มวล.จัดอบรมนานาชาติ ICZM นักวิชาการ ตปท.เข้าร่วม

มวล.จัดอบรมนานาชาติ ICZM นักวิชาการ ตปท.เข้าร่วม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย หลักสูตรการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร และอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดอบรมนานาชาติเรื่อง การจัดการชายฝั่งแบบบูรณาการ (International Training Workshop Integrated Coastal Zone Management : ICZM) ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม 28 กันยายน 2552 โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ ห้องโมคลาน อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งในปีนี้มีตัวแทนจาก 11 ประเทศ จำนวน 18 คน เข้าร่วมการอบรม รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนพงศ์ กล่าวในพิธีเปิดการอบรมความว่า ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าเรื่องของทรัพยากรทะเลและชายฝั่งเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโลก จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้จัดการอบรมด้านนี้ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการอบรมจากนานาประเทศได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ และประสบการณ์ในการทำงาน และขอขอบคุณสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (กรมวิเทศสหการ) กระทรวงต่างประเทศ (Thailand International Development Cooperation Agency; TICA) ที่ให้โอกาสมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดอบรมนานาชาติขึ้น ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติวงษ์ ตันติโชดก ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานและวิทยากร กล่าวถึงการอบรมนานาชาติฯ ครั้งนี้ว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับการสนับสนุนจาก TICA ซึ่งเป็นโครงการที่ทางรัฐบาลไทยให้ความร่วมมือและช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้านในด้านที่ไทยมีความถนัดและความก้าวหน้า เรื่องการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นการจัดการแบบบูรณาการ และเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสนใจ จึงได้ให้ทุนแก่ผู้เข้าอบรม (รวมค่าเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าใช้จ่ายในการอบรมตลอดช่วงระยะเวลาการอบรมครั้งนี้) โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับเกียรติให้จัดการอบรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ปีนี้เป็นปีที่ 9 การอบรมประกอบด้วย การบรรยายในหัวข้อต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานความรู้ เครื่องมือและแนวทางที่ใช้ในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งแบบผสมผสาน และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมแต่ละประเทศพูดถึงแนวทางการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง รวมทั้งปัญหาและสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ส่วนในภาคสนามมีการศึกษาจังหวัดทางชายฝั่งทะเล อาทิ ภูเก็ต กระบี่ เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี และมีกรณีศึกษาโดยลงมือปฏิบัติร่วมกับประชาชนในท้องถิ่น โดยผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับฟังคำบรรยายจากวิทยากรทั้งจากภายในมหาวิทยาลัยและจากภายนอก ด้วย อนึ่ง ในปีนี้มีผู้เข้าอบรมจาก 11 ประเทศคือ เวียดนาม อินโดนีเซีย จีน พม่า ศรีลังกา บังคลาเทศ อียิปต์ เบลิซ เคนยา ทานซาเนีย และไทย รวมจำนวน 18 คน ประมวลภาพกิจกรรมได้ที่ http://dpr.wu.ac.th/photo/thumbnails.php?album=276
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook