สพฐ.ปวดหัวเด็กป.2อ่านไทยไม่ออกร่วม 8 หมื่นคน

สพฐ.ปวดหัวเด็กป.2อ่านไทยไม่ออกร่วม 8 หมื่นคน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศสำรวจข้อมูลนักเรียนชั้น ป.2 ทั่วประเทศที่อ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ ด้วยข้อสอบวัดคุณภาพการศึกษาระดับชาติ หรือ National Test (NT) ในวิชาภาษาไทย ปีการศึกษา 2549 พบว่า ปัจจุบันมีเด็กที่อ่านภาษาไทยไม่ออกและเขียนไม่ได้กว่า 79,000 คน คิดเป็นร้อยละ 12 ของเด็ก ป.2 ทั่วประเทศจำนวน 6.3 แสนคน โดยมีถึง 10 เขตพื้นที่การศึกษาที่มีนักเรียนอ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้สูงเกินกว่าร้อยละ 25 ซึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ 5 เขต ภาคเหนือ 2 เขต ภาคกลาง 1 เขต และภาคอีสาน 2 เขต ส่วนเขตพื้นที่การศึกษาที่มีนักเรียนอ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ ต่ำกว่าร้อยละ 5 ได้แก่ กทม. เขต 1-3 อุบลราชธานี เขต 1 เชียงราย เขต 1 ชลบุรี เขต 2 ปทุมธานี เขต 2 สุโขทัย เขต 2 นนทบุรี เขต 1-2 สระแก้ว เขต 1 และ สมุทรสาคร เป็นต้น เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่นักเรียนอ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้มาจาก 4 ประการ ได้แก่ 1.ความยากจนและการขาดเรียนบ่อย 2.นักเรียนไม่ไดูดภาษาไทยที่บ้าน 3.นักเรียนบกพร่องทางการเรียนรู้ และ 4.อยู่ในพื้นที่ที่มีครูไม่เพียงพอ ซึ่งแนวทางการแก้ไขนั้น ในปีการศึกษา 2550 สพฐ.ได้กำหนดไว้ 4 แนวทางคือ 1.ขยายการสอนด้วยระบบสองภาษาโดยลดเวลาในการเรียนการสอนด้วยภาษาถิ่นลง และเพิ่มเวลาในการสอนด้วยภาษาไทยมากขึ้น โดยได้ขยายเป็น 100 โรงเรียน จากปีที่แล้วมีอยู่เพียง 12 โรงเรียน 2.แก้ปัญหาความยากจนของนักเรียนโดยให้โรงเรียนให้การสงเคราะห์เป็นพิเศษ เช่น เสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียนการสอน เป็นต้น 3.แก้ปัญหาความบกพร่องทางการเรียนรู้โดยทำแบบทดสอบมาทดสอบเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ และ 4.แก้ปัญหาโรงเรียนมีครูไม่เพียงพอ โดยให้ สพท.จัดระบบลดภาระงานด้านธุรการลง นอกจากนี้ สพฐ.ยังจัดงบประมาณ ให้แก่โรงเรียนเหล่านั้นรายหัวละ 500 บาท คิดเป็นเงิน 39.5 ล้านบาท เพื่อให้โรงเรียนใช้ในการจัดซื้อสื่อการเรียนการสอน และให้ครูจัดติวเด็กเพิ่มเติม เรื่องนี้ สพฐ.ไม่ได้ละเลย แต่ได้สำรวจข้อมูลและเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และหลังจากผ่านไป 1 ปีการศึกษาแ้ว สพฐ.จะสำรวจนักเรียนกลุ่มนี้อีกครั้งว่าเด็กมีพัฒนาการทางด้านการอ่านและเขียนภาษาไทยดีขึ้นหรือไม่ โดย สพฐ.จะสำรวจด้วยข้อสอบ NT ในวิชาภาษาไทยชั้น ป.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 คุณหญิงกษมา กล่าว ด้าน น.ส.ศรีสมร พุ่มสะอาด ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สพฐ. กล่าวว่า โรงเรียนในสังกัด สพฐ.ตามแนวชายแดนที่มีนักเรียนใช้ภาษาถิ่น ในขณะที่ใช้ภาษาไทยเป็นมาตรฐานการเรียนรู้ จะส่งผลสัมฤทธิ์ให้การเรียนรู้กลุ่มสาระภาษาไทยและกลุ่มสาระอื่น ๆ ต่ำกว่ามาตรฐานชาติ และต่ำกว่านักเรียนในพื้นที่อื่น ๆ ดังนั้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ สพฐ.จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการเรียนการสอนโดยแนวทางทวิภาษา เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่โรงเรียนนำร่อง 2 ภาษา ซึ่งเป็นการใช้ภาษาถิ่นควบคู่ภาษาไทย.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook