ม.วลัยลักษณ์ จัดกิจกรรม วันภาษาไทยวลัยลักษณ์ 52

ม.วลัยลักษณ์ จัดกิจกรรม วันภาษาไทยวลัยลักษณ์ 52

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยโครงการอาศรมวัฒนธรรม จัดกิจกรรมวันภาษาไทยวลัยลักษณ์ 52 เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย และการยกย่องเชิดชูบุคคลที่ใช้ภาษาไทยได้ดีเป็นแบบอย่างในทางสร้างสรรค์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มารวย เมฆานวกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม และรองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ธรรมชาติ ผู้อำนวยการโครงการอาศรมวัฒนธรรม กล่าวรายงานถึงการจัดกิจกรรม โดยได้รับความสนใจจากนักเรียน นักศึกษา อาจารย์และผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมประมาณ 500 คน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มารวย กล่าวถึงการจัดกิจกรรมวันภาษาไทยวลัยลักษณ์ 52 ว่า โครงการอาศรมวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดกิจกรรมวันภาษาไทยวลัยลักษณ์ เนื่องในโอกาสวันภาษาไทยแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสนองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยและเป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริมภาษาของชาติให้คงอยู่สืบไป โดยการดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงความรักความภูมิใจในภาษาของตน และความเอาใจใส่ที่จะศึกษาความรู้เกี่ยวกับภาษาของตนด้วยเห็นคุณค่าที่จะนำมาใช้ประโยชน์ไม่ว่าในด้านการพูด การอ่านและการเขียน ในปีนี้ก็เช่นกันมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ทั้งนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์และผู้สนใจทั่วไป เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าหากคนไทยยังรักภาษาไทยกันอย่างถูกต้อง สร้างสรรค์ อย่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสเอาไว้ เท่ากับเราได้ร่วมกันอนุรักษ์ภาษาชาติเอาไว้ให้คงอยู่คู่กับประเทศไทยต่อไป จากนั้น ผู้ชนะเลิศการแข่งขันร้อยกรองและเพลงบอกเยาวชนเข้ารับโล่พระราชทานหน้า พระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มารวย รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มอบโล่ เกียรติบัตรและเงินรางวัล แก่รองชนะเลิศอันดับ 1- 2 และรางวัลชมเชย และมอบโล่เชิดชูเกียรติให้แก่ผู้ใช้ภาษาไทยพื้นบ้านภาคใต้ดีเด่น ประจำปี 2552 เพื่อส่งเสริมและยกย่องบุคคลผู้ใช้ภาษาไทยพื้นบ้านได้ดีเป็นแบบอย่างในทางสร้างสรรค์ ซึ่งมีผู้ได้รับโล่ดังกล่าว จำนวน 3 คน ได้แก่ นายสมใจ อู่ทอง นายสงวน กลิ่นหอมและนายเพทาย ถนอมจิตร นอกจากนี้ยังมี การปาฐกถา เรื่อง นวัตกรรมภาษาไทยและวรรณกรรมไทยร่วมสมัยในภาวะวิกฤตของชาติ โดยศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา การอภิปรายเรื่อง เสียง สื่อและภาษา สร้างคุณค่าชีวิต โดย ญิบ พันจันทร์ (จรัล พากเพียร) สื่อและนักสิทธิมนุษยชน ดร.ณรงค์ บุญสวยขวัญ (นักรัฐศาสตร์) อ.จุมพล วัฒน์บุณย์ (ผู้ใช้ภาษาไทยพื้นบ้านดีเด่น ปี 2551) การบรรยาย หัวข้อ สื่อเสียงร้อง ร้อยกรองไทย โดย ดร.เทวี บุญจับ นักอ่านทำนองเสนาะระดับชาติและผู้บริหารโรงเรียนประสาทวิทยาอนุชน การอภิปรายหัวข้อ การวิจัยภาษาและวรรณกรรมท้องถิ่นไทยภาคใต้ โดย ดร.ฉันทัส ทองช่วย (นักภาษาไทยด้านภาษาศาสตร์และวัฒนธรรม) ผศ.ดร.นิพนธ์ ทิพย์ศรีนิมิต(นักภาษาไทยและไทยคดีศึกษา) รศ.อานันต์ อารีย์พงษ์(อาจารย์และนักภาษาไทย) และ การแสดงสื่อภาษานำเสนอผ่านทางบทกวีและดนตรี ชุด คีต ภาษา วรรณกรรม ฉ่ำวิญญา โดยเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์และคณะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook