มวล. จับมือเทศบาลนครศรีฯ จัดโครงการพัฒนาครูวิทย์-คณิตฯ

มวล. จับมือเทศบาลนครศรีฯ จัดโครงการพัฒนาครูวิทย์-คณิตฯ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ทำพิธีลงนามความร่วมมือโครงการ พัฒนาการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มัธยมศึกษา โดย นายสมนึก เกตุชาติ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มารวย เมฆานวกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดี รองศาสตราจารย์ ดร.อมรา ช้างทรัพย์ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ นายวิโรจน์ พรรณราย ปลัดเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ร่วมลงนาม และได้รับเกียรติจากผู้อำนวยการและคณะครูจากโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องรับรอง เทศบาลนครนครศรีธรรมราช เมื่อเช้าวันที่ 8 มกราคม 2552 นายสมนึก เกตุชาติ กล่าวถึงโครงการฯ ว่า การที่เทศบาลนครนครศรีธรรมราชได้ขอความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์นั้นเป็นเรื่องถูกต้องและเหมาะสม เพราะมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยในการจัดเรียนการสอนในโครงการฯ นั้น มหาวิทยาลัยได้คำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ครูของผู้เข้าร่วมโครงการนี้เป็นสำคัญ จึงมีการเรียนการสอนนอกเวลาปกติ ซึ่งต้องขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มารวย กล่าวว่า ในนามของอธิการบดีมหาวิทยายวลัยลักษณ์รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมมือกับเทศบาลนครนครศรีธรรมราช จัดโครงการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มัธยมศึกษาขึ้น โดยมหาวิทยาลัยได้จัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตร์ศึกษาขึ้นเพื่อสอนครูโดยเฉพาะ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ครูได้พัฒนาศักยภาพของตนเองและนำความรู้ที่ได้ไปสอนนักเรียนซึ่งเป็นเยาวชนของชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รองศาสตราจารย์ ดร.อมรา ช้างทรัพย์ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ได้เริ่มเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิทยาศาสตร์ศึกษาทางด้านฟิสิกส์และชีววิทยาสำหรับครูวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปี 2545 และในปี 2551 ได้ปรับปรุงหลักสูตรแลเปิดสอนด้านเคมีและคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้น โดยจัดให้มีกาเรียนการสอนทั้งภาคบรรยายและปฏิบัติการเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจและเห็นความสำคัญของปรากฏการณ์ธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมและของโลก ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนรู้และสื่อสาร อีกทั้งเน้นความสำคัญของการทำวิทยานิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระ (สารนิพนธ์) เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง เพื่อให้เป็นผู้ที่รักการเรียนรู้และสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง แต่ทีผ่านมาเกิดปัญหาเพราะครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์โรงเรียนเป็นครูประจำการ ไม่สามารถลามาเรียนในเวลาปกติได้ แต่เมื่อสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ได้รับการติดต่อจากนายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราชให้ช่วยพัฒนาครูวิทยาศาสตร์และครูคณิตศาสตรของโรงเรียนเทศบาลในสังกัด โดยเฉพาะโรงเรียนสาธิตเทศบาลวัดเพชรจริก ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา 1-6 มีครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์กว่า 20 คน และประสงค์จะศึกษาต่อระดับปริญญาโทในหลักสูตรวิทยาศาสตร์ศึกษาทั้งหมด โดยครูทุกคนจะได้รับทุนการศึกษาจากเทศบาลนครนครศรีธรรมราช แต่เนื่องจากโรงเรียนยังอยู่ในภาวะขาดแคลนครูผู้สอน จึงสามารถอนุญาตให้มาเรียนได้ในช่วงปิดภาคการศึกษาของโรงเรียนเท่านั้น ดังนั้นสำนักวิชาวิทยาศาสตร์จึงจำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนภาคพิเศษในช่วงเวลาดังกล่าวให้ อนึ่ง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ จะเริ่มดำเนินการจัดการเรียนการสอนโครงการ พัฒนาการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มัธยมศึกษา ในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2552 ให้แก่ครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของโรงเรียนสาธิตเทศบาลวัดเพชรจริก จำนวน 17 คน โดยผู้เรียนจะต้องสำเร็จการศึกษาจากโครงการดังกล่าวภายใน 4 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook