนีย กรีก สเปน ฝรั่งเศส ไอแลนด์ อิตาลี ไซปรัส ลัตเวีย ลิธัวเนีย ลักเซมเบิร์ก ฮังการี มอลตา เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย โปแลนด์ โปรตุเกส สโลวีเนีย สโลวัก ฟินแลนด์ สวีเดน สหราชอาณาจักร โรมาเนีย และบัลแกเรีย ซึ่ง 2 ประเทศหลังเพิ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมานี้ ทุนการศึกษา อีราสมุส มุนดุส ของสหภาพยุโรปจึงมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะความน่าสนใจอยู่ตรงที่ผู้ได้รับทุนปริญญาโท จะมีโอกาสได้ไปเรียนรู้วัฒนธรรม รับประสบการณ์ใหม่จากการที่เข้าเรียนในต่างมหาวิทยาลัยในอย่างน้อย 2 ประเทศ เมื่อปี 2547 โครงการนี้ได้ถือกำเนิดขึ้น และถึงแม้ว่าทุนนี้จะเพิ่งเริ่มก่อตั้งโครงการได้เพียงไม่กี่ปี แต่ก็เชื่อว่ามีผู้ให้ความสนใจอยู่จำนวนมาก และสำหรับคนที่ยังไม่เคยได้ยินหรือชินหูกับทุนนี้ กองบรรณาธิการพร้อมแล้วที่จะพาไปไขข้อข้องใจในเรื่องราวเกี่ยวกับทุน อีราสมุส มุนดุส ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติจากท่าน H.E. Dr. Friedrich Hamburger, Ambassador-Head of the Delegation เอกอัครราชทูต-หัวหน้าคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ที่ท่านได้สละเวลามาให้ความรู้เรื่องทุนกับเราในครั้งนี้ ทุน Erasmus Mundus หรือที่ออกเสียงว่าอีราสมุส มุนดุส เปิดโอกาสทางการศึกษาให้ทุนศึกษาต่อเฉพาะระดับปริญญาโทและทุนเพื่อไปทำการสอนวิจัย หรือทำงานทางด้านวิชาการในประเทศยุโรปโดยท่านเอกอัครราชทูตได้กล่าวถึงทุนนี้ว่า ErasmusMundus คือ ทุนการศึกษาที่ให้กับนักศึกษาและนักวิชาการทั่วโลก (ยกเว้นบุคคลที่มาจากกลุ่มประเทศสมาชิก) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ หลักสูตรในระดับอุดมศึกษาทั้งหมดสำหรับศึกษาต่อในระดับปริญญาโทเท่านั้น โดยปรกติแล้วในแต่ละหลักสูตรจะมีระยะเวลา 2 ปี ซึ่งผู้ได้รับทุนจะได้เข้าศึกษาต่อในต่างมหาวิทยาลัยและต่างประเทศกันออกไป นักศึกษาอาจจะต้องไปศึกษาในอย่างน้อย 2 ประเทศต่อหนึ่งหลักสูตรภายในเวลา 2 ปี ส่วนใหญ่แล้วหลักสูตรที่เปิดให้ทุนมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ครอบคลุมในหลายสาขาวิชา อาทิ Engineering and national sciences, Social sciences/ humanities, Life sciences เป็นต้น ที่น่าสนใจ คือ มีคอร์ส Aeronautics and Space Technology เปิดสอนเช่นกัน สำหรับทุนวิจัยใช้ระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือนในมหาวิทยาลัยที่อยู่ภายใต้โครงการและไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะขยายเพิ่มโอกาสให้แก่ระดับปริญญาตรีหรือเอกด้วย ภายใโครงการ อีราสมุส มุนดุส จะมีกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เรียกว่า Consortia ร่วมกันจัดตั้งหลักสูตรพิเศษ ในกลุ่มมหาวิทยาลัยหนึ่ง ๆ ประกอบด้วยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่ไม่ซ้ำกัน 3 ประเทศขึ้นไปดังนั้น เมื่อนักศึกษาที่ได้รับทุนได้เข้าศึกษาต่อหลักสูตรพิเศษที่จัดตั้งขึ้นมาแล้ว จึงจำเป็นต้องไปเรียนยังประเทศที่แตกต่างกันออกไปตามที่หลักสูตรจัดวางไว้ด้วย แล้วในกรณีนี้จะมีปัญหาในการใช้ภาษาในห้องเรียนหรือไม่นั้นท่านเอกอัครราชทูตได้ให้ความคิดเห็นว่า ยังไม่พบหลักสูตรใดเลยที่เปิดสอนเป็นภาษาอื่น เพราะหลักสูตรพิเศษที่ตั้งขึ้นมาโดย Consortia หรือกลุ่มมหาวิทยาลัยที่ร่วมกันจัดตั้งหลักสูตรพิเศษ เน้นหลักสูตรเป็นภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นการเริ่มต้นภาษาใหม่ในแต่ละประเทศจึงไม่เป็นปัญหาสำหรับการเรียน และผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้รับทุนต้องเป็นผู้ที่มีพื้นฐานทางภาษาที่แน่นอยู่แล้วนอกจากนี้แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีผู้ประสานงานนักเรียนทุนที่คอยให้คำปรึกษา ในส่วนเรื่องทุนการศึกษาที่จะได้รับ ท่านได้อธิบายไว้ดังนี้ งบประมาณที่ใช้ประมาณ 230 ล้านยูโรต่อปี ถ้าคิดเป็นรายบุคคลก็ประมาณ 21,000 ยูโร สำหรับหลักสูตร 1 ปี และ 42,000 ยูโร สำหรับหลักสูตร 2 ปี ซึ่งทุนที่ให้ก็รวมถึงค่าที่พัก ค่าห้องสมุดระหว่างปี ค่าเดินทาง ค่าการศึกษาแต่สำหรับนักวิชาการรับทุนเป็นเงิน 13,000 ยูโร ซึ่งค่าใช้จ่ายในการศึกษาต่อภายใต้ทุนนี้เรียกได้ว่าครอบคลุมแทบทุกอย่าง และเป็นทุนให้เปล่าด้วย อย่างไรก็ตาม การกระจายข่าวเรื่องทุนนับว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ในแต่ละปีจึงได้มีการกระจายข่าวเรื่องการให้ทุน Erasmus Mundus ไปตามสื่อต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ โบรชัวร์ หนังสือพิมพ์ นิตยสารการศึกษา รวมถึงการ Road show ซึ่งทีมจากสำนักงานคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปยังได้เดินทางไปตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อให้ข้อมูลเรื่องทุน และในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางสำนักงานคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรประจำประเทศไทยยังได้ร่วมงานกับสำนักงาน ก.พ. ในงาน OCSC แนะแนวศึกษาต่อต่างประเทศด้วย เพราะฉะนั้นหากใครสนใจรายละเอียดเรื่องทุนเพิ่มเติมยังมีแหล่งข้อมูลดี ๆ อีกมากมาย มาถึงในส่วนของการเปิดรับสมัครทุน ทุนนี้ต้องอาศัยการตามข่าวด้วย เพราะการเปิดรับสมัครทุนแตกต่างกันไปไม่มีเกณฑ์กลาง เพราะคุณสมบัติของผู้สมัครและการกำหนดเปิดรับสมัครขึ้นอยู่กับแต่ละหลักสูตร ดังนั้นต้องหมั่นตรวจสอบในเว็บไซต์ของหลักสูตรนั้น ๆ ช่วงเวลาในการสมัครอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคมในปีถัดไป นักศึกษาไทยสามารถค้นหารายละเอียดเรื่องทุนได้ในอินเทอร์เน็ต ทุนนี้มีถึง 80 หลักสูตรที่เปิดสอน คณะกรรมาธิการยุโรปจะช่วยเผยแพร่รายชื่อหลักสูตรต่าง ๆ แต่นักศึกษาจำเป็นต้องเข้าไปดูหลักสูตรที่สนใจในเว็บไซต์ว่าเปิดสอนอะไร จะต้องเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยและประเทศใดบ้าง เว็บไซต์ http://ec.europa.eu/erasmus-mundus จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับทุน Erasmus Mundus อย่างละเอียด คุณสมบัติในการสมัครแตกต่างกัน เพราะการสมัครเ่อขอรับทุนนั้นจะต้องสมัครกับทางมหาวิทยาลัยโดยตรง และต้องได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยก่อนที่จะถูกเสนอรายชื่อเพื่อรับทุนต่อไป แต่การคัดเลือกต้องพิจารณารวมกับผู้สมัครจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ขั้นตอนการพิจารณาเป็นไปอย่างยุติธรรมและโปร่งใส ท่านเอกอัครราชทูตได้กล่าวเสริมตอนท้าย แต่เกณฑ์ทั่วไปในการสมัครคือ ต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศและเป็นสถาบันที่ได้รับการรับรอง แน่นอนว่าผลการเรียนต้องอยู่ในเกณฑ์ดีด้วย โดยกลุ่มมหาวิทยาลัยที่ร่วมกันจัดตั้งหลักสูตรพิเศษจะพิจารณาดูจากทักษะการใช้ภาษา การเขียน motivation letter ที่แสดงว่าทำไมจึงสนใจเลือกเรียนในสาขานั้น ๆ และควรแสดงถึงความตั้งใจจริง สุดท้าย ท่านได้ให้คำแนะนำการสมัครขอรับทุน ว่า อันดับแรกต้องการให้ไปศึกษาดูในเว็บใซต์ก่อน ศึกษาให้แน่ชัดก่อนว่าสนใจในสาขาใดและคอร์สไหน ควรจะเข้าไปดูข้อมูลของหลาย ๆ หลักสูตร อย่างที่สอง ควรจะสมัครเผื่อไว้สัก 2-3 แห่ง เพราะบางคอร์สอาจจะมีผู้สมัครเป็นจำนวนค่อนข้างสูง โอกาสที่จะประสบความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติผู้สมัครอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับที่นั่งในการเข้าศึกษาด้วย อันดับสามคือ จดหมายที่เขียนไปควรจะใช้ภาษาที่ถูกต้อง เพราะจดหมายที่เขียนไปนั้นเป็นปราการด่านแรกที่แสดงถึงทักษะความสามารถในการใช้ภาษา และควรตรวจสอบใบสมัครให้ถูกต้องก่อนส่ง ถ้าหากกรอกใบสมัครอย่างถูกต้อง สมบูรณ์ และถูกตามหลักภาษา นับว่าเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาด้วย ซึ่งใบสมัครจะแสดงให้เห็นด้วยว่าพื้นฐานทางภาษาเป็นอย่างไรดังนั้น ภาษาเป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้น ถ้าใครที่คิดว่าควรเตรียมความพร้อมเรื่องภาษาก็ควรจะเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สำนักงานคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทย ที่ตั้ง : เลขที่ 140/1 อาคารเคี่ยนหงวน 2 ชั้น 19 ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ 10330 โทรศัพท์ : 0-2305-2600, 0-2305-2700 โทรสาร : 0-2255-9113-4 Website : www.deltha.ec.europa.eu, http://ec.europa.eu/erasmus-mundus
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook